Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เปิดตัวรายงาน ‘เรารู้สึกไม่ปลอดภัย’ ว่าด้วยรูปแบบคุกคามผู้ลี้ภัยเมียนมา ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ของกองทัพพม่า หวังสยบความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านในต่างแดน

 

21 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (20 มิ.ย.) มูลนิธิ "เพื่อนไร้พรมแดน" (Friends without Border) เปิดตัวรายงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม 'เรารู้สึกไม่ปลอดภัย' (We don’t feel safe) ว่าด้วยการปราบปรามผู้ลี้ภัยข้ามชาติชาวเมียนมาใน อ.แม่สอด จ.ตาก

สืบเนื่องจากสงคราม ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ การปราบปรามประชาชน เป็นปัจจัยทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของคนจำนวนมาก เพราะต้องการหนีจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตนเอง และไปอาศัยในดินทางที่ไม่รู้จัก และไม่คุ้นเคย เพื่อความปลอดภัย เราอาจรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “ผู้ลี้ภัย”

การลี้ภัยเกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ประเทศไทยเองก็ได้เผชิญกับการลี้ภัยของผู้คนจากสงครามอินโดจีน การเรืองอำนาจของกลุ่มเขมรแดง สงครามเวียดนาม ตลอดจนความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานในประเทศเมียนมา ส่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการลี้ภัยของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทย

ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาระดับโลกที่สหประชาชาติตระหนักถึงเช่นเดียวกันจึงเกิดอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 1951 ซึ่งกำหนดความหมายของคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ สิทธิของผู้ลี้ภัย ตลอดจนพันธกรณีของรัฐภาคีในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยอยู่บนหลักการของ ‘ไม่ผลักดันกลับ’ อันเป็นหลักการพื้นฐานที่ยืนยันสิทธิของผู้ลี้ภัยที่จะไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญภัยร้ายแรงต่อชีวิตหรืออิสรภาพ กระนั้นประเทศไทยแม้จะเป็นผู้เข้าร่วมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นรากฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญานี้จึงทำให้ในทางกฎหมายแล้วประเทศไทยไม่มีสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ และมีไม่กลไกคุ้มครองผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด

ในวันที่ 20 มิ.ย. 2544 องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 20 มิ.ย.ของทุกปี เป็น 'วันผู้ลี้ภัยโลก' เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีที่อนุสัญญานี่เกิดขึ้นมา หากนับจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 73 ปีแล้วที่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยสากล ซึ่งสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาที่มีการใช้ความรุนแรงและคุกคามประชาชน รวมถึงการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เกิดการลี้ภัยของประชาชนเมียนมาเข้ามาอีกระลอกด้วยการที่ไม่มีการรับรองสถานะและสิทธิผู้ลี้ภัยทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เปราะบางอย่างมาก

การปราบปรามข้ามชายแดน: ภัยคุกคามที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกปี 2567 ทีม Border Voice ภายใต้มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน "Friends Without Border" ได้เปิดตัวรายงาน "พวกเรารู้สึกไม่ปลอดภัย: การวิจัยแบบมีส่วนร่วมว่าด้วยการปราบปรามข้ามชายแดนต่อชุมชนเมียนมาพลัดถิ่นในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก" (We don’t feel safe: Participatory research on transnational repression against Myanmar diaspora in Mae Sot, Tak province) โดยรายงานชิ้นนี้ได้ศึกษาประเด็นการปราบปรามข้ามชายแดนต่อชุมชนพลัดถิ่นในอำเภอแม่สอด โดยให้ความหมายว่าการปราบปรามข้ามชายแดนคือ

ความพยายามใดก็ตามข้ามชายแดนที่ทำให้ชุมชนพลัดถิ่นไม่กล้าแสดงออกทางความคิดเห็น เช่น การลอบสังหาร การผลักดันกลับแบบผิดกฎหมาย การลักพาตัว การข่มขู่ออนไลน์ การคุกคามด้วยตำรวจสากล และการคุกคามครอบครัว

รูปแบบของงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ให้คุณค่ากับความรู้ และประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมวิจัย โดยผู้วิจัยทำหน้าที่เป็นเพียงกระบวนการและถือว่าผู้เข้าร่วมวิจัยมีส่วนร่วมในการวิจัยมากกว่าแค่ถูกศึกษา และมีเป้าหมายเพื่อ "แสดงมุมมองและความคิดผ่านการอธิบายและวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาของตนเอง" ในงานวิจัยนี้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นชุมชนเมียนมาพลัดถิ่น จำนวน 42 คน ประกอบด้วย ชาย 22 คน หญิง 19 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 1 คน และเจ้าหน้าที่องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนานาชาติ และเจ้าหน้าที่ไทยอีก 8 คน

ถูกสอดส่องและต้องระแวดระวังตลอดเวลา

แม้ว่าการปราบปรามข้ามชายแดนจะเป็นคำที่ใหม่สำหรับผู้เข้าร่วมวิจัย แต่พวกเขาสามารถเข้าใจได้โดยไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากมีประสบการณ์กับภัยคุกคามข้ามชายแดน เช่น สายลับที่ส่งมาโดยรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อรายงานความเคลื่อนไหว ที่อยู่ของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทหารเมียนมาหรือเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การคุกคามที่รุนแรงขึ้น เช่น การข่มขู่ทางออนไลน์ การจับกุม การผลักดันกลับ และอาจนำไปสู่การบังคับสูญหาย และการลอบสังหาร ผู้เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่ยืนยันว่าพวกเขาไม่รู้สึกปลอดภัยในประเทศไทย แม้ว่าจะปลอดภัยกว่าในประเทศเมียนมาก็ตาม พวกเขายังคงต้องใช้ชีวิตในความหวาดกลัวจากการจับกุมและผลักดันกลับให้เผด็จการทหารเมียนมาหรือกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยรู้ว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ผู้เข้าร่วมวิจัยคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า "เท่าที่ฉันเข้าใจนั้นกลยุทธการปราบปรามข้ามชายแดนของทหารเมียนมาใช้การส่งหน่วยข่าวกรองผ่านหนังสือเดินทางแบบแรงงาน และวีซา เพื่ออาศัยในชุมชนพลัดถิ่น โดยทำงานเป็นคนส่งอาหาร คนขับรถ คนขายของ คนทำงานร้านชา และเจ้าของกิจการ เป็นต้น คนเหล่านี้ส่งข้อมูลให้ตำรวจไทย เพื่อเข้าจับกุมเป้าหมาย ขู่กรรโชก และผลักดันกลับ ฉันไม่รู้สึกปลอดภัยในแม่สอด เพราะฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่เมียนมาสามารถบอกให้เจ้าหน้าที่ไทยจับคนที่เขาต้องการได้"

ที่มา: สำนักข่าวนครแม่สอด 

ผู้กระทำและกลุ่มเป้าหมายของการปราบปรามข้ามชายแดน

เมื่อพูดถึงผู้กระทำการปราบปรามข้ามชายแดนคนกลุ่มนี้มีทั้งประชาชนไทยและเมียนมา ในกลุ่มของประชาชนไทย ได้แก่ ทหาร ตำรวจ ตำรวตรวจคนเข้าเมือง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กลุ่มของประชาชนเมียนมา ได้แก่ หน่วยข่าวกรองที่แฝงตัวอยู่ในชุมชนพลัดถิ่น ซึ่งอาจมาจากสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โดยตรงหรือกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมวิจัยเชื่อว่าหากไม่มีการอนุญาตจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่นของไทย บุคลากรความมั่นคงจากเมียนมาจะไม่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ได้

กลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ที่แปรพักตร์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมการต่อสู้ทั้งด้วยอาวุธและสันติในเมียนมา การที่ไม่มีกรณีการปราบปรามข้ามชายแดนชัดเจน อาจไม่ได้แสดงว่าไม่มีการปราบปราม แต่แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ต้องควบคุมการใช้ชีวิตของตนให้เป็นความลับและไม่เคลื่อนไหว เพื่อหลบเลี่ยงการปราบปราม

เป้าหมายของการปราบปรามนั้น ทีม Border Voice สรุปว่า การปราบปรามข้ามชายแดนนั้นไม่ได้มีเป้าหมายจะทำอันตรายหรือกำจัดศัตรูของรัฐบาลเมียนมา แต่เป็นสงครามจิตวิทยา เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเงียบ และไม่เคลื่อนไหว สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เพื่อทำให้เสียงของผู้ต่อต้านเผด็จการทหารเงียบลง

2. เพื่อสร้างความกลัวนำไปสู่การลดการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหาร

3. เพื่อโน้มน้าว บังคับ ให้เป้าหมายกลับประเทศเนื่องจากพวกเขาเป็นหลักฐานของความโหดเหี้ยมของเผด็จการทหาร หรืออาจเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มต่อต้านหรือเป้าหมายระดับสูง หรือเพื่อลงโทษและสร้างความกลัวให้ชุมชนพลัดถิ่น

4. เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับข่าวกรองสำหรับ 3 ข้อข้างต้นเมื่อได้รับคำสั่ง

รูปแบบการปราบปรามข้ามชายแดน

การปราบปรามข้ามชายแดนนั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การปราบปรามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางข้อมูลที่ใช้ทรัพยากรคนน้อยและประหยัดทรัพยากร ส่วนมากมักเป็นการใช้โซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก และเทเลแกรม ซึ่งการปราบปรามเช่นนี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การข่มขู่ออนไลน์ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ การหลอกลวงและหลอกล่อให้กลับประเทศ การคุกคามออนไลน์ด้วยข่าวปลอม

การคุกคามรูปแบบต่อมาคือการคุกคามโดยใช้ตัวแทน แม้ผู้ลี้ภัยหลายคนสามารถหลบนี้มาได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย แต่ก็ต้องทิ้งครอบครัวของตนไว้ข้างหลัง ซึ่งครอบครัวของพวกเขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการต่อสู้ กลยุทธนี้ถูกกล่าวถึงเป็นจำนวนมากในกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย การคุกคามจะถูกส่งโดยครอบครัว คนใกล้ตัวหรือคนในชุมชน เช่น เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ว่าครอบครัวของพวกเขาถูกข่มขู่ คุกคาม สอบปากคำ จับกุม กักขัง ทรมาณ และติดคุกเป็นประจำ โดยมีเป้าหมายเพื่อนเตือนเหยื่อให้ระลึกเสมอว่าหากเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจทำให้เกิดผลร้ายกับครอบครัวของพวกเขา

การสอดส่องก็เป็นอีกเครื่องมือการปราบปรามข้ามชายแดนซึ่งมีทั้งการสอดส่องทั้งเชิงกายภาพและออนไลน์ซึ่งอาจนำไปสู่การจับกุม การอุ้มหาย หรือการทำร้ายร่างกาย กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยเชื่อว่าภายหลังโรคระบาด Covid-19 รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาและพันธมิตรได้เพิ่มสายลับเข้ามาสอดส่องชุมชนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่องทางการข้ามแดนนั้นเปิดกว้างขึ้น

ที่แม่สอด จ.ตาก

กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดเชื่อว่ามีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาในการสอดแนม จับกุม กักขัง และการผลักดันกลับอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งความเชื่อนี้มาจากความจริงที่กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดรับรู้ว่ารัฐบาลไทยและเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด อีกทั้งยังมาจากประสบการณ์ความไม่ชอบมาพากลที่ชุมชนพลัดถิ่นได้พบเจอ

จากการปราบปรามข้ามชายแดนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนพลัดถิ่นเมียนมาในพื้นที่แม่สอดอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาต้องอาศัยอยู่ในความกลัวและวิตกกังวลตลอดเวลา บางส่วนต้องอาศัยอย่างหลบซ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปราม ทำให้หลายคนมีสภาวะซึมเศร้าและมีสภาวะเครียด รู้สึกว่าอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่ต้อนรับ เมื่อต้องอยู่อาศัยอย่างหลบซ่อนแล้วพวกเขาจึงไม่สามารถได้รับสิทธิหรือบริการใด อีกทั้งการเข้าสังคมเช่นการไปงานเกี่ยวกับศาสนา กระบวนการเช่นนี้ยังลดทอนการการต่อสู้ทางประชาธิปไตยของชาวเมียนมาด้วยการทำให้พวกเขาเงียบเสียงลงอีกด้วย
ข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย

รายงานนี้มีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลไทยดังนี้

1. รับรู้และยอมรับการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยและสิทธิในการลี้ภัย โดยมีนโยบายรับรองที่โปร่งใสตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

2. ออกแบบและใช้กลไกการคัดกรองที่มีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศไทย และออกเอกสารระบุตัวตนชั่วคราวที่ยืนยันสิทธิของการอยู่อาศัย การทำงาน การเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการศึกษาในประเทศไทย โดยระบบนี้ควรออกแบบให้ผู้ลี้ภัยสมัครได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามเช่น นายจ้าง เนื่องจากอาจเปิดช่องให้นายหน้าขูดรีดได้ การย้ายไปประเทศที่สามควรได้รับการจัดการอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ต้องการย้ายเพื่อให้ประเทศไทยไม่ต้องรับรองคนจำนวนมากที่มีสถานะผู้ลี้ภัย

3. ประกาศและยืนยันในหลักการการไม่ผลักดันกลับ เพื่อให้ผู้ถูกจับกุมได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายต่อการผลักดันกลับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

4. เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยและผู้ต่อต้านควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อสร้างความเข้าใจว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้กระทำผิดและไม่ควรถูกส่งผู้ร้ายข้ามแดน

5. เข้าถึงและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่สนับสนุนบริการ ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายต่อผู้ลี้ภัย โดยทำงานร่วมกันองค์กรภาคประชาสังคมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อต่อสู้กับการปราบปรามข้ามชายแดน

6. สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาและหยุดยั้งการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของเผด็จการทหารเมียนมาทั้งทางตรงและทางอ้อม


สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มในภาษาเมียนมาและอังกฤษได้ที่: https://friends-without-borders.org/we-dont-feel-safe-ready-for-download/ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net