Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-22 เม.ย.48 คนเชียงของเร่งหาทางออก หลังจากทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก และพิธีการปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขง ขณะที่มีการศึกษาวิจัยการผสมพันธุ์ปลาบึก และหาอาชีพเสริมรองรับ เพื่อหันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกแทน

ตามที่เทศบาลเวียงเชียงของ ชมรมปลาบึก และกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ร่วมกันทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก และการปล่อยพันธุ์ปลาบึกลงแม่น้ำโขง บริเวณบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีการล่าปลาบึก และการอนุรักษ์ปลาบึก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เชียงรายให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางยิ่งขึ้นนั้น

นางเตือนใจ ดีเทศน์ วุฒิสมาชิก จ.เชียงราย กล่าวว่า อยากให้ชาวบ้านได้เปลี่ยนค่านิยมจากที่เคยชอบทานปลาบึก เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า ทำให้มีอายุยืนนั้น ให้หันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกให้อยู่คู่กับแม่น้ำโขงแทน เพื่อให้มีการแพร่พันธุ์ให้มากขึ้น หรือรอให้มีราคาถูกเท่ากับราคาปลาทั่วๆ ไป ก่อน เพราะการที่ปลาบึกมีราคาสูง ทำให้กลายเป็นแรงจูงใจให้มีการล่าปลาบึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ชาวบ้านหาดไคร้กำลังเสนอทำอาญาบัตร ต่อกรมประมง เพื่อนำเรือจำนวน 15 ลำ ลงไปในแม่น้ำโขง เพื่อทำการจับปลาบึกตามประเพณีที่ชาวบ้านได้ทำสืบต่อกันมานานแล้ว

"ในส่วนที่มีการเสนอให้ชาวบ้านหยุดการจับปลาบึก และหันมาช่วยกันอนุรักษ์แทนนั้น ตนก็ได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ทุกคนก็เห็นด้วยที่จะมีการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก และคงมีการพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย ว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร และจะหาอาชีพใหม่มาเสริมให้กับชาวบ้าน โดยไม่ต้องมีการจับปลาบึกในอนาคต" นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มวิจัยจาวบ้านเชียงของ ก็ได้มีมีการทำวิจัยโดยชาวบ้าน ในเรื่อง ความสมดุลของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง รวมไปถึงการวิจัยในเรื่องการรีดน้ำเชื้อ และการผสมพันธุ์ปลาบึก ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนพยายามหาทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ ทุกเดือนเมษายนของทุกปี จะมีปลาบึกว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน คือ มีความเชื่อว่าปลาบึกเป็นปลาเทพเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านหาดไคร้ ได้มีการจับปลาบึกเป็นอาชีพเสริมกันมายาวนานหลายร้อยปี

โดยก่อนและหลังจากที่มีการล่าปลาบึกนั้น ชาวบ้านจะทำการพิธีเลี้ยงผีหลวง หมายถึง ผีที่อยู่ในแม่น้ำ นอกจากนั้น จะทำการเลี้ยงผีย่านาง หรือผีที่พิทักษ์ลำเรือในขณะที่ออกจับปลา และ ในรายงานวิจัยว่า ปลาบึกในแม่น้ำโขงกำลังใกล้สูญพันธุ์ โดยดูจากสถิติพบว่า ในช่วงปี 2544-2546 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจับปลาบึกไม่ได้เลย และเพิ่งมาจับได้ในปี 2547 จำนวน 7 ตัว ซึ่ง รายงานวิจัยจาวบ้าน บอกว่า สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง อันเกิดจากการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศจีน

องอาจ เดชา/color]

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net