Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัจจุบันโลกเราเข้าสู่ยุคทุนนิยมยุคที่สอง ยุคแรกคือสังคมอุตสาหกรรม ยุคที่สองคือสังคมข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่ตามมาจากสังคมยุคนี้นอกจากทางกายภาพที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่หดตัวเล็กลงแล้ว ทางความคิด (ideas) ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อผู้คนในโลกอย่างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงทางความคิดนี้ เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า “the reflexive modernization theory” หมายถึงการคิดย้อนกลับไปทบทวนทฤษฎีการสร้างความทันสมัยโดยการพัฒนาอุตสาหกรรม และมุ่งแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการพัฒนาในอดีต ทฤษฎีการคิดย้อนกลับนี้มีผลกระทบมากที่สุดต่อการเมืองและนโยบายสาธารณะของโลกในปัจจุบัน

จากการคิดทบทวนของทฤษฎีดังกล่าว นักวิชาการคนสำคัญ คือ เบ็ค (Beck) และกิดเดนส์ (Giddens) เห็นร่วมกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างน้อยสองสิ่ง สิ่งหนึ่ง คือ สังคมความเสี่ยง (risk society) ส่วนอีกสิ่งหนึ่ง คือ ความเป็นปัจเจก (individualization) 

ด้านสังคมความเสี่ยงเรารู้กันทั่วว่าอุตสาหกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ปัญหาฝุ่นเอ็มพี 2.5 กับน้ำท่วมฉับพลันที่เชียงราย ฯลฯ มาจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรอย่างไม่ต้องสงสัย ยังไม่นับความฝันบรรเจิดที่เราจะขุดน้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อน กับการตั้งกาสิโนซึ่งจะเผชิญกับปัญหาจีนเทาหรือคนสีเทาขนานใหญ่ ไม่ได้แปลแค่ว่าทรัพยากรธรรมชาติจะหมดอย่างเดียว แต่มันอย่างหมายถึงผลกระทบต่อปทัสถานและศีลธรรมของสังคม!! –ซึ่งเราจะสร้างความเสี่ยงโดยไม่มีความรับผิดชอบ--ไม่ได้

ส่วนความเป็นปัจเจก อันนี้นักการเมืองไทยรุ่นเก่าไม่ค่อยเข้าใจ หมายถึงการที่คนเห็นความเป็นตัวตนของตนเองและรู้สึกว่าเป็นอิสระและคิดอะไรได้ด้วยตนเองมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงคนเห็นแก่ตัวโดยตรง (individualism) ความเป็นปัจเจกของมนุษย์มีมาตั้งแต่สมัยปลดปล่อยทาส แต่มีแรงเร่งที่รุนแรงขึ้นในสังคมข้อมูลข่าวสาร เพราะสังคมข้อมูลข่าวสารต้องการความยืดหยุ่น (flexibility) ทุกอย่างต้องปรับตัวได้เร็ว ไม่ติดยึดอยู่กับอดีต แม้แต่ประเพณี ดังที่กิดเดนส์ (Giddens) ตั้งข้อสังเกตว่าประเพณีอังกฤษเสื่อมลง นอกจากนั้นยังต้องการลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (uniqueness) การอยู่รอดในสังคมข้อมูลข่าวสารจึงทำให้คนต้องคิดสร้างสรรค์ (creativity) ไม่ทำอะไรซ้ำซาก คุณค่าความเป็นคนของยุคนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระ จึงส่งเสริมให้เกิดฟรีแลนซ์จำนวนมาก แต่ความเป็นอิสระก็มีผลเสียตรงที่ทำให้คนไม่ชอบกฎระเบียบที่เป็นเครื่องพันธนาการ

ในประเทศไทย พรรคการเมืองประเภทที่ส่งเสริมความเป็นปัจเจกจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นที่คาดหมายได้ว่าหากพรรคการเมืองอื่นยังย่ำอยู่กับที่ เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากหรือไม่อยากทำเพราะสิ้นเปลือง ดังภาษาเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่า “path dependency” แล้ว พรรคการเมืองนั้นก็ต้องเสื่อมลง ไม่ต่างจากสภาพป่าเขาหรือภูมิอากาศของประเทศ เพราะวิธีการทำการเมืองแบบเก่า ๆ คนในเมืองรู้ทันหมดแล้ว มันต้องมีไอเดียอะไรใหม่ที่บรรเจิดบ้าง!!! ยังมีช่องว่างให้สร้างไอเดียได้เยอะ อย่างน้อยบางทีพรรคใหม่ก็พูดไทยคำอังกฤษคำ และไม่ค่อยมีคำว่า “ชาวนา” หรือ “ภาคเกษตร”

นางแมร์เคิลฯ ตอนก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมัน พูดไว้ทำนองว่า “อะฮ่า!!..ตอนเดี้ยนเป็นนายก..นะฮะ... ยังไม่มีสมาร์ทโฟน เฟสบุ๊คเพิ่งตั้งได้ปีเดียว ทวิตเตอร์เพิ่งมีอีกปีหนึ่งต่อมา เราอยู่ในสังคมการสื่อสารที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และเราต้องทำอะไรบางอย่างกับมันด้วย”!!!

ความหมายก็คือพรรคการเมืองทุกวันนี้ต้องหันไปเป็นเวทีดิจิทัล (digital platforms) การสื่อสารสำคัญที่สุดในยุคดิจิทัลประกอบด้วย (1) สื่อ (media) (2) การสื่อสารสังคม (social media) (3) เวที (platforms) และ (4) เทคโนโลยี (technology)

การหันไปหาดิจิทัลนี้จึงเป็นการปรับตัวของพรรคการเมืองให้เข้ากับสังคมทุนนิยมยุคที่สอง คือ สังคมดิจิทัล เป็นผลให้พรรคการเมืองในโลกเปลี่ยนไปเป็นพรรคการเมืองที่อาศัยเวทีดิจิทัล (digital platforms) นิยมเรียกพรรคการเมืองสมัยใหม่ว่า “พรรคดิจิทัล” (the digital party) 

ส่วนความหมายของคำว่า “เวทีดิจิทัล” ก็หมายถึงประเภทเวทีของคนอื่นที่เราเข้าไปใช้ เช่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือสื่อออนไลน์ หรือชุมชนดิจิทัลที่มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “ด้อม” ย่อมาจาก “kingdom” หมายถึงการมีอาณาจักรหรือแฟนคลับของตัวเอง ส่วนอีกประเภทหนึ่งหมายถึงเวทีที่เราลงทุนสร้างเอง เช่น กูเกิล อะเมซอน ลาซาด้า ชอปปี้ ซึ่งพวกหลังนี้เราต้องมีคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ระบบคลาวด์เป็นของตัวเองและต้องมีนักเทคโนโลยีประจำ

กรอบแนวคิดที่สำคัญของการสร้างพรรคดิจิทัลแสดงเป็นภาพ ดังนี้


 

ในภาพจะมองพรรคการเมืองดิจิทัลออกเป็นสามวง 

วงแรก อยู่ในสุดเป็นไข่แดงและสำคัญที่สุด คือ เวทีของพรรคการเมืองและสื่อ หมายความว่าพรรคจะต้องหาทางสร้างเวทีของตัวเองและมีสื่อในมือ ขณะเดียวกันต้องมีอีก 2-3 อย่าง ได้แก่ (1) คอนเทนต์ (2) เทคโนโลยี และ (3) การจัดการปกครอง 

“คอนเทนต์” ก็แปลว่าเราจะเอาอะไรมาสื่อ เช่น ภาพนายกพรรคเราออกไปลุยน้ำท่วมหรือเนื้อหานโยบายอะไรที่มันครีเอทีฟ--ไม่ฉาบฉวย ส่วน “เทคโนโลยี” ก็แปลว่าเมื่อคิดคอนเทนต์ได้มันต้องเอาไปลงเวทีดิจิทัลซึ่งรองรับอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญเมืองนอกเน้นมาก คือ “การจัดการปกครอง” หมายถึงเครือข่ายและการมีส่วนร่วมจากมวลสมาชิกและคนนอกอื่น ๆ ที่เราจะ “ตก!!” เขาเข้ามาเป็นพวก นอกจากหัวคะแนน..ที่เราคิดว่าเป็น “ของตาย”!!!

วงที่สอง เป็นการสื่อสารและการเมือง หมายความว่า “สื่อ” ที่เราส่งออกไปมันเข้าท่าหรือเปล่า?? เปรียบได้กับสื่อไทยในปัจจุบันมีแต่ข่าวฆ่ากันตาย!! กับดาราเลิกกัน—มันดีไหม?? จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร?? จะสร้างความจริงใจต่อคนรับข้อมูลข่าวสารอย่างไร?? เพราะมันจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาว ตรงกันข้าม อย่าให้เขาคิดว่าเรากำลังเอาเปรียบเขาหรือหลอกลวงเขา!! หรือว่าเขานำเอาผู้นำเราไปเทียบกับคนอื่นแล้วเรา “ไม่เข้าท่า”!!! วงนี้เป็นทั้งการสื่อสารการเมืองและ feedback 

ส่วนวงที่สาม คือ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นบริบทของการสื่อสารของเรา อันนี้ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทก็แย่เหมือนกัน คนใต้เขาคิดอย่างหนึ่ง อีสานคิดอย่างหนึ่ง เหนือ กลาง ตะวันออก หรือกรุงเทพฯ คิดไม่เหมือนกัน เช่น คนกรุงเทพฯ --มีปัญหาน้ำท่วม รถติด --มีความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ --นักศึกษามีความฝันอันบรรเจิดถึงชาติบ้านเมือง และยิ่งคนอยู่ในเมืองเท่าใด “ความเป็นปัจเจก” เขาก็สูงเท่านั้น เราจะไปชักนำหรือชักจูงอะไรเขาได้บ้าง—ต้องดูตาม้าตาเรือ!!

นอกจากนี้กระบวนการสร้างพรรคดิจิทัลยังต้องคิดเรื่อง “ลักษณะพิเศษของพรรค” และ “การสร้างเครือข่ายและความเชื่อมโยง” เช่น เราเป็นฝ่ายค้านจะเชื่อมโยงคนไม่พอใจรัฐบาลอย่างไร จะเชื่อมโยงเด็ก ผู้ใหญ่ หรือว่า ใคร?? ที่เป็นคนสำคัญสำหรับเรา หรือว่าหากเราเป็นรัฐบาล เราจะสร้างผลงานเป็นเรื่องเป็นราวอย่างไร--เอาให้มันเป็นภาพชัดเจน วันนี้มีอะไรเซอร์ไพร้ส์ประชาชน!! เช่น ประชาชนคิดแค่ว่าเขาจะได้ห้า—แต่รัฐบาลชุดนี้ให้เขาสิบหรือยี่สิบ—เขาประทับใจตายเลย!!

สรุปว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิทัลต้องการสร้างพรรคการเมือง “พรรคดิจิทัล” เป็นเรื่องเป็นราว---ไม่ใช่แค่ปล่อยข่าวรั่ว!! ปล่อยคลิปลับ!! ใส่กันไม่ยั้งเหมือนเวทีมวย!!  พลอยทำให้คนไทยคิดตามไปเพียงว่า “การเมืองมีค่าเท่ากับเรื่องชกมวยเอาแพ้-เอาชนะกัน” 

ส่วนสื่อต่าง ๆ แทนที่จะมีสติสตังค์--ก็เหมือนพวกยุให้คนตีกัน เหมือนตอนเด็กที่มีใครขีดวงบนพื้นดินตรงปลายเท้าเด็กสองคน แล้วยุว่า “วงนี้เป็นหัวพ่อไอ้โน่น มะรึงแน่จริง ก็ลองเหยียบดู”—!!! 

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net