Skip to main content
sharethis

8 พ.ค. 2557  มีการเปิดตัว “เครือข่ายเพื่อจินตนาการความขัดแย้งใหม่” ที่ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ชั้น 2 อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “จับชีพจรความรุนแรง เราจะก้าวผ่านอย่างสันติได้อย่างไร” เพื่อสำรวจสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย ต้นทุนที่จะนำพาออกจากความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความรุนแรง โดยมีวิทยากร คือ  ประทับจิต นีละไพจิตร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ

ประดับจิต นีละไพจิตร กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันเป็นผลสะท้อนของ 2 ปัจจัยหลักๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ได้แก่ อำนาจทางการเมืองและปรากฏการณ์เรื่องความรู้สึกโกรธ กลัวและไม่ได้รับความยุติธรรม  ความรุนแรงจะถูกโต้กลับจากความอยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงดังกล่าวไม่ได้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านความยุติธรรม แต่จะนำไปสู่การแก้แค้น เอาคืน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของสังคม

จันจิรา สมบัติพูนศิริ กล่าวว่า  ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วและจะอยู่ไปอีกนาน สังคมไทยมีความขัดแย้งมาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจในสังคมไทยที่มีการต่อสู้กันระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่  มีพลังทุนนิยม ระบบศักดินา และชนชั้นล่างที่พยายามเปล่งเสียงแสดงถึงพื้นที่ของตน ทำให้สังคมแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คนในสังคมถูกกระตุ้นให้อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองบวกกับการใช้อารมณ์ความรู้สึก

ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองปัจจุบัน การใช้ความรุนแรงบางครั้งส่งผลกับคนอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ตัดสินใจใช้ความรุนแรง และสังคมไทยปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินไปแบบแฝงเร้น สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นสงครามตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายก้าวหน้า และท่ามกลางความรุนแรง สังคมก็ทำให้พื้นที่แคบลงโดยไม่รู้ตัว ผ่านการแบ่งแยก “พวกเขา” “พวกเรา”

จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายเพื่อจินตนาการความขัดแย้งใหม่ อ่านแถลงการณ์ระบุว่า จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การติดกับดักทางความคิดว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องใช้ความรุนแรงทุกครั้งไป ซึ่งไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมแต่อย่างใด เราจึงต้องมีจินตนาการใหม่เกิดขึ้นเพื่อนำพาสังคมไปสู่ทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกัน  จึงมีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อจินตนาการความขัดแย้งใหม่ขึ้น

โดยเครือข่ายฯ เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติการภาคสนาม นักกิจกรรมทางสังคม และกลุ่มอิสระ ผู้มีความสนใจและทำงานด้านสันติภาพทั้งในลักษณะสังกัดและไม่สังกัดองค์กร โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ยังมีโอกาสและความหวังในการหันเหทิศทางของสังคมออกจากความรุนแรงอันจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการถึงความขัดแย้งในสังคมที่แตกต่างกันออกไปจากที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายดังนี้

1. ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างพื้นที่และประกาศความเชื่อว่า เราสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมกันสร้างจินตนาการใหม่ของการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย

2. คู่ขัดแย้งต้องร่วมกันทำข้อตกลงยุติการใช้อาวุธ และสร้างมาตรการร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับมวลชนแต่ละฝ่าย เพื่อแสดงความจริงใจในการไม่ใช้ความรุนแรงและสร้างความมั่นใจ เช่น การกำหนดจุดชุมนุมที่ห่างไกลกัน การไม่นำมวลชนเคลื่อนเข้าสู่แนวปะทะ การตรวจและรักษาความปลอดภัยร่วมจากหลายฝ่าย เป็นต้น และหากมีการละเมิดข้อตกลงจนนำพาสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรงไม่ว่ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถือเป็นความรับผิดชอบของคู่ขัดแย้ง

3.ประชาชนต้องร่วมกันแสดงออกถึงความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในระหว่างที่คู่ขัดแย้งยังหาข้อตกลงร่วมทางการเมืองไม่ได้  และร่วมแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรง และถือเป็นหน้าที่ของคู่ขัดแย้งที่จะเคารพสิทธิในเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว

4.เราต้องตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงที่กำลังขยายตัวขึ้นนี้จะเอาประชาชนจำนวนมากออกจากพื้นที่ทางการเมืองได้ ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือจะมีเหยื่อที่ได้รับผลจากความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นำพาสังคมไปสู่บาดแผลและความขัดแย้งไม่มีสิ้นสุด

ส่วนกิจกรรมของเครือข่ายเพื่อจินตนาการความขัดแย้งใหม่ มีดังต่อไปนี้
1.จัดทำสื่อเผยแพร่ทางออนไลน์  และจัดทำคู่มือการอยู่ร่วมกับความขัดแย้ง การรับมือความรุนแรง
2.จัดทำตลาดนัดเพื่อสันติภาพเพื่อสร้างพื้นที่ เวทีให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องมือและทักษะในการอยู่ร่วมกันกับความขัดแย้งได้

3.จัดการอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะการฟัง การสร้างพื้นที่สนทนากับผู้คิดต่าง การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงภาคสนาม ฯลฯ ให้กับผู้สนใจทั่วไปและผู้อยู่ในสนามของความขัดแย้งทุกฝ่าย อาทิ กลุ่มมวลชนฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ต้องการไม่ใช้ความรุนแรง กลุ่มสื่อสารมวลชนที่ต้องการทำงานสื่อเพื่อสันติภาพ กลุ่มประชาชนทุกฝ่ายทุกสีกลุ่มนิสิตนักศึกษา เป็นต้น

สำหรับเครือข่ายเพื่อจินตนาการความขัดแย้งใหม่ เกิดจากการรวมกันของ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ข่าวสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันสันติประชาธรรม, กลุ่มพอกันที!,เครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง (Citizen for Hope), กลุ่มเพื่อนรับฟัง
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net