Skip to main content
sharethis

อัยการสูงสุดมีความเห็นแย้งพนักงานสอบสวนให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในคดีตากใบ ข้อหาร่วมกันเจตนาฆ่า เนื่องจากเห็นว่าการขนย้ายคนโดยที่รถบรรทุกไม่เพียงพอย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้เสียชีวิตได้ 

18 ก.ย.2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ประยุทธ์ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 8 คนในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจากกรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกและทำให้เกิดผู้เสียชีวิตรวม 78 คน

ประยุทธ์กล่าวว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องหลังได้พิจารณาสำนวนคดี 2 สำนวนคือสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จากพล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร.

ทั้งสองสำนวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจาก 19 ต.ค.2547 ตำรวจสภ.ตากใบ จับกามา อาลี กับพวก รวม 6 คนซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) นำอาวุธลูกซองไปมอบให้กับคนร้ายและแจ้งเท็จว่าอาวุธดังกล่าวถูกปล้นไป จึงดำเนินคดีแจ้งเท็จและยักยอกทรัพย์

จากการจับกุมดังกล่าววันที่ 25 ต.ค. 2547 มีประชาชนราว 300-400 คน มาชุมนุม สภ.ตากใบเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดจนเวลา 13.00 น. พลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) สั่งให้เลิกการชุมนุมโดยพื้นที่อำเภอตากใบเป็นเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและบิดามารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 มาร่วมเจรจาแต่ไม่เป็นผล และทางผู้ชุมนุมสนอเงื่อนไขให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที แล้วก็มีการโห่ร้องยั่วยุเจ้าหน้าที่ทำให้เหตุการณ์วุ่นวายและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พลเอก เฉลิมชัย วิรุฬเพชร (ผู้ต้องหาในสำนวนคดีวิสามัญฯ ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งในครั้งนี้) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และรถบรรทุก 25 คัน เตรียมสลายชุมนุม

จนเวลา 16.00 น. ตำรวจ ทหาร และฝ่ายต่างๆ เข้าสสลายการชุมนุมแล้วนำผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกเฉลี่ยคันละ 40-50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลา 19.00 น. ไปค่ายองคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี รถบรรทุกนำผู้ชุมนุมไปถึงค่ายในเวลา 21.00 น. เมื่อถึงแล้วนำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวลงจากรถพบว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต 78 คน  โดยรถบรรทุกที่มีผู้เสียชีวิตคือรถที่มีผู้ต้องหาที่ 2-3-4-5-6 และ 8 เป็นพลขับ และมีผู้ต้องที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ  จากเหตุดังกล่าวทาง สภ.หนองจิกเป็นผู้กล่าวหาเจ้าหน้าที่เป็น 2 คดี คือ สำนวนแรกวิสามัญ สำนวนสอง เป็นสำนวนชันสูตร มีรายละเอีดยดังนี้

ประยุทธ์กล่าวว่า ในสำนวนวิสามัญฯ ที่ พ.ต.อ. พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 288 ผู้ต้องหาจำนวน 8 คน ในสำนวนนี้คือ

  1. พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร
  2. ร้อยตรี ณัฐวุฒิ เลื่อมใส
  3. วิษณุ เลิศสงคราม
  4. เรือโท วิสนุกรณ์ ชัยสาร
  5. ปิติ ญาณแก้ว
  6. พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ
  7. พันโท ประเสริฐ มัทมิฬ
  8. ร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนเมีความเห็นเสนอสั่งไม่ฟ้องในสำนวนนี้ โดยอ้างว่าทุกคนปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ส่วนสำนวนที่สองเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ถูกควบคุมทั้ง 78 คน พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการศาลจังหวัดปัตตานี พนักงานอัยการรับไว้เมื่อพ.ศ. 2547 และยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อให้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในปีเดียวกัน แต่ระหว่างการไต่สวนได้มีการขอโอนสำนวนไปไต่สวนต่อที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยมีญาติผู้ตายแต่งตั้งทนายความเข้าไปซักค้านในการไต่สวนด้วย

ต่อมาในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานีเมื่อวันที่ 25 ต.ค. เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือทั้ง 78 คน ตายจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้กับพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา อัยการจังหวัดสงขลาได้รวบรวมเอกสารทั้งหมดประกอบกับสำนวนชันสูตรพลิกศพและสำนวนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ส่งคืนให้พนักงานสอบสวนเพื่อให้รวบรวมเอกสารทั้งหมดส่งให้กับอัยการสูงสุดมีความเห็นและคำสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 143 วรรคท้าย

หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนเมื่อ 25 เม.ย.2567  จาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์  อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็นและให้ส่งสำนวนที่สอบสวนเพิ่มเติมแล้วมาภายใน 31 ก.ค.2567 แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมเมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้น 12 ก.ย.2567 อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ แม้ผู้ต้องหาทั้งหมดจะไม่ได้ปฏิบัติไปโดยประสงค์ให้ผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตาย แต่การจัดหารถและจับผู้ชุมุนมบรรทุกในรถเป็นจำนวนมากเกินกว่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1-7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน และอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวบนรถถึงแก่ความตายเพราะขาดอากาศหายใจได้

ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 แย้งกับความเห็นของพนักงานสอบสวน

โฆษกอัยการสูงสุดกล่าวต่อว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1-8 มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 แล้ว อัยการสูงสุดจึงได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เพื่อดำเนนิการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 คนและให้จัดส่งผู้ต้องหาทั้ง 8 กับพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป

ณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบคำถามนักข่าวเรื่องกลุ่มผู้ต้องหาในคดีที่อัยการมีคำวามเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้มีจำเลยที่ 1 ที่ตรงกันกับคดีที่ประชาชนฟ้องเอง คือพล.ต.เฉลิมชัย ส่วนที่เหลือก็จะต่างกันแต่ต้องไปตรวจสอบกับคำฟ้องของที่ประชาชนฟ้องเองเพิ่มเติมว่ามีการบรรยายฟ้องถึงตรงไหนและอย่างไร

ส่วนประเด็นที่ผู้ต้องหาคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดไม่ตรงกันกับคดีของประชาชนนั้น ประยุทธ์ อธิบายว่าสำนวนที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนี้เป็นสำนวนที่พนักงานสอบสวนตั้งคดีมาโดยมีผู้ต้องหาเพียง 8 คนนี้เท่านั้น ไม่ได้มีการสอบสวนไปถึงบุคคลอื่นและไม่ได้มีการตั้งข้อหานอกจาก 8 คนนี้ และอัยการสูงสุดเมื่อได้เห็นสำนวนเมื่อเม.ย.ก็ไม่ปรากฏไปถึงส่วนอื่นๆ ว่ามีใครอีกบ้าง แต่ก็ปรากฏว่าศาลจังหวัดนราธิวาสได้รับฟ้องปรากฏว่าบุคคลในคำฟ้องของประชาชนไม่ปรากฏในสำนวนของอัยการสูงสุด

ทั้งนี้เมื่อมีนักข่าวถามว่าแล้วเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสำนวนคดีไปอยู่ที่ไหนมา โฆษกอัยการสูงสุดตอบในประเด็นนี้ว่าให้ถามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จำเลยที่ต่างกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 เม.ย.2567 วันเดียวกับที่ สตช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาทางประชาชนผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รวมตัวกันยื่นฟ้องจำเลย 9 คนเป็นคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาเนื่องจากศาลเห็นว่าคดีมีมูลให้พอฟ้องจำเลยย 7 คน  ในข้อหาฆ่าผู้อื่น, พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ตามมาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา

ก่อนหน้านี้ศาลนราธิวาสศาลนราธิวาสยังออกหนังสือด่วนถึงประธานสภาให้อนุญาตให้จับจำเลยที่ 1คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และออกหมายจับจำเลยอีก 6 คน ได้แก่

จำเลยที่ 3 พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร. 5 ปัจจุบันอายุ 73 ปี ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันในสำนวนที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง

จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบันอายุ 73 ปี

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบัน อายุ 77 ปี

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน อายุ 70 ปี

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net