Skip to main content
sharethis

งานครบรอบ 48 ปี​ 6 ตุลา​ 2519 'ธนาธร' ยกกรณีพลทหารถูกซ้อมตาย สะท้อนความรุนแรงยังคงอยู่ในสังคมไทย ด้าน 'จาตุรนต์' ระบุบทเรียนคนเดือนตุลายังมีประโยชน์ แม้มีทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้

6 ต.ค. 2567 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมรับเชิญเป็นหนึ่งในผู้กล่าวรำลึกและแสดงความอาลัยต่อวีรชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

ธนาธรเริ่มต้นกล่าวรำลึก โดยท้าวความถึง 3 เหตุการณ์สำคัญในสังคมไทย เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ “ถังแดง” โดยระบุว่า เมื่อหลายปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง เป็นครั้งแรกที่ได้ฟังเรื่องราวความโหดร้ายจากผู้มีประสบการณ์ตรงเป็นครั้งแรก จากที่เคยแต่ศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์ มันคือเหตุการณ์ที่มีการจับกุมคนที่ต้องสงสัยว่า เป็นผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มาสอบสวน ทารุณ และทำร้ายร่างกาย ก่อนจับยัดลงถังน้ำมันแล้วจุดไฟเผาทำลายหลักฐาน หลายคนตายจากการถูกเผาทั้งเป็นหรือซ้อมจนเสียชีวิต ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุกาณ์ดังกล่าวมีถึง 3,000 คน ปัจจุบันครอบครัวผู้สูญเสียยังไม่ได้รับการเยียวยา มีเพียงอนุสาวรีย์ที่ประชาชนก่อสร้างกันเองเพื่อเตือนความจำให้ผู้พบเห็น ประวัติศาสตร์ถังแดงไม่เคยถูกบรรจุในเรื่องเล่าหลักของชาติ ไม่มีการดำเนินคดีทหารที่ก่อเหตุ และยังไม่มีประชาชนผู้สูญเสียได้รับการเยียวยาจากรัฐแม้แต่คนเดียว

เหตุการณ์ที่สอง คือ กรณีข่าวของ ศิริวัฒน์ ใจดี อดีตพลทหารสังกัดกรมสารวัตรทหารเรือ ที่เสียชีวิตในค่ายทหารตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 แต่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน ภายหลังจากเพื่อนในค่ายมาบอกกับญาติภายหลังว่า ศิริวัฒน์เสียชีวิตจากการถูกฝึกหนัก พอมีท่าทีไม่ไหวก็ถูกครูฝึกเตะขาและซี่โครงแล้วตบหน้าซ้ำ แล้วยังให้เพื่อนพลทหารอุ้มไปตากแดดหน้าเสาธงโดยไม่มีการปฐมพยาบาล จนในช่วงเย็นของวันนั้นเพื่อนพบว่า ศิริวัฒน์มีอาการชักจึงรีบพาตัวส่งโรงพยาบาล แต่ศิริวัฒน์เสียชีวิตระหว่างทาง

ธนาธร กล่าวต่อไปถึงเหตุการณ์ที่สาม คือกรณีตากใบในปี 2547 ที่เริ่มต้นจากการชุมนุมโดยสงบของประชาชนนับพันคนที่ประท้วงกรณี ชรบ. 8 คน ถูกจับกุมข้อหาส่งปืนให้ผู้ก่อความไม่สงบ แต่กองทัพในวันนั้นตัดสินใจสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 ใน 7 รายถูกยิงที่ศีรษะ ผู้ชุมนุมที่เหลือนับพันคนถูกจับกุมขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนทับกันไปเป็นชั้นบนรถเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง เมื่อถึงค่ายมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 78 ราย ต่อมาศาลชี้ว่า ความตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจและเกิดขึ้นระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีภาคประชาชนเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการเอาคนผิดมาลงโทษแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใด จนใกล้จะหมดอายุความ ญาติจึงรวมตัวกันฟ้องคดีใหม่อีกครั้ง มีการออกหมายจับผู้ต้องหา แต่จนถึงวันนี้ เหลือเวลาเพียง 19 วันจะหมดอายุความก็ยังจับจำเลยมาขึ้นศาลไม่ได้แม้แต่คนเดียว หนึ่งในนั้นเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาค 4 ที่ส่งหนังสือลาถึงประธานสภาฯ อ้างว่า ไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ถ้าภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ยังตามจำเลยขึ้นศาลไม่ได้ คดีก็จะหมดอายุความ

ธนาธร กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ที่สาม มีความเหมือนกันตรงที่มันเป็นการบ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย ที่คนทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีเลยสักครั้ง นี่จึงเป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกครั้งใหญ่ของสังคมไทย วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดเวลา หลายทศวรรษ แต่สังคมไทยกลับทำอะไรเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการปราบปรามลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เข่นฆ่าเอาชีวิตประชาชนไม่ได้เลยสักครั้ง

“วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ระบบนี้ดำรงอยู่ได้ ระบบนี้ คือ ระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีลำดับชั้นแบบจารีต ซึ่งการจะทำให้ระบบระเบียบแบบนี้ดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล” ธนาธร กล่าว

ธนาธร ยังกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตนได้พยายามมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ ความเจริญก้าวหน้า และความเสมอภาคเท่าเทียม ที่ผ่านมาตนได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาจนวันนี้ตนถูกตัดสิทธิไปแล้ว และยังเป็นจำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีก 2 คดี จึงไม่ใช่เวลาของการท้อถอย สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเพดานความคิดของสังคมไทยก้าวหน้าไปมาก การเลือกตั้ง 2566 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องที่พูดกันได้อย่างแพร่หายในสื่อหลักและการดีเบตครั้งสำคัญของการเลือกตั้ง ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายและกลายเป็นเรื่องสามัญทุกวัน แสดงให้เห็นว่าสังคมเคลื่อนไปไกลมากและมีความก้าวหน้า ดังนั้น นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ 60 ปีที่ผ่านมา

“หลายคนผ่าน 6 ตุลาฯ 19 หลายคนผ่านพฤษภาฯ 35 หลายคนผ่านเมษา-พฤษภาฯ 53 หลายคนผ่านการชุมนุม 63-64 ถ้าที่ผ่านมาเราคิดว่า ทำได้ดีที่สุดแล้ว ผมเชิญชวนให้ทุกคนคิดว่า ดีที่สุดของเรายังไม่พอ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจะมาถึง ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในวันนี้ไม่สามารถถูกลบเลือนออกไปได้ง่าย ๆ ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนในวาระครบรอบ 6 ตุลาฯ มีความเข้มแข็ง และมีกำลังใจเดินหน้าต่อไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพต่อไป” ธนาธร กล่าว

'จาตุรนต์' รำลึก 6 ตุลา​ สู้ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

ด้านนายจาตุรนต์​ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย​ ในฐานะคนเดือนตุลา​ กล่าวรำลึก ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา​​ ในงานครบรอบ 48 ปี​ 6 ตุลา​ 2519 ประจำปี 2567 ว่า​ ได้รับมอบหมายให้พูดหัวข้อ​ “คนเดือนตุลาตายหรือยัง” ซึ่งถือเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเกียรติที่ได้มาพูด​ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงสูญเสียต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่กระทบนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมต่อสู้ทั่วประเทศ​ และเหตุการณ์ดังกล่าว มีความต่อเนื่องตั้งใจที่นำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย นำสังคมไทยสู่การปกครองระบอบเผด็จการอีกครั้ง​ ขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคมก็ถือว่ามีความหมาย ที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการเรียกร้องประชาธิปไตย ก็สามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ทำให้เห็นบรรยากาศเสรีภาพประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมีความเท่าเทียมกัน ในการเรียกร้อง และต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม

นายจาตุรนต์กล่าวว่า​ เมื่อผ่านเหตุการณ์มา คนเดือนตุลา​ นักศึกษาสิ้นสุดไปตั้งแต่ออกจากป่า มีความแตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นซึ่งถือเป็นธรรมดา​ โดยเฉพาะเรื่องความคิดที่แตกต่างกัน​ เพราะคนเดือนตุลาต้านเผด็จการ แต่มีบางส่วนกลับสนับสนุนเผด็จการ

“เราควรให้ความสนใจอุดมการณ์เดือนตุลา ที่มีความหมายมีคุณค่าเพราะสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ผ่านการยึดอำนาจมา 2 ครั้งผู้มีอำนาจยังอยู่ อุดมการณ์นี้ยังมีความหมายเป็นประโยชน์ แต่ถามว่าพอหรือไม่กับสังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบัน จาก 14 ตุลาคมขอให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนไม่เป็นประชาธิปไตย มีภูมิต้านทานตัวเองมากที่สุด อุดมการณ์ประชาธิปไตยอุดมการณ์ต้านเผด็จการยังคงมีประโยชน์ แต่ถ้าจะใช้มัน ต้องเข้าใจว่า เคยพ่ายแพ้แต่อุดมการณ์มีความหมาย เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับพัฒนาทางสังคมและบางทีหลายประเทศกว่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ใช้เวลายาวนาน” นายจาตุรนต์​กล่าว

นายจาตุรนต์​ กล่าวอีกว่า​ การมารำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ กับอุดมการณ์เดือนตุลา และส่วนตัวเห็นว่าบทเรียนประสบการณ์ของคนเดือนตุลา น่าจะเป็นประโยชน์ ที่จะนำทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ทั้งชนะพ่ายแพ้ มาเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: ข่าวจากทีมสื่อคณะก้าวหน้า | สำนักข่าวไทย [1] [2]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net