Skip to main content
sharethis

จดหมายจาก ‘โอริสสา ไอราวัณวัฒน์’ นักเรียนช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพเป็นบทหนึ่งในหนังสือ ‘6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์’ จัดพิมพ์ครั้งที่ 5 โดย กลุ่มผดุงธรรม ในปี 2532 หนังสือเล่มนี้รวบรวมจดหมายและบทสัมภาษณ์ของอดีตจำเลย 18 คนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถูกคุมเกือบ 2 ปี

ต่อมา 24 สิงหาคม 2520 อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน และมีผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี อย่างไรก็ดี ในวันที่ 16 กันยายน 2521 ทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรม

“ผมไม่รู้ว่าคุณมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร”

สถานพยาบาล
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
7 สิงหาคม 2520
เพื่อนรัก

ผมได้รับจดหมายจากคุณด้วยความรู้สึกยินดียิ่ง อาจจะเป็นได้ที่คุณได้รับข่าวสารเกี่ยวกับผมอย่างค่อนข้างสับสน ตกลงผมจะเขียนลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับผมตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงปัจจุบันอย่างคร่าวๆ ให้คุณได้ทราบตามที่คุณต้องการ

6 ตุลา 19 ภายในบริเวณ มธ. กระสุนและระเบิดจากตำรวจถูกซัดกระหน่ำมาจากทุกทิศทุกทาง นร.นศ.และประชาชนที่แยกย้ายกันหลบอยู่ตามตึกต่างๆ พยายามที่จะหาทางเล็ดลอดออกไปจากบริเวณมหาวิทยาลัย แต่มันก็ไม่ง่ายนัก เพราะการเคลื่อนร่างจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งนั้น ถ้าพลาดก็หมายถึงความตาย ผมหลบอยู่ที่ตึกวารสารศาสตร์ เสียงห่ากระสุนเจาะกำแพงตึกดังถี่กระชั้น ในขณะที่ผมเคลื่อนร่างไปยังประชาชนคนหนึ่งที่ฟุบนิ่งอยู่กับที่นั้น ผมรู้สึกเจ็บแปลบที่บริเวณหน้าผากและดั้งจมูก ผมเข้าใจว่า ผมถูกสะเก็ดระเบิดปูนที่กระเด็นออกมาจากผนังตึก เพราะแรงอัดของหัวกระสุน เลือดที่หน้าผากเริ่มไหลย้อย เข้าดวงตาข้างขวา

ผมตัดสินใจที่จะออกไปจากบริเวณมหาวิทยาลัย ผมวิ่งหลบกระสุนจากตึกวารสารศาสตร์ไปยังตึกโดม จากตึกโดมไปยังท่าน้ำ ที่ท่าน้ำผมได้พบกับ นศ.อีก 3 คน เราตกลงใจลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านหลังตึกศิลปศาสตร์ แล้วเดินเรียงแถวลุยน้ำเลียบฝั่งไปยังท่าพระจันทร์ ผมเดินไปเป็นลำดับที่สาม ตำรวจบนท่าพระจันทร์ตะโกนบอกให้เรายกมือประสานเหนือศีรษะ สองคนที่เดินนำหน้าผมปีนชึ้นไปบนท่า

ในขณะที่ผมเงยหน้าและกำลังจะปีนขึ้นไปบนท่า ตำรวจที่ยืนอยู่บนท่าก็สาดกระสุนลงมาหนึ่งชุด ผมผงะหงายและจมลงไปในน้ำครู่หนึ่ง เมื่อผมโผล่ขึ้นมาจากน้ำ น้ำบริเวณนั้นมีสีแดงของเลือด ผมรู้สึกปวดและชาที่บริเวณปาก ผมนึกถึง นศ.อีกคนหนึ่งที่เดินตามหลังผมมา ไม่มีเวลาที่ผมจะคิดอะไรมากกว่านั้น เมื่อผมเห็น นศ.คนนี้ตะเกียกตะกาย และพยายามที่จะช่วยตัวเองไม่ให้จมลงในน้ำ ผมเข้าใจว่าเขาคงถูกกระสุนด้วยเช่นกัน ผมรีบลุยน้ำเข้าไปพยุงเขา และส่งตัวเขาขึ้นไปบนท่า เขาคงจะพอมีกำลังเหลืออยู่บ้าง เขาจึงพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่

หลังจากที่ผมส่ง นศ.คนนั้นขึ้นบนท่าแล้ว ผมจึงปีนขึ้นไปบ้าง ตำราวจที่ยืนเรียงรายกันอยู่บนท่า กระทืบผมให้หมอบอยู่ข้างๆ นศ.คนนั้น จนกระทั่งเรือตำรวจน้ำที่คอยตระเวนจับ นศ.ประชาชน มาเทียบท่า ผมและ นศ.คนนั้นจึงถูกตำรวจกระทืบอีกครั้งและไล่ไปขึ้นเรือ นศ.คนนั้นวิ่งไปได้เพียงสามก้าวก็ล้มลง ผมจึงพยุงและลากขึ้นเรือ จับเขานอนหงายบนด้านหัวเรือ ในเวลานั้นผมจึงได้เห็นว่า ที่กลางอกของเขามีรูกระสุน แต่มีเลือกออกมาไม่มากนัก

เรือตำรวจน้ำส่งคนบาดเจ็บที่ท่าศิริราช ผมและคนอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวไปยังตึกอุบัติเหตุ ภายในห้องผ่าตัดแพทย์และพยาบาลทำหน้าที่อย่างเร่งรีบ ผมถูกให้น้ำเกลือ และให้เลือดที่รูจมูกต่อท่อให้อาหาร และหลังจากนั้นผมถูกวางยาสลบ ก่อนที่จะผมหมดความรู้สึก ผมได้ยินเสียงแพทย์คนที่มาตรวจอาการในตอนแรกพูดว่า

“ผมไม่อนุญาตให้ทหารหรือตำรวจเข้ามาในห้องนี้ ที่นี่เป็นโรงพยาบาล คนเหล่านี้เป็นคนไข้ของผม”

หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรอีก

ผมรู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่งในตอนเย็น พยาบาลในชุดสีขาว 2 คน ยืนอยู่ที่ข้างเตียง ผมพยายามที่จะยิ้มให้แก่เขา แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำยากเหลือเกิน พยาบาลคนหนึ่งบอกให้ผมนอนนิ่งและเล่าให้ผมฟังว่า

ผมถูกกระสุน 2 นัด นัดหนึ่งเฉี่ยวริมผีปากล่าง อีกนัดหนึ่งทะลวงเข้าโคนรากฟันด้านล่าง หัวกระสุนฝังในกราม กรามแตกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ซึ่งแพทย์ได้ทำการผ่าตัดเอาตัวกระสุนออกแล้ว เป็นหัวกระสุนปืนคาร์บิน ส่วนกรามที่แตกแพทย์ได้ใช้ลวดมัดไว้

ในตอนค่ำ พยาบาลคนหนึ่งได้มาบอกว่า คณะปฏิรูปประเทศยึดอำนาจการปกครองแล้ว

11 ตุลา 19 ผมได้รับการประกันตัว

13 ตุลา 19 ผมถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง แพทย์ได้ทำการถอนฟันบริเวณที่หัวกระสุนเข้าหนึ่งซี่และได้ทำการมัดฟันล่างและฟันบนเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กรามขยับเขยื้อน

18 ตุลา 19 ผมออกจากโรงพยาบาล แต่ก็ต้องมารับการตรวจรักษาบาดแผลเป็นระยะๆ ตามที่แพทย์นัด อาหารของผมระยะนี้คือ นม

1 พฤศจิกา 19 ผมถูกถอนประกัน และถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจชนะสงคราม

2 พฤศจิกา 19 ผมถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำชั่วคราว บางเขน ภายในบริเวณ รร.ตำรวจนครบาล

24 พฤศจิกา 19 ผมถูกควบคุมตัวไปรับการตรวจรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ทำการตัดยางที่มัดโครงยึดฟันล่างและบน แต่โครงยึดฟันล่างและบนยังคงไว้ ผมต้องหัดอ้าปากทีละน้อย ทีละน้อย อาหารของผมนอกจากนมก็มีโจ๊ก เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาหารเหล่านี้ทางบ้านต้องจัดหามาให้

27 มกรา 20  ผมถูกควบคุมตัวไปรับการตรวจรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ลงความเห็นว่าผมจะต้องได้รับการผ่าตัดใหม่ เพราะกระดูกรามไม่ประสานกัน เนื่องจากยังคงมีหนองไหลออกมาจากบริเวณปากแผลรูกระสุน ซึ่งในการผ่าตัดครั้งนี้ แพทย์ลงความเห็นว่า ผมจะต้องพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 15 วัน

หลังจากนั้นผมยื่นประกันตัวเพื่อขอไปรับการผ่าตัดรักษา แต่ก็ไม่ได้รับอนุมัติ ผมจึงยื่นหนังสือต่อทางเรือนจำ เพื่อขอไปรับการผ่าตัดรักษา เรื่องกลับเงียบหายไปเลย

16 กุมภา 20 ผมถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเรือนจำคลองเปรม ซึ่งที่นั่นแพทย์ไม่สามารถทำการผ่าตัดให้ผมได้ เนื่องจากไม่มีแพทย์ผู้ชำนาญ ดังนั้นผมจึงเสนอความเห็นต่อทางเรือนจำ ขอให้ส่งตัวผมไปรับการผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

ในระหว่างที่ผมรอการส่งตัวไปรับการผ่าตัดรักษา บาดแผลได้เกิดการอักเสบมาก แพทย์ได้สั่งจ่ายยาแก้อักเสบให้ผมทุกวันแต่อาการอักเสบของบาดแผลก็ไม่ได้ลดลง ยังคงมีหนองไหลออกมาจากบาดแผลอยู่ตลอดเวลา มีกระดูกชิ้นเล็กๆ หลุดออกมาจากบาดแผล 2 ชิ้น โครงยึดฟันสร้างความระคายเคืองภายในปากใแก่ผมมาก ผมปรึกษาแพทย์ที่เรือนจำ ซึ่งแพทย์มีความเห็นว่า หากปล่อยโครงยึดฟันไว้เช่นนี้ นานๆ อาจจะทำให้เนื้อบริเวณที่ถูกโครงยึดฟันครูดเป็นมะเร็งได้ ผมขอให้แพทย์ตัดโครงยึดฟันออกให้ แต่แพทย์ก็บอกว่า ให้ผมรอไปให้แพทย์ที่ศิริราชตัดออกจะดีกว่า

ในที่สุด ผมตัดสินใจตัดโครงยึดฟันออกเอง โดยใช้กรรไกรตัดเล็บ ที่ยืมมาจากเพื่อนผู้ต้องขังเป็นเครื่องมือในการตัด

ในขณะที่ดึงลวดแต่ละเส้นที่มัดระหว่างซี่ฟันกับโครงยึดฟัน มีเลือดไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา

22 เมษา 20 ผมถูกส่งตัวกลับเรือนจำชั่วคราวบางเขน

10 พฤษภา 20 ผมถูกส่งตัวไปสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่นั่นแพทย์ได้เสนอต่อทางเรือนจำให้ส่งตัวผมไปรับการผ่าตัดรักษา ที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ​

ในระหว่างที่ผมรอการส่งตัวไปรับการผ่าตัดรักษา บาดแผลก็ได้เกิดการอักเสบมากขึ้น มีกระดูกชิ้นเล็กๆ หลุดออกมาจากบาดแผลอีกหนึ่งชิ้น

10 มิถุนา 20 ผมถูกควบคุมตัวไปที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทันตแพทย์ดูบาดแผลของผม แล้วก็พูดว่า “ผมไม่รู้ว่าคุณมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร” และทันตแพทย์ได้อธิบายให้ผมฟังว่า หากหนองไหลเวียนเข้าสู่เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงมันสมองก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ทันตแพทย์ได้ทำการผ่าตัด มัดฟันล่างและฟันบนเข้าด้วยกัน

30 มิถุนา 20 ผมถูกควบคุมตัวไปที่ คณะทันตแพทย์จุฬาฯ ทันตแพทย์ได้ตัดลวดที่มัดโครงยึดฟันล่างและบนออก แต่โครงยึดฟันล่างและบนยังคงไว้ กระดูกกรามประสานติดกันแล้ว แต่หนองจากรูกระสุนยังมีเหลืออยู่

7 กรกฎา 20 ผมถูกควบคุมตัวไปที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ทันตแพทย์ได้ตัดโครงยึดฟันล่างและบนออก แต่เอาออกได้เพียงเส้นเดียว เพราะลวดอีกเส้นติดแน่นมากดึงออกไม่ได้

ระยะนี้ผมอยู่ในระหว่างการรับการรักษารากฟัน คือ มีฟันแถวหน้าด้านล่างอีก 3 ซี่ที่รากฟันบางส่วนถูกหัวกระสุนตัดขาด ซึ่งทันตแพทย์พยายามที่จะรักษาฟันทั้ง 3 ซี่นี้ไว้ แต่ถ้าการรักษาไม่ได้ผล ก็คงต้องถอนฟันทั้ง 3 ซี่นี้ทิ้งไป

ในการไปรับการตรวจรักษา เจ้าหน้าที่เรือนจำจะควบคุมผมไปและกลับภายในหนึ่งวัน ตามที่แพทย์ได้นัดไว้ แต่ก็มีอยู่เป็นประจำที่ผมไม่ได้รับการตรวจรักษาตามที่แพทย์ได้นัดเอาไว้ โดยทางเรือนจำให้เหตุผลว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่อนุญาต

ต่อมามีอาการบางอย่างที่ผิดไปจากเดิม และทันตแพทย์ก็ไม่ได้ให้คำรับรองว่าจะรักษาให้หายได้ คือ อาการชา บริเวณริมฝีปากด้านล่าง ตลอดทั้งบริเวณคางด้านซ้าย ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากประสาทรับความรู้สึกบริเวณนั้นขาด ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากประสาทภายในหูได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง

ในด้านสุขภาพทางร่างกายและจิตใจของผมนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา ผมยังคงมีร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่เข้มแข็ง

กับการที่ผมต้องถูกย้ายไปอยู่เรือนจำต่างๆ ทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้คนมากขึ้น และทำให้ผมได้มีโอกาสรู้ถึงปัญหาต่างๆ ของผู้คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้ต้องขังหรือผู้คุม

ผมได้รู้ว่า เรือนจำตามความมุ่งหมายแห่งการสร้างนั้นไม่มี

ผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ผมจะได้ย้ายกลับไปอยู่เรือนจำชั่วคราวบางเขน ผมเคยยื่นหนังสือขอย้ายกลับ เสนอต่อท่านผู้บัญชาการเรือนจำหลายครั้งแล้ว แต่ท่านไม่อนุมัติ ท่านบอกกับผมอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าหากท่านให้ผมย้ายกลับไปเรือนจำชั่วคราวบางเขน ท่านก็จะถูกโจมตีอีกว่าไม่สนใจต่ออาการเจ็บป่วยของผม แต่ถ้าผมยังอยู่ที่นี่ ณ สถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะไม่มีใครโจมตีท่านได้

ผมได้ชี้แจงให้ท่านฟังว่า อันที่จริง กับการที่ผมอยู่ ณ สถานพยาบาลแห่งนี้ ก็เป็นการอยู่เพื่อรอส่งตัวไปรับการตรวจรักษาเป็นระยะๆ ที่คณะทันตแพทย์จุฬาฯ เท่านั้น ซึ่งหากผมย้ายกลับไปอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวบางเขน ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการอยู่ที่นี่ เพราะที่เรือนจำชั่วคราวบางเขนก็มีเจ้าหน้าที่ ที่สามารถควบคุมตัวผมไปรับการตรวจรักษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้เช่นกัน และกับการที่ท่านกล่าวว่า ถ้าหากท่านให้ผมย้ายกลับแล้ว ท่านจะถูกโจมตีอีกนั้น ผมคิดว่าไม่น่าที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อครั้งที่ท่านถูกโจมตีนั้นเป็นเพราะผมไม่ได้ถูกส่งตัวไปรับการตรวจรักษา ผมพยายามชี้แจงให้ท่านฟังถึงความจำเป็นที่ผมต้องกลับไปปรึกษาคดีกับเพื่อนๆ เพราะพวกเราต้องว่าความให้กับตัวเอง แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจ

มีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย ที่ผมได้รับรู้ และพยายามจะเขียนให้คุณอ่าน แต่ก็คิดว่า จดหมายฉบับนี้ยาวพอสมควรแล้ว ดังนั้นกับจดหมายฉบับนี้ ผมจึงขอยุติเพียงเท่านี้ ผมหวังว่าผมคงจะได้รับจดหมายจากคุณอีก

ขอฝากความรำลึกถึงไปยังเพื่อนๆ ทุกคน
โอริสสา ไอราวัณวัฒน์

* โอริสสา ไอราวัณวัฒน์ ก่อนถูกจับ กำลังศึกษาอยู่แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ, ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภานักศึกษาวิทยาลัยเทคนิดกรุงเทพ และเลขาธิการแนวร่วมอาชีพวะเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย (น.อ.ป.ท.) ปี 2518

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net