Skip to main content
sharethis

พันธมิตรชานม ประเทศไทย แสดงป้ายผ้า "Long Live People Revolution" รำลึกครบรอบ 36 ปี เหตุการณ์ลุกฮือประท้วงนายพลเนวินของพม่า '8888' หวังเป็นกำลังใจให้คนพม่าที่กำลังต่อสู้เพื่อการปฏิวัติ

 

11 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเมื่อ 9 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมจากกลุ่มพันธมิตรชานม ประเทศไทย (Milk Tea Alliance Thailand) ได้ทำกิจกรรมแสดงป้ายผ้า ปรากฏข้อความ "Long Live People Revolution - 8888" ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ป้ายผ้า "Long Live People Revolution - 8888" (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

'มีมี่' ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรชานม ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านข้อความบนแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้เกิดขึ้นจากนักกิจกรรมที่ติดตามเรื่องพม่ายืนยันกับพวกเธอว่าอยากทำกิจกรรมในวันครบรอบวันลุกฮือ 8888 ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรชานมเห็นด้วย และอยากให้ชาวพม่าไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อะไรที่รู้สึกว่าทำได้ก็อยากทำ และพร้อมทำ

ณิชกานต์ กล่าวว่า เธออยากสื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ถึงเรื่องราวในประเทศเพื่อนบ้าน ติดตามสถานการณ์สงครามกลางเมือง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเธออยากส่งต่อและแชร์ข่าวสถานการณ์ในเมียนมามากขึ้น

กลุ่มพันธมิตรชานมฯ ระบุว่า ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยนั้นอยากให้ทางการตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าและยุติการมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงคราม รวมถึงร่วมกันแสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนเพื่อคนพม่า

สำหรับเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรชานมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องและสนับสนุนให้ไทยคว่ำบาตรธนาคารและไม่ทำธุรกิจกับวิสาหกิจของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อไม่ให้เงินจากรัฐบาลไทยนำไปสู่การซื้ออาวุธทำสงครามกับประชาชน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสถาบันทางการเงินทั้ง 5 แห่งที่ถูกใช้เป็นเส้นทางการเงินเพื่อซื้ออาวุธให้กองทัพพม่า ตามที่รายงานจัดทำโดย ทอม แอนดรูส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา แห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนพันธมิตรชานมฯ ระบุว่า เธอยังไม่เห็นรัฐบาลไทยแสดงออกว่าจะเอายังไงกับการมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมสงครามในพม่า แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าจะเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยไปเรื่อยๆ แทนคนพม่าที่ออกมาพูดแล้วจะมีความเสี่ยงถูกคุกคามมากว่า

ณิชกานต์ กล่าวฝากกำลังใจถึงชาวพม่าที่กำลังต่อสู้เพื่อการปฏิวัติประชาชน และอยากให้รู้ว่ามีกำลังใจจากคนไทยคอยสนับสนุนอยู่

ทั้งนี้ เหตุการณ์ 8888 เกิดขึ้นในวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) เป็นการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องของชาวพม่าหลายแสนคนระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ย. 2531 เพื่อต่อต้านการปกครองโดยพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ของประธานาธิบดี นายพลเนวิน โดยชนวนเหตุของความไม่พอใจมาจากการบริหารประเทศอันล้มเหลว ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อที่แก้ไม่ตก ความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และการกดขี่จากรัฐบาลทหารที่สะสมมาอย่างยาวนานหลายปี

ตลอดช่วงที่มีการประท้วงของประชาชนราว 7 เดือน กองทัพพม่าได้ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งรายงานจากฮิวแมนไรท์วอต์ช อ้างอิงข้อมูลจากบีบีซี ระบุว่า กองทัพพม่าใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชน จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 3,000 คน ขณะที่ตัวเลขทางการพม่า เผยว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 350 คน

การประท้วงจะยุติลงเมื่อ 18 ก.ย. 2531 หลังการทำรัฐประหารของนายพล ซอหม่อง และคณะทหาร ที่ชื่อ "สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ" (SLORC) หลังจากนั้นชาวพม่าติดอยู่ในวังวนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบไฮบริดของคณะทหารพม่า จนกระทั่งพรรคพลเรือน สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ในปี 2558 

อย่างไรก็ตาม ชาวพม่ากลับเข้าสู่ระบอบการปกครองนำโดยคณะทหารพม่าอีกครั้ง หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 โดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง นำพาพม่าเข้าสู่วิกฤตความขัดแย้ง และสงครามกลางเมืองอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เผยแพร่สถิติบนสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อ 10 ส.ค. 2567 ถึงสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังและกดปราบเสียชีวิตจากเงื้อมมือของกองทัพพม่าตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 9 ส.ค. 2567 มีจำนวนผู้เสียชีวิตโดยเงื้อมมือของกองทัพพม่า จำนวน 5,482 ราย มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 27,175 ราย และยังคงถูกคุมขังจำนวน 20,733 ราย

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net