ผู้สื่อข่าวเยอรมันแจ้งความหลังถูกการ์ดผู้ชุมนุมทำร้ายที่แยก พล.1
ช่างภาพเยอรมัน 'นิค นอสติทซ์' ถูกการ์ดผู้ชุมนุมทำร้ายที่แยก พล.1 ระหว่างดาวกระจาย บช.น. ก่อนที่ตำรวจจะกันออกมา โดยเจ้าตัวไปแจ้งความแล้ว ขณะที่ 'สุทิน วรรณบวร' ให้สัมภาษณ์ในบลูสกายกล่าวหาว่าเป็นนักข่าวที่เสื้อแดงจัดตั้ง
นิค นอสติทซ์ หลังเหตุชุลมุนที่แยก พล.1 ไม่ไกลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลวันนี้ (25 พ.ย.) (ที่มาของภาพ: วิทยุจราจร FM 91 MHz)
25 พ.ย. 2556 - ตามที่ในวันนี้ ผู้ชุมนุมโค่นระบอบทักษิณ ได้นัดหมายดาวกระจาย 13 สถานที่สำคัญโดยมีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ถ.ศรีอยุธยา เป็น 1 ในจุดนัดหมายนั้น ล่าสุดตั้งแต่เวลา 10.00 น. นายชุมพล จุลใส หรือ ลูกหมี อดีต ส.ส.ชุมพร ได้นำผู้ชุมนุมมาที่ บช.น. และยังคงปักหลักอยู่โดยยืนยันที่จะให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาพบ
อย่างไรก็ตามเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น โดยเพจสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ [1]FM 91 MHz รายงานว่า มีช่างภาพอิสระชาวเยอรมันชื่อนิค นอสติทซ์ ถูกการ์ดของผู้ชุมนุมชกที่ใบหน้า โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ชุมพล จุลใส ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไล่นิค นอสติทซ์ ออกจากจุดถ่ายภาพ จากนั้น ผู้ชายหลายคนซึ่งทำหน้าที่การ์ดการชุมนุมตรงเข้ามาทำร้าย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกันตัวช่างภาพดังกล่าวออกจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้
ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ [2] รายงานด้วยว่า หลังเกิดเหตุดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ได้สัมภาษณ์สุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวเอพี ต่อกรณีกระทบกระทั่งดังกล่าว โดยสุทินอ้างว่า "นักข่าวคนนี้ เขาไม่ได้รู้จักเป็นส่วนตัวแต่เขารู้จักผมดี เขามุ่งมาหาผมหลายครั้งเวลามีการชุมนุม เพื่อมาขอความเห็นผม ทราบว่าเป็นนักข่าวของเสื้อแดงมานานแล้ว นักข่าวคนนี้เข้ามาโดยไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเป็นนักข่าวกลุ่มไหน ตอนพรรคประชาธิปัตย์ไปหาเสียงที่หน้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เขาก็มาพูดกับผมหลายครั้งว่า พูดของเก่า ผมก็คิดว่าจะมาทำข่าวหรือมาปลุกระดม เป็นฟรีแลนซ์ที่เขียนคอลัมน์ให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ ช่วงหลังๆฝ่ายเสื้อแดงมาจับจุดคนนี้ถูกก็เลยทำข่าวให้เสื้อแดงโดยเฉพาะ เป็นนักข่าวที่เสื้อแดงเขาจัดตั้งมา"
หลังเหตุดังกล่าวผู้สื่อข่าวประชาไทได้สัมภาษณ์นิค นอสติทซ์ทางโทรศัพท์สั้นๆ ว่าจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้าย
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า นิค นอสติทซ์ (Nick Nostitz) เป็นช่างภาพชาวเยอรมันที่ทำงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2536 ผลงานหนังสือภาพถ่ายที่สำคัญของเขาเช่น "Patpong: Bangkok's Twilight Zone" ตีพิมพ์เมื่อปี 2544 อธิบายถึงอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทย นอกจากนี้ผลงานภาพถ่ายของเขายังปรากฏในนิตยสาร Stern และ Der Spiegel ด้วย นอกจากนี้หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขายังมีผลงานหนังสือภาพถ่าย Red vs Yellow Volume 1: Thailand's Crisis of Identity พิมพ์ในปี 2552 และ Red vs Yellow Volume 2: Thailand's Political Awakening พิมพ์ในปี 2554 นอกจากนี้เขายังเขียนบล็อกอยู่ในเว็บนวมณฑล (New Mandala) [3] เว็บไซต์อภิปรายเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียด้วย