Skip to main content
sharethis

หลิน เจี้ยน โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลง 'ฮ่องกงเป็นสังคมที่มีหลักนิติธรรม...เสรีภาพสื่อไม่ใช่ข้ออ้างในการที่จะก่ออาชญากรรม' หลังจากที่มีการลงโทษบรรณาธิการสื่อสแตนด์นิวส์ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหา 'ปลุกระดม' แต่อดีตบรรณาธิการสื่อโต้ว่าไม่ควรจำกัดเสรีภาพสื่อ เพราะกลัวแนวคิดอันตราย แต่เสรีภาพในการแสดงออกต่างหากที่ "เป็นเครื่องมือกำจัดแนวคิดอันตราย"

 

4 ก.ย. 2567 หลังจากที่มีการตัดสินให้อดีตบรรณาธิการสื่อ 'สแตนนิวส์' 2 ราย มีความผิดฐาน "ปลุกระดม" กระทรวงต่างประเทศของจีนก็แถลงว่าเสรีภาพสื่อไม่ใช่ข้ออ้างในการฝ่าฝืนกฎหมาย

สแตนนิวส์เป็นเว็บไซต์สื่อไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งเน้นนำเสนอประเด็นการเมืองและสังคมในฮ่องกง รวมถึงมีจุดยืนจากบรรณาธิการในเชิงสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ในปี 2564 พวกเขาเผชิญกับการปราบปรามจากรัฐบาลหลังจากที่มีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติออกมาในปีก่อนหน้านั้น โดยที่ตำรวจได้ทำการบุกกวาดจับผู้บริหารระดับสูงและอายัดสินทรัพย์ของสื่อแห่งนี้

หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวที่จีนเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า "มีบางประเทศและบางองค์กร" ได้อาศัยกระบวนการทางกฎหมายในการ "ใส่ร้ายป้ายสี" ฮ่องกง

"ฮ่องกงเป็นสังคมที่มีหลักนิติธรรม... เสรีภาพสื่อไม่ใช่ข้ออ้างในการที่จะก่ออาชญากรรม" หลินกล่าว อีกทั้งยังแถลงต่อไปว่าทางการจีนสนับสนุนตุลาการฮ่องกงในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง

ความคิดเห็นของโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาหนึ่งวันหลังจากที่ Chung Pui-kuen กับ Patrick Lam อดีตบรรณาธิการสแตนด์นิวส์ ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดในการเผยแพร่เนื้อหา "ปลุกระดม"

บรรณาธิการ 2 รายนี้ถูกจับกุมตั้งแต่เกือบ 3 ปีที่แล้ว ในปฏิบัติการบุกทลายสำนักงานสื่อสแตนด์นิวส์โดยตำรวจฮ่องกง ต่อมาอีกหลายชั่วโมงถัดจากนั้นสำนักงานสื่อสแตนด์นิวส์ก็ประกาศปิดตัวลงและทำการลบเนื้อหาทั้งหมด

 

'เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเครื่องมือกำจัดแนวคิดที่อันตราย'

นักการเมืองชาติตะวันตกจากสหรัฐฯ และจากอังกฤษ ได้ประณามคำตัดสินนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แมทธิว มิลเลอร์ บอกว่าคำตัดสินนี้เป็น "การโจมตีเสรีภาพสื่อโดยตรง"

แคทเธอรีน เวสต์ รัฐมนตรีด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก กล่าวว่า บรรณาธิการ 2 รายนี้ถูกทำให้มีความผิดเพียงเพราะพวกเขา "ทำงานของตัวเอง" เวสต์กล่าวอีกว่า สื่อเสรีมีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองของสังคม

หลินโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ โดยบอกว่า "พวกเราขอให้ประเทศต่างๆ ...เคารพในอธิปไตยของจีนและหลักนิติธรรมของฮ่องกง รวมถึงให้หยุดการแทรกแซงกิจการฮ่องกงไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามและหยุดการแทรกแซงกิจการภายในของจีน"

รัฐบาลฮ่องกงได้ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ประณามนักการเมืองสหรัฐฯ และนักการเมืองอียูว่าเป็น "กลุ่มต่อต้านจีน" และประณามสื่อต่างประเทศว่าได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นเท็จตามวาระทางการเมืองของตัวเอง

แถลงการณ์จากจีนระบุว่า "เช่นเดียวกับที่อื่นๆ สิทธิและเสรีภาพ(ในฮ่องกง) ไม่ได้ไร้ข้อจำกัด คนทำงานสื่อก็เหมือนกับคนทำงานคนอื่นๆ ที่มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมาย ... ตราบใดก็ตามที่ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะไม่ถูกจำกัด"

ในช่วงที่มีการพิจารณาคดี Chung กล่าวโต้ตอบข้อกล่าวหาว่าสแตนด์นิวส์ไม่ได้เป็นพื้นที่ทางการเมือง และให้การว่า "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ควรจะถูกจำกัดบนฐานของเรื่องการกำจัดแนวคิดที่อันตราย แต่ควรจะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเครื่องมือในการกำจัดแนวคิดที่อันตรายต่างหาก"

 

'เจตนาปลุกระดม'

ในคำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรที่เผยแพร่ต่อสาธารณะระบุว่ามีบทความ 11 ชิ้นจากทั้งหมด 17 ชิ้นที่อัยการส่งให้เป็นหลักฐานมีลักษณะ "ปลุกระดม" คำตัดสินดังกล่าวนี้เขียนโดยผู้พิพากษา Kwok Wai-kin ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากผู้นำฮ่องกงให้คอยดูแลคดีเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชาติ

อัยการกล่าวหาว่าบทความเหล่านี้ส่งเสริม "อุดมการณ์ผิดกฎหมาย" รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ

หนึ่งในบทความเหล่านี้มีบทสัมภาษณ์ของกวินเน็ธ โฮ (Gwyneth Ho) อดีตนักข่าวสแตนด์นิวส์ที่ผันตัวไปเป็นนักกิจกรรมอยู่ด้วย โฮเป็นผู้ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานกระทำการบ่อนทำลายอำนาจรัฐ จากการที่เธอมีบทบาทอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งรอบแรกร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยคนอื่นๆ บทความอีกชิ้นหนึ่งคือบทความแสดงความคิดเห็นที่เขียนโดยนาธาน หลอ (Nathan Law) นักกิจกรรมพลัดถิ่น และอัลลัน อู (Allan Au) อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์

สตีฟ ลี (Steve Li) หัวหน้าตำรวจแผนกความมั่นคงแห่งชาติกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อที่ด้านนอกศาลหลังมีคำตัดสิน สื่อถามว่าตำรวจจะดำเนินการใดๆ หรือไม่ต่อคอลัมนิสต์และนักข่าวที่อยู่เบื้องหลังบทความเหล่านี้ ลีตอบว่าขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามี "เจตนาปลุกระดม" หรือไม่

ลีกล่าวอีกว่า ภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงที่รู้จักในนามกฎหมายมาตรา 23 นั้น มีการเพิ่มโทษของข้อหาปลุกระดมจากเดิมที่กำหนดให้จำคุกสูงสุด 2 ปี ซึ่งเป็นโทษจากกฎหมายฉบับยุคอาณานิคม ให้มีการเพิ่มอีก 7 ปีกลายเป็นจำคุกสูงสุด 10 ปี กรณีที่ผู้ต้องหามีการสมคบคิดกับต่างชาติด้วย

ในเรื่องที่ว่า Chung กับ Lam จะถูกลงโทษจำคุกกี่ปีนั้น ศาลจะตัดสินอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ในระหว่างนั้น Chung กับ Lam ก็จะยังคงได้รับอนุญาตให้อยู่ในระหว่างการประกันตัวได้

ทางการฮ่องกงยังคงยืนยันว่าฮ่องกงมีเสรีภาพสื่อที่ให้การรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่เรียกว่ากฎหมายพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2565 หลังการปราบปรามสื่ออิสระหลายแห่งในฮ่องกง องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดให้ฮ่องกงอยู่ที่อันดับ 135 จาก 180 อันดับของดัชนีเสรีภาพสื่อ ลดลงมาถึง 80 อันดับเทียบกับปี 2564 มีการเซนเซอร์ตัวเองเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ต่อต้านทางการเมือง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนแถลงร่วมกับกลุ่มด้านสิทธิอีก 4 กลุ่มระบุว่าการลงโทษบรรณาธิการ 2 รายในครั้งนี้ "มีความเป็นการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง" และระบุว่าเป็น การที่จีนอาศัยระบบกฎหมายเป็นเสมือนอาวุธในการโจมตีผู้สื่อข่าวทั้งที่จีนเคยสัญญาว่าจะให้เสรีภาพสื่อแก่ฮ่องกง

 

 

เรียบเรียงจาก

Press freedom is no excuse for breaking law, China’s foreign ministry says after Stand News sedition convictions, HKFP, 30-08-2024

https://hongkongfp.com/2024/08/30/press-freedom-is-no-excuse-for-breaking-law-chinas-foreign-ministry-says-after-stand-news-sedition-convictions/

Hong Kong court finds Stand News editors guilty of sedition, Aljazeera, 29-08-2024

https://www.aljazeera.com/news/2024/8/29/hong-kong-court-finds-stand-news-editors-guilty-of-sedition

CPJ, others: China criminalizing journalism in Hong Kong with Stand News verdict, CPJ, 02-09-2024

https://cpj.org/2024/09/cpj-others-china-criminalizing-journalism-in-hong-kong-with-stand-news-verdict/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Stand_News

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net