Skip to main content
sharethis

ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องหลักการประชาธิปไตย และประกันสมดุลอำนาจของผู้ได้รับการเลือกตั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

16 ส.ค. 2567 ทีมสื่อฟอร์ตี้ฟายไรต์แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน เพื่อปกป้องหลักการประชาธิปไตย และประกันสมดุลของอำนาจระหว่างผู้ได้รับการเลือกตั้งและแต่งตั้งมาทำหน้าที่ในการปกครองประเทศ 

“หลักการประชาธิปไตยถือเป็นรากฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชนประการอื่นๆ อีกมากมาย ธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีสมดุลอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกคุกคามในประเทศไทย ณ ตอนนี้ ดังที่เห็นได้จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา” เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “แทนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีอำนาจเกินขอบเขต จนอาจขัดขวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้”

ในวันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรี สิ้นสุดลง หลังการไต่สวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคน มีมติห้าต่อสี่ว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” คำวินิจฉัยของศาลเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้นายพิชิต ชื่นบาน สมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี โดยที่เขาเคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาเมื่อปี 2551 โดยในคำวินิจฉัยครั้งนี้ ศาลได้อ้างมาตรา 160 (4) และ (5) และมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานจริยธรรมของรัฐมนตรี  

นายกรัฐมนตรีเศรษฐาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ถูกถอดถอนโดยศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของการใช้อำนาจเกินขอบเขตของศาลไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้นสี่คน ตั้งแต่สมัคร สุนทรเวช ในปี 2551, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปีเดียวกัน, และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557

นอกจากนี้ ช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ในวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติให้ยุบพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 11 คน เป็นเวลา 10 ปี คำตัดสินดังกล่าวยิ่งสะท้อนถึงแบบแผนที่เป็นปัญหา เมื่อมีการใช้อำนาจศาลกระทำต่อพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งยุบพรรคการเมืองทั้งสิ้นหกพรรค ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ (ถูกยุบวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) พรรคไทยรักษาชาติ (ถูกยุบวันที่ 7 มีนาคม 2562); พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน (ถูกยุบทั้งสามพรรคพร้อมกันวันที่ 2 ธันวาคม 2551); และพรรคไทยรักไทย (ถูกยุบวันที่ 30 พฤษภาคม 2550)

รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการที่รัฐบาลทหารเป็นผู้แต่งตั้ง และมีการประกาศใช้ภายหลังการทำประชามติภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจมหาศาลกับองค์กรอิสระและหน่วยงานที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงฝั่งตุลาการและวุฒิสภา ส่งผลให้มีการแทรกแซงอย่างต่อเนื่องของศาลในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมืองและหลักการด้านประชาธิปไตย

ข้อ 21 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคุ้มครองหลักการพื้นฐานด้านประชาธิปไตย ในที่นี้รวมทั้งการประกันว่า “เจตจำนงของประชาชน” จะต้องเป็น “พื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง” ข้อ 21 ยังคุ้มครองสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตน โดยตรงหรือผ่านผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยอิสระ  

ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวว่า การให้ความเคารพในสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ถือเป็นการบั่นทอนระบอบรัฐธรรมนูญของไทย กลับกัน สิ่งนี้จะเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาลที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชนชาวไทย 

“การแทรกแซงของศาลไม่เพียงทำให้สถาบันการเมืองขาดเสถียรภาพ หากยังบั่นทอนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “การปฏิรูปรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ ตลอดจนยุติวงจรความไร้เสถียรภาพและความแปรปรวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net