Skip to main content
sharethis

หลังจากการดีเบตรอบแรกระหว่าง โจ ไบเดน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปีนี้ (2567) มีนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อหลายแห่งเรียกร้องให้ไบเดนถอนตัวจากการเป็นผู้แทนของพรรคเดโมแครตในการขับเคี่ยวกับทรัมป์ แต่ก็มีนักวิชาการที่มองต่างออกไปและวิจารณ์สื่อที่ทำตัวหลงประเด็น สนใจเรื่องภาพลักษณ์มากกว่าข้อเท็จจริง จนอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย

ปีเตอร์ ไดรเยอร์ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยอ็อกซิเดนทัล ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปฏิกิริยาของนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อต่างๆ หลังการดีเบตผู้แทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

"ถ้าหากคุณได้รับชมการดีเบตระหว่างอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันคือ โจ ไบเดน เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (27 มิ.ย.) แล้วก็ติดตามรับชมต่อ ตอนที่ไบเดนปรากฏตัวหลังจากนั้นเพียง 12 ชั่วโมงที่การหาเสียงที่ นอร์ท แคโรไลนา คุณก็จะตะลึงกับภาพที่ขัดกัน" ไดรเยอร์ระบุในบทความ

"ไบเดนคนที่พูดตะกุกตะกักมาทั้งชีวิต ไม่เคยเป็นนักพูดที่ยอดเยี่ยมเลย เว้นแต่ว่าในการปราศรัยแถลงนโยบายประจำปี 2567 ของเขานั้น ทำได้เยี่ยมทีเดียว" ไดรเยอร์ระบุในบทความ

ในมุมมองของไดรเยอร์แล้วเขามองว่าคำปราศรัยของไบเดนนั้นเขา "ดูเป็นตัวของตัวเอง" และนั่นก็ส่งผลดี ทำให้เขาไม่ได้พูดจาสับสนหรือแข็งทื่อแบบที่มักจะเป็น อย่างไรก็ตามการพูดโดยมี "เครื่องบอกบท" ท่ามกลางผู้สนับสนุนจำนวนมากที่เชียร์เขาแบบที่นอร์ทแคโรไลนา มันมีความแตกต่างกับการดีเบตที่แอตแลนตา ซึ่งเกิดขึ้นในห้องที่ว่างเปล่าและต้องพูดโต้ตอบแบบทันทีทันใดไม่ได้ตระเตรียม ไดรเยอร์มองว่าเขาก็เหมือนนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ฝูงชนเป็นผู้ที่ช่วยผลักดันพวกเขาให้ทำได้ดีขึ้น

ไดรเยอร์ได้ยกตัวอย่างคำปราศรัยที่ไบเดนพูดกับผู้สนับสนุนเขา ซึ่งมีการสื่ออ้อมๆ ถึงหายนะในคืนก่อนหน้านี้ และการที่ทรัมป์โหมกระหน่ำด้วยเรื่องโกหกหลอกลวงในการดีเบต

"ผมรู้ว่าผมก็ไม่ได้อยู่ในวัยหนุ่มแล้ว อย่างที่คุณเห็นน่ะนะ ผมไม่ได้เดินเหินไปไหนได้ง่ายเท่าแต่ก่อน ผมไม่ได้พูดคล่องเท่าแต่ก่อน ผมไม่สามารถดีเบตได้ดีเท่าแต่ก่อน แต่ผมก็รู้ในเรื่องที่ผมรู้ ผมรู้ว่าจะพูดความจริงอย่างไร ผมรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วผมก็รู้วิธีการที่จะทำงานเป็นประธานาธิบดี ผมรู้ว่าจะทำอะไรให้สำเร็จได้อย่างไร แล้วผมก็รู้ แบบเดียวกับที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนรู้ คือเมื่อคุณถูกทำให้ล้มลงแล้ว คุณก็ต้องลุกขึ้นยืนหยัดอีกครั้ง" ไบเดนกล่าวในคำปราศรัยหาเสียง

ไดรเยอร์มองว่าสิ่งที่ดีที่สุดในตัวไบเดนคือการพูดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงแล้วมันก็ได้ผล แต่นักวิจารณ์ในสื่อหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น วอชิงตันโพสต์, เดอะ นิว รีพับลิก, เดอะ นิวยอร์กเกอร์, ดิ แอตแลนติค หรือแม้กระทั่งบทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทม์ ต่างก็เรียกร้องให้โจ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

เหล่านักวิจารณ์พวกนี้ดูจะตั้งคำถามแบบเดียวกันว่าแล้วใครล่ะที่ควรจะมาแทนที่ไบเดน พวกเขามีความกังวลในสองเรื่อง เรื่องแรกคือภาพลักษณ์ของไบเดนในสายตาประชาชนว่าเป็นคนสูงวัยจนไม่คิดว่าจะเอาชนะทรัมป์ได้ เรื่องที่สองคือการที่พวกเขาไม่แน่ใจว่าไบเดนจะมีแรงกายหรือแรงใจมากพอจะจัดการกับความเครียดในการเป็นประธานาธิบดีได้

นักวิจารณ์พวกนี้คิดมากไปไหม?

ไดรเยอร์ก็ตั้งคำถามว่า นักวิจารณ์ คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการพวกนี้ มีปฏิกิริยาต่อไบเดนมากเกินจริงหรือไม่ สิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนจริงหรือเปล่า? หรือพวกเขาแค่พยายามชักจูงให้คนคิดแบบนั้นไปเอง? เหล่าผู้นำพรรคเดโมแครต ผู้บริจาครายใหญ่ๆ รวมถึงไบเดนกับครอบครัวของเขาจะสามารถต้านทานกับแรงกดดันจากกระแสคัดค้านได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะคิดว่ามันจะดีกว่าถ้ายังคงรักษาแนวทางเดิมไว้ก็ตาม

ไดรเยอร์วิเคราะห์ว่า การดีเบตครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นั้นสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของไบเดนอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าทรัมป์จะโกหกไม่หยุดแต่เขาก็หนักแน่นและดูมีพลัง มีแรงขับดันจากความโกรธและความกระหายอยากแก้แค้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือทรัมป์เป็นคนที่เก่งในแง่ของนักแสดงทางโทรทัศน์ แต่ไบเดนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไบเดน พูดอะไรอย่างซื่อสัตย์ พูดแล้วมีจังหวะหยุด มีความสับสน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการดีเบตซึ่งทำให้ฟังไม่ออกว่าเขาพูดถึงอะไรกันแน่ ไบเดนมีวาทะเด็ดๆ ปล่อยออกมาอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยโดนเท่าไหร่

ไดรเยอร์เสนอแนะว่า ถ้าไบเดนยังอยากจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ไบเดนและทีมของเขาก็ควรจะเก็บเรื่องการดีเบตที่ทำได้แย่มาพิจารณาด้วย พวกหาเสียงให้ทรัมป์จะนำคลิปที่ไบเดนพูดได้แย่มาใช้โจมตีไปเรื่อยๆ จนอาจจะถึงวันเลือกตั้งจริงในเดือน พ.ย. เลยทีเดียว

ในแง่ของผู้สนับสนุนนักการเมืองทั้งสองฝ่าย ไดรเยอร์มองว่าทรัมป์มีฐานเสียงสนับสนุนน้อยกว่าไบเดนแต่ก็เป็นกลุ่มฐานเสียงที่เปรียบเสมือนลัทธิที่เชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้า ในทางตรงกันข้ามฐานเสียงเดโมแครตโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกเสียกำลังใจเมื่อได้เห็นการดีเบตของไบเดนในรอบแรก แต่พวกเขาก็ยังคงจะโหวตให้ไบเดนอยู่ถ้าหากไบเดนยังเป็นผู้แทนลงสมัครต่อไป อย่างไรก็ตามฐานเสียงเหล่านี้อาจจะมีโอกาสน้อยลงในการช่วยหาเสียง ชักจูงเพื่อนฝูงคนรู้จักให้มาโหวตให้เดโมแครต

หรือผู้คนแยกแยะออกระหว่าง "สิ่งที่ดูเป็นความพิการ" กับ "ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่"

ถึงแม้ว่านักวิจารณ์จะแสดงความกลัวว่าไบเดนจะทำให้ภาพลักษณ์เดโมแครตเสียหายเพราะดูมีอายุมากและพูดได้ไม่ดีในการดีเบต แต่ไดรเยอร์ก็เตือนว่าความจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในผลโพลหลังดีเบตก็ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิมมาก

"เป็นไปได้ว่า พวกนักวิจารณ์อาจจะประเมินไว้มากเกินไปในเรื่องที่ว่าคืนวันพฤหัสฯ (วันดีเบตครั้งแรก) ก่อความเสียหายมากเพียงใด แต่ไม่ได้ให้เครดิตมากพอกับผู้เลือกไบเดนที่มีความเข้าใจว่าทรัมป์นั้นมีความไม่สุจริตใจและเพ้อคลั่งมากเพียงใด" ไดรเยอร์ระบุในบทความ

ทั้งนี้ไดรเยอร์ยังระบุว่าผู้ลงคะแนนเสียงน่าจะแยกแยะออกระหว่าง "สิ่งที่ดูเป็นความพิการ" กับ "ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่" ของนักการเมือง ยกตัวอย่างกรณีของผู้สมัคร ส.ว. จอห์น เฟตเตอร์แมน ที่ในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2565 เขาเพิ่งจะฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองและทำได้แย่กว่าไบเดนมากในการดีเบตกับผู้สมัครอีกรายหนึ่งที่ทรัมป์หนุนหลังคือ อามอส ออซ พวกนักวิจารณ์ก็พากันบอกว่าอนาคตทางการเมืองของเฟตเตอร์แมนในรัฐเพนซิลเวเนียจบลงแล้ว แต่สุดท้ายแล้วเฟตเตอร์แมนก็ชนะการเลือกตั้ง

ดูเหมือนว่าคนในระดับสูงของพรรคเดโมแครตต่างก็ยังคงสนับสนุนไบเดนเพราะคิดว่าคงเป็นแบบกรณีเฟตเตอร์แมน แต่ไดรเยอร์ก็ยังแนะนำว่า มีผู้คนที่ชมการดีเบตเยอะมากเมื่อเทียบกับคำปราศรัยหาเสียงที่นอร์ทแคโรไลนา ถ้าหากไบเดนจะปรับปรุงการดีเบตให้ดูดีแบบโฆษณาที่เผยแพร่กับการปราศรัยหาเสียงของเขา ก็จะเป็นเรื่องดีกับตัวเขาเอง

สื่อจับประเด็นผิด-ไม่ยอมทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง?

อีกเรื่องหนึ่งที่ไดรเยอร์วิจารณ์คือการที่สื่ออเมริกันหลายแห่งที่จับประเด็นผิดเรื่องในการดีเบต และไม่ยอมตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นในหลายๆ เรื่องที่ทรัมป์พูดเป็นเรื่องโกหกอย่างเห็นได้ชัด ไดรเยอร์มองว่าทรัมป์โกหกทั้งเรื่องเศรษฐกิจ, เรื่องยูเครน, เรื่องโรคระบาด COVID-19, เรื่องผู้อพยพ และอ้างว่าคดีที่เขาเผชิญนั้นมี "ความไม่เป็นธรรม" อยู่ ไดรเยอร์เสนอว่าเดโมแครตควรจะเน้นตอกย้ำให้ผู้คนเห็นว่าทรัมป์โกหกเกี่ยวกับทุกเรื่องถ้าหากเดโมแครตต้องการจะชนะการเลือกตั้ง

"แต่สิ่งที่หายไปจากความกังวล(ของสื่อ)คือการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงคุยโวแบบเต็มไปด้วยเรื่องโกหก การพูดเกินจริง ความใจแคบหัวรั้น ความเขลาเบาปัญญา และการสร้างความหวาดกลัว เหมือนเช่นเคย ความสามารถในการดีเบตของทรัมป์แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าเขาเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยและไม่เหมาะสมกับการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ" ไดรเยอร์กล่าว

บทบรรณาธิการสื่ออินไควเรอร์ระบุว่า "ดูเหมือนว่าทรัมป์จะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่สื่อกระเสหลักควรจะรายงานจริงๆ ได้สำเร็จ ตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียง นักวิจารณ์และผู้สื่อข่าวการเมืองต่างก็เน้นเรื่องอายุของไบเดน (และการที่ไบเดนทำได้แย่ในการดีเบตวันพฤหัสฯ) แต่ไม่ได้เน้นเรื่องที่ทรัมป์มีปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงเรื่องที่ทรัมป์มีประวัติมายาวนานในเรื่องการโกหก, ขาดไอเดียด้านนโยบาย, เป็นพวกเหยียดใจแคบในระดับไร้สำนึกต่อสังคม, กระหายอยากล้างแค้น, และการที่เขาเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ต่อสันติภาพ และต่อคุณค่าที่ดีงามของความเป็นมนุษย์"

ไดรเยอร์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่สื่อและนักวิจารณ์ต่างๆ ดิ้นไปตามทรัมป์ ก่อให้เกิดผลลัพธ์คือความไม่ปรกติจากการที่ทรัมป์เป็นผู้ส่งอิทธิพลต่อบรรยากาศของสื่อ "พวกเราไม้ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ปรกติ นี่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ปรกติ ทรัมป์ไม่ใช่ผู้สมัครลงเลือกตั้งที่ปรกติ แล้วเขาก็ได้ส่งอิทธิพลเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของสื่อเพื่อเป้าหมายของตัวเขาเอง สื่อได้ทำให้ความสุดโต่งของทรัมป์กลายเป็นเรื่องที่ดูธรรมดา" ไดรเยอร์กล่าว

ในขณะเดียวกัน ไดรเยอร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อแทบจะไม่ได้รายงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องนโยบายและความสำเร็จของผู้สมัครแต่ละคน เรื่องที่ว่าแผนการของพวกเขาทำได้จริงหรือไม่และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนหรือไม่

ไดรเยอร์มองว่า "ช่วงสมัยไบเดนเป็นประธานาธิบดีเขาประสบความสำเร็จในหลายประเด็น เขาเป็นคนที่ทำอะไรได้สำเร็จจริง เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันส่วนมาก ในทางตรงกันข้าม 4 ปีที่ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งเต็มไปด้วยความโกลาหลและความไร้ประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าพรรครีพับลิกันจะได้เสียงข้างมากทั้งในสภาบนสภาล่างแต่ก็ไม่สามารถใช้สภาคองเกรสในการยกเลิกโอบาม่าแคร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคำสัญญาในการหาเสียงปี 2559 ของพวกเขาได้"

เรื่องนี้ไดรเยอร์มองว่าสื่อเข้าใจความหมายของ "ความเป็นกลาง" ผิดๆ จากการพยายามรายงาน "ทั้งสองด้าน" ถึงแม้ว่าด้านหนึ่งจะขาดข้อเท็จจริงและไม่ได้มีสาระใดๆ เลยก็ตาม ทำให้กลายเป็นพื้นที่ฟรีๆ สำหรับทรัมป์ในการพ่นคำโกหก, การเหยียด และการหลงตัวเองแบบไร้สำนึกต่อสังคม "พูดในอีกแบบหนึ่งคือ สื่อไม่ได้รายงานการเลือกตั้งนี้ในแบบที่มันควรจะเป็นคือการต่อสู้เพื่อการมีอยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการฟาสซิสม์" ไดรเยอร์กกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Should Biden Go?, Peter Dreier, Common Dreams, 30-06-2024

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net