Skip to main content
sharethis

‘ไมรา เจิน’ นักร้องเวียดนามที่เกิดในสหรัฐฯ ทำการแสดงในงานศพของอดีตทหารเวียดนามใต้ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวชาตินิยมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (เวียดนามเหนือ) และมีการขุดคุ้ยนักร้องนักแสดงคนอื่นๆ ออกมาประณามเรื่องที่พวกเขาไปงานแสดงที่มี 'ธงเวียดนามใต้' อยู่ในฉากหลัง  

 

ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีคนดังเชื้อสายเวียดนามหลายคนเผชิญกระแสต่อต้านออนไลน์ เนื่องจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียพากันขุดรูปและวิดีโอในอดีตของพวกเขาขึ้นมาเป็นประเด็นดราม่า ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องมุมมองทางการเมืองโดยตรง หรือเรื่องการทำผิดมารยาททางสังคมแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการไปแสดงในงานต่างประเทศที่มีธงเวียดนามใต้เป็นฉากหลัง หรือสิ่งของอื่นๆ ที่สื่อถึงเวียดนามใต้

คนดังรายล่าสุดที่เผชิญกับกระแสต่อต้านคือ ‘ไมรา เจิน’ นักร้องเชื้อสายเวียดนามที่เกิดในสหรัฐฯ อดีตผู้เข้าแข่งขันรายการ ‘อเมริกันไอดอล’ ซีซัน 17 โดยกระแสการโจมตีไมรา เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นว่า เธอได้ไปร้องเพลงที่งานศพของอดีตทหารเวียดนามใต้ชื่อ ‘ลี้ ต๊ง’ (Ly Tong) ซึ่งจัดในสหรัฐฯ ส่งผลให้ต่อมาไมรา โพสต์ขอโทษเรื่องนี้

ไมรา โพสต์จดหมายเปิดผนึกเพื่อขอโทษการแสดงเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 โดยเผยแพร่ในบัญชีเฟซบุ๊กของเธอ โดยไมรา อธิบายในจดหมายว่า เธอทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เธอระบุว่าเคยไปเข้าร่วม "งานที่ไม่เหมาะสม" ในอดีต แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะ "ต่อต้านหรือบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ" เวียดนาม ไมรา สัญญาว่าเธอจะมีความระมัดระวังมากกว่านี้ในอนาคต

หลังจากกรณีนักร้องหญิง ‘ไมรา’ แล้ว กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามเริ่มพากันขุดคุ้ยดาราคนดังคนอื่นๆ เพื่อแฉเรื่องที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ความไม่รักชาติ’ เช่นการมีธงเวียดนามใต้สีเหลืองอยู่ในฉากหลังของภาพถ่ายพวกเขา

ไมรา เจิน (Myra Tran) (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Myra Tran)

ทำไมเรื่องธงเวียดนามใต้ กลายเป็นเรื่องอ่อนไหว

เวียดนามเป็นประเทศที่เคยมีสงครามกลางเมืองในช่วงยุคสมัยสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตกับจีน ขับเคี่ยวกับประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มสัมพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในระหว่างปี 2498-2518 ก็มีการสู้รบในเวียดนามระหว่างฝ่ายเวียดนามเหนือผู้ได้รับการสนับสนุนจากจีนและโซเวียต กับฝ่ายเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้สงครามนี้กลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้วของสงครามเย็น

โดยธงของฝ่ายเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีชาติตะวันตกให้การสนับสนุนอยู่ เป็นธงสัญลักษณ์สีเหลืองที่มีแถบสีแดงสามสีพาดในแนวนอน

ฝ่ายเวียดนามใต้ปราชัยในสงครามให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ นำโดย โฮจิมินต์ จนทำให้ไม่มีเวียดนามใต้อีกต่อไป แต่ธงนี้ก็ยังคงถูกนำมาใช้จัดแสดง โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้อพยพชาวเวียดนามในต่างแดนหรือลูกหลานของพวกเขาที่นำมาใช้ โดยเฉพาะในประเทศแถบอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย และนับตั้งแต่ มิ.ย. 2545 เป็นต้นมา หน่วยงานรัฐบาลหลายภาคส่วนของสหรัฐฯ ก็มีมติยอมรับว่า ธงเหลืองพาดแถบสีแดงนี้เป็น "ธงมรดกและอิสรภาพของเวียดนาม"

ทั้งนี้ ชาวเวียดนามพลัดถิ่นในสหรัฐฯ จัดงานรำลึกถึงความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม หลังการล่มสลายของไซง่อน หรือเหตุการณ์ “เมษาทมิฬ” ก่อนหน้านี้ไม่นานมีการจัดงานรำลึกที่รัฐแมสซาซูเซตต์ เมื่อ 30 เม.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มชาวเวียดนามพลัดถิ่นจะจัดงานรำลึกเป็นประเพณีมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ปีนี้ก็เป็นครั้งแรกที่พวกเขาแสดงธงเวียดนามใต้เคียงคู่ไปกับธงของสหรัฐฯ และธงของรัฐแมสซาชูเซตต์

จัมเหงียน สส.รัฐแมสซาชูเซตต์ ผู้หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามคนแรกที่ได้ตำแหน่ง สส.รัฐนี้ กล่าวปราศรัยในงานว่า "นอกจากพวกเราจะต้องจดจำสาเหตุที่ทำให้พวกเราพลัดถิ่นแล้ว พวกเราควรจะจดจำการยืนหยัดต่อสู้ของชุมชน และการเสียสละของคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ทำให้คนรุ่นของพวกเรามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้วย"

นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากประชาชนหรือผู้เชี่ยวชาญว่า ผู้คนที่เข้าร่วมงานรำลึกจำนวนมากสวมชุดทหาร และประธานของกลุ่มชุมชนเชื้อสายเวียดนามในแมสซาชูเซตต์ ก็พูดถึงเรื่องที่ว่าหลังฝ่ายเหนือชนะฝ่ายใต้ก็สูญเสียทุกอย่างและผู้คนจำนวนมากก็ถูกส่งเข้าค่ายปรับทัศนคติ

เรื่องนี้ทำให้ธงสีเหลืองของเวียดนามใต้ และการเชื่อมโยงไปถึงการรำลึกและเชิดชูเวียดนามใต้ที่แม้จะพ่ายแพ้สงครามนานแล้ว กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับชาวเวียดนามยุคปัจจุบันที่เป็นชาตินิยมพรรคคอมมิวนิสต์

ธงเวียดนามใต้ (ที่มา: wikicommon)

ไม่ใช่แค่ไมราที่โดนขุดคุ้ย เมื่อกลุ่มชาตินิยมบีบให้นักแสดงขอโทษ

สื่อภาษาเวียดนาม "Cong Thuong" ระบุว่า เรื่องที่มีคนขุดคุ้ยเกี่ยวกับดาราและคนดังชาวเวียดนาม จนกลายเป็นประเด็นในโซเชียลนั้น ไม่เพียงแค่เพราะเรื่องของความไม่พอใจจากลัทธิชาตินิยม มันยังเป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการตระหนักรู้ตัวเอง เรื่องของบทบาท และเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของศิลปิน ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องความภาคภูมิใจในชาติ

มีศิลปินบางคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เพราะปรากฏตัวในที่ๆ มีธงของเวียดนามใต้ ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ดาราเหล่านี้รู้ความหมายที่แท้จริงของธงนี้หรือไม่ พวกเขากระทำมันอย่างจงใจหรือทำไปโดยไม่ได้เจตนา

เวียตฮวง ดาราหญิงเวียดนามก็เผชิญกับกระแสต่อต้านทำนองนี้ เธอเป็นหนึ่งในนักแสดงนำของภาพยนตร์ชื่อ "Ma Da" ที่กำลังออกฉายไปทั่วเวียดนามในช่วงที่กำลังมีดราม่า โดยที่เวียตฮวงได้ออกมาขอโทษในเรื่องที่เธอปรากฏตัวบเวทีที่มีป้ายรูปธงสหรัฐฯ คู่กับรูปธงเหลืองเวียดนามใต้ เวียตฮวง กล่าวว่า เธอจะ "ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันกับเจ้าหน้าที่ทางการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในแง่ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติตามการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่"

อย่างไรก็ตาม นักดนตรี จรุก โฮ ผู้จัดงานดนตรีขนาดใหญ่จำนวนมากในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นงานแนวส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับเวียดนาม มองว่า "พวกเขา (ศิลปิน หรือดารา) ไม่เห็นจะต้องไปขอโทษเลย ผมไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาต้องไปขอโทษด้วย"

จรุก โฮ กล่าวว่า ธงเหลืองแถบแดงของเวียดนามใต้เป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญทางใจอย่างลึกซึ้งสำหรับชุมชนชาวเวียดนามที่หนีจากคอมมิวนิสต์ในประเทศของพวกเขา ทำให้พวกเขามองว่าการโบกหรือแสดงธงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

เหงียน แคง นักร้องผู้อาศัยอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามพยายามโน้มน้าวให้ชาวเวียดนามในต่างแดนกลับประเทศอยู่เสมอ คืออยากให้พวกเขากลับไปให้ช่วยพัฒนาประเทศ ช่วยทำให้เกิดความสมานฉันท์และปรองดอง แต่การที่ชาวเวียดนามแสดงออกต่อต้านธงเวียดนามใต้นั้น ทำให้เหงียน แคง ต้องหยุดเพื่อพิจารณาว่าจะกลับประเทศดีไหม

เหงียน แคง พูดถึงเรื่องกระแสการการคว่ำบาตรและโจมตีชาวเวียดนามผู้เคยอาศัยในสหรัฐฯ แล้วเดินทางกลับประเทศ เขามองว่า "ถ้าหากการแสดงดนตรีอยู่บนเวทีที่มีฉากหลังเป็นธงเวียดนามใต้ถือเป็นการกระทำผิดแล้วล่ะก็ ผมแน่ใจว่าศิลปินชาวเวียดนาม 2 ใน 3 เลยที่ผิดในเรื่องนี้ เพราะธงนี้เป็นธงที่ใช้แทนชุมชนชาวเวียดนามในต่างประเทศ"

การชำระความบริสุทธิ์เชิงอุดมการณ์ มีผลเสียในระยะยาว (?)

ต้นแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2567 เป็นต้นมา สื่อในเวียดนามหลายแห่งตีพิมพ์บทความเชิงวิพากษ์วิจารณ์ดาราเหล่านี้ เช่นสื่อ Vietnamese Police วิจารณ์ไมราว่า การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่สามารถใช้แก้ตัวเรื่องการไปแสดงในงานศพของอดีตทหารเวียดนามใต้ได้ สื่อเวียดนาม อ้างว่า ไมราควรปฏิเสธจะแสดงทันทีที่เห็นธงหรือชุดฟอร์มที่สื่อถึงเวียดนามใต้ สื่ออีกแห่งหนึ่งระบุว่า ดารานักแสดงควรหาความรู้มากกว่านี้เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าสัญลักษณ์หรือธงนั้นๆ คืออะไร

นักข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งจากเวียดนาม ระบุว่า ถึงแม้สื่อจะพยายามโจมตีคนดังในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรกับกลุ่มธุรกิจเวียดนามที่มีการแสดงออกเกี่ยวข้องกับธงเวียดนามใต้ เช่น โฆษณารถเวียดนาม VinFast ที่ปรากฏพร้อมธงเวียดนามใต้ หรือสินค้าส่งออกเวียดนามอย่างข้าวและปลาก็ไปขายในซูเปอร์มาร์เกตเวียดนามในต่างประเทศที่มีธงเวียดนามใต้ปักอยู่

นักข่าวรายนี้ระบุว่า สิ่งที่แสดงให้เห็นคือ สังคมเวียดนามดูเหมือนจะกำลังอยู่ในช่วงที่พยายามอย่างแข็งขันในการชำระล้างให้เกิดความบริสุทธิ์ทางอุดมการณ์สังคมนิยม แต่การปล่อยให้สังคม "ถูกควบคุมโดยสิ่งที่ไม่ใช่หลักนิติธรรม แต่เป็นกระแสการใช้คำอย่างโหดร้ายและป่าเถื่อน" ต่อไป จะส่งผลเสียกับรัฐบาลเวียดนามเอง เพราะจะทำให้สังคมโกลาหลและถูกมองไม่ดีจากกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรกับเวียดนามและประเทศคู่ค้าที่ให้คุณค่าเรื่องความมีอารยะ

อย่างไรก็ตาม นักข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าววงในว่า ดาราหรือศิลปินที่มีสายสัมพันธ์กับชุมชนเวียดนามในต่างประเทศอาจจะถูกบีบให้ต้องตัดสายสัมพันธ์กับชุมชนดังกล่าวก่อน ถ้าหากพวกเขาอยากจะกลับมาแสดงที่ประเทศเวียดนาม

 

เรียบเรียงจาก

Vietnamese celebrities targeted for being pictured with South Vietnamese flag, Radio Free Asia, 31-08-2024
https://www.rfa.org/english/news/vietnam/south-vietnam-flag-celebrities-08302024214934.html

Loạt nghệ sĩ Việt biểu diễn dưới lá cờ ba sọc: Lòng yêu nước và trách nhiệm xã hội ở đâu?, Công Thương, 24-08-2024
https://congthuong.vn/loat-nghe-si-viet-bieu-dien-duoi-la-co-ba-soc-long-yeu-nuoc-va-trach-nhiem-xa-hoi-o-dau-341232.html

Vietnamese Celebrities Face Backlash Over South Vietnamese Flag, Vision times, 04-09-2024
https://www.visiontimes.com/2024/09/04/vietnamese-celebrities-face-backlash-over-south-vietnamese-flag.html

Local Vietnamese American community commemorates Black April, GBH, 30-04-2024
https://www.wgbh.org/news/local/2024-04-30/local-vietnamese-american-community-commemorates-black-april

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://americanidol.fandom.com/wiki/Myra_Tran
https://en.wikipedia.org/wiki/South_Vietnam
https://en.wikipedia.org/wiki/Flag_of_South_Vietnam

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net