Skip to main content
sharethis

มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง ร่วมกับอีก 3 องค์กรภาคประชาสังคมแถลงข่าวจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลงสานต่อเจตนารมณ์ด้านการศึกษาศาสนาของผู้นำมุสลิมที่ถูกอุ้มหายเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ตั้งเป้าตั้งได้ใน 3 ปี หมอเพชรดาว โต๊ะมีนา เผยคุณปู่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งภาษามลายูและภาษาไทย เพื่อจะได้สื่อสารกับคนทั้งประเทศ

เด่น โต๊ะมีนา ประธานมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ MAC (มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม) INSANI (สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและการพัฒนามนุษย์ และ PUKIS (ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา) ร่วมแถลงข่าวจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลง (Kolej Haji Sulong ; K-HAS) ณ ที่ทำการมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อ.เมือง จ.ปัตตานี

เด่น โต๊ะมีนา

การแถลงข่าวครั้งนี้ตรงกับวันครบรอบ 70 ปีที่ ฮัจยีสุหลง อับดุลกาเดร์พ่อของเด่น โต๊ะมีนา ถูกบังคับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย พร้อมกับลูกชายคนโตวัย 15 ปี อาหมัด โต๊ะมีนา และเพื่อนอีก 2 คน หลังจากเดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497

เด่น กล่าวว่า การจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลงเป็นความร่วมมือระหว่าง MAC, INSANI และ PUKIS ตามที่ได้ตกลงกันร่วมกันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอาคารที่นั่งแถลงข่าวนี้คือ Madrasah al-Maarif al-Wathaniyah เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกมีอายุมากกว่า 90 ปี (ก่อตั้งโดยฮัจยีสุหลง) เป็นที่รู้จักกันในชื่อโรงเรียนมัจลิสเพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หลานปู่ของฮัจยีสุหลง กล่าวว่า จากข้อเรียกร้องของอาจารย์ฮัจยีสุหลงและคณะต่อรัฐบาลไทยใน 7 ข้อนั้น หากย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ที่แท้จริง พบว่า เมื่ออาจารย์ฮัจยีสุหลงกลับมาจากการเล่าเรียนที่เมกกะ (ซาอุดิอาระเบีย) เห็นว่าการศึกษามีความสำคัญที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างแท้จริง จึงเปิดการศึกษาระบบโรงเรียนซึ่งเป็นที่แปลกประหลาดของคนในยุคนั้นเพราะมักจะเปิดปอเนาะ

“โรงเรียนที่เปิดคือที่นี่ มัดราเซาะห์ อัลมูอารีฟ อัลว่าฏอนียะห์ ปัตตานี (Madrasah al-Maarif al-Wathaniyah) ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน โดยโรงเรียนแห่งนี้ได้ตกทอดจากยุคสู่ยุคตามกาลเวลา และยังคงมีการเรียนการสอนจนถึงทุกวันนี้ ท่านอาจารย์ฮัจยีสุหลงใส่ใจกับการพัฒนาคนผ่านการศึกษาเป็นอย่างมาก ท่านอุทิศเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่ไม่เฉพาะด้านการศาสนาอิสลาม แต่มีเรื่องดาราศาสตร์ด้วย”

เพชรดาว กล่าวว่า ฮัจยีสุหลงได้ทำปฏิทินอิสลามด้วย โดยมีเจ๊ยำซึ่งเป็นสะใภ้ที่เคยเห็นฮัจยีสุหลงเอาหินเอาเชือกมาวัดแสงกำหนดวันเวลาละหมาด อันนี้ถือเป็นดาราศาสตร์อิสลามที่สมบูรณ์แบบที่สุด และสถาบันดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยได้บรรจุดาราศาสตร์อิสลามในปฏิทินของสถาบันดาราศาสตร์ของกระทรวง อว.ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่สถาบันฯได้พูดถึงปฏิทินละหมาดของฮัจยีสุหลงด้วย นี่เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของตระกูลโต๊ะมีนา ท่านก็ยังเป็นหมอกระดูกซึ่งคนน้อยคนจะรู้ รวมทั้งสอนให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนิกโดยไม่มีศาสนามาขวางกั้น”

เพชรดาว กล่าวว่า ฮัจยีสุหลงให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆ อันดับแรกคือเรื่องศาสนา ถ้าไม่จบอัลกุรอานก็ไม่สามารถไปเรียนสามัญได้ ท่านจะคอยเตือนเรื่องการศึกษาเสมอ และส่งลูกทั้ง 7 คนไปโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุดในจังหวัดปัตตานีขณะนั้น คือโรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ จนจบ ป.7

“จะเห็นได้ว่าจดหมายทุกฉบับที่ท่านเขียนมาจากเรือนจำ ท่านจะบอกภรรยา ฝากถึงลูกหลานว่าการศึกษานั้นสำคัญ ภาษามลายูเป็นภาษาที่เราพูดในบ้านอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมภาษาไทยซึ่งต้องสื่อสารกับคนไทยทั่วประเทศ ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน”

เพชรดาว กล่าวว่า จึงทำให้เกิดแนวคิดการจัดตั้งสถานศึกษาภายใต้ชื่อฮัจยีสุหลงโดยกลุ่มภาคประชาสังคมปาตานี คือ MAC, INSANI และ PUKIS โดยหารือรายละเอียดต่างๆ ใช้เวลา 2 ปีจนเริ่มตกผลึก เกิดโครงการจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลงขึ้นมามีชื่อย่อว่า K-HAS เป็นการศึกษาที่เกิดโดยเจตนารมณ์ความร่วมมือร่วมใจของชาวปาตานี โดยคิดว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญเพื่อพัฒนาแผ่นดินเกิดปาตานีของเราต่อไป

แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลงร่วมกับทั้ง 3 องค์กรลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลง ซึ่งเป็นวิทยาลัยปฏิบัติการและนวัตกรรม คือเป็นวิทยาลัยที่ผู้เรียนต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติและการเรียนรู้ควบคู่กับวิชาการหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่จะสร้างนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ต่อการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองในอนาคต

ตั้งเป้าจัดตั้งให้ได้ใน 3 ปี

รอมซี ดอคอ จากศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา PUKIS กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโดยมีนายรอยะ หวันโซ๊ะ อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นประธาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯได้วางประชุมวางแผนมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ทำ MOU ร่วมกัน ตอนนี้มีคณะทำงานทั้งร่างหลักสูตร จัดหาทุน สถานที่ แผนงานและรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามระเบียบของทางกระทรวง อว.

รอมซี กล่าวด้วยว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ไปกระทรวง อว.เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัย เราคาดหวังว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนของงบประมาณจะดำเนินงานที่จัดหาตามแหล่งทุนและผู้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

รอมซี กล่าวว่า เมื่อเตรียมเอกสารเตรียมหลักสูตรที่จำเป็นแล้ว ต้องยื่นขอจัดตั้งวิทยาลัยจากกระทรวง อว. ก็ถ้าได้รับการอนุมัติให้มีโครงการจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลงแล้วก็จะมาดำเนินการก่อสร้างอาการสถานที่และรายละเอียดทั้งหมดตามที่ อว.ระบุไว้ หลังจากนั้นก็ส่งไปยัง อว.อีกครั้งเพื่อให้คณะทำงานพิจารณาอนุมัติ ซึ่งมี 3 คณะด้วยกัน คิดว่าจะสร้างให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ลิงค์ชมไฟล์สดงานแถลงข่าวจัดตั้งวิทยาลัยฮัจยีสุหลง

https://web.facebook.com/HajiSulongFoundation/videos/1420296265334773

เปิดภูมิหลัง 7 ข้อเสนอ ก่อนหายตัวไป

สำหรับข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อดังกล่าว ฮัจยีสุหลงในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีได้ยื่นให้รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2490 หลังจากหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ตั้งกรรมการสอดส่องภาวะการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งฮัจยีสุหลงได้ประชุมผู้นำศาสนาเพื่อจัดทำข้อเสนอจนได้ข้อสรุป 7 ข้อ โดยสรุปดังนี้

1. ขอให้มีการปกครอง ปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาส โดยผู้มีตำแหน่งสูงสุดต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัดนี้ โดยได้รับเลือกจากชาวมุสลิมในพื้นที่ และมีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งข้าราชการ

2. ภาษีและรายได้ที่เก็บได้ใน 4 จังหวัดนี้ให้ใช้ใน 4 จังหวัดนี้

3. ข้าราชการใน 4 จังหวัดให้มีชาวมลายู 80%

4. ให้มีการศึกษาภาษามลายูในโรงเรียนชั้นประถม

5. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

6. แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอดีที่มีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความ

7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับปฏิบัติการศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้รับข้อเสนอทั้ง 7 ข้อแล้ว  ปรากฏว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นในกรุงเทพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกฯ และมีนโยบายจะกำจัด"ตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน"  ทำให้ฮัจยีสุหลงและพวกถูกจับกุมในปีต่อมาและถูกฟ้องฐาน "ตระเตรียมและสมคบคิดกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง" ถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี 8 เดือนที่เรือนจำบางขวาง ข้อหาดูหมิ่นรัฐบาล แต่ยกฟ้องข้อหาแบ่งแยกดินแดน และได้รับการปล่อยตัวในปี 2495 แต่ก็ถูกจับตามาตลอด จนกระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ฮัจยีสุหลงถูกเรียกตัวไปพบหน่วยสันติบาลที่ อ.เมือง จ.สงขลา กระทั่งหายตัวไปในที่สุดพร้อมลูกชายคนโตและเพื่อนอีก 2 คน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net