Skip to main content
sharethis

‘พิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด’  ร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ พลิกฟื้นชีวิตผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคแล้วกว่า  30 ราย โดยการให้บริการภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง คลินิกฯ กับ โรงพยาบาล เพื่อช่วยสนับสนุนการให้บริการกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ในส่วนที่มีข้อจำกัดที่เข้าไม่ถึงบริการ

5 ก.ค. 2567 ทีมสื่อของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายพรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา (สสจ.พังงา) ลงพื้นที่ติดตามการให้บริการโดยคลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่น ภายใต้โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่พิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด จ.พังงา โดยมี ก.ภ.พิสมัย บัวทอง นักกายภาพบำบัดประจำคลินิกฯ ให้ข้อมูลบริการ และยังได้ร่วมเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับบริการกายภาพบำบัดที่บ้าน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา  

ก.ภ.พิสมัย กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกที่ควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย (Golden Period) โดยเร็ว ซึ่งจะจะช่วยลดภาวะทุพพลภาพ หรือลดความพิการได้ แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูฯ เท่าที่ควร ซึ่งมีจำนวนมีกว่า 30 ราย โดยบางคนเหลือโอกาสที่จะฟื้นฟูในช่วง 6 เดือน เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น แม้ว่าการให้ทำกายภาพจะให้ประสิทธิผลได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยหากทำให้ผู้ป่วยเดินได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเอง และจุดนี้ก็ทำให้คลินิกฯ ได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ป่วย

ทั้งนี้ การให้บริการภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง คลินิกฯ กับ โรงพยาบาล เพื่อช่วยสนับสนุนการให้บริการกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ในส่วนที่มีข้อจำกัดที่เข้าไม่ถึงบริการ เช่น โรงพยาบาลมีผู้ป่วยรอการทำกายภาพบำบัดจำนวนมาก ผู้ป่วยมีปัญหาไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้สะดวก เช่น โรงพยาบาลอยู่ไกล ไม่มีญาติพาไปโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งคลินิกฯ ก็ได้เข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้

“จากที่ร่วมโครงการฯ และให้บริการผู้ป่วยที่บ้าน ทำให้เราเห็นความทุกข์ยาก และปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลได้ จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการให้เร็วที่สุด ในช่วงที่เป็นโอกาสก่อนจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการ” ก.ภ.พิสมัย กล่าว

แระ ผู้ป่วยที่ได้รับการกายภาพบำบัดจนกลับมาเดินได้ กล่าวว่า การมีนักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยเหลือเหมือนสร้างชีวิตใหม่ให้ เพราะเดิมมีอาชีพรับจ้างพายเรือ แต่เป็นโรคความดันสูงและไม่ได้รักษาต่อเนื่อง จนมีอาการมือเท้าชา และหกล้มหมดสติจนต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อรู้สึกตัวก็ไม่สามารถขยับตัวได้แล้ว ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นมีภาวะติดเตียง จำเป็นต้องกายภาพบำบัดฟื้นฟูฯ แต่ด้วยลูกชายของต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ไม่สามารถพาไปทำการฟื้นฟูฯ ที่โรงพยาบาลต่อเนื่องได้ ดังนั้นทางคลินิกฯ จึงได้เข้ามาช่วยกายภาพบำบัดถึงที่บ้าน ซึ่งเมื่อรับบริการครบ 20 ครั้ง ก็ทำให้ตอนนี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ทำให้จากผู้ป่วยที่ประสบกับภาวะติดเตียง ได้รับบริการถึงบ้าน โดยคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่ร่วมโครงการฯ และเมื่อได้รับการฟื้นฟูฯ ครบ 20 ครั้ง วันนี้ก็ยืนและเดินเองได้ รวมถึงการทำกิจวัตรต่างๆ ได้เอง สะท้อนให้เห็นได้ว่าการเพิ่มคลินิกเอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในระบบสามารถช่วยประชาชนได้อย่างมาก

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สปสช. มองเห็นถึงศักยภาพการช่วยเหลือประชาชนของคลินิกเอกชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้คลินิกเอกชนทุกวิชาชีพมาร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขในระบบ เพราะนอกจากช่วยเหลือประชาชนตามเจตนารมณ์ของทุกวิชาชีพแล้ว ยังช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชน

“โครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อระหว่างคลินิกเอกชนและโรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก อาจทำให้การส่งผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกฯ ล่าช้า ดังนี้น สปสช. จะมีการทำฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการของคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตาม” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ขณะที่ พรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน จ.พังงา มีคลินิกเอกชนทุกวิชาชีพเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ถึงจำนวน 30 แห่ง ซึ่งส่งผลดีกับชาวบ้านใน จ.พังงา อย่างมาก เพราะได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ป่วย ขณะที่คลินิกเอกชนก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากติดปัญหาใด ทาง สสจ.พังงานก็จะเข้าไปช่วยเหลือทำความเข้าใจ โดย สสจ.พังงา มีเป้าหมายจะเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมให้มากขึ้น เพราะเห็นผลดีที่เกิดกับประชาชน ได้เข้าบริการปฐมภูมิ โดยไม่จำเป็นต้องไปแออัดอยู่เพียงแค่โรงพยาบาลเท่านั้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net