Skip to main content
sharethis

สรุปโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


 


 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) มูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, International Development Economics Associates (IDEAs) และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้จัด สัมมนาวิชาการเรื่อง สร้างการค้าที่เป็นธรรมและรับผิดชอบจากบทเรียนเอฟทีเอของสหรัฐ? (Lesson Learn from US FTAs: Can We Create Fair and Responsible Trade?) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเสนองานวิชาการของนักวิชาการจากหลากหลายประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ


 


ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การรวมตัวของเครือข่ายนักวิชาการในครั้งนี้จะมีการศึกษาตัวอย่างจากหลายประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้ เล่าถึงปัญหาต่างๆที่เราจะเผชิญร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อมองหาจุดที่เหมาะสมจากฝ่ายต่างๆ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน แบบ Win-Win Situation อย่างแท้จริง และหวังว่าจะได้แนวทางการจัดการในการเจรจาเอฟทีเอ อย่างน้อยจะทำให้ได้ Fair Text หรือ ร่างข้อตกลงเอฟทีเอที่เป็นธรรมในส่วนของสิ่งแวดล้อมและประเด็นเกี่ยวเนื่อง เช่น การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น


 


ในการสัมมนาได้แบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสิ่งแวดล้อม และห้องการลงทุน โดยห้องสิ่งแวดล้อม


ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศในฐานะนักวิชาการ ได้นำเสนอ


"รูปแบบกฎหมายที่ยุติธรรมในบทสิ่งแวดล้อม" ระบุเหตุผลที่สหรัฐอยากทำเอฟทีเอกับไทย โดยรวบรวมจากบทความและเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ทางสหรัฐมองเห็นความเป็นไปได้ว่า ในการทำเอฟทีเอ กับไทยจะได้ประโยชน์ทั้งด้านการค้าและนโยบายการต่างประเทศ สหรัฐฯระบุชัดเจนว่า ผู้ผลิตทางเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และบริการของสหรัฐฯจะได้ประโยชน์


จากการขจัดและลดภาษีศุลกากรของไทยที่สูง เพื่อเพิ่มการส่งออกมาไทยได้


 


เศรษฐกิจของไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ต่างกันมากถึง 100 เท่า ที่ผ่านมาไทยเกินดุลสหรัฐฯ มาตลอด และในตอนที่สหรัฐฯ ตัดสินใจจะทำเอฟทีเอกับไทยในปี 2546 นั้น ไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าของสหรัฐอันดับ 16 ทำให้สหรัฐฯคิดว่า เอฟทีเอจะทำให้มีการส่งออกสินค้าและบริการมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น ไอที การสื่อสาร ภาคการเงิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ประเด็นสำคัญคือ ต้องรักษาสิทธิพิเศษของนักลงทุนอเมริกัน ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่เล็กมากของไทยจะไม่มีผลกระทบย้อนกลับไปยังเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐฯ


 


ทั้งนี้ จากการหารือและศึกษาข้อตกลงของนักวิชาการที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้มีความกังวลร่วมกันว่า การจะทำเอฟทีเอนั้น ต้องให้แน่ใจว่า การส่งเสริมการค้า และการรักษาสภาพแวดล้อมจะต้องเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการทำเอฟทีเอไม่ควรขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะจากประสบการณ์ของประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ไปแล้ว เช่น ชิลี และเม็กซิโกให้ความเห็นตรงกันว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเลย คณะกรรมการร่วมเอฟทีเอที่จัดตั้งขึ้นหลังการเจรจาไม่สามารถบังคับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ ในกรณีของเม็กซิโก หากเป็นประเด็นที่เม็กซิโกต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรัฐบาลเม็กซิโกผ่านอนุญาโตตุลาการทั้งหมด ดังนั้น หากประเทศไทยจะทำเอฟทีเอ จะต้องบัญญัติให้มีการประชาพิจารณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนคัดค้านการลงทุนของนักลงทุนที่จะเป็นอันตรายต่อชุมชน และต้องบัญญัติให้นักลงทุนชดเชยค่าเสียหายให้บุคคลและชุมชนด้วย


 


Ms.Hira Jhamtani นักวิชาการอินโดนีเซียจากเครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network) ได้นำเสนอ "บทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา: ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" โดยยกตัวอย่างการที่สหรัฐฯอนุญาตให้จดสิทธิบัตรน้ำสกัดมังคุด และญี่ปุ่นให้เครื่องหมายการค้ากับฤาษีดัดตนว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีบางประเทศเท่านั้นที่เป็นผู้ส่งออกทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศนำเข้า


 


จากข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า จากการปฏิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ขององค์การการค้าโลก ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องจ่ายค่าสิทธิเพิ่มเป็นเงินถึง 60,000 ล้านต่อปี อย่างไรก็ตาม TRIPS มีมาตราการยืดหยุ่นต่างๆ ให้อยู่พอสมควร แต่การทำเอฟทีเอ ประเทศคู่เจรจาของสหรัฐฯจะถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญา UPOV ซึ่งต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพืชและสัตว์ ไม่ยอมให้เกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป และต้องคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์แม้ว่านั่นจะมาจากการขโมยทรัพยากรชีวภาพในประเทศเราไปก็ตาม


 


ในเอฟทีเอ ญี่ปุ่น-มาเลเซีย ญี่ปุ่นไม่ได้บังคับให้มาเลเซียต้องเป็นสมาชิก UPOV แต่ระบุเป็นนัยว่า ต้องคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ผ่านระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชสากล ซึ่งก็คือ UPOV นั่นเอง ในกรณีของไทย สหรัฐฯ ยื่นข้อเรียกร้องมาแล้วว่าไทยต้องลงนามในสนธิสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 10 ฉบับเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืช จุลชีพ ซอฟแวร์ การส่งสัญญาณภาพและเสียง เครื่องหมายทางการค้า ภาพยนตร์ เพลง สิทธิบัตร ฯลฯ รวมทั้งสนธิสัญญา PCT (Patent Cooperation Treaty) ที่เมื่อลงนามแล้วจะต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรในประเทศสมาชิก ซึ่งในกรณีนี้ นักลงทุนอเมริกันไม่ต้องมาจดสิทธิบัตรน้ำสกัดมังคุดในประเทศไทย แต่ประเทศไทยต้องรับและเคารพสิทธิบัตรนั้นทันที


 


ความกังวลอีกประการหนึ่งคือ ระบบสิทธิบัตรที่สหรัฐต้องการเป็นระบบการให้สิทธิบัตรอย่างกว้างๆ หรือให้ง่ายๆ แม้จะไม่มีความใหม่ก็ตาม เช่น บริษัทซินเจนต้าขอจดสิทธิบัตรข้าวมากกว่า 30,000 แบบของยีนส์ ซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทไม่เพียงผูกขาดเฉพาะข้าวเท่านั้น แต่ถ้าหากลำดับของยีนส์ในข้าวคล้ายกับถั่วหรืออย่างอื่น บริษัทก็จะสามารถผูกขาดไปด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ในประเทศเราไม่อนุญาต แต่ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้ความคุ้มครอง


 


ทั้งนี้ ข้ออ้างหนึ่งของการทำเอฟทีเอด้านทรัพย์สินทางปัญญาคือ ความหวังที่จะได้การถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ในบทการลงทุนของเอฟทีเอจะห้ามประเทศเจ้าบ้านบังคับนักลงทุนต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยี และเอฟทีเอของสหรัฐฯส่วนใหญ่ จะไม่อนุญาตให้ประเทศคู่เจรจาใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของสิทธิเพื่อแก้ปัญหาในประเทศ โดยจะเปิดช่องให้ทำได้แคบมากๆ หรือเกือบทำไม่ได้เลย


 


ในการสรุป นักวิชาการท่านนี้ระบุว่า ประเทศไทยไม่ควรรับทริปส์ผนวก (TRIPS plus) ที่ปรากฏอยู่ในข้อเสนอของสหรัฐฯ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเสียค่าสิทธิบัตรอย่างมากมาย และถึงแม้นักเจรจาไทยจะระมัดระวังในบททรัพย์สินทางปัญญา แต่ประเด็นต่างๆ ก็จะซ่อนอยู่ในบทการลงทุน การบริการ บทนำ จดหมายข้างเคียง และภาคผนวกด้วย


 


Dr.Alicai Puyana นักเศรษฐศาสตร์จาก FLACSO เม็กซิโก ได้นำเสนองานวิจัย "ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือกับเศรษฐกิจของเม็กซิโก: บทเรียนที่ได้จากทศวรรษของการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างโลกเหนือ-ใต้" ระบุว่า นาฟต้ามีผลบังคับใช้มา 12 ปีแล้ว เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศกำลังพัฒนา โดยประสบการณ์ของเม็กซิโกนั้นเป็นประสบการณ์ของประเทศที่ยอมเจรจาแม้ว่าจะเสียอะไรก็ตาม ทำให้สหรัฐฯ หาประโยชน์ได้มากเท่าที่จะหาได้ จึงเป็นข้อตกลงที่ไม่สมดุลอย่างยิ่ง นาฟต้ามีบทบัญญัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในข้อตกลงทางการค้าเสรีใดๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน การบริการ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่า เม็กซิโกเปิดเศรษฐกิจของตัวเองมาก โดยการลดภาษีการค้านั้นเม็กซิโกต้องให้สหรัฐฯ มากกว่าที่สหรัฐฯให้เม็กซิโก อีกทั้งเม็กซิโกยังต้องสละสิทธิที่จะได้รับพิเศษเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นี่เป็นรูปแบบของเอฟทีเอที่ชิลีเดินตาม และดูเหมือนว่าประเทศไทยก็กำลังจะตามแบบนี้ด้วย


 


ผลก็คือ เม็กซิโกมีเศรษฐกิจเปิดอย่างมาก การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นก็ยังน้อยกว่านำเข้า และก็เป็นการขาดดุลสะสมเรื่อยมา โครงสร้างก็เปลี่ยนไป ภาคส่งออกขยายตัว แต่เป็นเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่ภาคเกษตรกรรมชะงักงัน มีผลต่อความยากจน การจ้างงาน ภาคการผลิตก็ไม่เติบโต แม้การผลิตเพื่อการส่งออกจะเพิ่มขึ้น ภาคบริการและภาคนอกระบบโตขึ้น แต่ผลิตภาพโดยรวมชะงักตั้งแต่นั้นมา ฉะนั้นนาฟต้าไม่ได้เพิ่มจีดีพี ไม่ได้เพิ่มรายได้ ไม่ได้เพิ่มการจ้างงาน ขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจของสองประเทศยิ่งถ่างออกจากมากขึ้นทุกที ส่งผลให้มีคนเม็กซิโกอพยพไปสหรัฐฯมากขึ้นทุกขณะ


 


จากงานวิจัยชี้นี้ของ Dr.Alicia ชี้ชัดว่า ยิ่งเปิดประเทศเปิดเศรษฐกิจมากเท่าไร จีดีพีต่อหัวของประเทศยิ่งลดลง ปัญหาที่หนักที่สุดอยู่ที่ภาคเกษตร เพราะก่อนหน้านี้เม็กซิโกไม่เคยเปิดเสรีสินค้าเกษตรมาก่อนเลย และพลาดไปแล้วจากการเปิดเสรีเกษตรจากการทำนาฟต้า ประชากรในชนบทเสียรายได้ไป และส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชนที่ยากจนที่สุด คนจนยิ่งจนลง โดยเสียรายได้ไปประมาณ 20% ของรายได้ที่เคยได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีการลงทุนภาคสาธารณะเลย แม้จะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่เร็วและไม่มากอย่างที่คาด


 


นอกจากนี้หากไปดูปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากข้อตกลงนาฟต้า Dr.Alicia กล่าวว่า ขณะที่สภาพเศรษฐกิจชะงักงัน แต่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสภาพแวดล้อมไม่ได้ชะงักไปด้วย จะพบว่าเกือบ 10% ของจีดีพีสูญเสียไปเพราะความเสื่อมโทรมทางสภาพแวดล้อมในอัตราเร่ง สภาที่เกิดจากข้อตกลง (NAFTA Council) ไม่สามารถจัดการกับบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนและทำลายสภาพแวดล้อมได้ เช่น บริษัทสามารถเอาขยะมาทิ้งที่เม็กซิโกได้  ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง คือ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากขึ้น ในกรณีของบริษัทมอนซานโต้ ได้นำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอมาเลี้ยงไก่ของบริษัทมอนซานโต้ในเม็กซิโก จนทำให้ข้าวโพดท้องถิ่นปนเปื้อนจีเอ็มโอ ทำให้มีปัญหาในการส่งออกไปที่อื่น


 


ในเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐ แม้จะมีบทบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่พบว่ามีข้อตกลงย่อยระบุว่า รัฐบาลสามารถที่จะขอให้คณะอนุญาโตตุลาการไม่ทำการเผยแพร่คำตัดสิน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องพิพาทที่นำขึ้นสู่การพิจารณา ทุกอย่างต้องปกปิดเป็นความลับ


 


Dr.Alicia จาก เม็กซิโก สรุปว่า "ดังนั้น เราสามารถพูดได้ว่า ข้อตกลงนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าได้ประโยชน์เลย การเจรจากับประเทศใหญ่เป็นเรื่องอันตราย และควรหลีกเลี่ยง รัฐและประชาชนเม็กซิโก สูญเสียไปมากมายทั้งเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมและประชาชน


 


Dr.Esteban Perez Caldentey นักเศรษฐศาสตร์จาก ECLAC สหประชาชาติ ประจำอเมริกากลางและแคริเบียน ได้นำเสนอ ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกากลาง เกี่ยวกับผลการปฏิบัติและบทเรียนสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กในละตินอเมริกาและแคริบเบียน


 


Dr.Esteban กล่าวว่า พวกที่สนับสนุนการค้าเสรีมักจะอ้างว่า การค้าเสรีจะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ สามารถได้สินค้าและวัตถุดิบในราคาถูก เพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าเอาไว้ ซึ่งเราจะตามไปดูว่าข้ออ้างทางทฤษฎีนี้เป็นจริงหรือไม่


 


คาฟต้า ให้สัตยาบันไปแล้ว โดยมีประเทศคอสตาริก้า เอลซาวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา นิคารากัว และสาธารณรัฐโดมินิกัน (ยกเว้นประเทศคาสตาริก้าที่รัฐสภาไม่อนุมัติคาฟต้าจึงยังไม่มีผลบังคับใช้) ทั้งหมดเป็นประเทศเล็กๆ มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างพึ่งพิงกับสหรัฐฯ  


 


ข้อตกลงคาฟต้าครอบคลุมทุกประเด็น เป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ทางการค้า จากเดิมที่เคยมีสิทธิพิเศษให้ประเทศกำลังพัฒนากำลังจะสูญไป แล้วไปใช้ระบบที่ทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน ที่น่าวิตกในสายตานักวิชาการคือ ภาษาที่ประเทศร่ำรวยใช้ เป็นภาษาที่เมื่อก่อนประเทศกำลังพัฒนามักใช้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน  เช่น การทำสนามการค้าให้เสมอภาคกัน แต่ครั้งนี้ใช้กับสหรัฐฯ ทั้งที่ขนาดเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาต่างกัน


 


ทำไมสหรัฐฯถึงต้องการคาฟต้า Dr.Esteban ระบุว่า เพราะสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลของตัวเอง ตั้งแต่ปี 1989 สหรัฐฯขาดดุลมากขึ้น นำเข้ามากขึ้นและมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องทำคือ จำกัดการนำเข้าโดยกำหนดข้อห้ามสินค้านำเข้ามากขึ้น หรือไปเพิ่มความต้องการสินค้าอเมริกันในต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น


 


สำหรับประเทศในอเมริกากลาง เดิมเคยได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ GSP และโครงการอื่นๆ ที่ปลอดภาษีขาเข้าสำหรับประเทศเหล่านี้ ข้อตกลงเหล่านี้กำลังจะหมดอายุ ฉะนั้น ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ถ้าอยากได้สิทธิพิเศษนี้ต่อก็ต้องลงนามคาฟต้า ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศเหล่านี้ ขณะที่ต้องเปิดตลาดรับสินค้าและการบริการของสหรัฐ


 


ถ้าไปดูข้อตกลงคาฟต้าในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมจะเห็นว่า ประเทศมีสิทธิกำหนดกฎหมายของตัวเอง ถ้าเกิดปัญหาสามารถส่งข้อเรียกร้องไปยังสภาของคาฟต้าได้ แต่พอไปดูบทการลงทุนที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะพบว่า กำหนดให้คุ้มครองนักลงทุนต่างชาติมากเสียยิ่งกว่าเจ้าของประเทศ ขณะที่ประเทศเหล่านี้มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก แต่กำลังเผชิญปัญหามลพิษ ประมงเกินขนาด ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ คาฟต้าจะทำให้เรื่องเหล่านี้เลวร้ายมากขึ้นอีกแค่ไหน ในเมื่องบประมาณของประเทศไม่พอในการจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเพิ่มรายจ่ายในการปรับตัวได้ กฎเกณฑ์ขั้นตอนต่างๆ ก็ยังอยู่ระดับเริ่มต้น


 


นอกจากนี้ประสบการณ์ของเม็กซิโกพบว่า อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนที่มาใช้แรงงานราคาถูก โดยการนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมด จึงเกิดคำถามถึงการเจริญเติบโตในระยะยาว ซึ่งจากงานวิจัย Dr.Esteban พบว่า หากประเทศเหล่านี้ไม่ลงนามในคาฟต้าผลประโยชน์ในระยะยาวจะมากกว่าการลงนามในคาฟต้าซึ่งจะได้เพียงผลประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น


 


0 0 0


 


ในการสัมมนาห้องย่อยเกี่ยวกับประเด็นการลงทุน มีการนำเสนองานวิจัยของ รศ.ดร.ลาวัลย์ ถนัดศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่องบทการลงทุนในเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐในบริบทสิ่งแวดล้อม, ประเด็นการเข้าถึงตลาดในเอฟทีเอของสหรัฐกับประเทศต่างๆ โดย ศ.ดร.Jayati Ghosh จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเยาหราล เนรูห์ ประเทศอินเดีย และ Ms.Parthapratim Pal จากสถาบันพลังงานและทรัพยากร ประเทศอินเดีย, การเจรจาทวิภาคีของสหรัฐกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ในประเด็นการเข้าถึงตลาด จากกรณีเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ โดย Ms.Smitha Francis จากมูลนิธิวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ประเทศอินเดีย และ Dr.Murali Kallummal จากสถาบันการค้าระหว่างประเทศ อินเดีย, ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและชิลี: ความพยายามขยายผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ โดย ศ.Rodrigo Pizarro จากมูลนิธิ TERRAM ของชิลี มีรายงานสรุปดังนี้


 


1. ประเด็นการเข้าถึงตลาดในเอฟทีเอของสหรัฐกับประเทศต่างๆ โดย ศ.ดร.Jayati Ghosh จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเยาหราล เนรูห์ ประเทศอินเดีย และ Ms.Parthapratim Pal จากสถาบันพลังงานและทรัพยากร ประเทศอินเดีย


 


ไม่ใช่ว่าประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯได้มากขึ้น เพราะไม่มีรูปแบบที่เด่นชัดว่า ประเทศที่ได้สิทธิพิเศษจะได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป บางครั้งยังพบว่า ประเทศที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯสามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม จากทุกเอฟทีเอของสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯสามารถส่งออกไปประเทศเหล่านั้นมากขึ้นอย่างมาก เช่น สหรัฐฯส่งออกไปชิลีเพิ่มขึ้น 33.5% ในปี 2004 สหรัฐฯส่งออกไปสิงคโปร์ 3 เท่าเพียงปีแรกของเอฟทีเอ มูลค่าถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เพียงครึ่งปีแรกของเอฟทีเอ สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย สหรัฐส่งออกไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 31.7% มูลค่าถึง 2.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


 


สรุปว่า ประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ทั้งรุ่นแรกคือ เม็กซิโกและแคนาดา และรุ่นใหม่อย่างออสเตรเลียและสิงคโปร์มีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง มีประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐเพียงส่วนน้อยที่สามารักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้หรือพัฒนาขึ้น คือ เปรูและชิลี ประเทศที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯเสียอีกที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐได้อยากมาก คือ อินเดียและจีน ทำให้ไม่สามารถหาแบบแผนที่ชัดเจนตามที่ทฤษฎีกล่าวอ้างได้


 


จากประสบการณ์ของสิงคโปร์ อุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถพัฒนาส่วนแบ่งการตลาดได้ เพราะก่อนหน้านั้นสหรัฐฯมีภาษีที่ต่ำอยู่แล้ว และยังจำกัดสินค้าอ่อนไหวจำนวนมาก อีกทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างหากที่เป็นตัวการกีดกันการเข้าถึงตลาดที่แท้จริง


 


แต่สำหรับประเทศเล็ก รายจ่ายของการทำเอฟทีเอกับสหรัฐมีนัยยะสำคัญอย่างมาก ประเทศเหล่านี้จะถูกลดพื้นที่ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาของตัวเองลงไป ประเทศพัฒนาแล้วจะใส่ประเด็นที่ไม่สามารถผลักดันใน WTO ได้ และในกรณีของไทย เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐจะกระทบ ทั้งภาคเกษตร การลงทุน ระบบทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นรายจ่ายที่สำคัญของประเทศนั้นๆ


 


จากงานวิจัยจึงแสดงให้เห็นว่า เอฟทีเอไม่ใช่สิ่งจำเป็น หรือ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเพิ่มการเข้าถึงตลาด ท่ามกลางความน่าสงสัยถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ แต่ความสูญเสียหรือรายจ่ายปรากฏชัดเจนแล้ว (Overall, the gains are doubtful while there will be some obvious cost)


 


2. การเจรจาทวิภาคีของสหรัฐกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ในประเด็นการเข้าถึงตลาด จากกรณีเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ โดย Ms.Smitha Francis จากมูลนิธิวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ประเทศอินเดีย และ Dr.Murali Kallummal จากสถาบันการค้าระหว่างประเทศ อินเดีย


 


จากการวิเคราะห์ข้อเสนอที่สหรัฐจะให้กับไทยในเอฟทีเอประเด็นการเข้าถึงตลาด พบว่า การลดภาษีไม่มาก และจะไม่สร้างความแตกต่างให้กับการเข้าถึงตลาดของสหรัฐแต่อย่างใด เพราะสหรัฐเลือกสินค้าที่จะปกป้อง สินค้าอ่อนไหว อย่างมีชั้นเชิงขึ้นกับคู่เจรจาว่าจะเป็นประเทศใด นอกจากนี้ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี มาตรการสุขอนามัย จะยิ่งสร้างปัญหากับการเข้าถึงตลาดของไทย และจะทำให้ไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยี และสินค้าทุนอย่างมาก และแม้ว่าไทยจะสามารถทำตามมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี มาตรการสุขอนามัยได้ แต่การได้สิทธิพิเศษส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯก็จะเป็นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น เพราะขณะนี้สหรัฐฯกำลังเจรจากับอีกหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย และการเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อให้แข่งกับจีนในต้นทุนแรงงานที่ต่ำมากๆ จะเท่ากับยิ่งเร่งให้ประเทศเหล่านี้ลดค่าจ้างแรงงาน สภาพการจ้างงานและลดทอนกฎหมายที่คุ้มครองแรงงาน หรือ ที่เรียกว่า Race to the Bottom เพียงเพื่อต้องการดึงดูดการลงทุน


 


ขณะเดียวกันผลประโยชน์จากการส่งออกส่วนใหญ่จะตกกับบริษัทของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งออก ขณะที่ผลประโยชน์ที่ได้เป็นแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น แต่สินค้าที่สหรัฐฯจะนำเข้ามาในประเทศไทยรวมทั้งการเปิดเสรีการลงทุน จะทำลายเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยของไทย เช่นเดียวกับกรณีของเม็กซิโก


 


3. ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและชิลี: ความพยายามขยายผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ โดย ศ.Rodrigo Pizarro จากมูลนิธิ TERRAM ของชิลี


 


เอฟทีเอ สหรัฐฯ-ชิลี มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2547 พบว่า การลงทุนของสหรัฐฯในชิลีเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการลงทุนอย่างมาก และมีการคุ้มครองการลงทุน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีกรณีที่นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐเรียกร้องค่าเสียหายเช่นในกรณีของนาฟต้า แต่จากงานวิจัยของ ศ.Rodrigo ระบุว่า รายจ่ายที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการเปิดรับการลงทุนขณะนี้คือ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของชิลีจะวิตกกังวลอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์กับสังคมก็ตาม เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากนักลงทุนต่างชาติ และข้อกังวลที่สุดของนักวิชาการคือ ความยืดหยุ่นทางนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาปัจจุบันไปสู่การอุดหนุนผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งการให้เงินอุดหนุน และภาษี เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย และขณะนี้การลงทุนจากสหรัฐก็ลดลงอย่างรวดเร็ว


 


ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศกำลังได้รับผลกระทบที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ จากค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงขึ้น จากการศึกษาพบว่า เฉพาะการทำตาม TRIPS ค่ายาในชิลีจะเพิ่มขึ้น 75% นี่ยังไม่ได้มีการคำนวณถึงผลจาก TRIPS+ ในเอฟทีเอกับสหรัฐ ที่การคุ้มครองสูงกว่ามาก ชิลียังถูกบังคับให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการเงิน "encaje" ที่เคยประคับประคองให้ชิลีรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ลามไปละตินอเมริกาได้ ทำให้ขณะนี้ชิลีเผชิญความเสี่ยงกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก


 


ศ.Rodrigo สรุปว่า การทำเอฟทีเอของสหรัฐฯ ชัดเจนว่าเป็นเครื่องมือการขยายอิทธิพลในภูมิภาค ส่งเสริมภาคส่วนเฉพาะ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การเงินอิเล็คทรอนิค การลงทุนที่เป็นยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ดังนั้นประเทศต่างๆ ควรจะพิจารณาถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่แค่สนใจเฉพาะเอฟทีเอที่จะมีกับสหรัฐฯเท่านั้น


 


นอกจากนี้การลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ยังสร้างปัญหาการเมืองกับชิลี เพราะทำให้ชิลีถูกหมางเมินจากประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ได้ร่วมกับความร่วมมือเศรษฐกิจ MERCOSUR ในภูมิภาค ซึ่งมีความสำคัญกับชิลีมากกว่า


 


…………………………………………


หมายเหตุ : สนใจเอกสารเพิ่มเติมติดต่อ สถาบันธรรมรับเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 02-9410785-6

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net