Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงนี้ (เดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี) เป็นฤดูที่ทุเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้กำลังออกผล ชาวสวนรอบ “ภูเขาเมาะแต” (กินเนื้อที่หลายตำบลใน อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส) ในพื้นที่ทำงานของ Tanah Kita Network ต่างกำลังทยอยเก็บผลผลิตทุเรียนส่งขายกันคึกคัก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ทั้งเจ้าของสวนและแรงงงาน/ลูกจ้างจำนวนมาก แม้ปีนี้ผลผลิตทุเรียนจะมีน้อยกว่าทุกปี เพราะช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้เกิดภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่มในหลายพื้นที่รอบภูเขาเมาะแต ทำให้ต้นทุเรียนโค่นล้มเสียหาย อีกทั้งต่อมายังมีภาวะอากาศร้อนและแล้งจัดอีกหลายเดือนจนดอกทุเรียนร่วงหล่น

ผลผลิตทุเรียนที่นี่มี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน หรือ “ดือรือแย กำปง” (durian kampung) ที่ปลูกกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมในยุคบุกเบิกที่ดินและก่อร่างสร้างชุมชน ทุเรียนบ้านส่วนใหญ่จึงมีอายุมาก ลำต้นใหญ่ บางต้นมีขนาดหลายคนโอบ และมีความสูงมาก การเก็บผลผลิตต้องรอให้สุกบนต้นและหล่นลงมา แล้วจึงค่อยไปเก็บที่โคนต้นในช่วงเช้าของแต่ละวัน ทุเรียนบ้านมีหลายสิบพันธุ์ ทุเรียนบ้านเติบโตได้ดีในสวนในเขตป่าเขาซึ่งชาวบ้านมีระบบการทำเกษตรที่สอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศ นั่นคือ การปลูกผลไม้ยืนต้นหลายชนิด (ลองกอง มังคุด สะตอ ลูกเนียง เงาะ) ปะปนกันไป เป็นสวนไม้ผลผสมผสานที่มักเรียกกันโดยนักวิชาการ/นักวิจัยด้านนิเวศวิทยาวัฒนธรรมชายแดนใต้ว่า “สวนดุซง” ซึ่งสวนดุซงเก่าแก่มักมีต้นยางพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อทางการส่งเสริมการปลูกยางพาราพันธุ์ใหม่แบบเชิงเดี่ยว สวนดูซงก็ยังอยู่แทรกสลับกับสวนยางสมัยใหม่ อันชี้ให้เห็นว่าแม้รูปแบบการเกษตรจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สวนดูซงซึ่งแหล่งทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านก็ยังไม่หายไปไหน นี่ยังไม่นับต้นทุเรียนหรือไม้ผลอื่นๆ ในส่วนหลังบ้านที่มีอยู่อีกมาก  


แรงงานขนทุเรียนใส่ตร้าแบกลงมาจากสวนบนภูเขา (ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) (ภาพถ่ายสิงหาคม 2567)
 

ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านมีราคารับซื้อหน้าสวนปีนี้ลูกละประมาณ 25-26 บาทสำหรับลูกใหญ่เกิน 1 กิโลกรัมที่ไม่มีรอยแตก หากมีรอยแตกก็ราคาตกลงมาเหลือลูกละ 10 บาท ส่วนลูกที่เล็กกว่านั้นราคาประมาณลูกละ 5 บาท แต่ทุเรียนลูกเล็กๆ หรือลูกที่มีร่องรอยกระรอกเจาะก็มักถูกนำมาแกะเอาแต่เนื้อเพื่อแช่แข็งส่งขาย หรือเพื่อทำเป็นทุเรียนกวน ซึ่งจะมีราคาดีกว่า  เส้นทางตลาดของผลทุเรียนบ้านมักจำกัดวงอยู่แค่ในท้องถิ่น ไม่เกินภายในจังหวัด เพราะลูกทุเรียนบ้านเริ่มสุกตั้งแต่ออกจากสวน จึงเก็บรักษาไม่ได้นาน ไม่เหมาะแก่การส่งไปขายยังที่ไกลๆ ส่วนที่แกะเนื้อแล้วก็จะถูกส่งเข้าโรงงานทุเรียนแช่แข็งหรือโรงงานทุเรียนกวนที่ตอนนี้มีหลายแห่งในพื้นที่ โรงงานบางแห่งเป็นของคนท้องถิ่นเดิม บางแห่งเจ้าของเป็นคนท้องถิ่นเชื้อสายจีนในตลาด บางแห่งก็เป็นโรงงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 

อีกประเภทก็คือทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจ หลักๆ คือ พันธุ์หมอนทอง และมีพันธุ์ชะนีบ้าง พันธุ์ก้านยาวบ้าง ทุเรียนเหล่านี้มีราคารับซื้อแพงกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านมาก และมีเส้นทางการตลาดที่ไกลไปถึงต่างประเทศ ตลาดหลักคือจีน รองลงมาคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้ ลูกขนาดกลางๆ มีราคารับซื้อที่แหล่งตลาดกลางใหญ่แถวสี่แยกมลายูบางกอก อ.เมือง จ.ยะลา ตกอยู่ที่ 85-100 บาท/ กิโลกรัม การขายทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจนี้จะมีทั้งแบบที่มี “ตอแก” (เถ้าแก่ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง) ซึ่งส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ มา “เหมาสวน” โดยเถ้าแก่เป็นผู้จัดการหาแรงงานปีน ตัดเก็บ และขนทุเรียนเอง กับแบบที่เจ้าของสวนตัดทุเรียนเอง แล้วนำทุเรียนที่ได้บรรทุกใส่ท้ายรถกระบะนำมาขายที่สี่แยกมลายูบางบอกด้วยตัวเอง หรือบางทีอาจขายให้ “ล้ง” ที่ไปตั้งรอรับซื้อระหว่างทางหรือในตัวอำเภอ ผู้ประกอบการล้งหลายรายมาจากนอกพื้นที่ บางรายเป็นชาวมาเลเซียที่เดินทางข้ามแดนมาพำนักชั่วคราวเพื่อรับซื้อทุเรียนในช่วงฤดูกาล

ทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจนี้มีทั้งต้นที่มีอายุยาวนานประมาณ 25-30 ปี จากที่ชาวบ้านเริ่มรู้จักทุเรียนพันธุ์ใหม่เหล่านี้และนำมาทดลองปลูก โดยค่อยๆ ทยอยปลูกแซมต้นทุเรียนพื้นบ้านเดิมหรือต้นไม้อื่นที่ตายไป แม้ทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจรุ่นนี้จะมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้ปลูกอย่างจริงจังนัก บางส่วนก็ยังปลูกปะปนอยู่ในสวนดุซง หรือปลูกในสวนหลังบ้าน จนกระทั่งเมื่อสักประมาณ  10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจเหล่านี้มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างชาติอย่างมาก จึงเริ่มมีการทำสวนทุเรียนพันธุ์ใหม่อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น สวนยางที่ต้นแก่ไม่สามารถให้น้ำยางได้หลายสวนถูกเปลี่ยนมาเป็นสวนทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจแทน ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางออกจากปัญหาราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี 


ทุเรียนหมอนทองที่เถ้าแก่มาเหมาสวนทุเรียน (ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) (ภาพถ่ายสิงหาคม 2567)
 

ทุเรียนสร้างรายได้ก้อนใหญ่เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวสวน ลูกจ้าง/แรงงาน และพ่อค้าแม่ค้าในแต่ละปี รายได้จากทุเรียนช่วยชดเชยความเดือนร้อนจากภาวะราคายางหรือราคาผลไม้อื่นตกต่ำ ภาวะการไม่มีงานทำ รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐ ดังกรณีที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชยความเสียหายของเรือกสวนจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินโคลนถล่มเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2566 (ไม่ได้รับการช่วยเหลือเนื่องจากทางการไม่เยียวยาความเสียหายในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ)  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจทุเรียนจะดีเพียงใด แต่การทำสวนทุเรียนของชุมชนรอบภูเขาเมาะแตก็ดูจะไม่มีความมั่นคงสักเท่าไหร่ เนื่องจากสวนเหล่านี้เป็นที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ แม้ชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งมานานนับร้อยปี และมีการบุกเบิกพื้นที่ทำสวนตามประเพณีวัฒนธรรมมาตั้งแต่แรกตั้งชุมชน การไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินทำให้ต่อมารัฐเหมารวมที่สวนของชาวบ้านว่าคือ “ที่ดินของรัฐ” หรือ เป็น “ป่า” รวมทั้งตั้งแต่ยุค คสช. มา ก็มีการเอาพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 มาตีความใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการ “การทวงคืนผืนป่า” โดยที่ดินใดที่ไม่มีเอกสารสิทธิให้ถือว่าเป็น “ป่า” และบางพื้นที่เริ่มมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทหาร มาห้ามไม่ให้มีชาวบ้านขึ้นไปทำประโยชน์ในที่ดิน บางแห่งมีการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านด้วย 

ที่สำคัญ การที่ชาวบ้านรอบเขาเมาะแตยังคงไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินนั้น เป็นการปิดโอกาสอย่างสำคัญต่อการปรับปรุงพัฒนาสวนทุเรียนให้มีคุณภาพและความยั่งยืน สวนทุเรียนรอบเขาเมาะแตทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงการจัดการผลผลิตตามมีตามเกิดบนฐานทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่เดิม พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นหลักประกัน อีกทั้งในบางพื้นที่ชาวบ้านไม่สามารถถางสวนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ ไม่สามารถจัดระบบน้ำในสวน ไม่สามารถจัดการหรือใช้ประโยชน์จากต้นยางหรือต้นไม้ผลที่แก่หมดอายุ และไม่สามารถปลูกใหม่เพิ่มเติมได้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ห้ามและเจ้าหน้าที่ก็ทำการลาดตระเวนตรวจตราอย่างเข้มงวดจนชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว

อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยชาวบ้าน (วิจัยออแฆกำปง) ของ Tanah Kita Network พบว่าชาวสวนในบางพื้นที่ได้พยายามที่จะปรับปรุงพัฒนาผลผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและความปลอดภัย  ดังชาวสวนที่บ้านน้ำหอม ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ที่ผลผลิตทุเรียนของที่นี่หลายสวน ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices : GAP) ซึ่งหมายความว่าผลผลิตทุเรียนที่นี่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และมีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด จนเกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทางหน่วยงานเกษตรอำเภอที่มาสนับสนุนส่งเสริมการทำสวนทุเรียนของชาวบ้านที่นี่โดยไม่รอนสิทธิของชาวบ้าน แม้ว่าที่สวน (และที่ตั้งบ้านเรือน) ของชาวบ้านน้ำหอมทั้งหมู่บ้านจะไม่มีเอกสิทธิในที่ดินใดๆ เลยก็ตาม แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ชุมชนอื่นรอบเขาเมาะแตไม่ได้รับการส่งเสริมในลักษณะเช่นนี้

แม้ตอนนี้เราจะได้ยินเสียงหัวเราะ เห็นความสดชื่น และรอบยิ้มของชาวสวนทุเรียนรอบเมาะแตที่กำลังมีรายได้ดีจากการขายทุเรียน แต่ความสุขนี้ก็ยังไม่รู้ว่าวนเวียนมาอีกกี่ครั้งเพราะความไม่มั่นคงในที่ดิน นี่ยังไม่นับรวมว่าพื้นที่รอบเขาเมาะแตกว่า 4 หมื่นไร่ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป หากการประกาศอุทยานแห่งชาตินี้สำเร็จ ที่ดินที่สวนบางส่วนของชาวบ้านก็จะกลายเป็นเอุทยานแห่งชาติทันที พวกเขาก็จะไม่สามารถเหยียบเข้าไปในสวนตัวเองได้อีก จนมีการพูดติดตลกกันในเรื่องจริงที่ไม่ตลกในหมู่ชาวบ้านว่า “ต่อไปทุเรียนของพวกเราก็จะกลายเป็น ‘ของป่า’ และคนที่เก็บทุเรียนได้ก็น่าจะมีแต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เท่านั้น” 



ภาพประกอบ: ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ที่บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  (ภาพถ่ายสิงหาคม 2567)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net