Skip to main content
sharethis

“จักรพันธ์” ศิลปินรุ่นใหม่ในเชียงใหม่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย และ Performance Art ในธีม “ข้าวโพดมนุษย์: ใยเราจึงเจ็บป่วย” ชวนผู้คนจินตนาการถึงโรคร้ายที่ถูกเลี้ยงไข้จากการดิ้นรนใช้ชีวิตภายใต้หมอกควันและฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานาน โดยที่คนไทยไม่อาจหลุดพ้นจากวงจรของบริษัททุนใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษได้ จักรพันธ์ย้ำว่า ตนเองต้องการสื่อสารปัญหาหมอกควันพิษและฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องจนกว่าปัญหานี้จะหายไป

 

2 ส.ค. 2567 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. ที่ Some Space gallery เชียงใหม่ จักรพันธ์ ศรีวิชัย ศิลปินรุ่นใหม่ในเชียงใหม่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและ Performance Art ภายใต้ประเด็น “ข้าวโพดมนุษย์: ใยเราจึงเจ็บป่วย” เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่มาจินตนาการถึงโรคร้ายที่เกิดจากการดิ้นรนดำรงชีวิตภายใต้หมอกควันและฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดเป็นโรคผิวหนังผดผื่นสีส้มเหลืองคล้ายเมล็ดข้าวโพดทั่วร่างกาย บริโภค รับใช้ ล้มไข้ และเยียวยาไม่จบสิ้นอยู่ในอุตสาหกรรมซ่อนภัย กลายพันธุ์แปลงกายเวียนวนเตร็ดเตร่ในภูมิเวลา จนไม่อาจหลุดพ้นจากมนุษย์สมัยที่กลืนกินผู้คน สังคม และสภาพแวดล้อม

เชียงใหม่

 


 

เชียงใหม่

 

 

เชียงใหม่

 

จักรพันธ์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า งานในครั้งนี้เป็นการต่อยอดมาจาก Performance Art เฉพาะกิจเป็น “ข้าวโพดมนุษย์” ของตนเองที่บริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแม่สาย จ.เชียงราย ที่พูดถึงปัญหาฝุ่นควันเช่นกัน ตนเองไม่ต้องการให้การสื่อสารประเด็นปัญหา PM2.5 เป็นการสื่อสารเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่นควันมาเพียงอย่างเดียว ต่อให้ตอนนี้เชียงใหม่จะอยู่ในช่วงที่อากาศดี แต่ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้หายไปไหน ปัญหานี้จะยังคงวนกลับมาทุกปี ตนเองจึงอยากสื่อสารปัญหาหมอกควันพิษและฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องจนกว่าปัญหาจะหายไป

โดยมีการตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นต้นตอของปัญหาหมอกควันจริงหรือไม่ หมอกควันในภาคเหนือส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากไฟป่า แต่ส่วนสำคัญที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มีบริษัททุนใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรอยู่เบื้องหลัง ซึ่งครอบคลุมชีวิตคนไทยเกือบครบวงจรตั้งแต่การปลูกข้าวโพดในป่าต้นน้ำและการขายอาหารสด อาหารปรุงสำเร็จในเมือง ทำให้คนไทยเหมือนโดนเลี้ยงไข้และหลุดออกไปจากปัญหาหมอกควันพิษไม่ได้ ที่สำคัญอุตสาหกรรมข้าวโพดทิ้งสารเคมีไว้เป็นจำนวนมากในพื้นที่เพาะปลูกซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนดอยและเป็นป่าต้นน้ำ และฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาที่ตามมาจากการเผาเพื่อปลูกข้าวโพดมีขนาดเล็กมาก จนคนทั่วไปไม่อยากรู้ได้ว่าอันตรายนี้อยู่ตรงไหนของชีวิต ขณะที่หายใจเข้าไป

ในงาน Performance Art ครั้งนี้จักรพันธ์เลือกโฟกัสมาที่อาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยนำเอาปากกาเคมีสีส้มมาเขียนเป็นลายเม็ดข้าวโพดบนตัวเอง เขายืนยันที่จะไม่ใช้สีผสมอาหารหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับร่างกายตนเองมากกว่านี้ เนื่องจากเขาคิดว่าการจะพูดเรื่องสารเคมีหรือเรื่องความอันตรายเจ็บป่วยทางกายก็สมควรแล้วที่จะต้องใช้สารเคมีเช่นกันในการสื่อสาร ต่อให้อาจเป็นอันตรายกับร่างกายของตัวเองก็ตาม 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net