ถ่านหิน: มัจจุราชสีดำในสายตาชาวโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พยายามชูภาพ "ถ่านหินคือพลังงานสะอาด" ทว่าในสายตาของคนทั่วโลก ต่างหวาดผวาและประณามความชั่วร้ายของถ่านหินเอาไว้ว่า "คือมัจจุราชสีดำ" ที่ได้พร่าผลาญชีวิตแล...

ในขณะที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พยายามชูภาพ "ถ่านหินคือพลังงานสะอาด" ทว่าในสายตาของคนทั่วโลก ต่างหวาดผวาและประณามความชั่วร้ายของถ่านหินเอาไว้ว่า "คือมัจจุราชสีดำ" ที่ได้พร่าผลาญชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปมากต่อมากแล้ว ในรายงานของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บอกเอาไว้ว่า ถ่านหิน ยังคงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในตลาดพลังงานของโลก แต่ก็ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อให้เกิดผลกระทบในระดับท้องถิ่นหลายอย่าง รวมถึงการปนเปื้อนในแหล่งน้ำรอบเหมืองและมลพิษในอากาศจากโรงไฟฟ้า ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีปริมาณคาร์บอนอยู่อย่างเข้มข้น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ยังคงต้องจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังจากพัฒนาเศรษฐกิจด้วยพลังงานถ่านหินมานาน อันที่จริงแล้วในปัจจุบันนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเช่น อังกฤษ หรือ เยอรมันนี กำลังมุ่งสู่พลังงานที่สะอาดกว่า รวมไปถึงพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานคลื่น และพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่ ประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ต่างก็กำลังตัดสินใจกันว่า จะตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของตนได้อย่างไร แต่โลกปัจจุบันนี้ ต่างจากโลกในศตวรรษที่19-20 เนื่องจากว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สะอาดมากมาย ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนถ่านหินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนทราบกันดีว่า อันตรายที่แท้จริงของถ่านหิน ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโลกที่เลวร้าย และจะนำความหายนะมาสู่ประเทศไทย ออสเตรเลีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ออสเตรเลีย ราชาแห่งถ่านหิน ปัจจุบัน ประเทศออสเตรเลีย ได้ส่งออกถ่านหินไปยังกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2527 การส่งออกต่อปีของออสเตรเลียได้เติบโตขึ้นจากปีละ 76 ล้านตัน จนถึงปีละกว่า 166 ล้านตันในปี 2541 โดยตลาดในเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 80 ของตลาดส่งออกถ่านหินของออสเตรเลียทั้งหมด ตลาดที่ใหญ่ที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน นอกจากนั้น ถ่านหินจำนวนมากจะถูกส่งออกไปยังยุโรป อินเดีย แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ประเทศออสเตรเลีย จึงถือว่าเป็น "ราชาแห่งถ่านหิน" เนื่องจากมีความมุ่งเน้นที่จะคงความเป็นผู้ส่งออกถ่านหินของโลกต่อไปในช่วงทศวรรษหน้า จากการคาดการณ์ การส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 21 ภายในปี 2555 และจะส่งออกถ่านหินไปยังเอเชียจนถึงปี 2563 ซึ่งจะตอบสนองความต้องการถ่านหินในภูมิภาคนี้ถึงร้อยละ 50 กรีนพีซ บอกว่า ประเทศออสเตรเลีย จึงเป็นราชาแห่งถ่านหิน ที่เป็นตัวการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะลงนามในพิธีสารเกียวโต เพื่อปกป้องผล ประโยชน์ส่วนตน รวมถึงการส่งออกถ่านหินด้วย กรีนพีซ ยังประณามรัฐบาลออสเตรเลียอีกว่า กำลังโยนบาปไปให้ประเทศกำลังพัฒนาว่า ไม่ได้ตั้งใจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้พิธีสารอย่างจริงจัง ในขณะที่ออสเตรเลียใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างไม่ยอมลงสัตยาบัน และที่สำคัญ ออสเตรเลียก็กำลังทำให้อนาคตของประเทศ เช่น ประเทศไทยผูกติดกับพลังงานจากถ่านหิน จากออสเตรเลีย ถึงเอเชีย : การหลอกขายถ่านหินครั้งยิ่งใหญ่ มีรายงานว่า ปัจจุบัน ชุมชนในออสเตรเลียกำลังต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่ ขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามเรียกร้องให้มีการใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาด มีการเสนอให้ใช้พลังงานหมุนเวียน ทว่าเมื่อหันมามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตมากถึง 8 จิกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน บางส่วนอยู่ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ จากการเติบโตในภูมิภาคนี้ มีการคาดว่า การนำเข้าถ่านหินจะเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านตัน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ที่สำคัญ รัฐบาลออสเตรเลีย กำลังพยายามขายถ่านหินให้กับเอเชีย โดยให้เงินอุดหนุนต่างๆ ให้แก่นานาบริษัทถ่านหิน และผ่านทางธนาคารโลก โดยอ้างว่า เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ให้เงินกู้แก่บริษัทที่ส่งเสริมการผลิตพลังงานจากถ่านหินและการพัฒนาเหมืองถ่านหิน ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อปี 2538 ทาง ADB ได้ให้เงินกู้แก่โรงงานพลังถ่านหิน ถึง 444 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น รัฐบาลออสเตรเลีย ยังให้เงินอุดหนุนการใช้ถ่านหินผ่านทาง สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของออสเตรเลีย บรรษัทสินเชื่อและค้าประกันการส่งออก และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมอีกหลายรูปแบบ และในที่สุด ประเทศไทยก็ได้กลายเป็นผู้ซื้อถ่านหินจากออสเตรเลียรายหนึ่ง โดยมียอดการสั่งซื้อครั้งแรกในปี 2543 เป็นปริมาณ 136,000 ตัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้น ประกอบกับออสเตรเลียได้พยายามล็อบบี้ให้ซื้อ "ถ่านหินสะอาด" ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ประเทศไทยจะมีการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50 ล้านตัน ในปี 2563 12 ปี การค้าถ่านหินออสเตรเลีย ต้นทุนชีวิต บนความทุกข์ทรมานของคนแม่เมาะ ในช่วงปี 2523-2532 โครงการให้ความช่วยเหลือหลักๆ ของออสเตรเลีย ที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ที่เหมืองลิกไนต์แม่เมาะ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่อยู่ติดกัน ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เมื่อมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมากระจายฟุ้งไปทั่ว ว่ากันว่า หลังจากที่เปิดทำการได้เพียง 2 เดือน พืชผลผลิตทางการเกษตร ต่างได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหายที่เกิดจากฝนกรด และประชาชนกว่า 40,000 คน ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณจากโรคทางเดินหายใจ และเริ่มล้มตายกันมาอย่างต่อเนื่อง กรีนพีซ กล่าวว่า เงินลงทุนที่ออสเตรเลียได้ใช้ไปที่แม่เมาะ ตลอดระยะเวลาของโครงการ 12 ปีนั้น เป็นจำนวนเงินมากถึง 26 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ซึ่งทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของออสเตรเลีย หรือ AusAID รับทราบผลกระทบทางลบของโครงการนี้เช่นกัน แต่ก็ยังปากแข็ง บอกว่า ผลกระทบที่ได้จากความช่วยเหลือจากออสเตรเลียนั้น เป็นไปในทางที่ดี ล่าสุด มีรายงานจากในพื้นที่ บอกว่า มีชาวบ้านเสียชีวิตแล้ว จำนวน 300 ราย ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง นอกจากนั้น ขณะนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนกว่า 2,800 ราย ที่กำลังป่วยเรื้อรัง และมีหลายรายที่กำลังนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งสาเหตุนั้น ล้วนมาจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทั้งสิ้น มีการสรุปบทเรียนเอาไว้ว่า ต้นทุนที่แท้จริง กลับตกอยู่ที่ชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้องได้รับผลกระทบจากการใช้ถ่านหินอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง หากนำเอาความสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ชีวิต และต้นทุนภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชุมชนมารวมกันเข้า นับได้ว่า เป็นราคาที่ต้องจ่ายในอนาคตนั้นมากมายมหาศาล ข้อมูลจาก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท