"ไชยันต์ รัชชกูล" วิเคราะห์รัฐประหาร-ร่างรธน.: เมื่อชนชั้นล่างมีส่วนแบ่งอำนาจมากเกินไป!

ไชยันต์ รัชชกูล และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มช.ร่วมกันเขียนบทความชิ้นล่าสุดถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2550... "ถึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา บรรยากาศและการใช้อำนาจบาตรใหญ่นี้ก็ยังคงไม่หมดไป การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการ "ให้ท้าย" ต่อบรรยากาศอันอึดอัดนี้ การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญเป็น มาตรการขัดขืนมาตรการหนึ่ง ถึงแม้จะไม่สามารถพลิกสถานการณ์คืนสู่บรรยากาศเสรีภาพได้แต่มีความหมายต่อความพยายามในขั้นต่อๆ ไป"

 


 

 "...ถึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา บรรยากาศและการใช้อำนาจบาตรใหญ่นี้ก็ยังคงไม่หมดไป การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการ "ให้ท้าย" ต่อบรรยากาศอันอึดอัดนี้ การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญเป็น มาตรการขัดขืนมาตรการหนึ่ง ถึงแม้จะไม่สามารถพลิกสถานการณ์คืนสู่บรรยากาศเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเรียกร้องต่างๆ ได้แต่การ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีความหมายต่อความพยายามในขั้นต่อๆ ไปที่จะให้บรรยากาศประชาธิปไตยกลับคืนมา..."

"...คำพูดของประธานาธิบดีอาเยนเด แห่งประเทศชิลีที่ถูกทหารทำรัฐประหารล้มไปในปี ค.ศ.1973 ที่กล่าวไว้ว่า "ทหารจะแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อศัตรูของประชาชนคือความหิวและความหนาว" นั้นจะยังคงเป็นอมตะวาจาไปอีกนาน"

 

 

เราใช้เหตุผลอะไร ในการตัดสินใจจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้? เหตุผลที่เสนอกันอยู่ทั้งในที่ลับและที่แจ้งมีอยู่สุดคณานับ แต่พอจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 2 ประเภท คือ (1) พิจารณาจากตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับร่าง กับ (2) พิจารณานอกเหนือไปจากตัวบทรัฐธรรมนูญ

การพิจารณาจากตัวบท ก็อาจจะทำโดยดูไปทั้งฉบับร่างและเรียงไปแต่ละมาตรา แล้วตัดสินกันทางเชิงคุณค่าว่า มีเนื้อหาสาระเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ในระดับใด (เช่นอย่างที่โฆษณากันกว้างขวางว่า ให้อำนาจกับองค์กรอิสระ ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ฯลฯ) ถ้าเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเลิศแก่การพัฒนาการเมืองและสังคมไทย ก็ต้องไปลงคะแนน "รับ" การพิจารณาในประเภทนี้ เป็นยุทธศาสตร์ของแนวของกลุ่ม ของคณะที่เกี่ยวข้องกับการร่างฯ หรือทางฝ่ายราชการเป็นหลัก

ถ้าใครจะ "ไม่รับ" ฝ่ายราชการก็จะถามกลับมาว่า อ่านหรือยัง เข้าใจหรือไม่ว่ามีอะไรดีบ้าง ไปลองเปรียบเทียบฉบับนี้กับฉบับอื่นดูหรือยังว่าที่เสนอมาให้นี้ยอดเยี่ยม และเหมาะสมกับการเมืองสังคมไทยขนาดไหน ฯลฯ ข้อความในประเด็นหลังนี้ชวนคิด อยู่หลายประเด็น คือ

ก. ที่ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคมไทยนั้น หมายถึงกลุ่มไหน อาชีพหรือกระทั่งชนชั้นไหนของสังคมไทย? คนในสังคมไทยมีผลประโยชน์และความคิด วัฒนธรรม ไปในทางเดียวกันเสมอไปหรือ?

ข. สิ่งที่ว่ายอดเยี่ยม เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่เข้าใจและถือปฏิบัติกันในประเทศประชาธิปไตยนั้น เป็นมาตรการเดียวกันกับของฝ่ายที่ประกาศว่าน่าจะรับรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ หรือไม่? 

ค. หรือว่า สังคมไทย วัฒนธรรมไทย ขอกลับไปที่คำถามข้อ ก.> ก็มีมาตรการของตนเอง เช่น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การพิจารณาจากตัวบทก็เป็นประเภทหลักประเภทหนึ่ง ผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ชาวบ้านร้านช่องจนถึงผู้สูงส่งทางการศึกษา สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้อยู่ในประเภทที่พิจารณาตามตัวบท หรืออย่างน้อยก็ไม่จำกัดการพิจารณาอยู่เฉพาะที่ตัวบท ฝ่ายราชการเองก็พิจารณาจากประเภทนี้เช่นกัน เช่น ด้วยเหตุผลว่า ควร "รับ" เพื่อที่จะได้มีการเลือกตั้ง "รับ" เพื่อบ้านเมืองจะได้ไม่วุ่นวาย หรือจนกระทั่งถึง "รับ" ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ภายหลัง สมควร หรือไหนๆก็เสียเงินเสียทองไปนับพันล้านกันแล้ว "รับ รับไปเถอะ"

การพิจารณานอกไปจากตัวบทร่างฯ

การพิจารณาในประเภท มาจากหลายแง่หลายมุม เช่น (ก) แง่มุมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพิจารณา"รัฐประหาร 19ก.ย." จากความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม (ข) แง่มุมทางการคาดการณ์ในอนาคต (ค) วาระซ่อนเร้นของร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่เบื้องหลังของตัวบทตามอักษร หรือ เจตนารมณ์ของการร่าง ไปจนกระทั่งถึง (ง) การพิจารณาที่อาจจะดูเหมือนไม่อยู่บนฐานของเหตุผล ตั้งแต่ความรู้สึกระแวงสงสัย โดยเฉพาะอำนาจของกองทัพ (บก)ที่จะคืนชีพมาอาละวาดบนเวทีการเมือง และการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆของประเทศ ไปจนถึง (จ) ความรู้สึกหมั่นไส้บุคคลหน้าไหว้หลังหลอกบางคนและพรรคการเมืองจอมกะล่อนบางพรรคซึ่งจะได้ประโยชน์ที่จะได้ดิบได้ดีจากรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้

ข้อเขียนนี้พยายามเสนอเหตุผล "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จากการพิจารณาประเภท เป็นหลัก

ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ

(1)  คำถามสำคัญที่จะเป็นฐานการพิจารณาคือ "รัฐประหาร 19 ก.ย." ต่างหรือเข้ารอยเดียวกันกับรัฐประหารครั้งอื่นๆอย่างไร?

 

ลักษณะเฉพาะของ "รัฐประหาร 19 ก.ย." ที่เกิดขึ้นจากขบวนการทางสังคม และทำให้มีแรงสนับสนุนจากประชาชนในเมือง (โดยเฉพาะในเมืองหลวง) รวมถึงสื่อสารมวลชน และนักวิชาการที่ได้ชื่อว่าเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาธิปไตย ทำให้ "รัฐประหาร 19 ก.ย." ประหนึ่งว่ามี "ความชอบธรรม" นั้น อันเป็นลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากรัฐประหารครั้งก่อนๆอย่างสิ้นเชิง แต่ลักษณะพิเศษนี้ทำให้ "รัฐประหาร 19 ก.ย." ต่างไปจากรัฐประหารและความพยายามทำรัฐประหารกันมาตั้งแต่ ปี 2576 (กบฏบวรเดช) หรือไม่?

 

ซึ่งกรณีนี้ เป็นปฏิกิริยาตอบโต้โดยตรงต่อความพยายามในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยซึ่งกำลังตั้งไข่หัดเดินอยู่ ซึ่งถ้ากองทหารนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ชนะ ก็จะนำระบอบราชาธิปไตยกลับคืนมา

 

ความพยายามที่จะย้อนกลับไปสู่การปกครองสมัยก่อนปี 2475 นั้นมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเงื่อนไข การเปลี่ยนแปลงของสังคม ผลพวงจากการต่อสู้ของผู้คนต่างๆระดับ ฯลฯ ทำให้การการย้อนกลับไปให้เหมือนสมัยเมื่อกว่า 75 ปีเป็นไปไม่ได้ แต่ความพยายามนี้คงอยู่ใน "สังคมไทย" บางช่วงก็แสดงอย่างเปิดเผย บางช่วงก็หลบซ่อนอยู่ มิได้หายไป จะหวนกลับมาเมื่อประสบโอกาส โดยมีตัวละครใหม่ เปลี่ยนและจับคู่เป็นพันธมิตรกันใหม่ ฯลฯ แต่แนวเรื่องนั้นคงเดิม หรือ ทำนองเพลงเดิม จะเปลี่ยนก็คือส่วนเนื้อร้อง หรือสำหรับคอเพลงคลาสสิก อุปมาอุปมัยการรัฐประหาร 19 ก.ย. ก็คือ A variation on the theme  

 

ไม่ว่าสาเหตุของรัฐประหารที่ให้ด้วยวาจาจะเป็นเช่นไร ตั้งแต่ การคืนพระราชอำนาจ (ปี 2476) ล้มทุจริตการเลือกตั้ง (ปี 2500) หยุดยั้งการขยายอำนาจของคอมมิวนิสต์ (ปี 2516) ปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ล้ม "บุฟเฟ่ต์คาบิเนท" (ปี 2534)   จนถึงล้ม "ระบอบทักษิณ" (ปี 2549) แต่เป้าหมายของรัฐประหารทั่วไปในสังคมไทยมาจากความขัดแย้งในระบอบการปกครองระหว่าง ระบอบที่ราษฎรเบื้องล่างมีส่วนแบ่งในการปกครอง (แม้จะแตกต่างกันในระดับต่างๆ) กับระบอบที่การปกครองเป็นกิจการของฝ่ายเบื้องบน ซึ่งเป็นอำนาจตามจารีตประเพณี ถือปฏิบัติมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงใน ปี 2475

 

ความขัดแย้งระหว่าง 2 ระบอบนี้ มิได้อยู่เฉพาะในสนามการเมือง และที่ยิ่งแคบไปกว่านั้น คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่อาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำคือ อยู่ในสนามความคิด ทัศนคติต่อแต่ละระบอบทั้งสอง  มีการสร้างทัศนคติให้ไม่ยอมรับ "ระบอบที่ราษฎรเบื้องล่างมีส่วนแบ่งในการปกครอง" อย่างแข็งขันตั้งแต่ในสื่อสารมวลชน วงการการศึกษา จนถึงกลุ่มญาติ เพื่อนฝูง มีการสร้างภาพและสืบต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอ ภาพที่สร้างขึ้นนั้นเป็นรูปที่ฝังใจและอยู่ความรับรู้ของคนทั่วไปว่า  ผู้แทนราษฎร เป็นพวกโกงกิน เป็นพวกไร้การศึกษา เป็นพวกที่ได้รับเลือกมาด้วยความฉ้อฉล ฯลฯ ราษฎรเองก็โง่เขลาเบาปัญญา ดีแต่จะซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ฯลฯ ต่างจากพวก "มีชาติมีตระกุล" "มีการศึกษา" "มีเจตนาดีต่อประเทศ" "รักชาติ" ความคิดและทัศนะทำนองนี้เป็นโลกทัศน์ทางการเมืองอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่บรรดาที่อยู่ในระบบราชการและชนชั้นกลางในเมืองหลวง

 

จริงอยู่ที่ความคิดทัศนะเช่นนี้มิใช่ว่าจะไม่มีเค้า หรือเป็นเรื่องที่กุขึ้นโดยไม่มีมูล แต่เป็นการขยายสัดส่วนให้เกินจริง หรือนำกรณีเฉพาะมาเป็นกรณีทั่วไป หรือนำความเป็นจริงในช่วงเวลาหนึ่งมากวาดใช้กับอีกช่วงเวลาอื่นๆ กรณีการเลือกตั้ง ๒ ครั้งหลัง (ปี 2544,2549) นั้น ถึงแม้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่กระนั้นก็ยังนำมาย้ำ มาขยายให้ใหญ่โตกันอยู่อย่างไม่หยุดไม่หย่อน

 

การบั่นทอน "ระบอบที่ราษฎรเบื้องล่างมีส่วนแบ่งในการปกครอง" จึงมาจากหลายทิศหลายทาง "ความสำเร็จ" ของ "รัฐประหาร 19 ก.ย." เป็นกรณีตัวอย่างที่พลังต้านระบอบนี้ต่างๆ พลังมาประสานเชื่อมกันอย่าง "ลงตัว" (ซึ่งนับนิ้วไปได้เลยตั้งแต่ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ ชนชั้นกลาง กองทัพ องคมนตรีบางคนที่คอยให้ท้ายพลังต่างๆ) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งช่วงใดที่ราษฎรมีส่วนแบ่งมาก ก็ยิ่งมีแรงต้านมาก เป็นสัดส่วนกัน

 

สำหรับบางคนแล้ว อาจจะเห็นว่า การนำความสลับซับซ้อนและปัญหาความขัดแย้งในมิติต่างๆ นานาสารพัดในสังคมไทยมาลดทอนให้เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ระบอบนี้เป็นการมองปัญหาอย่างง่ายๆและผิวเผินเกินไป ทำให้เรื่องยากลึกซึ้งเป็นเรื่องตื้นเขิน ข้อวิจารณ์อาจจะมีน้ำหนักเมื่อมองในระดับข้อเท็จจริง แต่เมื่อมองในด้านที่ว่า การจัดข้อมูลเพื่อการทำความเข้าใจนั้นต้องอาศัยการทำรูปธรรมให้เป็นนามธรรม

 

ซึ่งนามธรรมนี้ อยู่ในระดับต่างๆ ยิ่งการสรุปความที่มาจากข้อเท็จจริงมาก และในช่วงระยะเวลายาวนาน ระดับนามธรรมก็ยิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าถกเถียงกันในวงวิชาการ สำหรับข้อเขียนนี้ที่มุ่งแสดงเหตุผลทางการปฏิบัติการทางการเมืองและสังคม การเสนอความขัดแย้งหลัก 2 ขั้วนี้ก็สอดคล้องกับทางเลือก 2 ทาง ("รับ" หรือ "ไม่รับ") และปัญหาที่พิจารณาอยู่ ซึ่งอาจจะแสดงออกมาในรูปอื่นๆก็ได้ เช่น ความขัดแย้งระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตย ระหว่างอำนาจระบบราชการ (อำมาตยาธิปไตย) กับระบบรัฐสภา หรือย่อยลงไป คือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิยมทหารกับฝ่ายคัดค้านทหาร

 

พลัง 2 พลังนี้ ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

 

บางครั้ง "ระบอบที่ราษฎรเบื้องล่างมีส่วนในการปกครอง" ก็เป็นฝ่ายชนะ บางครั้งก็แพ้ ตัวอย่างที่แสดงให้ประเด็นนี้เห็นได้ชัดคือ ประวัติศาสตร์ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 กรณีนี้ ยกขึ้นมาประกอบทั้งด้วยเหตุผลที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนกว้างขวางมากกว่าช่วงอื่นๆ และเป็นช่วงที่พลังทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกันอย่างเข้มข้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ  

 

เมื่อฝ่าย "ระบอบที่การปกครองเป็นเรื่องของฝ่ายเบื้องบน" ชนะ ถึงแม้จะไม่สามารถถึงกับล้มเลิก "ส่วนแบ่งการปกครอง" ของราษฎรไปได้ทั้งหมด แต่อาจทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งชั่วคราว กระนั้นก็บั่นทอนพลังของราษฎรไป รัฐธรรมนูญที่เป็นผลมาจากการรัฐประหารจะมีลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องมา ซึ่งก็เป็นสาระแกนหลักของรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้เช่นกัน

 

สำหรับผู้ที่เห็นว่าราษฎรควรมี "ส่วนแบ่ง" แต่น้อยในการปกครอง ก็สมควรลงคะแนน "รับ" ร่างฯนี้

 

(1)    ข้อโฆษณาที่ว่า ร่างฯนี้ให้ "อำนาจองค์กรอิสระและประชาชนในการตรวจสอบควบคุม

รัฐ" ได้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ นั้น สามารถแตกเป็นประเด็นตอบโต้ได้ 3 ประเด็น คือ

 

ก. อำนาจดังกล่าวที่ทำในนามของการ "ตรวจสอบและทัดทาน" (check and balance) นั้น มิได้หมายความว่า จะเป็นการสนับสนุน "ส่วนแบ่ง" ในการปกครองของราษฎรเสมอไป ในแง่การปฏิบัติทางการเมือง (ซึ่งก็ไม่พ้นวิสัยความเป็นไปได้สำหรับการเล่นการเมืองในประเทศนี้) อาจจะเป็นการ "ยืมมือ" กลุ่มคนบางกลุ่มบั่นทอนการออกกฎหมายและการบริหารประเทศก็ได้ ซึ่งก็จะเข้าทางพลังของฝ่ายเบื้องบนของราษฎร

ข. สิทธิ เสรีภาพที่โฆษณากันกว้างขวางว่าขยายขึ้น ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นฯลฯ (ซึ่งตีฆ้องร้องป่าวกันสนั่น) นั้น ทำเสมือนมายื่นหมูยื่นแมวกับ การลดทอนการใช้สิทธิ เสรีภาพในการเลือกตัวแทนทั้ง ส.ส. และ ส.ว. (ซึ่งพยายามไม่ให้กระโตกกระตาก) นั้น เป็นการเลือกกันอย่างสมน้ำสมเนื้อหรือไม่?

สิทธิที่ "ถวาย" มาให้นั้น ในทางปฏิบัติ จะเป็นไปได้สำหรับคนบางกลุ่ม บางพวก แต่สิทธิในการเลือกตัวแทนทั้งเพื่อบริหารประเทศและออกกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้ตัวแทนเป็น "เส้นสาย" เป็น "ช่องทาง" ติดต่อกับราชการ หรือเรียกร้องของราษฎรนั้น เปรียบเทียบแม้แต่ในเชิงปริมาณกันแล้ว ก็เข้าทำนอง เอากอหญ้ามาแลกกับข้าวทั้งแปลงนา

ค. เหตุผลที่ลิดรอนสิทธิในการเลือกตัวแทนของราษฎรนั้น ก็อ้างด้วยเหตุผลว่า เพื่อแก้ปัญหา "ระบอบทักษิณ" แต่ประเด็นที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลทักษิณนั้นสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างไรและขนาดไหนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง ไม่ใช่เป็นประเด็นที่สรุปกันได้แล้ว หรือสรุปกันไปเอง ทักษิณหรือจะมีความสามารถถึงกับสร้างระบอบขึ้นมาได้? ลำพังจะรักษาของตนเองและครอบครัวก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว "ระบอบทักษิณ" เป็นหุ่นไล่กา ที่ชาวนาหัวใสไม่ได้ใช้หลอกแต่กับนกกา คนขวัญอ่อนจำนวนไม่น้อยก็ตกหลุมลวงนี้ไปด้วย  

สมมุติว่า ประเทศไทยยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะคาดการณ์ล่วงหน้าไปได้เลยหรือว่า จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่เกิดอย่างรัฐบาลที่แล้ว ? หรือว่า เป็นเพียงข้ออ้างที่จะทำให้ ระบอบที่ราษฎรเบื้องล่างมี ส่วนแบ่งในการปกครอง อ่อนแอลง ซึ่งแท้แล้วก็เป็นการกระทำที่เข้ารอยเดียวกับที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่างๆ กันไป ซึ่งก็มีตั้งแต่ความไม่พร้อมของสังคมไทย เพราะราษฎรยังด้อยการศึกษา ไม่พร้อม ไม่รู้จักประชาธิปไตย (ซึ่งพูดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7) ไปถึง การป้องกันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (ซึ่งพูดกันมากในสมัยรัชกาลที่ 9)

สำหรับผู้ที่เห็นว่าราชการควรมี "ส่วนแบ่ง" ในการปกครองให้มากขึ้น ก็สมควรลงคะแนน "รับ"ร่างฯ นี้

มูลเหตุของการรัฐประหารของไทย แท้แล้ว อยู่ในแบบแผนเดียวกันกับรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายๆ ประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา หาใช่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยแต่อย่างไรไม่ และลักษณะร่วม 2 ประการหลักของบรรดารัฐประหาร โดยทั่วๆ ไป คือ ดำเนินการโดยใช้กำลังทหาร และการลิดรอนพลังประชาธิปไตย สำหรับกรณีของไทยในครั้งนี้ มีลักษณะเฉพาะเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็คือ การที่ชนชั้นเบื้องบนผนึกกับกำลังทหารป้องกันไม่ให้ราษฎรและชนชั้นล่างมีส่วนแบ่งในอำนาจ "มากเกินไป" การมีส่วนแบ่งในอำนาจการปกครอง คือ กุญแจในการพิจารณา "รับ" หรือ "ไม่รับ"

ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งได้ว่า เหตุผลนี้ ไม่ใช่เหตุผลที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเหตุผลที่คัดค้านการรัฐประหาร คำตอบต่อข้อโต้แย้งนี้ มี 3 ข้อ คือ

ก.ถ้ามีเสียงคัดค้าน ไม่ยอมรับ ร่างรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะอย่างท่วมท้น หรือ ก้ำกึ่งกับเสียงที่ยอมรับ)  เสียงเหล่านั้นย่อมหมายถึงการปฏิเสธร่างฯที่โฆษณาว่ามี "ข้อดี" ก็ในเมื่อ ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อดีถึงขนาดนี้ แล้วยังไม่รับ ย่อมมีนัยยะถึงว่า การปฏิเสธมาจากการพิจารณานอกตัวบท ซึ่งความหมายสำคัญก็คือ การปฏิเสธการล้มรัฐธรรมนูญฉบับก่อน(2540) หรือการไม่ยอมรับ รัฐประหารอันนำมาสู่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

ข.อาจมีคนตั้งคำถามสวนกลับว่า รัฐประหารเกิดขึ้นมาจะครบปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมาคัดค้านกันตอนนี้   

คำตอบหนึ่งก็คือ การต่อต้านรัฐประหาร หรือการหักหาญการกระทำรัฐประหาร นั้นเป็นความเสี่ยง เป็นอันตราย ตั้งแต่ทางกายภาพ ทางอิสรภาพ ฯลฯ ซึ่งเรียกร้องความกล้าหาญและเสียสละที่คนน้อยคนจะมีอยู่หรือให้ได้ บุคคลที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเทิดทูนประชาธิปไตยยิ่งชีพ เฉกเช่น คุณลุงไพรวัลย์ นวมทอง นั้นหาได้ยากอย่างยิ่งในประเทศนี้ การลงประชามติครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่อย่างน้อยก็จะแสดงเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในวิสัยของทุกคนที่จะทำได้

 

ค.ลำดับต่อไป อาจมีคนตั้งคำถามสวนกลับว่า จริงอยู่ที่การก่อการรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ไร้อารยธรรม(ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมิได้เป็นเช่นนั้นอย่างในอดีตแล้ว?) หรืออย่างน้อยที่สุดก็มิใช่วิธีแก้ปัญหาของชนชาติที่ใช้สติปัญญา (อย่างเช่นชนชาติไทย?) แต่ก็อาจนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ "ดี" ก็ได้ เรื่องราวของโจรกลับใจก็มีอยู่เนืองๆ ผู้ร้ายฆ่าคน นักเลงพนัน ที่ห้อยพระเต็มคอเป็นปรากฏการณ์สามัญ

 

การเปรียบเทียบอาจจะเป็นเพียงโวหารจากข้อสรุปอยู่แล้ว ประเด็นอยู่ที่ว่า  "รัฐประหาร 19 ก.ย." มิได้ล้มล้างเฉพาะรัฐธรรมนูญ แต่คณะทหารและผู้ปกครองยังได้สร้างบรรยากาศ(ที่ข่มและขู่)ให้ราษฎรตกอยู่ในความเกรงและความกลัว (แม้กระทั่งการลงประชามติก็ยังคงบรรยากาศนี้อยู่ ตลอดจนการยืนยันอำนาจเต็มในการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกในหลายจังหวัด ท่ามกลางการป่าวประกาศว่า "รัฐบาลนี้สนับสนุนประชาธิปไตย") บรรยากาศนี้ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับรัฐธรรมนูญหรือสร้างขึ้นมาจากการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาจากการใช้อำนาจทั้งใต้ดินบนดินจากคณะทหารและฝ่ายผู้ปกครอง ก่อผลให้เป็นความรู้สึก เป็นสภาพทางจิตวิทยาที่มีเงาทะมึนครอบอยู่

 

ถึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา บรรยากาศและการใช้อำนาจบาตรใหญ่นี้ก็ยังคงไม่หมดไป การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการ "ให้ท้าย" ต่อบรรยากาศอันอึดอัดนี้ การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญเป็น มาตรการขัดขืนมาตรการหนึ่ง ถึงแม้จะไม่สามารถพลิกสถานการณ์คืนสู่บรรยากาศเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเรียกร้องต่างๆ ได้แต่การ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีความหมายต่อความพยายามในขั้นต่อๆ ไปที่จะให้บรรยากาศประชาธิปไตยกลับคืนมา

สำหรับผู้ที่เห็นว่าทหารควรจะอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการปกครอง ก็สมควรลงคะแนน "รับ" ร่างฯนี้

 

บรรดาทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือแม้กระทั่งพม่า ก็เคยมีเครดิต มีศักดิ์ศรีของประเทศ ในฐานะที่เคยเสียสละเลือดเนื้อ ต่อสู้อาณานิคมบ้าง ป้องกันศัตรูผู้รุกรานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้าง บางประเทศก็ไม่เคยมีเครดิตอะไรที่จะเป็นความภาคภูมิใจอะไรได้เลย เช่นบางประเทศ  เช่น ประเทศฟิจิ ประเทศอูกันดา และบางประเทศในดินแดนอุษาคเนย์

คำพูดของประธานาธิบดีอาเยนเด แห่งประเทศชิลีที่ถูกทหารทำรัฐประหารล้มไปในปี ค.ศ.1973 ที่กล่าวไว้ว่า "ทหารจะแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อศัตรูของประชาชนคือความหิวและความหนาว" นั้นจะยังคงเป็นอมตะวาจาไปอีกนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท