คนน้ำโขงย้ำ ‘เขื่อนไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โยกย้าย-เยียวยา ล้มเหลวสิ้นเชิง
ประชุมระดับภูมิภาค ‘เขื่อนแม่น้ำโขงและเขื่อนบนแม่น้ำทั้งสามเซ: เสียงประชาชนข้ามพรมแดนต่อวิกฤตแม่น้ำและแนวทางในอนาคต’ แชร์ประสบการณ์ผลกระทบ จี้รัฐฯ ต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียนอกเหนือประเด็นเศรษฐกิจด้วย







การประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “เขื่อนแม่น้ำโขง และเขื่อนบนแม่น้ำทั้งสามเซ:
เสียงประชาชนข้ามพรมแดนต่อวิกฤตแม่น้ำและแนวทางในอนาคต”
แถลงการณ์และข้อเสนอแนะ
การประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “เขื่อนแม่น้ำโขง และเขื่อนบนแม่น้ำทั้งสามเซ: เสียงประชาชนข้ามพรมแดนต่อวิกฤตแม่น้ำและแนวทางในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน 2556 ที่ศูนย์ความร่วมมือกัมพูชา-ญี่ปุ่น กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยความร่วมมือของภาคประชาสังคมประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ซึ่งองค์กรร่วมจัดหลายองค์กรเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรและเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ พันธมิตรแม่น้ำกัมพูชา เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม และพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แสดงความกังวลของตนเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนขนาดใหญ่ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกโยกย้ายถิ่นฐาน และกระบวนการชดเชยเยียวยาความเสียหาย รวมถึงผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก การประชุมยังมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการรณรงค์ของภาคประชาสังคมในภูมิภาคต่อโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก และเขื่อนในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาต่างๆ บนแม่น้ำเซกอง เซซาน และสเรป็อก (3S หรือแม่น้ำทั้งสามเซ)
ผู้เข้าร่วมประชุม 200 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม กลุ่มภาคประชาสังคมระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไป ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบล่าสุดจากเขื่อนที่มีอยู่ทั้งในแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา โดยได้แสดงข้อพิจารณาที่สำคัญด้านนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าและวิธีการซึ่งโครงการเหล่านั้นได้ถูกพัฒนา ออกแบบและปรับใช้
นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลกระทบจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วบนแม่น้ำโขงสายหลัก และแม่น้ำสาขาซึ่งประชาชนในทุกประเทศกำลังเผชิญ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้สะท้อนข้อห่วงใยสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทในการผลักดันโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าต่างๆ และการพัฒนานโยบายด้านพลังงาน ซึ่งที่มาล้วนมีความล้มเหลวทั้งในด้านการรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นและในด้านการตรวจสอบนโยบายทางเลือกอื่นๆ ประสบการณ์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนได้แสดงให้เห็นความเสียหายร้ายแรงและผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม พันธุ์ปลา สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำต่างๆ การทับถมของตะกอน ปุ๋ยธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้าน ความเป็นอยู่ที่ดี ความอยู่รอดของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงชนพื้นเมือง หรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ
การโยกย้ายถิ่นฐานและการจ่ายค่าชดเชยไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่สามารถแก้ปํญหาให้ประชาชนได้ จากประสบการณ์ของประชาชนพบว่า การอพยพและการจ่ายค่าชดเชยไม่เพียงพอต่อความต้องการและไม่สามารถทดแทนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถชดเชยและคิดเป็นตัวเงินได้
ความวิตกกังวลยังรวมถึงเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันและผลกระทบระหว่างประเทศทางตอนบนและตอนล่างในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ความล้มเหลวในการประเมินผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำ ซึ่งขาดการมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารือกับคนท้องถิ่น และกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างสิ้นเชิงในการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัมนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ รวมไปถึงความล้มเหลวของกลไกเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่มีอยู่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ
จากข้อวิตกกังวลดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ และกลไกที่มีอยู่ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้เกี่ยวข้องในการขจัดความขัดแย้งอันเกิดจากการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
สำหรับรัฐบาลและผู้มีหน้าที่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย
- ชุมชนและประชาชนทั่วไปต้องมีสิทธิเข้าถึงและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจพัฒนาโครงการและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีสิทธิกำหนดแนวทางการพัฒนาที่จะต้องนำมาซึ่งประโยชน์ที่แท้จริงแก่ประชาชนและชุมชน
- ต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียของโครงการเขื่อนโดยให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และมนุษย์ โดยต้องนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ต้องตระหนักถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น วัฒนธรรม และระบบนิเวศ และควรพิจารณาความจำเป็นและความต้องการของประชาชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง รวมทั้งของคนจนและทุกข์ยากด้วย เป็นไปไม่ได้ที่จะทอดทิ้งคนเหล่านี้ไว้ข้างหลัง
- รัฐบาลและผู้ตัดสินใจในระดับนโยบายที่กำลังพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจะต้องทำการศึกษาอย่างรอบด้านและเป็นธรรมก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงประสบการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาคและที่อื่นๆ
- รัฐจะต้องแน่ใจว่าการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเป็นไปตามกรอบกฎหมายต่างๆ ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมทั้งคำแนะนำของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก
- รัฐ และผู้วางนโยบายจะต้องแสวงหาและส่งเสริมทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ นอกเหนือจากการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น พลังงานหมุนเวียน และการจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่รัฐจะพิจารณาสร้างเขื่อนไฟฟ้าเพิ่มเติม
- กรณีรัฐบาลซึ่งวางแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งหรือลุ่มน้ำใดลุ่มน้ำหนึ่ง รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะต้องจัดทำการประเมินและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ครอบคลุมผลกระทบสะสมของนโยบายด้านไฟฟ้าพลังน้ำ
- ในการพัฒนาและดำเนินนโยบายไฟฟ้าพลังน้ำ รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายของทั้งประเทศผู้ลงทุนและประเทศผู้ซื้อไฟฟ้า และปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศที่ดำเนินโครงการ เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐานระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการพัฒนากลไกในการบังคับใช้หลักการดังกล่าว
- รัฐจะต้องบริหารจัดการให้เกิดโครงสร้างประชาธิปไตยในการตัดสินใจในนโยบายพลังงาน รวมไปถึงเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับต้นทุนและผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และที่ไม่ใช่ต้นทุนทางเศรษฐกิจของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ ด้วย
- รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน รายละเอียดโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบและตารางจัดการปล่อยน้ำของเขื่อนเหล่านั้น โดยต้องมีเปิดเผยและนำเสนอต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ หรือท้ายน้ำและในภูมิภาค
สำหรับรัฐบาลประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)
- รัฐบาลประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 และดำเนินความร่วมมือด้วยความปรารถนาดีต่อกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการวางแผนและพัฒนาโครงการที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง
สำหรับรัฐบาลกัมพูชา เวียดนาม และลาว
- เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ควรถูกยกเลิก เนื่องจากความเสียหายอันร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อพันธุ์ปลา การทับถามของตะกอน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนชาวกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้าน
- แผนก่อสร้างเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำเซซาน เซกอง สเรป็อก ต้องถูกระงับไว้จนกว่าชุมชนริมแม่น้ำเซซาน และสเรป็อก จะได้รับเงินค่าชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเขื่อนของประเทศเวียดนามมาหลายทศวรรษ และจนกว่าชุมชนจะให้ความเห็นชอบแก่โครงการเขื่อนใดๆ ในพื้นที่นี้
สำหรับรัฐบาลไทย และลาว
- เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักไม่ควรจะเดินหน้า การคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะได้จากเขื่อนนั้นมีความผิดพลาด ไม่ตรงตามสภาพความจริง เนื่องจากคำนวณจากระดับและปริมาณน้ำสูงสุดของแม่น้ำในแต่ละฤดูกาล ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวมกันถึง 31,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสูงสุดในขณะนี้อยู่ที่ 26,000 เมกะวัตต์ เท่ากับมีกำลังไฟฟ้าสำรองเกือบ 20% ของความต้องการสูงสุด ประเทศไทยจึงไม่ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ นอกจากนี้ประเทศลาวจะได้รับประโยชน์มากกว่าหากผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์โดยใช้ระบบนอกสายส่ง ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนไซยะบุรีจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต สุขภาพ อย่างรุนแรง รวมถึงจะก่อผลกระทบในการเข้าถึงอาหาร น้ำ ต่อชุมชนในประเทศแม่น้ำโขง
- รัฐบาลไทยและลาวต้องเปิดเผยข้อมูลทุกประการที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนไซยะบุรีให้ประชาชนทั่วไปทราบโดยทันที
- รัฐบาลไทยต้องจัดให้มีกระบวนการปรึกษาหารือขึ้นในชุมชนทุกพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขง และต้องพิจารณาข้อเรียกร้องและข้อกังวลของชุมชนเหล่านั้นอย่างเพียงพอและสมเหตุสมผล
สำหรับรัฐบาลไทย
- รัฐบาลต้องดำเนินการกดดันทางการเมืองต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อให้เปิดประตูเขื่อนปากมูนโดยทันทีและถาวร เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีวิถีชีวิตดังเดิมและเพื่อเยียวยาระบบนิเวศของแม่น้ำมูน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่เพียงพอและยอมรับได้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
สำหรับผู้พัฒนาโครงการ
- ผู้พัฒนาโครงการต้องไม่ทำข้อตกลงใดๆ กับรัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า หากว่าผู้พัฒนาโครงการยังไม่ได้ตระหนักและพิจารณาบทบาทของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบรวมถึงประชาชนทั่วไป ในกระบวนการตัดสินใจของผู้พัฒนาโครงการ
- ในการวางแผนการสร้างเขื่อน รัฐบาลและผู้พัฒนาโครงการเขื่อนต้องดำเนินตามมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวต้องดำเนินการโดยยึดถือตามข้อตกลงกับชุมชนท้องถิ่น หลักจารีตประเพณี และสิทธิชุมชน
- ประเด็นหญิงชาย จะต้องได้รับการพิจารณาเมื่อพูดถึงผลกระทบของโครงการ
- ก่อนการวางแผนและการก่อสร้างเขื่อนใดๆ จะต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) ตามมาตรฐานสากล สำหรับโครงการที่อยู่บนแม่น้ำที่ต้องใช้ร่วมกันอันจะก่อให้ผลกระทบข้ามพรมแดน ผลกระทบเหล่านี้จะต้องได้รับการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนด้วย การศึกษาผลกระทบต้องศึกษาในลักษณะภาพรวมของทุกโครงการเขื่อนร่วมกัน ไม่ใช่ในศึกษาแยกเป็นเขื่อนๆ
- ต้องเคารพสิทธิของชุมชนเหนือแหล่งน้ำ ป่าไม้ และพื้นดิน ต้องตระหนักว่าชุมชนนั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ การเข้าถึงและพึ่งพาแม่น้ำและระบบนิเวศตามธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
- ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมืองต้องเคารพ และบังคับใช้หลักการเรื่องสิทธิในการให้ความยินยอมอย่างสมัครใจ ล่วงหน้าและได้รับข้อมูลพอเพียง ดังที่ได้ระบุไว้ในปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ.2550
- ผู้พัฒนาโครงการต้องเคารพสิทธิของชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างจริงจังและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเขื่อนในทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจวางแผนหรือสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก หรือ 3เซ หรือแม่น้ำสาขาอื่นๆ ผู้พัฒนาโครงการต้องแสดงรายละเอียดและเอกสารทั้งหมดของโครงการและต้องปรึกษาหารือในสถานที่ซึ่งเอื้อต่อการเข้าร่วมของชาวบ้านในชุมชนและต้องทำขึ้นในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้อย่างดี
- ผู้พัฒนาโครงการจะต้องยุติโครงการทันที หากพิสูจน์ได้ว่าโครงการได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศเจ้าของโครงการ มากกว่าผลกำไรที่ผู้ก่อสร้างเขื่อนจะได้รับ
- ผู้พัฒนาโครงการต้องพัฒนาแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมเพื่อจัดการและบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการตรวจสอบโดยชุมชนและองค์กรภาคประชาชน
- เขื่อนซึ่งมีอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นสาเหตุของผลกระทบด้านลบที่สำคัญด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจต่อชุมชนในพื้นที่ ผู้ดำเนินการควบคุมเขื่อนต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เพียงพอและยอมรับได้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และดำเนินการเปิดเขื่อนเพื่อเยียวยาระบบนิเวศของแม่น้ำและให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีวิถีชีวิตดังเดิม
สำหรับแหล่งทุน (ผู้ให้กู้) นักลงทุน และผู้รับซื้อพลังงาน
- ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติสากลในการอนุมัติเงินกู้และการลงทุนใหม่ๆ ทั้งหมด รวมถึงเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อมสากล และดำเนินการโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ
- ไม่ลงทุนหรือให้กู้แก่โครงการที่มีความเสี่ยงสูงอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตและความสามัคคีของชุมชน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบรรเทาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และภาคประชาสังคม
- สนับสนุนการรณรงค์และเพิ่มความตระหนักรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบจากเขื่อนต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการพัฒนายุทธศาสตร์เกี่ยวกับภาระผูกพัน/พันธะกรณีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ รวมถึงผลักดันการพูดคุยระหว่างกันให้มากขึ้น
- ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชนในพื้นที่ เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนที่มีอยู่หรือโครงการในอนาคตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนมีข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ
- ทำงานร่วมกันในการประสานและแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อการรณรงค์ในนามของผู้ได้รับผลกระทบในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อผลักดันความร่วมมือของภาคประชาสังคมข้ามพรมแดน
- นำกรณีศึกษาในภูมิภาคมาพัฒนายุทธศาสตร์ในการรณรงค์อย่างมีประสิทธิภาพที่ชี้ให้รัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นถึงผลกระทบของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
- องค์กรพัฒนาเอกชนต้องร่วมมือกับสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อติดตามและตรวจสอบโครงการเขื่อน รวมถึงรายงาน หรือจัดหาข้อมูลที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไป
- องค์กรพัฒนาเอกชนต้องติดตาม และตรวจสอบโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้พัฒนาโครงการเขื่อนจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ
- ให้ความรู้และสนับสนุนศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานรณรงค์ได้ในนามของพวกเขาเอง
สำหรับสื่อมวลชน
- ต้องนำเสนอรายงานข่าวที่ยุติธรรม และมีข้อมูลเชิงลึกในทุกด้าน เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้า ในช่องทางที่หลากหลายทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงนำเสนอข่าวที่ครอบคลุมถึงเรื่องราว และประสบการณ์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงข้อคิดเห็น หรือข้อกังวลใจ
- สื่อมวลชนต้องร่วมเผยแพร่ข้อมูลปัจจุบัน และสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับในกระบวนการบอกกล่าวและปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าแต่ละโครงการ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบอย่างเต็มที่
|