Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลง 13 ข้อ เสนอนโยบายต่อรัฐบาลแพทองธาร จี้นิรโทษกรรมและผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

8 ก.ย. 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นำแถลงข้อเสนอคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ต่อคณะรัฐมนตรีนางสาวแพทอง ธารชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ-และสังคมไทย ดังนี้ นางสาวแพทอง ธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย. 2567 ครป. มีความเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสานต่อและจัดทำนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริง ตามพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับรัฐสภา และแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเลยข้อเรียกร้องที่มาจากภาคประชาสังคม โดย ครป. มีข้อเสนอ ดังนี้

ด้านการเมืองและความยุติธรรม

1) เร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างอิสระเสรี โดยที่มติคณะรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติ ด้วยคำถามที่จะขอประชามติเป็นคำถามที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนสับสนซ่อนเงื่อน อาทิว่า “เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบันหรือไม่” ทั้งนี้ ให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้น คือ ก่อนวันที่ 3 ก.พ. 2568

2) ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ให้แยกเป็นอิสระจากกันชัดเจน มีความสมดุลกันอย่างเหมาะสม ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ทั้งจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ มีความโปร่งใส และยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน

3) ให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่องการวางแผน จัดทำโครงการ การตั้งคำของบประมาณโดยตรง และพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โอนภารภิจ การงาน บุคลากร และงบประมาณส่วนภูมิภาคให้ท้องถิ่น เช่น งานตำรวจ งานสาธารณสุข งานการศึกษา งานเกษตรกรรม งานสาธารณูปโภคพื้นฐาน งานจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

4) ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง นักโทษที่ถูกกล่าวหาจากคำสั่งของคสช. ตลอดจนนักโทษทางความคิด ความเชื่อ หรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีเพราะเหตุผลทางการเมือง โดยอาจตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลให้มีนโยบายปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้มีการประกันตัวสำหรับคดีการเมืองโดยทันที

5) เร่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ รวมตลอดถึงกระบวนการพิจารณาคดีความในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นระบบในศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหารและระบบการจัดการดูแลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์

ด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

6) เร่งรัดให้ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้า และสร้างการแข่งขันทางการค้าที่เสรีเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนแก้ไขปัญหาค่าแรงทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับค่าแรงที่เท่าเทียม ได้รับสวัสดิการที่ดี รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง โดยยุติการผลักภาระด้านต้นทุนแก่ประชาชนผู้บริโภค

7) เร่งทบทวนสัญญาและสัมปทานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการผูกขาด เอื้อประโยชน์ และไม่เป็นธรรม อันทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์แล้ว ขอให้รัฐบาลได้ยุติสัญญาหรือสัมปทานนั้น ๆ ทันที ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาด

8) ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการถือครองที่ดินอย่างผูกขาดและเกินความจำเป็นไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน โดยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยเร่งปรับปรุงแผนที่ One Map ให้เสร็จโดยชัดเจนโดยมีส่วนร่วมจากประชาชนชุมชนเพื่อลดข้อพิพาทต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งกลไกให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาไร้ที่ทำกินของประชาชน

9) ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการจัดระบบโครงสร้างการจัดการภาวะอุทกภัยและภัยแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกและยั่งยืน

10) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับภาวะเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโลกร้อนและพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ผลิตที่กระบวนการผลิตส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ของโลกอยู่ในขณะนี้

ด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม

11) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ได้อย่างอิสระ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคม เท่าทันกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศในสากลโลก ด้วยการวางสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา มีระบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียนนักศึกษา ให้มีความสามารถในการคิดเอง ทำเอง พัฒนาตนเอง จากความรู้ในระบบสารสนเทศที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง โดยการลงทุนอย่างจริงจังในระบบการศึกษา การพัฒนาครูผู้สอน การกระจายทรัพยากรทางการศึกษา และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกมิติ อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

12) ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและเคารพในวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายและยุติการสร้างความเกลียดชังต่อผู้มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ เพศสภาวะ และเพศวิถี

ด้านต่างประเทศ

13) ร่วมมือกับอาเซียน ในการพัฒนา สิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ยุติบทบาทที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน โดยร่วมมือกับอาเซียนผลักดันให้ปฏิบัติตามฉันทมติอาเซียน 5 ข้อ

เลขา ครป. วิพากษ์ ครม.ชุดใหม่ยังมีมลทิน เสนอรัฐบาลแพทองธารแก้ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดโดยใช้ทรัพยากรพลังงานเป็นของส่วนรวมแบบนอรเวย์ ยกเลิกสัมปทานแบบเก่า

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา.สี่แยกคอกวัว ในงานแถลงข่าว ครป. ข้อเสนอต่อนโยบายรัฐบาล นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่า ข้อเสนอของ ครป.วันนี้เพื่อต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงและแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศให้ได้ผล จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะแถลงต่อรัฐสภา ทั้ง 13 ข้อดังกล่าว แต่ตนมีข้อห่วงใยเพิ่มเติมดังนี้

ครม.แพทองธาร 1 ต้องการปรับปรุงเรื่องจริยธรรม เอา รัฐมนตรีเก่าออกหลายคนที่มีข้อครหา แต่ยังคงมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ยังมีมลทินในอดีตให้เข้ามาคุมกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิมนั้น ไม่น่าจะเป็นครม.หน้าตาใหม่ไร้มลทิน เพราะเคยเป็นเจ้ากระทรวงเดิมที่เคยเกิดคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ฉาว และคดีซื้อแอร์บัสการบินไทย

ส่วนโยบายของรัฐบาลหลายข้อตรงกับวิสัยทัศน์ของทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มองไกล แต่หลายเรื่องเป็นโอกาสทางธุรกิจไม่ใช่โอกาสของประเทศ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งตนมีความเห็นต่อวิสัยทัศน์ดังนี้

1. การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนนั้น ต้องลดรายจ่ายประชาชนเพื่อลดหนี้สินครัวเรือน โดยลดภาษีบ้านและรถยนต์ ลดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย ลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน โดยการปรับโครงสร้าง และแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลต้องทำเศรษฐกิจให้เติบโตแต่ไม่ปรับโครงสร้างไม่ได้ เพราะโครงสร้างกระจายรายได้ไทยเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก นโยบายเงินหมุนเวียนจากล่างขึ้นบนหรือดิจิตัลว็อลเล็ต จะทำให้กระเป๋าตังเจ้าสัวก้าวกระโดด ควรยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบเติมเม็ดเงินหมุนเวียนที่กระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ แต่คนไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สิน

2. การนำเศรษฐกิจใต้ดินมาบนดิน ต้องระวังการนำสิ่งผิดกฎหมายขึ้นมาถูกกฎหมาย เพราะสังคมไทยจะล้มละลายและเต็มไปด้วยอาชญากรรม ที่ผ่านมากฎหมายสมัย รมต.ปุระชัย ทำให้เกิดการเก็บส่วยกับร้านอาหารและไนท์คลับผับบาร์ ควรยกเลิกและแก้ไขปัญหาส่วยตำรวจ

3. การหวังเงินลงทุนจาก BOI และทุนจากต่างประเทศ ควรให้ BOI กลับมาช่วย SME มากกว่า เพราะกลุ่มทุนใหญ่ได้อภิสิทธิ์พิเศษมากพอแล้วในอดีตที่ผ่านมา ควรจ่ายคืนสังคมในรูปแบบภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้ามากกว่า สำหรับนโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีนั้น 50 ปีในปัจจุบันก็เกินพอแล้ว ตามกฎหมาย BOI ยังอนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้อยู่ในฐานะนิติบุคคล

4. เรื่องการเกษตรทันสมัย เกษตรกรรมปราณีตต่างๆ จะทำอย่างไรให้เป็นอิสระจากทุนผูกขาดอุตสาหกรรมการเกษตรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

5. เห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทำสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดและมีห้องน้ำที่สะอาด ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ต้องร่วมมือกัน

6. เรื่องรถไฟฟ้าเป็นของรัฐแล้วให้เอกชนบริหาร จะทำอย่างไรให้เอกชนไม่หากผลประโยชน์จากภาครัฐ แต่ให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชนแทน ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แลกที่ดินมักกะสัน ซึ่งปัจจุบันหยุดชะงักอยู่ บางโครงการบังคับให้รัฐร่วมทุนหรือออกงบประมาณร่วมก่อสร้างแต่ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่มาบริหารแทน

7. สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีในระบบราชการ เพื่อรับใช้ประชาชน ในยุค Open AI กับ Super AI กำเนิดชนชั้นในยุคใหม่ คนไทยต้องเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน เพราะปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบงำการเมือง และใช้วิธีการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ มาจากการยึดครองเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

8. สนับสนุนโครงการ Space port สถานีส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และดาวเทียม รวมถึงการร่วมมือกับอาเซียนในการจัดตั้งองค์การอวกาศอาเซียน แต่รัฐจะต้องได้ประโยชน์เพราะกรณีดาวเทียมไทยคมนั้นพอหมดอายุสัมปทานจะต้องตกเป็นของรัฐแต่ที่ผ่านมามีการเอื้ออำนวยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชนต่อไปแม้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

9. กรณีนโยบายการนำพลังงานใต้ดินขึ้นมาใช้ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะหุ้นส่วนเหมือนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณอ้างตัวอย่างนอรเวย์ Fund และทำประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลจากรายได้จากพลังงานของประเทศ ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมหาศาล รวมถึงในพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา ถ้านำมาหาผลประโยชน์ให้กับประเทศและจัดตั้งเป็นกองทุนแบบนอรเวย์ จะดีกว่าระบบสัมปทานแบบเก่า ทรัพยากรไทยมีจำนวนมากมายที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายทรัพยากร และการแก้ปัญหาการผูกขาดทรัพยากร

10. ขอคัดค้านนโยบายคาสิโนถูกกฎหมายในไทย หรือเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ครบวงจร ถ้ามีควรไว้สำหรับต่างชาติเท่านั้น เพราะถ้าอนุญาตให้คนไทยเล่นได้ทั้งหมดก็จะนำเข้าสู่ปัญหาหนี้สินและปัญหาอาชญากรรมครบวงจรไม่สิ้นสุด ถ้าให้เฉพาะคนต่างชาติ ก็จะนำภาษีเข้าประเทศได้มากกว่าสร้างปัญหาภายในประเทศ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net