Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายคุมงานวิจัยไม่ให้มีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญที่สะท้อนอำนาจควบคุมการวิจัยว่าในกรณีที่คณะกรรมการคุมงานวิจัยเห็นว่างานวิจัยเรื่องใดมีอาจปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในระดับร้ายแรง กรรมการจะมีคําสั่งให้ “ยุติการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและยุติการวิจัย” และหากเห็นว่าการวิจัยมีประโยชน์ทางวิชาการหรือวิชาชีพ ก็สามารถทำวิจัยต่อไปได้ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาก่อนการประกาศใช้จริงต่อไป

มีประเด็นสำคัญ 2-3 ประเด็นหลักๆ ที่ผมคิดว่าเราควรช่วยกันตั้งคำถามและวิจารณ์

1. การตั้งคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยซึ่งอาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูง” ด้านจริยธรรมการวิจัย ศาสนา วัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี, กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายกราชบัณฑิตยสภา และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ด้านต่างๆ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่และอํานาจในการ (1) กําหนดลักษณะการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา ฯ (2) สอดส่องดูแลและให้คําแนะนําเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ (3) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทําวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาฯ และ (4) ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกานี้

เมื่อพิจารณาหน้าตาของ “คณะกรรมการพิจารณาการวิจัยซึ่งอาจมีปัญหากับหลักศาสนาฯ” กับ “หน้าที่และอำนาจ” 4 ด้านที่กว้างมากแล้ว เราจะเห็นได้ว่านี่คือหน้าตาของ “ศาลจริยธรรมวิจัย” ที่มีอำนาจครอบจักรวาลคล้ายศาลศาสนา (Inquisition) ในยุโรปยุคกลาง แม้อำนาจศาลจริยธรรมวิจัยนี้จะไม่มีบทลงโทษที่รุนแรงแบบศาลศาสนา แต่ก็มีอำนาจครอบจักรวาลในการตีความว่างานวิจัยแบบใดที่ “อาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เพราะคีย์เวิร์ดคือคำว่า “อาจมีปัญหา” ซึ่งสามารถตีความได้ครอบจักรวาล ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของศาลนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น ปัญหาพื้นฐานของศาลจริยธรรมเช่นนี้ คือ

ก. อาจตัดสินให้การกระทำที่มีจริยธรรมเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม เช่น ศาลศาสนายุคกลางวินิจฉัยว่าการเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของกาลิเลโอ “ขัดหลักศาสนา” จึงเป็นการกระทำที่ผิด แต่เมื่อพิจารณาจากกรอบคิดทางจริยธรรมของศาสนาและจริยธรรมสมัยใหม่ การเสนอความรู้ของกาลิเลโอย่อมเป็นการกระทำที่มีจริยธรรม เพราะ (1) เป็นการกระทำที่เคารพและซื่อตรงต่อความจริงที่ได้จากการศึกษาทดลองหรือการวิจัย (2) เป็นการกระทำที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพราะเอาชนะความกลัวต่ออำนาจครอบงำของความเชื่อทางศาสนาและศาสนจักรได้ (ขณะที่โคเปอร์นิคัสไม่กล้าเสนอทฤษฎีของตน เพราะกลัวอำนาจศาสนจักร) และ (3) ผลลัพธ์เกิดประโยชน์ต่อโลก เพราะโลกได้พิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าวิธีการทดลองและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กาลิเลโอเสนอนั้นมีคุณูปการต่อพัฒนาการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

ไอแซก นิวตันชื่นชมกาลิเลโออย่างมาก เพราะสำหรับนิวตันหลักศาสนาคริสต์ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ เพราะการค้นพบความจริงทางวิทยาศาสตร์ คือการค้นพบอัจฉริยภาพในการออกแบบกฎจักรวาลของพระเจ้า คนอย่างกาลิเลโอก็ไม่ใช่พวกนอกรีต พวกนักบวชและกษัตริย์ต่างหากคือ “พวกนอกรีตตัวจริง” เพราะคนพวกนี้อ้าง “อำนาจเทวสิทธิ์” ของพระเจ้าลงโทษคนที่พวกเขากล่าวหาว่า “นอกรีต” อย่างรุนแรงและโหดร้าย ซึ่งขัดกับหลักคำสอน “ความรักและการให้อภัย” ของเยซูโดยสิ้นเชิง

เมื่อดูจากหน้าที่และอำนาจที่ครอบจักรวาลของศาลจริยธรรมวิจัยตามร่างกฎหมายนี้ มีความเป็นไปได้มากว่าอาจวินิจฉัยแบบเดียวกับศาลศาสนาวินิจฉัยกรณีกาลิเลโอ กรณีคล้ายกันในปัจจุบัน เช่น การสอบสวนเอาผิดจริยธรรม 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ 112 ถ้ายึดกรอบจริยธรรมของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ถือว่า “จริยธรรมธรรมสาธารณะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพและความเสมอภาค” การสอบสวนเอาผิดจริยธรรม ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ 112 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะนอกจาก 44 ส.ส.จะไม่ได้ทำผิดหลักจริยธรรมสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่แล้ว ยังนับว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการเสนอแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค อันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยอีกด้วย ถ้ามีการวินิจฉัยว่า 44 ส.ส.ผิดจริยธรรมร้ายแรง ต้องตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป ย่อมเป็นการวินิจฉัยให้ “การกระทำที่มีจริยธรรมเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม” วิญญูชนย่อมรู้ว่านี่เป็นคำวินิจฉัยที่บิดเบี้ยวแบบศาลศาสนายุคกลาง

ทำนองเดียวกัน ถ้ามีงานวิจัยที่แสดงถึงความกล้าหาญทางจริยธรรมตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิพากษ์หลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในบ้านเราว่ามีมิติสำคัญใดบ้างที่ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมประชาธิปไตย ก็ย่อมเป็นไปได้มากว่าศาลจริยธรรมวิจัยอาจตัดสินให้การกระทำที่มีจริยธรรมเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม

ข. อาจตัดสินให้การกระทำที่ผิดจริยธรรมเป็นการกระทำที่มีจริยธรรม เช่น อาจมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการทำรัฐประหารของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นการกระทำเพื่อปราบโกง, ขจัดความขัดแย้งแตกแยก, สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ, ส่งเสริมความจงรักภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมาธิปไตยของพุทธศาสนา และหลักการขจัดคนชั่วให้คนดีเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองตามพระบรมราโชวาทของ ร.9 เป็นต้น ถามว่าศาลจริยธรรมวิจัยจะวินิจฉัยว่างานวิจัยเช่นนี้ผิดจริยธรรมหรือมีปัญหาต่อหลักศาสนาหรือไม่ เราก็คงเดาได้ “ไม่” อย่างแน่นอน

แต่แท้ที่จริงแล้วการทำรัฐประหารผิดทั้งจริยธรรมศาสนา เพราะเป็นการปล้นอำนาจของประชาชน จึงเป็นการละเมิดศีลข้อ “อทินนาทาน” เป็นต้น และยิ่งขัดอย่างชัดแจ้งต่อ “หลักจริยธรรมสาธารณะ” ของระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการละเมิดคุณค่าหลัก (core values) ของระบอบประชาธิปไตยคือ ละเมิดหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน

ค. ศาลจริยธรรมวิจัยอาจทำลายหลักจริยธรรมเสียเอง เพราะจากความเป็นไปได้ที่ศาลจริยธรรมวิจัยจะวินิจฉัยตามข้อ ก. และ ข. ดังนั้น ศาลจริยธรรมวิจัยที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาหลักจริยธรรม จึงกลายเป็นศาลที่มีอำนาจบิดเบี้ยวละเมิดหรือทำลายได้ทั้งหลักจริยธรรมศาสนาและหลักจริยธรรมสาธารณะของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง

2. ลักษณะของการวิจัยที่ซึ่งมีปัญหากับหลักหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย (1) การวิจัยที่ขัดหรือแย้งหรือละเมิดหลักการสําคัญพื้นฐานของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง (2) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง การดูหมิ่นเกลียดชัง การด้อยค่า การล้อเลียนวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของท้องถิ่นหรือของชาติ หรือการวิจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อวัฒนธรรม หรือจารีตประเพณีของท้องถิ่นหรือของชาติ (3) การวิจัยซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีที่สําคัญของท้องถิ่นหรือประเทศอย่างชัดแจ้ง และน่าจะนําไปสู่การละเมิดศีลธรรมนั้นอย่างกว้างขวาง (4) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายในท้องถิ่นหรือสังคม การด้อยค่าหรือละเมิดชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียงของมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ หรือเสรีภาพ และ (5) การวิจัยลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกําหนด

ข้อสังเกตของผมคือ ข้อความในข้อ (4) “การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม... การด้อยค่าหรือละเมิดชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียงของมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ หรือเสรีภาพ” เป็นข้อความที่สอดคล้องกับ “หลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” ที่ใช้กันอย่างสากลอยู่แล้ว เพราะจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานของหลักจริยธรรมสาธารณะและหลักสิทธิมนุษยชน นั่นคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่คีเวิร์ดอยู่ที่คำว่า “น่าจะ...” ซึ่งเปิดให้ศาลจริยธรรมวิจัยใช้ดุลพินิจตัดสินล่วงหน้าได้ว่างานวิจัยนั้นๆ ผิดจริยธรรมโดยไม่ต้องพิจารณา “ข้อเท็จจริง” หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่างานวิจัยนั้นได้ทำให้เกิดผลเสียหายตามที่ระบุไว้อย่างสิ้นสงสัยจริงหรือไม่ การตัดสินล่วงหน้าจากการใช้ดุลพินิจว่า “น่าจะ...” จึงเป็นไปได้สูงมากที่ศาลจริยธรรมวิจัยจะใช้ดุลพินิจจาก “อคติ” บนทัศนะหรือความเชื่อส่วนตัวทางศาสนา จริยธรรม และอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำให้มี “ธง” ในการวินิจฉัยอยู่แล้ว ซึ่งขัดกับหลัก “ความเป็นอิสระและเป็นหลาง” ที่เป็นมาตรฐานสำคัญของหลักความยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง

ในจำนวน 5 ข้อนั้น มีเพียงข้อ (4) ที่ระบุถึงความคิดพื้นฐานของหลักจริยธรรมสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่ข้ออื่นๆ กลับมี “เนื้อหา” ในเชิงย้อนแย้งหรือขัดแย้งกับความคิดพื้นฐานของหลักจริยธรรมสาธารณะคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสียเอง ดังนั้นที่ สอวช. ระบุว่า “การยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และจริยธรรมการวิจัย (research integrity) ที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมสากล” จึง “ไม่จริง” เพราะหลักการพื้นฐานของจริยธรรมสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่อำนาจหน้าที่ของศาลจริยธรรมและเนื้อหาของหลักเกณฑ์งานวิจัยที่มีปัญหาต่อหลักศาสนาฯ ตามร่างกฎหมายนี้ขัดกับหลักการพื้นฐานของจริยธรรมสากลโดยสิ้นเชิง

3. ประเด็นความจริงทางประวัติศาสตร์ความคิด, เสรีภาพทางวิชาการ และความก้าวหน้าทางความรู้และสติปัญญาของมนุษย์  พูดอย่างตรงไปตรงมา สอวช. ที่เสนอร่างกฎหมายนี้ดูเหมือนจะ “ขาด” ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดของสังคมมนุษย์ และ “ขาด” ความเข้าใจในความหมายและคุณค่าของเสรีภาพทางวิชาการ

ในโลกวิชาการสมัยใหม่ เราต่างรู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการทางความคิด ความรู้ และสติปัญญาของมนุษยชาติ เกิดจาก การปะทะ ขัดแย้ง แลกเปลี่ยน ประนีประนอม ผสมผสาน ตัดทิ้ง ปรับปรุง และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาก็เพราะ “มีปัญหา” ต่อหลักศาสนาพราหมณ์ที่ “คนส่วนใหญ่” สมัยนั้นเชื่อกันอยู่แล้ว เช่น ความเชื่อเรื่องบูชายัญ, ล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์, ระบบวรรณะสี่เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็น “หลักสำคัญ” ของศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่มีอยู่ก่อน อีกทั้งในไตรปิฎกและอรรถกถายังวิจารณ์ความเชื่อศาสนาและลัทธิอื่นๆ อีกมากมายว่า “เป็นมิจฉาทิฐิ” เยซูก็ปฏิเสธหลักความเชื่อศาสนายิวบางประการ เช่น ไม่หยุดพักผ่อนในวันสะบาโต ไม่ยอมรับการปาหิน “คนบาป”  หรือการแบ่งแยก การทำร้ายคนต่างศาสนา แล้วแทนที่ด้วยคำสอนเรื่องความรักและการให้อภัย ให้รักเพื่อนบ้าน (คนต่างศาสนา) เหมือนรักตัวเองเป็นต้น ความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้น ก็ล้วนแต่เกิดจากการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งขัดแย้งกับหลักศาสนาต่างๆ แทบทั้งนั้น

แม้แต่ประวัติศาสตร์การปฏิรูปศาสนาคริสต์ ก็เกิดจากความเห็นแย้งเรื่องหลักศาสนาและอำนาจศาสนจักร ที่ตามมาด้วยสงคราม 30 ปี แต่ก็ส่งผลด้านบวกให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ ที่หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งเกิดการปฏิเสธหลักความเชื่อที่ว่าพระเจ้ามอบ “อำนาจเทวสิทธิ์” แก่กษัตริย์ในการปกครองประชาชน และเสนอความคิดใหม่ว่าพระเจ้าไม่ได้มอบอำนาจเทวสิทธิ์แก่กษัตริย์ เพราะพระเจ้าเท่านั้นที่ควรมีอำนาจเด็ดขาดแบบกษัตริย์ มนุษย์ไม่ดีพอที่จะเป็นกษัตริย์ได้ แท้ที่จริงแล้วพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และมอบหมายให้มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันรักษาและปกป้องสิทธิและเสรีภาพอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของตัวเองนั้น

ส่วนวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็ไม่ใช่สิ่ง “คงที่” หรือตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตเสมอ ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากทั้งการปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ ภายในสังคมหนึ่งๆ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมในโลกไร้พรมแดน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคำถามหรือข้อวิพากษ์ “อำนาจครอบงำ” ทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือความคิดล้าหลังเรื่องศีลธรรมอันดีของประชาชน ผ่านสื่อมวลชน งานวิชาการ งานวิจัย เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าใช้เกณฑ์ “มีปัญหา” กับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนของศาลจริยธรรมวิจัยมา “ควบคุม” ไม่ให้มีปัญหาต่อหลักศาสนาฯ อย่าว่าแต่ความก้าวหน้าทางความรู้ด้านปรัชญา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์สมัยใหม่จะเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่ศาสนาหลักๆ ของโลก (ตามที่ยกตัวอย่างเป็นต้น) ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ส่วนเสรีภาพทางวิชาการ ก็ยึดโยงกับเสรีภาพพื้นฐาน เช่น เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก เสรีภาพดังกล่าวนี้คือเสรีภาพที่ทุกคนต้องมีเท่าเทียมกัน ตามความคิดของจอห์น สว๊วต มิลล์ ใน “On Liberty” ที่ว่าถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนคิดต่างจากมวลมนุษย์ทั้งหมด เขาต้องมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นของตนเหมือนคนทั้งหมด คนส่วนใหญ่หรือคนทั้งหมดในสังคมมนุษย์จะใช้อำนาจปิดปากเขาไม่ได้ ในทางกลับกันหากเขาคนนั้นมีอำนาจขึ้นมา เขาก็ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้อำนาจปิดปากคนทั้งหมดที่คิดต่างจากเขา มิลล์ยังยืนยันว่าต้องไม่มี “กฎหมายหมิ่นศาสนา” เพราะคำว่า “หมิ่นศาสนา” ถูกตีความได้ครอบจักรวาล การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงออกใดๆ ที่ถูกมองว่าไม่สอดคล้องหรือขัดหลักศาสนาก็ถือว่าหมิ่นศาสนาได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้ายึดเกณฑ์ห้าม “มีปัญหา” ต่อหลักศาสนาฯ ยิ่งมิตีความได้กว้างครอบหลายจักรวาลมากกว่าหมิ่นศาสนาหรอกหรือ

มิลล์ชี้ให้เห็นว่าการไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก ทำให้สังคมมนุษย์ทำผิดมหันต์มามากแล้วในประวัติศาสตร์ เช่น การประหารชีวิตโสกราตีส ด้วยข้อกล่าวหานำเสนอเทพเจ้าองค์ใหม่และชักนำเยาวชนให้หลงผิด การตรึงกางเขนเยซู ด้วยข้อหากบฏและดูหมิ่นพระเจ้า การลงโทษกักบริเวณกาลิเลเอให้อยู่ในบ้านตัวเองตลอดชีวิต การล่าแม่มดในยุคกลาง ซึ่งเราต้องนับรวมทั้งการมีกฎหมายหมิ่นศาสนาในรัฐศาสนาในอดีตและปัจจุบัน กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ และผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ และที่อื่นๆ ในโลกปัจจุบันด้วย

ส่วนการอ้างวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยอ้างว่า “คนส่วนใหญ่” เชื่อเช่นนั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิด “ทรราชย์เสียงข้างมาก” ที่ปิดกั้นหรือละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก เราจึงไม่อาจอ้างความเชื่อคนส่วนใหญ่ ความรู้สึกคนส่วนใหญ่มาปิดกั้นเสรีภาพได้ เพราะคนที่อ้างเช่นนี้มักเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่เคยพิสูจน์ได้เลยว่าคนส่วนใหญ่คิดแบบพวกตนจริงหรือไม่ ดังนั้น การปกป้องเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกให้คงอยู่หรือให้มีได้จริงต่างหากที่จะเกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่หรือส่วนรวมได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นการเปิด “พื้นที่” ให้ทุกคน ทุกเสียงได้แสดงออกเท่าเทียมกันว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่มเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแบบไหนอย่างไร ควรรักษาอะไรไว้ ควรทิ้งอะไรไป ควรปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น หรือควรสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาใหม่

แต่ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ถึงจะมีเสรีภาพพื้นฐานคือ เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกอยู่แล้ว ก็ยังต้องบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นรับรอง “เสรีภาพทางวิชาการ” (academic freedom) ไว้ด้วย เพราะถึงแม้ในแง่หนึ่งเสรีภาพทางวิชาการก็คือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกอยู่แล้ว แต่เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า “วิชาการ” มีลักษณะเฉพาะต่างจากการแสดงความคิดเห็นทั่วไปอยู่ด้วย เช่น การเรียน การสอน การวิจัย การเขียนงานวิชาการ หนังสือ ตำรา และกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ในทางแสวงหาและสร้างสรรค์ความรู้ การพัฒนาความคิด ปัญญา และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวมดีขึ้น หรือก้าวหน้าขึ้นในด้านต่างๆ ซึ่งงานวิชาการที่ว่านี้อาจเป็นงานของครูอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือคนนอกมหาวิทยาลัยอย่างที่เรียกว่า “นักวิชาการอิสระ” และอื่นๆ ก็ได้

ทั้งหมดนั้นรัฐต้องคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่ใครจะศึกษาเรื่องอะไรก็ได้ที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ได้ เพราะ “เสรีภาพทางวิชาการ” หมายถึง ทุกคนมีอิสระเท่าเทียมกันในการเลือกว่าจะวิจัยหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่สนับสนุนหรือตั้งคำถามวิพากษณ์วิจารณ์หลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ได้ ความรับผิดชอบที่พ่วงมากับใช้เสรีภาพทางวิชาการคือ ต้องไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ซึ่งมีอยู่แล้วในหลักจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ และต้องไม่คัดลอกงานของคนอื่นโดยมีกฎหมายลิขสิทธิ์เอาผิดอยู่แล้ว เป็นต้น

แต่ตราบใดที่แต่ละคนเสนองานวิชาการหรืองานวิจัยที่ตั้งโจทย์และให้คำตอบต่างกันในประเด็นปัญหาเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายต้องมี “เสรีภาพเท่าเทียมกัน” เช่น นาย ก. ตั้งโจทย์งานวิชาการหรืองานวิจัยในเชิงสนับสนุนความมีประโยชน์ของโครงการพระราชดำริต่างๆ แต่นาย ข. ตั้งโจทย์ในเชิงตั้งคำถามต่อความชอบธรรม ความคุ้มค่า ความโปร่งใสของโครงการพระราชดำริต่างๆ หรือนาย ค. เสนองานวิจัยสนับสนุนการคงอยู่และการปรับปรุงระบบสมณศักดิ์ให้ดีขั้น แต่นาย ง. เสนองานวิจัยที่วิเคราะห์ปัญหาของระบบสมณศักดิ์ และเสนอยกเลิกระบบสมณศักดิ์ ทั้งสองฝ่ายต้องมี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) ที่จะทำวิจัยตามที่ตัวเองสนใจ ส่วน “คุณภาพ” ของงานวิชาการหรืองานวิจัย ก็มีระบบการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ ประเมินความถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่แล้ว

การตั้งศาลจริยธรรมวิจัยมาตัดสินล่วงหน้าว่างานวิจัยนั่นนี่ “น่าจะ” เข้าข่าย “อาจมีปัญหา” ต่อหลักศาสนาฯ ตามเกณฑ์ในร่างกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจได้ครอบจักรวาลคล้ายศาลศาสนายุคกลาง ย่อมจะขัดแย้งกับเสรีภาพทางวิชาการตามที่กล่าวมาอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียงไม่กี่คนมาทำหน้าที่เป็นศาลจริยธรรมวิจัยคอยสอดส่องและตัดสินชี้ขาดว่าอะไร “อาจมีปัญหา” ต่อหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะนี่คือการย้อนยุคไปใช้หลักการควบคุมความคิดความเชื่อคล้ายศาลศาสนายุคกลางเลยทีเดียว

ข้อสังเกตส่งท้าย แท้จริงแล้วการเกิดขึ้นของร่างกฎหมายศาลจริยธรรมวิจัยฉบับนี้ คือการเพิ่ม “การรุกคืบ” ของฝ่ายขวาอย่าง “เกินพอเพียง” ในอำนาจที่ต่อเนื่องมากว่าสองทศวรรษ เพราะอำนาจทางการเมืองของฝ่ายขวาไม่ได้อิง “ความชอบธรรม” จากหลักการประชาธิปไตย แต่อิงความชอบธรรมจากหลักศีลธรรมศาสนา เช่น หลักการปกครองโดยธรรมและอื่นๆ ซึ่งความชอบธรรมที่อิงหลักศีลธรรมดังกล่าวถูกยกไว้สูงเหนือหลักการประชาธิปไตย และการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน มันจึงเป็นความชอบธรรมทางศีลธรรมที่ถูกอ้างอิงใช้เพื่อ “ครอบงำ” (dominate) ประชาชน มากกว่าที่จะแสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองได้ทำตามหลักศีลธรรมเช่นนั้นจริงๆ ขณะเดียวกันก็อ้างหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมเช่นนั้นมาลดทอนความชอบธรรมของหลักการประชาธิปไตย เช่น อ้างว่า “การเลือกตั้งไม่ได้มีความชอบธรรมในตัวมันเอง” เป็นเพียงเครื่องมือให้นักการเมืองที่ไร้จริยธรรมเข้ามาแสวงหาอำนาจและคอร์รัปชั่น

ดังที่เราได้เห็นมาแล้วว่ายุครัฐประหารรัฐบาลทักษิณปี 2549 บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำ นักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์นิยม และแกนนำม็อบพันธมิตรฯ (พธม.) ต่างประสานเสียงว่า “นักการเมืองไร้จริยธรรม” ต้องปฏิรูปให้นักการเมืองมีจริยธรรมสูงกว่าประชาชน และเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมของประชาชน ต่อมาก็มีการออกแบบ “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาหลังใหม่ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจริยธรรมในสังคมไทยหรือในกลุ่มนักการเมืองและประชาชน จึงต้องเชิดชู “หลักการปกครองโดยธรรม” ภายใต้อุดมการณ์อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยโยงไปถึงคติ “ไตรภูมิพระร่วง” มาสถาปนาเป็นหน้าตาและความหมายของอาคารรัฐสภาหลังใหม่ของประเทศไทย พร้อมกับสร้างบทบทญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยจริยธรรมนักการเมือง และเกิดปรากฏการณ์ศาลตัดสินความผิดจริยธรรมร้ายแรง โดยตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองไปแล้วหลายคน ร่างกฎหมายคุมจริยธรรมวิจัยที่กำลังถูกวิจารณ์กันอยู่นี้ก็คือความต่อเนื่องในการรุกคืบของฝ่ายขวาที่สร้างกฎหมายเป็น “อาวุธ” ใช้ปิดปากฝ่ายคิดต่างในนิติสงครามที่ยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวนาน

สรุปแล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ใช้นิติสงครามเป็นอาวุธกวาดล้างฝ่ายซ้ายร่วมสองทศวรรษ ฝ่ายขวามีศาลรัฐธรรมนูญ (รวมองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต., ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ตัดสินจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งส่วนมากจะเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่โดนคดีแบบนี้ และจะมีศาลจริยธรรมวิจัยทำหน้าที่ตัดสินงานวิจัยที่มีปัญหาต่อหลักศาสนาฯ แน่นอนว่านักวิชาการส่วนมากที่จะโดนคดีแบบนี้ ก็น่าจะเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าอำนาจตัดสินจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลจริยธรรมวิจัย ต่างก็มี “ธง” อุดมการณ์ทางการเมืองและจริยธรรมแบบฝ่ายขวาชี้นำทิศทางการใช้ดุลพินิจอยู่แล้วทั้งนั้น

คำถามสำคัญก็คือ ทำไม ครม. ซึ่งทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการในยุคที่มาจาก “การเลือกตั้ง” จึงมีมติรับร่างกฎหมายคุมจริยธรรมที่ขัดหลักเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็โดนศาลลงทัณฑ์เรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรงอย่างอยุติธรรมมาแล้วทั้งนั้น หลังจากนี้ “เสียง” ของนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ จะเป็นที่ “ได้ยิน” ของรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่ หรือทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะทบทวนหรือแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร นี่ย่อมเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันติดตามทวงถามกันต่อไป 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net