Skip to main content
sharethis
สื่อของรัฐบาลทหารพม่าเผย ‘มยิ้ดซเว่’ ลาป่วยและได้ถ่ายโอนอำนาจรักษาการประธานาธิบดีเมียนมาให้ ‘มินอ่องหล่าย’ ซึ่งทำให้เขามีอำนาจเรียกประชุมสภากลาโหมฯ และต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

22 ก.ค. 2567 เว็บไซต์ อัลจาซีรา และเอบีซีนิวส์ เปิดเผยวันนี้ (22 ก.ค.)  สื่อรัฐบาลทหารพม่า MRTV ระบุว่า เนื่องด้วยรักษาการประธานาธิบดี 'มยิ้ดซเว่' ต้องลารักษาพยาบาล จึงได้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีเมียนมาให้ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า อายุ 68 ปี 

การประกาศแต่งตั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลทหารพม่า MRTV เปิดเผยว่า มินอ่องหล่าย ได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการ จากสำนักงานรักษาการประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2567

รายงานข่าวการถ่ายโอนอำนาจรักษาการ ปธน.เมียนมาให้มินอ่องหล่าย เมื่อ 22 ก.ค. 2567 (ที่มา: เว็บไซต์ MRTV)

จดหมายอนุญาตให้มินอ่องหล่าย ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการประธานาธิบดี เพื่อจัดการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติตามความจำเป็น ในขณะที่มยิ้ดซเว่ ลาป่วย

"หน้าที่ของรักษาการประธานาธิบดีได้ถูกส่งต่อถึงประธานสภาบริหารแห่งรัฐ" รัฐบาลทหารพม่า กล่าว

มยิ้ดซเว่ อายุ 73 ปี ต้องเผชิญอาการป่วยจากโรค "ความผิดปกติทางประสาท และอาการปลายประสาทอักเสบ" (neurological disorders and peripheral neuropathy disease) หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar ของรัฐบาลทหาร เปิดเผยเพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่า มยิ้ดซเว่ ต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา และปัจจุบัน ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหาร

ทั้งนี้ หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) มยิ้ดซเว่ สมาชิกพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนกองทัพพม่า ได้ทำหน้าที่ในฐานะรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ก่อนที่ต่อมา หลังทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2567 กองทัพพม่าได้ควบคุมตัวอองซานซูจี และประธานาธิบดี หวิ่นมยิ้ด ทำให้ มยิ้ดซเว่ ได้เป็นรักษาการประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ. 2551) ระบุว่า รองประธานาธิบดีคนที่ 1 จะขึ้นเป็นรักษาการแทนประธานาธิบดี เมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีว่างลงเนื่องจากการลาออก เสียชีวิต หรือจากสาเหตุอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามยิ้ดซเว่ จะเป็นเพียงประธานาธิบดีหุ่นเชิด แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ต้องพึ่งพาเขาในการลงนามกฎหมาย และให้ความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งปัจจุบันกำลังดิ้นรนเพื่อควบคุมการขยายตัวของสงครามกลางเมือง และการจัดการเศรษฐกิจที่กำลังพังทลาย

สภากลาโหมและความมั่นคง ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีในทางกฎหมาย เป็นหน่วยงานของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่ในทางปฏิบัตินั้นถูกควบคุมโดยกองทัพพม่า มีบทบาทสำคัญในการเรียกประชุมสภากลาโหมฯ และต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินทุกๆ 6 เดือน ซึ่งอนุญาตให้กองทัพพม่ามีอำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญ โดยตอนนี้ประธานาธิบดี หรือก็คือมินอ่องหล่าย เป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว

กองทัพพม่าอ้างว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการปัญหาความไม่มั่นคง ซึ่งเกิดการฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารพม่า ซึ่งกำลังต่อสู้กับกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ของประเทศเมียนมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net