Skip to main content
sharethis

มุมมองนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Passau ประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย ขบวนการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับยุครุ่งเรืองของโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเปรียบเทียบคดีการใช้ ‘กฎหมายหมิ่น’ (ประมุขรัฐอื่น) ที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ในเยอรมนีว่า รัฐบาลและสังคมเยอรมันตัดสินใจหาทางออกแบบใด  

112 WATCH สัมภาษณ์นักวิชาการ Wolfram Schaffar ผู้อำนวยการภาคการพัฒนาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Passau ประเทศเยอรมัน ในประเด็นปัญหาของกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยในมุมมองของยุโรปและเยอรมัน

ตั้งแต่การประท้วงในปี 2563 มีประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบัน สภาวะเช่นนี้สร้างความกังวลอย่างไรต่อประเทศเยอรมันและทวีปยุโรป?

การประท้วงของเยาวชนไทยในช่วงดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อเยอรมัน ภาพการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมแต่งตัวในธีมแฮร์รี พ็อตเตอร์, แฮมทาโร หรือ เป็ดยาง ได้รับความเห็นใจจากสื่อและสาธารณะเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า ความน่ากังวลและความเสี่ยงที่ผู้ชุมนุมต้องเจอยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวเยอรมันและชาวยุโรปอย่างเต็มที่

ว่ากันตามตรง เมื่อแกนนำบางคนถูกจับกุม ข่าวอาจจะถูกพาดหัวเป็นข่าวสำคัญ แต่เหตุการณ์แบบนั้นก็เป็นช่วงก่อนที่คดีมาตรา 112 กำลังจะถูกตัดสินในชั้นศาล ช่วงนี้เป็นช่วงที่ความสนใจของสาธารณชนในเยอรมันลดลงไปแล้ว แม้ว่าจะมีข่าวคำตัดสินให้ทนายอานนท์ นำภาได้รับโทษจำคุกในเดือนมกราคม 2567 รายงานในสถานีโทรทัศน์เยอรมันแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้มีคนออกมาคัดค้านหรือแสดงความโกรธนัก หรือหากมีก็ไม่มากเท่าที่ควร 

ข้อมูลตามที่ อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายภาพรวมของสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองดูจะไม่ค่อยเป็นที่รับรู้สักเท่าไร เมื่อผมอธิบายจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีกับนักศึกษาในชั้นเรียนที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา พวกเขารู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

น่าเสียดายที่ภาพรวมของสังคมเยอรมัน ณ ตอนนี้ดูเหมือนจะรับรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่ชอบประเทศไทยตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว แม้อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยถดถอย’ และการพุ่งสูงขึ้นของระบอบอำนาจนิยมทั่วโลก แต่ก็มีคนจำนวนน้อยมากที่จะรู้ว่าประเทศไทยกำลังเกิดสถานการณ์ประชาธิปไตยถดถอยแบบฮังการี ตุรกี เบลารุส หรือรัสเซีย

กล่าวได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทำให้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ในสถานการณ์ที่หลายประเทศในโลกค่อยๆ ปกครองในระบอบอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นักกิจกรรมยากที่จะหวังกับความเห็นของสาธารณชนในเยอรมัน แม้ว่าคนเยอรมันจะไม่ใช่คนที่เพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ หลายคนก็กังวล ทว่าสถานการณ์ในโลกที่มีหลายประเด็นที่ถาโถมเข้ามาทำให้พวกเขาต้องกังวล

ผมเชื่อว่า พวกเราจำเป็นต้องวิเคราะห์ประเด็นของกฎหมายอาญามาตรา 112 กับกรอบคิดที่กว้างขึ้น และใช้กรอบคิดนี้มาช่วยจัดการกับปัญหา ในแง่มุมนี้ แคมเปญ 112 WATCH กำลังทำหน้าที่นี้ได้ดี เช่น การร่วมงานกับอาจารย์ Tyrell Haberkorn ซึ่งเชื่อมโยงประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 กับความเป็นธรรมทางสังคม หรือ อาจารย์ Joshua Kurlantzick ที่อธิบายให้เราเห็นถึงอิทธิพลของจีน

นอกจากประเด็นของไทยที่ถูกอภิปรายกันในรัฐสภาประเทศเยอรมันในปี 2564 เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายมากจากการบังคับใช้มาตรา 112 ได้รับความสนใจจากสื่อและกลุ่มเครือข่ายการเมืองในเยอรมนีหรือไม่?

เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันขายดีในสื่อที่นำเสนอแนวไลฟ์สไตล์ หรือที่เรียกว่าสื่อแนวแทบลอยด์ (Tabloid) แม้ว่าเรื่องราวจะมีความเข้มข้นน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2565 เมื่อใดก็ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ มักมีแนวโน้มที่เน้นที่ไปปัจเจกบุคคล

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาพรวมของไทยไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มเครือข่ายที่มีอำนาจทางการเมือง ประเด็นนี้ถูกเรื่องสำคัญอื่นกลบไปหมด เช่น การรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ส่วนสถานการณ์ที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือสงครามยึดครองยูเครนของรัสเซีย ความขัดแย้งเหล่านี้ยิ่งไปดึงความสนใจจนสถานการณ์ในประเทศไทยถูกบดบังไปจนหมด

ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองของชาวยุโรปต่อโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก การรัฐประหารในเมียนมาและสงครามที่รัสเซียถูกตีความว่าเป็นเบื้องหลังการกำเนิดขึ้นของระเบียบโลกใหม่ มันคือการปะทะกันระหว่างการเมืองสองขั้ว ขั้วหนึ่งคือฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยประเทศตะวันตก และ อีกขั้วหนึ่งคือฝ่าย อเสรีนิยม ซึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย จากกรอบคิดแบบนี้ทำให้มองได้ว่าประเทศไทยไทยยังเป็นฝ่ายเดียวกับฝั่งยุโรป แม้ว่าไทยจะยังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนก็ตาม ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางการทูตจึงเป็นการยากที่รัฐบาลเยอรมนีจะวิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงเพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกผลักไปอยู่ในอ้อมแขนของจีน

ตั้งแต่มีการเลือกตั้งในไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ประเทศไทยก็ถูกมองว่ากลับมาสู่ทิศทางที่ปกติมากขึ้น ประธานาธิบดีเยอรมันเพิ่งไปเยือนที่ประเทศไทย มีรายงานข่าวว่าท่านได้พูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่จริงแล้ว รัฐบาลไทยสามารถวางยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะบางเรื่องมีพัฒนาการที่ดี เช่น สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สถานการณ์ของผู้หญิงในเรือนจำ แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อลดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112

จากงานศึกษาประเด็นเรื่องบทบาทโซเชียลมีเดียต่อการเมืองไทย คุณมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทยส่งผลอย่างไรต่อระดับการแสดงออกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ?

ในปี 2563 มีหลายกระบวนการได้คลี่คลายออกมาพร้อมๆ กัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส (Royalist market place) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มล้อเลียนและซื้อขายของออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (เช่นกลุ่มธรรมศาสตร์และจุฬามาร์เก็ตเพลส) เขาพัฒนาการสื่อสารทางการเมืองแบบเฉพาะทาง ผสมผสานระหว่างการใช้มีม ติ๊กต่อก วิดีโอบนยูทูบ ผสมผสานกับการถกเถียงเชิงวิชาการอย่างจริงจัง เนื้อหาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักจะมีเพียงประเด็นสถาบัน กลุ่มนี้มีสมาชิกมากกว่า 2 ล้านคนทำให้กลายเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก ความน่าประทับใจของกลุ่มนี้คือสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของคนที่พูดภาษาไทย ดังนั้น ผลกระทบของกลุ่มนี้มีมากจนไม่สามารถประเมินต่ำได้

ในช่วงเวลาเดียวกัน แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance ก็เกิดขึ้นมา แฮชแท็กมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อองค์กรหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วมันคือการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาเองจากการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้มีมบนทวิตเตอร์ ในช่วงเวลานั้นชาวไทย, ไต้หวัน, และฮ่องกงเริ่มที่จะวิจารณ์การปราบปรามหลายรูปแบบของรัฐบาลบนโซเชียลมีเดีย เช่น การที่รัฐบาลจีนปิดกั้นการใช้โซเชียลมีเดีย หรือ รัฐบาลไทยปิดกั้นประชาชนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 แฮชแท็กนี้ดึงดูดผู้คนมามีส่วนร่วมกว่า 1,000 ล้านคลิกภายใน 2 วัน และภายหลังเรื่องพันธมิตรชานมก็ได้รางวัลจากทวิตเตอร์เป็นอีโมจิสำหรับเรื่องนี้เฉพาะ สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้เหมือนกับการเคลื่อนไหวด้วยแฮกแท็กอย่าง #MeToo หรือ #BlackLivesMatter

ในกรณีที่กล่าวไปข้างต้น โซเชียลมีเดียอยู่ในฐานะพื้นที่ทำให้บางอย่างเกิดขึ้น เรื่องนี้สามารถเทียบเคียงได้กับนิทานพื้นบ้านที่ชื่อว่า “ชุดใหม่ของพระราชาของ Hans Christian Andersen (The Emperor’s New Clothes)” เรื่องนี้จะมีพระราชาคนหนึ่งเดินขบวนแบบโป๊เปลือยเข้าไปในเมือง ทว่า ไม่มีใครกล้าพูดอะไรกับพระราชา จนกระทั่งมีเด็กคนหนึ่งตะโกนว่าพระองค์ทรงเปลือยอยู่ หลังจากนั้นผู้เข้าชมคนอื่นๆ ก็หัวเราะขึ้นมาทันที

การชุมนุมในปี 2563 ได้เริ่มวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยบนท้องถนน สิ่งนี้สามารถเห็นได้ชัดที่สุดในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่เวทีนั้น ได้มีอ่าน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้อง เช่น การเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเวทีนี้ยังได้มีการติดภาพของอาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งสำคัญในการปราศรัยด้วย และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลด้วย

ในประเทศเยอรมันมีการใช้กฎหมายที่คล้ายกับของไทย เมื่อนักแสดงตลก Jan Böhmermann ถูกประธานาธิบดี Erdoğan ของประเทศตุรกีฟ้องด้วยกฎหมายเก่าแก่ของเยอรมัน (กฎหมายหมิ่นประมุขแห่งรัฐอื่น) ช่วยอธิบายได้หรือไม่ว่าคดีนี้จบลงอย่างไร ?

Böhmermann เป็นที่รู้จักกว้างขวางจากหน้าจอทีวี จากการที่เข้าสร้างตัวตนในฐานะนักสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนที่มีความตลกขบขัน เขามีปากเสียงในด้านการเปิดโปงและวิจารณ์การคอร์รัปชันทุกระดับในระบบการเมืองเยอรมัน เขาไม่หลบเลี่ยงต่อการถูกโจมตีจากผู้มีอำนาจทุกประเภทรวมถึงจากองค์กรศาสนาด้วย

คดีของเขากับประธานาธิบดี Erdoğan เป็นบททดสอบอย่างชัดเจนต่อเสรีภาพของศิลปะและสื่อในประเทศเยอรมัน สองหลักการนี้ถูกให้ค่าสูงมากทั้งจากสังคมและรัฐบาล สิ่งนี้สำคัญ เพราะว่ารัฐบาลเยอรมนียืนกรานว่ากฎหมายเก่าแก่นี้ (กฎหมายหมิ่นประมุขแห่งรัฐอื่น) จะไม่ถูกบังคับใช้เหมือนในรัสเซียและตุรกี ซึ่งมักทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดปากฝ่ายค้านของตน

สิ่งที่ Böhmermann ทำคือการอ่านกลอนโจมตีประธานาธิบดี Erdoğan บนทีวีสาธารณะ ข้อความที่โจมตีค่อนข้างรุนแรง แต่วิธีการแบบนี้ก็มองได้ว่าได้รับการคุ้มครองภายใต้เสรีภาพทางศิลปะ แต่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ Erdoğan และผู้สนับสนุนของเขาในเยอรมนีจะโกรธจนต้องหาทางฟ้อง Böhmermann พวกเขาร่างคำฟ้องด้วยการใช้กฎหมายที่ถูกลืมและแทบไม่ค่อยถูกบังคับใช้ในเยอรมนี ซึ่งก็คือกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ ซึ่งห้ามหมิ่นประมาทประมุขของรัฐอื่นๆ ด้วย

รัฐบาลเยอรมันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้า Böhmermann ถูกตัดสินว่าผิด สิ่งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของผู้สนับสนุนของ Erdoğan ซึ่งใช้อำนาจแบบที่อำนาจนิยมแบบตุรกีเข้ามาในดินแดนเยอรมัน ท้ายที่สุด รัฐบาลจัดการปัญหานี้ด้วยการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ และเตรียมร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้กฎหมายเก่าที่ไม่ค่อยถูกบังคับใช้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำร้ายคนอื่น

ในทางอุดมคติ มีข้อแนะนำอย่างไรต่อการแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ?

ควรยกเลิกให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เราไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษหรือข้อบัญญัติใดที่มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันหรือบุคคลใดที่ถูกยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์ บทคุ้มครองดังกล่าวเป็นสิ่งหลงเหลือมาจากกฎหมายยุคศักดินา ในสังคมยุคหลังศักดินา เราควรมีกฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายหมิ่นประมาทที่เขียนเนื้อหาเพื่อบังคับใช้ได้กับทุกคน

ที่จริงแล้ว เราจะเห็นว่าในโลกของเราทุกวันนี้ การเคลื่อนไหวแบบประชานิยม-อำนาจนิยมและขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวาได้ฉวยใช้เรื่องเสรีภาพในการพูดมาเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อปลุกความเกลียดชัง ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบโต้จึงมีคนเสนอให้ออกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับวาทะที่สร้างความเกลียดชัง สร้างเกราะคุ้มกันให้กับสถาบันการเมืองและสถาบันประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เราควรออกฎหมายที่มุ่งเน้นบังคับใช้กับทุกคนเพื่อปกป้องทุกคน แทนที่จะเสนอกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพื่อคุ้มกันบางสถาบันหรือบางบุคคล เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้เราจำเป็นต้องทำผ่านความเข้าใจต่อกลไกสร้างความเกลียดชังและแก้เรื่องนี้ที่สาเหตุของมันจริงๆ การทำให้โซเชียลมีเดียเป็นการค้าน้อยลงและทำให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ

เรียบเรียงจาก : German Scholar Offers Critiques on Lèse-majesté law in Thailand 

=====

112 WATCH เป็นการรวมตัวของผู้คนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย โครงการนี้ริเริ่มโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อราวปลายปี 2564 โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในการทำงานสื่อสารเพื่อหยุดยั้งการใช้มาตรา 112 ผ่านช่องทางหลักคือ https://112watch.org/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net