Skip to main content
sharethis


ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้


ชื่อบทความเดิม : การสร้างวิหารแห่งสันติภาพและความมั่นคงเพื่อจัดการปัญหาความรุนแรง


ที่มา : http://www.deepsouthwatch.org/index.php?l=content&id=240


หมายเหตุ : ดัดแปลงจาก David J. Kilcullen "Three Pillars of Counterinsurgency." Remarks delivered at the U.S. Government Counterinsurgency Conference, Washington D.C., 28 September 2006 


 


 


สภาพนิเวศวิทยาของความขัดแย้ง


การก่อความไม่สงบคือการต่อสู้เพื่อควบคุมพื้นที่ทางการเมืองที่อยู่ในภาวะแก่งแย่งแข่งขันกันระหว่างรัฐ (หรือกลุ่มรัฐ) และกลุ่มท้าทายรัฐกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือหลายๆ กลุ่ม โดยที่กลุ่มเหล่านี้มีฐานการสนับสนุนของประชาชน การก่อความไม่สงบเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่เติบโตพัฒนาการมาจากเครือข่ายทางสังคมและดำเนินการโดยผ่านเครือข่ายทางสังคมที่เกิดขึ้นมาก่อนการเกิดเหตุการณ์ (อาจจะเป็นหมู่บ้าน เผ่า ครอบครัว กลุ่มละแวกบ้าน กลุ่มทางการเมืองหรือศาสนา) และการก่อความไม่สงบนี้จะดำรงอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคม อยู่ในสภาพเงื่อนไขของความไม่เป็นทางการและสภาพทางวัตถุที่มีความซับซ้อน เราจึงควรจะมองสภาวะแวดล้อมเหล่านี้เหมือนกับระบบนิเวศในอีกแบบหนึ่ง


 


การก่อความไม่สงบจึงรวมเอากิจกรรมและบทบาทของตัวแสดงที่มีความเป็นอิสระแต่มีความเชื่อมโยงกัน แต่ละคนก็มุ่งแสวงหาหนทางที่ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อความอยู่รอดและผลประโยชน์ตอบแทนในสภาพแวดล้อมที่สับสนอลหม่าน และปะทะเผชิญหน้ากัน เมื่อตกอยู่ในเงื่อนไขที่เปรียบเสมือนสภาพแวดล้อมแห่งระบบนิเวศทางชีวภาพ ตัวแสดงเหล่านี้มีพัฒนาการและมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง บ้างก็แสวงหาความชำนาญพิเศษที่จะทำให้ตัวเองอยูรอดปลอดภัยอย่างมั่นคง ในขณะที่ตัวแสดงตัวอื่นกลายเป็น "นักล่า" ในสภาพแวดล้อม ตัวแสดงบางตัวดำรงอยู่แล้วในสภาพแวดล้อมก่อนเกิดความขัดแย้ง พวกนี้ประกอบไปด้วยการปกครอง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเผ่าพันธุ์ กลุ่มเครือญาติสายตระกูล หรือชุมชน กลุ่มทางชนชั้น ทั้งประชากรในเมืองและในชนบท และสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ในห้วงเวลาปกติ ตัวแสดงเหล่านี้จะประพฤติตนในแบบที่มีทั้งความร่วมมือร่วมใจกันและแข่งขันกันในบางครั้ง แต่ในขณะนี้ เนื่องจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง พวกเขาหันมาเผชิญหน้าปะทะสู้รบกันและทำลายล้างกัน การแข่งขันกันอย่างสงบสันติและความตึงเครียดแบบสร้างสรรค์ซึ่งรักษาสังคมไว้ในภาวะปกติได้ถูกปั่นให้เกินเลยขอบเขตของการควบคุม ความขัดแย้งได้กลายเป็นตัวคุกคามทำลายสังคมทั้งสังคม


 


สภาพแวดล้อมใหม่นี้ยังอาจจะทำให้เกิดตัวแสดงใหม่ด้วยแม้สภาพนี้ยังไม่เกิดในประเทศไทย คนพวกนี้ประกอบไปด้วยองค์กรจัดตั้งกองกำลังอาวุธในท้องถิ่นและกลุ่มติดอาวุธต่างชาติที่ถูกดึงเข้ามาสู่ความขัดแย้งจากภายนอก บ่อยครั้งที่องค์กรเหล่านี้รวมถึงกองกำลังต่อต้านความไม่สงบของประเทศต่างชาติ (เช่นสหรัฐอเมริกาในกรณีอิรัก) ผู้ก่อการร้ายต่างชาติเป็นตัวเพิ่มความขัดแย้งและทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนไปจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งเพื่อดำเนินการตามวาระของตนเอง นอกจากนี้ความขัดแย้งยังอาจจะทำให้เกิดผู้ลี้ภัย ผู้ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน และบางครั้งเกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจำนวนมหาศาล มันทำให้เกิดการโยกย้ายฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสภาวะการว่างงาน อาชญากรรม และได้สร้างกลุ่มติดอาวุธต่างๆเช่นกลุ่มโจร กลุ่มนักค้ายาเสพติด กลุ่มนักค้าของเถื่อนและนักค้าในตลาดมืด   


 


สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องยอมรับว่า "รัฐหรือกองกำลังของรัฐซึ่งเป็นผู้ต่อต้านการก่อความไม่สงบมิได้อยู่นอกระบบนิเวศนี้" กองกำลังของรัฐก็อยู่ในระบบดังกล่าวด้วย เวทีของการปฏิบัติการสงครามจึงมิใช่แผ่นผ้าใบที่รัฐเป็นผู้ถือพู่กันละเลงงานศิลปะฝ่ายเดียว แต่มันเป็นระบบแห่งสิ่งมีชีวิตที่มีพลวัตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสนองตอบการกระทำของฝ่ายรัฐและจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินความสมดุลระหว่างการแข่งขันต่อสู้ของพลังฝ่ายต่างๆอย่างต่อเนื่อง (รวมทั้งกองกำลังเฉพาะกิจของรัฐด้วย!)


 


สิ่งที่ทำให้ตัวแสดงบทบาทการต่อต้านการก่อความไม่สงบแตกต่างไปจากฝ่ายอื่นก็คือเจตนาหรือความมุ่งหมาย ฝ่ายต่อต้านการก่อความไม่สงบจะเหมือนกับตัวแสดงฝ่ายอื่นๆ ก็คือต้องการจะเพิ่มโอกาสความอยู่รอดและอิทธิพลของฝ่ายตนให้มากที่สุด และขยายพื้นที่ซึ่งฝ่ายตนเองควบคุมอยู่ แต่สิ่งที่ต่างกับตัวแสดงฝ่ายอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ก่อความไม่สงบ) ก็คือ ฝ่ายต่อต้านการก่อความไม่สงบมีเจตนาที่จะลดปัจจัยแห่งการทำลายล้าง การปะทะเผชิญหน้า และพยายามทำให้ระบบกลับไปสู่ภาวะปกติที่มีปฏิสัมพันธ์ในสังคมแบบแข่งขันกันอย่างสงบสันติ ลักษณะเช่นนี้บางครั้งเราเรียกว่า "การนำไปสู่ประชาธิปไตย" แต่แน่นอนว่ากระบวนการประชาธิปไตยที่ไร้รากฐานอันแข็งแกร่งของประชาสังคมอาจจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ และความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น ดังนั้นไม่ว่าเป้าหมายทางการเมืองจะเป็นเช่นใด วัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติของการต่อต้านการก่อความไม่สงบก็คือทำให้เกิดมาตรการการควบคุมในสภาพแวดล้อมทั้งหมด ในสภาวะระบบนิเวศที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยตัวแสดงหลายตัวเช่นว่า คำว่า "การควบคุม" ไม่ได้หมายความถึงการบังคับให้เกิดระเบียบด้วยการครอบงำอย่างไม่มีการตั้งคำถาม แต่หมายความถึงการทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน

การอธิบายเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าการต่อสู้กับความรุนแรงก่อความไม่สงบจะใช้แต่ความอ่อนนุ่ม ละเว้นการใช้ความรุนแรงและไม่เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม สงครามครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้แข่งขันกันถึงเป็นถึงตาย ฝ่ายแพ้จะถูกเบียดขับออกไปอยู่ตรงชายขอบ ไม่ได้รับการสนับสนุนและถูกทำลายในที่สุด ตัวแสดงทุกตัวก็ใช้การต่อสู้ถึงชีวิตเพื่อควบคุมประชากร ดังนั้น เท่าที่รู้กันมา ยังไม่มีวิธีการใดในการต่อต้านการก่อความไม่สงบโดยไร้ซึ่งการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของฝ่ายตรงข้าม จึงมักจะมีการฆ่าเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การฆ่าฟันฝ่ายตรงข้ามมิได้เป็นวัตถุประสงค์แต่เพียงประการเดียว และในสภาวะแวดล้อมของการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่มีปฏิบัติการในหมู่ประชาชน การใช้กำลังมักจะตามมาด้วยการทำให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชากรเกิดความหมางเมินแปลกแยก เกิดความรู้สึกเป็นศัตรูต่อกัน และเกิดผลกระทบตามมาอย่างไม่ได้คาดคิดไว้ ในทางการเมือง ยิ่งใช้กำลังมาก การรณรงค์ทั้งทางการเมืองและการทหารก็ยิ่งอยู่ในภาวะอันเลวร้าย เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะอยู่ตรงที่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในสภาพชายขอบและเอาชนะด้วยควบคุมเหนือพื้นที่ทางการเมืองและสังคมในอาณาบริเวณที่เกิดความขัดแย้งกัน





 


กรอบความคิดในการจัดการกับการก่อความไม่สงบและความรุนแรง


กรอบความคิดนี้ช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นว่าความพยายามของตนอยู่ตรงที่จุดไหน กรอบดังกล่าวยังเป็นตัวช่วยในการวัดความก้าวหน้า และตัวช่วยการประสานงาน ตัวแบบไม่ใช่เพียงแค่ใช้ได้แต่การต่อต้านการก่อความไม่สงบ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ การสร้างเสถียรภาพและการฟื้นฟูบูรณะ และการช่วยเหลือเยียวยาทางมนุษยธรรม ตัวแบบประกอบด้วยฐาน (ข่าวสารข้อมูล) เสาหลักสามเสา (ความมั่นคง การเมืองและเศรษฐกิจ) และส่วนหลังคา (การควบคุม) แนวทางนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีคลาสสิคในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ แต่ก็เอาบทเรียนการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาสันติภาพ การพัฒนา บทเรียนของรัฐที่อ่อนแอและประสบการณ์จากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดในอดีตหลายทศวรรษที่ผ่านมาจากหลายประเทศทั่วโลก


 


ภายในตัวแบบสามเสาหลักเพื่อสร้างวิหารแห่งสันติภาพ ข่าวสารข้อมูลเป็นพื้นฐานสำหรับกิจกรรมทั้งหมด เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ความรู้สึก (perception) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการระบบควบคุมและการมีอิทธิพลเหนือกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ มาตรการในด้านความมั่นคง การเมืองและเศรษฐกิจแม้จะมีความสำคัญแต่จะมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนฐานหรือถูกบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสาร การกระทำทุกอย่างในการต่อต้านการก่อความไม่สงบจะเป็นการส่งข่าวสารข้อมูลออกไปสู่ประชาชน


 


เป้าประสงค์ของการรณรงค์ด้านข้อมูลข่าวสารก็จะต้องบูรณาการกับการส่งสารเหล่านี้ มาตรการดังกล่าว อาจจะรวมไปถึงการเก็บข้อมูลการข่าว การวิเคราะห์และกระจายข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ปฏิบัติการด้านสื่อสารมวลชน และมาตรการเพื่อตอบโต้กับแรงจูงใจ การสนับสนุนและอุดมการณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบ องค์ประกอบของตัวแบบนี้ยังรวมถึงการพยายามที่จะเข้าใจสภาพนิเวศสังคมโดยผ่านข้อมูลสถิติประชากร การทำสำรวจความคิดเห็น การเก็บข้อมูลเชิงวัฒนธรรมและข้อมูลเกี่ยวกับตัวคนหรือข้อมูลใน "พื้นที่ของความเป็นมนุษย์" ในเขตต้องห้าม และมันยังรวมความไปถึงการทำความเข้าใจผลกระทบจากการปฏิบัติการของรัฐในกลุ่มประชากร ผลที่ทำให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งและสภาวะแวดล้อม เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่ตัวแสดงทุกตัวจะร่วมมือกระทำการในยุทธศาสตร์นี้ แต่ตราบใดที่ฐานของข้อมูลข่าวสารยังไม่ได้รับการพัฒนา เสาหลักอื่นๆของการต่อต้านการก่อการร้ายก็จะไม่มีประสิทธิผล ที่สำคัญก็คือการปฏิบัติการรณรงค์ด้านข่าวสารข้อมูลจะต้องดำเนินการทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เพราะผู้ก่อความไม่สงบในปัจจุบันอาศัยเครือข่ายระดับโลกในการเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ การสนับสนุน เงินทุนและการสรรหาบุคลากร


 


ต่อมาสิ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของข่าวสารข้อมูลนี้ก็คือเสาหลักสามเสาซึ่งทั้งสามหลักนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้าไม่มีการพัฒนาทั้งสามเสาแบบคู่ขนาน การรณรงค์ก็จะไม่สมดุล ตัวอย่างเช่นถ้าเน้นการพัฒนาโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมากโดยไม่มีความมั่นคง ก็จะเหมือนกับการสร้างเป้าการโจมตีที่มีความอ่อนแอในตัวเองในจำนวนมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการเน้นความมั่นคงมากเกินไปโดยไม่มีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองและระบบธรรมาภิบาลก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มติดอาวุธก่อความไม่สงบ ในการพัฒนาเสาแต่ละเสา เราวัดได้จากความมีประสิทธิผล (สมรรถนะและศักยภาพ) และความชอบธรรม (ระดับที่ประชากรยอมรับว่าการกระทำของรัฐเป็นสิ่งที่สอดคล้องตามผลประโยชน์ของตน)


เสาหลักแห่งความมั่นคงประกอบด้วยความมั่นคงทางการทหาร (การปกป้องประชากรจากการโจมตีหรือข่มขู่คุกคามโดยกองกำลังสงครามจรยุทธ์ กลุ่มโจร ผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ) และความมั่นคงในการตำรวจ (ตำรวจชุมชน การข่าวตำรวจ งานข่าวสันติบาล และกองกำลังติดอาวุธภาคสนามของตำรวจ)


 


ความมั่นคงนี้ยังรวมไปถึงความมั่นคงมนุษย์ การสร้างกรอบของสิทธิมนุษยชน สถาบันภาคพลเมือง การปกป้องคุ้มครองปัจเจกบุคคล การป้องกันสาธารณภัย (ป้องกันไฟ รถพยาบาล อนามัยชุมชนและการป้องกันภัยภาคพลเรือน) และความมั่นคงของประชากร เสาหลักอันนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้บัญชาการหน่วยทหารมากที่สุด แต่บทบาทของเครื่องมือทางการทหารมีความสำคัญทั้งระบบไม่เพียงแค่เสาหลักด้านความมั่นคง ในขณะที่กิจกรรมของฝ่ายพลเรือนก็มีความสำคัญในเสาหลักความมั่นคงเช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงมิใช่ฐานสำคัญของความก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกัน ความมั่นคงก็ไม่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจเช่นกัน ทั้งสามเสาหลักจะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนา "ในแบบคู่ขนานกัน" ไป และจะต้องอยู่อย่างสมดุล ในขณะที่ตั้งอยู่บนฐานอันเข้มแข็งของการรณรงค์ด้านข่าวสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล


 


เสาหลักทางการเมืองเน้นหนักที่ระดมการสนับสนุน การสร้างความชอบธรรมและประสิทธิผลจะเป็นมิติสำคัญที่สุดที่เสานี้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยความพยายามที่จะระดมผู้มีส่วนได้เสียมาสนับสนุนการปกครอง เบียดขับให้ผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆไปอยู่ชายขอบ ขยายขอบเขตของธรรมาภิบาล และสืบสานการปกครองด้วยกฎหมาย ปัจจัยที่สำคัญก็คือการสร้างศักยภาพทางสถาบันในทุกองค์กรของการปกครอง และสถาบันภาคพลเมืองที่ไม่ใช่ของรัฐ และสร้างบูรณาการทางสังคมให้เกิดขึ้นใหม่เช่นการปลดอาวุธ การลดการระดมกำลังทางทหารและสร้างบูรณาการใหม่ให้กับนักรบฝ่ายก่อความไม่สงบ เสาหลักของฝ่ายการเมืองเป็นเวทีสำคัญของความพยายามทำให้เกิดความช่วยเหลือทางการฑูตและสร้างธรรมาภิบาลฝ่ายพลเรือน


 


เสาหลักทางเศรษฐกิจรวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาทางมนุษยธรรมเฉพาะหน้าและโครงการพัฒนาในระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ความช่วยเหลือในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งระบบ นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยสร้างศักยภาพของสังคมในการรับการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก


 


เสาหลักทั้งสามเสาจะเป็นตัวค้ำจุนวัตถุประสงค์ใหญ่ก็คือการควบคุม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของการต่อต้านความรุนแรง เป้าหมายจึงมิใช่เพียงแค่การสร้างเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ และถึงแม้ว่าเราจะแสวงหาเสถียรภาพ รัฐจะต้องใช้มันเป็นแค่เครื่องมือไปสู่จุดหมายอื่น เป็นก้าวๆหนึ่งเพื่อการรักษาสถานะการควบคุมในสภาวะแวดล้อมที่ไร้การควบคุม มิใช่ว่าจะใช้เสถียรภาพเพื่อเป็นเป้าหมายในตัวเอง


 


กล่าวโดยสรุป ในการทำงานให้บรรลุผลถึงการควบคุมความรุนแรง รัฐบาลจะต้องพยายามจัดการให้เกิดจังหวะหรือกระแสของกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมระดับความรุนแรง และรักษาระดับของเสถียรภาพในสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศทางสังคม เจตนารมณ์ของการต่อต้านความไม่สงบมิใช่ลดความรุนแรงให้ถึงระดับศูนย์ หรือฆ่าผู้ก่อความไม่สงบทุกคน แต่อยู่ที่การนำระบบกลับไปสู่สภาพปกติ รัฐบาลไม่ใช่เพียงแค่สถาปนาการควบคุม แต่เสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการควบคุมทางสังคมและเปลี่ยนมันให้เป็นสถาบันที่ยั่งยืน มีประสิทธิผลและมีความชอบธรรม


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net