Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้ใช้กรณีตัวอย่างของมุสลิมในชวากลางคือ ตำบล Bedono เมือง Demak บริเวณเหล่านี้เป็นรู้จักกันในฐานะที่ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นเป็นที่เเรกๆ ของชวา ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ซึ่งห่างกันราว 1 กิโลเมตร มีจุดท่องเที่ยว 2 ที่ ที่เเรกเป็นหลุมศพของ Syekh Abdullah Mudzakir เเละถูกโปรโมทเป็น Religious Tourism ขณะที่อีกแห่งหนึ่งเป็นที่นั่งพักชมทะเล ซึ่งหนุ่มสาวมุสลิมมักมานั่งจีบกัน แน่นอนว่าที่เเห่งนี้ถูกมองในแง่ลบโดยชาวบ้านกลุ่มเเรก


รูปที่ 1 ทางเดินเข้าหมู่บ้านที่น้ำทะเลหนุน

จากภัยพิบัติสู่ความเป็นแหล่งท่องเที่ยว
Bedono เป็นพื้นที่ที่ติดฝั่งทะเลทิศเหนือของเกาะชวา น้ำทะเลได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนท่วมไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งตลอดสามทศวรรษนี้รัฐก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง หลายคนยอมขายที่ไปในราคาถูก แต่คนจำนวนมาก็ไม่ขายเพราะเงินที่ได้ก็ไม่เพียงพอกับการซื้อดินที่ใหม่ สร้างบ้านใหม่และไม่พอที่เป็นทุนในการประกอบอาชีพ หลายคนบอกว่าพวกเขาเป็นชาวเรือหากินกับทะเล ไม่รู้วิชาชีพอื่น การต้องไปเริ่มต้นใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย


รูปที่ 2 มัสยิดเก่าในบริเวณที่น้ำทะเลหนุน

ผมเเละเพื่อนชาวอินโดฯ ได้ไปพักในหมู่บ้านนี้หนึ่งสัปดาห์ในปี 2022 ชาวบ้านยังคงออกหาปลาและนำมาขายให้พ่อค้าอีกที บ้านของพวกเขามักเป็นชั้นเดียว แต่หลังคาสูงราว 5-10 เมตร เพราะต้องเผื่อการถมดินปรับพื้นเมื่อน้ำเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ เขายังไม่คิดจะย้ายออกไปในระยะสิบปีนี้ พวกเราพักในบ้านของลุงที่ขายปลาแห้ง/ปลาทอดกรอบ ลุงยังขับเรือเพื่อพานักท่องเที่ยวชมทะเล เเละหนึ่งในจุดสำคัญคือ หลุมศพ Syekh Abdullah ของกลุ่มที่เคร่งศาสนาด้วย

เมื่อน้ำท่วมสุสาน (Kuburan) มุสลิมก็มักจะปล่อยไปแล้วหาที่ใหม่สำหรับฝังคนตายใหม่ ถือว่าร่างกายได้ตายไปแล้ว สิ่งที่จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรกหลังการพิพากษานั้นคือ "วิญญาณ" ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขุดร่างเดิมเพื่อย้ายที่ แต่ตระกูลของ Syekh Abdullah ได้รักษาที่ตรงนั้นไว้ คือ ก่อปูนกั้น เอาดินมาถมสูงถึง 2 เมตร แล้วสร้างศาลาหลังใหญ่ในรูปแบบมัสยิด บางครอบครัวที่ย้ายไปหมู่บ้านข้างๆ ก็ยังคงมาร่วมงานตามโอกาสเพื่อรักษาสัมพันธ์นั้นไว้ (Pratisti, 2023, p. 141) การเปิดให้ผู้คนเข้าไปเเสวงบุญ แม้ไม่เก็บค่าเข้า แต่ก็มีตู้ให้บริจาคและคนส่วนใหญ่ก็บริจาคจริงๆ ซึ่งหลายคนยังวางเงินไว้ตามจุดต่างๆ ของหลุมศพด้วย แบบเดียวกับพุทธบาทในบ้านเรา


รูปที่ 3 หลุมศพของ Syekh Abdullah Mudzakir

เคร่งครัด vs ยืดหยุ่น สองเเนวทางที่ไปด้วยกันได้
นอกจากการต้องนั่งเรือไปยังหลุมศพแล้ว ผู้เเสวงบุญยังสามารถใช้สะพานไม้ที่ทอดยาวไปจากถนน สองข้างทางจะเป็นบ้านของผู้คนไม่ถึง 10 ครัวเรือน บริเวณนั้นเรียกว่า Tambaksari พื้นของบ้านสูงกว่าน้ำทะเล 1 เมตร หลายบ้านเปิดเป็นร้านค้าเพื่อรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเดือนรามาดอน หลายร้านเอาผ้ามาคลุมตู้เเช่เครื่องดื่มไว้ เเละเมื่อผมขอซื้อน้ำดื่ม พวกเขาก็ไม่ขายให้พร้อมกับบอกว่า "กลางวันเป็นช่วงถือศีลอด" เราพอจะสันนิษฐานได้ว่าเขาไม่ส่งเสริมการละเมิดศีลอด ซึ่งสะท้อนอีกว่าพวกเขาเคร่งครัดมาก

การเดินทางไปหลุมฝังศพของคนสำคัญ เป็นการเเสวงบุญอย่างหนึ่งของมุสลิมในอินโดฯ หลายคนไม่มีเงินมากพอที่จะไปเมกกะ หรือแม้จะเคยไปเมกกะ การไปเยี่ยมหลุมศพคนสำคัญก็ยังเป็นสิ่งที่ทำกัน มีการนั่งสวดบทกุรอาน บ้างก็นั่งทำสมาธิ (แต่มักไม่ใช้คำนี้) หลายคนเชื่อว่า ผลบุญที่เกิดจากการมาที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะทำให้หายป่วย ได้งานใหม่ ชีวิตดีขึ้น นั่นคือ นอกจากจะมาท่องเที่ยว/แสวงบุญเพื่อเห็นหลุมศพ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมาเพื่อถูกเห็นและได้รับพรด้วย come to see and to be seen (by god/s)


รูปที่ 4-6 ชุมชนสองข้างทางที่เชื่อมไปยังหลุมศพ

ลุงเล่าว่า "ชาวบ้านกลุ่มนี้จะรังเกียจกลุ่มของพวกเรา พื้นที่ที่เรียกกันว่า Morosari ซึ่งมีสวนและศาลาสำหรับพักผ่อนของหนุ่มสาว พวกเขามองว่าแหล่งท่องเที่ยวของเราสนับสนุนให้คนทำผิดหลักศาสนา แต่พวกเราก็ไม่ได้ขัดใจกันจนถึงขั้นไม่พูดคุยกัน เช่นกรณีที่ผมพาคนนั่งเรือมาชมสุสาน พวกเขาก็ยินดี และนักท่องเที่ยวเมื่อมาหมู่บ้านนี้แล้ว ก็มักจะไปทั้งสองที่" จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวและการแสวงบุญไม่ได้แยกขาดจากกัน การไปแสวงบุญในต่างที่ก็เท่ากับได้ไปเที่ยวในตัว แบบเดียวกับการไปสังเวชนียสถานของชาวพุทธ ก็มักจะพ่วงไปกับการไป ทัชมาฮา หรือเอาคณะทัวร์ไปทิ้งไว้ตามตลาดในเมือง

ความยืดหยุ่นในกฎที่เคร่งครัด
เเฟนของลุงเป็นคนเก็บค่าตั๋วเพื่อเข้าพักผ่อน/ชมสวนในทะเล (เพราะไม่มีชายหาด และเป็นสวนที่ถมดินขึ้นมาราว 2 เมตร) ป้าคลุมผมแบบมุสลิมทั่วไป แต่ไม่เคยถามว่าคู่ที่ขี่มอเตอร์ไซด์มาด้วยกันนั้นเป็นสามี-ภรรยากันไหม และหลายครั้งก็เห็นชัดว่ายังเป็นเด็กมัธยม แต่มองได้ว่าที่เเห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้นทุกคนควรเข้ามานั่งพักผ่อนได้ ไม่จำเป็นต้องไปคิดแทนว่าพวกเขาต้องมาจีบกันหรือมาแอบมีเซ็กส์กันไหม

ในสวนยังมีที่ละหมาด (Musholat) ให้บริการ ที่น่าสนใจคือตลอดเจ็ดวัน ผมไม่เห็นนักท่องเที่ยวไปละหมาดในนั้นเลย มีแค่ชายชราหาปลาเเถวนั้นเพียงคนเดียว แต่ก็เป็นไปได้ว่า หากเป็นผู้เเสวงบุญจากต่างถิ่น อาจใช้มัสยิด/หลุมศพที่ Tambaksari เป็นที่ละหมาดไปแล้ว และมาใช้สวนในทะเลเพื่อนันทนาการเท่านั้น  


รูปที่ 7 บ้านทรงสูงที่จริงๆ แล้วมีเเค่ชั้นเดียว

โรงเเรมในอินโดฯ มักจะมีข้อกำหนดไม่ให้คนที่ยังไม่เเต่งงานนอนด้วยกัน ระเบียบนี้ติดไว้ตามประตูด้านในหรือหากเป็นที่เคร่งมากๆ ก็จะระบุ Shari’a ไว้ที่ป้ายชื่อโรงเเรมเลย แต่ในทางปฏิบัติ โรงเเรมก็ต้องการเงินและรู้กันดีว่าคนจำนวนมากที่มาใช้บริการไม่ได้เป็นสามี/ภรรยากัน พนักงานจึงเเค่ถามด้วยปากเท่านั้น ไม่ได้ขอดูทะเบียนสมรส จึงเป็นเหมือนกฎที่ออกมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ศาสนามากกว่า และหากผู้เข้าพักยื่นบัตรข้าราชการ/อาจารย์ พนักงานก็จะไม่ถามคำถามนั้น

จะเห็นได้ว่า ในชุมชนหนึ่งที่แม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกัน พวกเขาเเสดงความเคร่งครัดและยืดหยุ่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทั้งสองพฤติกรรมนั้นสามารถใช้เป็นจุดขายของการท่องเที่ยวได้ทั้งสองแบบ และไม่ใช่การดึงลูกค้าคนละกลุ่ม แต่มักจะเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกันที่เสพได้ทั้งความเคร่ง/ไม่เคร่ง ศาสนา/ทางโลก 

 

อ้างอิง
Pratisti, A. (2023). Dimensi Keagamaan dalam Migrasi Lingkungan: Studi Kasus Dua Komunitas Muslim di Pesisir Utara Jawa. Masyarakat dan Budaya, 25(2), 135-147.
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net