Skip to main content
sharethis

ตัวแทนกลุ่มผู้ร้องเรียนของผู้รับบริการทางสุขภาพจิต และผู้ก่อตั้ง Safe Zone Project Thailand เข้าร้อง กมธ.สธ. สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา หลังเกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศผู้รับบริการ ขณะ กมธ. เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล สร้างการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยให้ผู้รับบริการ

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ว่านางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวสิริลภัส กองตระการ โฆษก กมธ. นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ กมธ. และคณะ รับหนังสือจาก นางสาวลินินา พุทธิธาร ตัวแทนกลุ่มผู้ร้องเรียนของผู้รับบริการทางสุขภาพจิต และผู้ก่อตั้ง Safe Zone Project Thailand เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดทางเพศ โดยเรียกร้องขอให้ กมธ. ผลักดันการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา เนื่องจากพบปัญหาว่าในปัจจุบัน การเข้ารับบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังขาดมาตรฐานที่จะช่วยคุ้มครองความปลอดภัย เช่น มีกรณีนักจิตวิทยาการปรึกษาล่วงละเมิดทางเพศผู้รับบริการ โดยอาศัยความไว้วางใจที่เกิดจากการประกอบอาชีพของตนและสภาวะเปราะบางของผู้รับบริการ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ นักจิตวิทยาใช้ความมีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้รับบริการเพื่อตอบสนองความใคร่ของตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้รับบริการทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ และนอกเหนือจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางเพศแล้ว ยังพบกรณีที่นักจิตวิทยาใช้ทักษะทางวิชาชีพในการแสวงหาผลประโยชน์ในด้านการเงิน การบงการทางจิตวิทยาให้ทำสิ่งอันตราย หรือการที่ทักษะวิชาชีพของนักจิตวิทยานั้นไม่ได้มาตรฐานและทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น

การยื่นร้องเรียนขอให้ กมธ.ช่วยเหลือในครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มของผู้รับบริการทางสุขภาพจิต ยังได้ยื่น 3 ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ พิจารณาบรรจุจิตวิทยาการปรึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542  รวมถึงทบทวนและปรับปรุงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2559  และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตรวจสอบกรณีการละเมิดกฎหมายและจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาทุกสาขา นอกจากนี้ เสนอให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสม ทั้งนี้ เชื่อว่าการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทย เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวิชาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นางสาวสิริลภัส กองตระการ โฆษก กมธ.การสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนจะรับเรื่องไว้เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กมธ. พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net