Skip to main content
sharethis

“วิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง” เป็นผลงานเชิงวิชาการชิ้นแรกที่ชาวบ้านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษานิเวศวิทยาชายฝั่งและระบบเศรษฐกิจของชาวประมงพื้นบ้าน ร่วมกับนักศึกษา นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อเป็นความรู้และฐานข้อมูลของชุมชนที่จะนำไปประกอบการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพิจารณาสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

“นักรบผ้าถุง” คือกลุ่มชาวบ้าน หมู่บ้านปากบางและบ้านบ่อโชน ต. สะกอม อ.จะนะ จ. สงขลา ที่รวมกลุ่มกันเพื่อคัดค้านการสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ย้อนรอยโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จุดเริ่มต้นจากรัฐบาล คสช.

จุดเริ่มต้นจากรัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมอบอำนาจให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 2559 จากนั้น เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ครม. ได้อนุมัติให้มีการขยายโครงการฯ ไปสู่เมืองที่ 4 เพิ่มพื้นที่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบด้านอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อันเป็นที่มาของ ‘โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ’

แต่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวถูกอนุมัติและออกคำสั่งปรับผังเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมโดย ศอ.บต. และไม่มีการจัดทำการศึกษา SEA ก่อนดำเนินโครงการ  แม้จะมีการเปิดรับฟังและแสดงความคิดเห็นแต่กลับไม่มีการให้ข้อมูลผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน และชาวจะนะได้ถูกสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวในวันที่ 11 ก.ค. 2563

Strategic Environmental Assessment: SEA คือ การศึกษาผลกระทบภาพรวมของโครงการขนาดใหญ่โดยให้ความสำคัญมากกว่าแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ศึกษาไปถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปด้วย ซึ่งการศึกษานี้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อให้ผลที่ออกมานำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและป้องกันความผิดพลาดในการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้หยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะและจัดทำ SEA เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ของภาคใต้ในวันที่ 10-15 ธ.ค. 2563 รัฐบาลได้ส่งตัวแทนมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนจะมีมติ ครม. ให้ชะลอเรื่องการพิจารณาแก้ผังเมืองออกไปก่อน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา​ผลกระทบ​ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม นำมาสู่ผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล

แต่โครงการดังกล่าวกลับดำเนินต่อไป วันที่  6 ธ.ค. 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ แต่ผู้ชุมนุมกลับถูกตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมก่อนจะปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านยืนยันชุมนุมปักหลักที่หน้าองค์การสหประชาชาติ บริเวณถนนราชดำเนินนอก กระทั่ง 14 ธ.ค. 2564 ครม. มีมติชะลอโครงการนิคมฯ จะนะ เพื่อรอทำการประเมิน SEA ซึ่งจะมีผลให้หยุดเวทีรับฟังความคิดเห็นในภาคใต้ทั้งหมดทันที จนกว่าผลการประเมินสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ

‘วิจัยไทบ้าน’ กับการต่อรองรัฐด้วยข้อมูลจากประชาชน

คู่ขนานไปกับการประเมิน SEA โดยภาครัฐ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันทำรายงานศึกษาผลกระทบโดยรวบรวมข้อมูลคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของ อ.จะนะ พร้อมศึกษาผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ ทะเลและชายฝั่ง รวมถึงวิถีชีวิตและอาชีพของชาวที่ต้องเปลี่ยนไปหากมีโครงการดังกล่าว โดยเสนอเป็นรายงาน “เสียงแห่งจะนะ” และ “วิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง” เพื่อเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะและวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน

กลุ่มนักรบผ้าถุง ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และชาวบ้านบ้านปากบางและบ้านบ่อโชนร่วมกันนำเสนอและฟังผลการวิจัย

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2567 ชาวบ้านและเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมรายงานความคืบหน้าโครงการวิจัยนิเวศวิทยาของชาวประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเลจะนะ จ. สงขลา ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการอาหารปันรัก และเยาวชนกลุ่มเด็กเล (the sea walk) ณ ลาน Save Chana บ้านปากบาง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

ความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง-การสร้างอาชีพของคนในชุมชน

บ้านปากบางและบ้านบ่อโชน ต. สะกอม อ. จะนะ เป็นชุมชนที่ติดกับชายฝั่งทะเลและมีคลองไหลสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังจะถูกกำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ จากการเก็บข้อมูลของชาวบ้านพบว่า ชายฝั่งทะเลจะนะมีระบบนิเวศทั้งหมด 11 ระบบ เช่น คลอง ป่าชายเลน หาดทราย สันดอนทราย เกาะขาม แหลมเก้าเส้ง เป็นต้น

ระบบนิเวศแต่ละประเภทแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางทรัพยากรที่ต่างกัน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น เช่น การพบตัวนากบริเวณคลองสะกอม ความหลากหลายทางพันธุ์พืชในป่าชายเลน โคกตลิ่ง และริมฝั่ง การพัฒนาเกาะขามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ยังส่งผลให้มีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ต่างกันตามชนิดของสัตว์ในแต่ละพื้นที่

แผนที่แสดงทรัพยากรสัตว์น้ำและการวางเครื่องมือประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเลจะนะ ที่มา: รายงานวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง (เมษายน 2567)

แม้จะมีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายให้จับ แต่ชาวจะนะกลับเลือกใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือการใช้อวนหรือแหที่มีขนาดเฉพาะกับชนิดของสัตว์น้ำซึ่งมีรูตาข่ายกว้างไม่เท่ากันเพื่อป้องกันการติดสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยหรือสัตว์น้ำที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการ

นอกจากนั้น ชาวจะนะยังได้ศึกษาเรื่องทิศทางลมที่ทำให้ชาวประมงสามารถออกหาปลาที่ต้องการได้ตามฤดู ซึ่งสอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้านที่จะออกอวนตามฤดูกาลในรอบปี

แผนภาพแสดงฤดูลมที่สอดคล้องกับสัตว์น้ำและการวางอวนของชาวประมง ที่มา: รายงานวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง (เมษายน 2567)

หากเข้าไปอ่านรายงานวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง จะพบการรวบรวมพันธุ​์สัตว์น้ำที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อย่างน้อย 238 ชนิด แบ่งเป็น กุ้ง 22 ชนิด หอย 65 ชนิด ปู 32 ชนิด ปลา 126 ชนิด หมึก 5 ชนิด และสัตว์น้ำอื่น ๆ 17 ชนิด

สัตว์น้ำที่พบเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งเป็นอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนและเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ในระดับประเทศ เช่น กุ้งลายเสือ กุ้งก้ามกราม กุ้งมังกร  หอยหวาน ปูม้า ปูเสือ ปลาบาวัน (จาระเม็ด) ปลากุเลา ปลาอินทรีย์ดอก ปลาจมูกเปียก (เต๋าเต้ย) หมึกกล้วย หมึกสาย หมึกกระดอง เป็นต้น บางชนิดก็นำมาทำเป็นของที่ระลึกอย่างโมบายเปลือกหอย ส่วนสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่แม้ไม่นิยมนำมาขายหรือทำอาหารแต่ก็เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ในพื้นที่ เช่น โลมาดำ โลมาสีชมพู วาฬ ม้าน้ำ เป็นต้น

สำรับอาหารจากทะเลจะนะ

ทรัพยากรชายฝั่งเหล่านี้ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง การทำแพปลา การขายปลาหรืออาหาร การแปรรูปอาหาร และ ‘อาชีพปลดส็อกแส็ก’ หรือ  การรับปลดอวนที่ชาวประมงจับสัตว์น้ำ เพราะการวางอวนในทะเลหนึ่งครั้งจะมีสัตว์ตัวเล็ก ๆ ติดอวนมาด้วย ทั้งปู ปลา และหอย บางชนิดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็นำมาประยุกต์เป็นโมบาย

การปลดส็อกแส็กเป็นงานที่กลุ่มคนเปราะบางในชุมชนสามารถหารายได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ และสร้างความสุขเล็ก ๆ ให้ผู้สูงอายุที่มีพื้นที่ในการนั่งพูดคุยระหว่างปลดส็อกแส็ก ขณะที่เด็กในชุมชนบางส่วนก็รับทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างปิดภาคการศึกษา

โมบายเปลือกหอย ผลพลอยได้ของการปลดอวนของชาวประมง หรือ ปลดส็อกแส็ก

ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นำไปสู่การรับซื้อ-ขายหรือแปรรูป เป็นหนึ่งในกลไกหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน ภูมิภาค และระดับประเทศ ทั้งการกระจายสินค้าสู่พื้นที่ 6 อำเภอในสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย หาดใหญ่ และเมืองสงขลา การกระจายสู่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ 19 จังหวัด ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เชียงราย เลย อุดรธานี นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมไปถึงการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย

จากความเชื่อทางศาสนาสู่วิถีประมงพื้นบ้าน-เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม

กลุ่มเด็กเล (the sea walk) เยาวชนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง

นอกจากชาวนักรบผ้าถุงซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลทางนิเวศวิทยาแล้ว ยังมี กลุ่มเด็กเล (the sea walk) ซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนที่เข้ามาร่วมหาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ นักวิจัยเยาวชนพบว่าลักษณะเศรษฐกิจของชุมชนบ้านปากบางและบ่อโชน มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนและเกื้อกูลกันและกัน ซึ่งเป็นอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนาอิสลาม กล่าวได้ว่าเป็นระบบ ‘เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม’

ลักษณะของเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมของผู้ประกอบการในชุมชนชายฝั่งทะเลจะนะ คือ ความซื่อสัตย์ จากการรับซื้อปลาในราคาที่เป็นธรรมไม่เอาเปรียบชาวประมงหรือผู้บริโภค เนื่องจากชาวประมงที่นี่จะเป็นทั้งผู้ออกเรือและขายปลาเอง โดยจะมีแพปลาภายในชุมชนคอยรับซื้อเพื่อนำไปขายต่อที่ตลาดในเมือง เหตุจากเดิมชาวประมงจะขายต่อที่แพปลาซึ่งเป็นคนต่างถิ่นและมีการรับซื้อแบบกดราคา ประกอบกับชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้ออกเรือแต่ต้องการปลาไม่สามารถหาซื้อได้ ชาวประมงบางส่วนจึงหันมาเป็นทั้งคนหาปลาและคนขายปลาเพื่อให้คนในพื้นที่สามารถซื้อปลาบริโภคได้สะดวกมากขึ้น

จันทิมา ชัยบุตรดี หรือ นิเน๊าะ ตัวแทนกลุ่มนักรบผ้าถุง ขณะกำลังนำเสนอผลการวิจัย

การแบ่งปัน การปิดเมืองในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดทำให้บางชุมชนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้ โครงการอาหารปันรักและชาวชุมชนบ้านปากบางและบ่อโชนจึงนำสัตว์ทะเลที่จับได้มาประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายให้คนที่กำลังประสบปัญหา ทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและเขตคลองเตย กรุงเทพฯ หรือช่วงที่มีน้ำท่วมในภาคอีสานหรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านก็ได้ระดมเงินจากการขายสัตว์น้ำและนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน

การเป่าตูน (เขาควาย) มักใช้เพื่อเป็นสัญญาณให้คนในฝั่งรับรู้ว่าเรือนี้หาปลาได้เยอะ

สุดท้าย คือ การตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร ผ่านการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบอวนให้มีขนาดตามประเภทสัตว์ที่ต้องการ  ไม่จับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย และไม่ใส่สารเคมีในสัตว์ที่จะนำไปขาย เพราะเชื่อว่าการใช้สารเคมีในวัตถุดิบที่นำไปทำอาหารเป็นการฆ่าทั้งสัตว์และเพื่อนมนุษย์ทางอ้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด เช่น การปลดส็อกแส็ก การทำโมไบล์จากเปลือกหอยให้มีมูลค่ามากกว่าการเป็นขยะทะเล การนำปลาส้มไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ชุดข้อมูลของชุมชน โดยคนในชุมชน หวังสร้างการอนุรักษ์-พัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ดูแลงานวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง กล่าวว่าแม้รายงานฉบับนี้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลจะนะ ผ่านความหลากหลายของระบบนิเวศและสัตว์น้ำกว่า 238 ชนิด ซึ่งเป็นทั้งอาหารและอาชีพของคนในชุมชน

นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการมองโลกแบบอิสลามสู่วิถีประมงพื้นบ้านและรูปแบบเศรษฐกิจเชิงศีลธรรม คือ คนในชุมชนนี้ต้องพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่งในการดำรงชีพ พวกเขาจึงจำเป็นต้องอนุรักษ์ความสมบูรณ์นี้ไว้ พร้อมยกตัวอย่างว่า หากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานเหล่านี้ก็คงรับพนักงานที่อายุไม่เกิน 60 ปี แต่ถ้ายังมีทะเล คนอายุ 70 ปี หรือเด็กเล็ก ๆ ก็ยังมีพื้นที่สำหรับหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกเรือหรือการปลดส็อกแส็ก

ไชยณรงค์มองว่า ความสำคัญของการให้ชาวบ้านลงพื้นที่เก็บข้อมูลทรัพยากรในชุมชนของตนเอง เป็นการสร้างชุดข้อมูลใหม่ให้กับพื้นที่เพื่อใช้ในการต่อรองกับภาครัฐและปกป้องความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลจะนะ โดยไม่ต้องรอรับข้อมูลจากนักวิชาการที่ภาครัฐจัดการฝ่ายเดียว โดยหวังว่าพื้นที่ทะเลจะนะแห่งนี้จะเป็นพื้นที่นำร่องของประเทศไทยที่ชุมชนประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง และรัฐบาลจะต้องรับรองเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลุ่มนักรบผ้าถุงร่วมร้องเพลง “นักรบผ้าถุง” เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอผลการวิจัย

ในช่วงสุดท้ายของการรายงานงานวิจัยฉบับนักรบผ้าถุง “เขียดนา” เด็กหญิงวัยประถมที่เติบโตมากับทะเลจะนะ เธอประพันธ์และอ่านกวีที่บอกเล่ากระบวนการและคุณค่าของงานวิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง ที่สำรวจนิเวศวิทยาของชาวประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเลจะนะ จ. สงขลา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพิจารณาสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผ่านบทกวีที่ชื่อว่า ‘นักรบผ้าถุง บทที่ศูนย์’

จากเด็กน้อย เป็นม๊ะแก่ เป็นแม่ใหญ่

เก็บข้อมูล งานวิจัย ถ่ายภาพสื่อ

ลงพื้นที่ นิเวศวิทยา นั่งตาปรือ

ทำแผนที่ ยึกยือ ไม่ถวัลไหน*

.

มิใช่เพียง งานวิจัย ของไทบ้าน

นี่คืองาน วิจัยสติ มิติใหม่

มิใช่เพียง งบประมาณ ผลาญปัจจัย

นี่คืองาน วิจัย ปัญญาชน

.

มิใช่เพียง มูลค่า สรรพสัตว์

นี่คือปรัชญา มหากุศล

นักรบผ้าถุง จะมุ่งหน้า สู่สากล

เป็นปูชนียบุคคล เป็นตำนาน

.

หมายเหตุ: ไม่ถวัลไหน หมายถึง ไม่รู้เรื่องอะไรเลย (ภาษาถิ่นชาวสะกอม)

อ่าน “วิจัยไทบ้าน ฉบับนักรบผ้าถุง” ได้ที่ งานวิจัยไทบ้านนักรบผ้าถุง 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net