Skip to main content
sharethis

17 .. 52 - เมื่อเวลา 10.00 น.โดยประมาณ ที่ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) นำโดย นายรอมซี ดอฆอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้และทีมงานได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยความเป็นนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่พี่น้องประชาชนสะท้อนปัญหาให้ได้รับรู้มากที่สุดอย่างไว้ใจในความเหมือน ทำให้รู้ถึงความต้องการของประชาชนมาในระดับหนึ่ง คิดว่า ถ้ารัฐบาลเปิดใจรับพิจารณาในข้อเสนอข้างต้นนี้ คงไม่มากก็น้อยที่ส่งผลให้ลดความสูญเสียได้ และอาจจะทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เร็วขึ้นก็เป็นได้


 






 


ที่ สนน.จชต. / พิเศษ                                                                               


 


องค์การบริหารนักศึกษาองค์การนักศึกษา


ตึกกิจกรรมนักศึกษา ชั้น 3


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000


 


17 มกราคม 2552


 


เรื่อง      ข้อเสนอในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


เรียน     ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี


 


สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน และเริ่มปะทุทางการทหารอย่างรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนมาถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ.2552 ก็เป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ที่ประชาชนได้รับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงและหวาดกลัว ปราศจากหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิต ประชาชนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมโจรอย่างง่ายดาย ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและกลไกสิทธิมนุษยชนได้ มีการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยบังคับให้รับสารภาพ โดยเจ้าหน้าที่มีการสังหารประชาชนนอกระบบยุติธรรม และมีการคุกคามลิดรอนสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนและนักศึกษาที่พยายามเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้กับพี่น้องประชาชนได้คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของตนเอง ด้วยการทำกิจกรรมอบรมส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน


 


ความจริงของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่มาจากการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบอย่างเดียว อันนี้รัฐบาลเองก็รู้ดี ความจริงก็คือปัญหามันเกิดขึ้นทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และศาสนา ล้วนแล้วมีปัญหาทั้งสิ้น เพราะความเป็นอัตลักษณ์ของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา ทำให้ระบบโครงสร้างการปกครองของรัฐที่เน้นการปกครองส่วนภูมิภาคไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ แต่ความผิดก็ไม่ใช่อยู่ที่ อัตลักษณ์ของประชาชน รัฐต่างหากจะต้องหาทางแก้ไข


 


ด้วยความที่รัฐบาลปัจจุบันนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกของการบริหารประเทศว่าด้วยความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จะจัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์และแนวทาง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม กำหนดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมฮาลาล นอกจากนั้นกำหนดเป็นเขตพัฒนาพิเศษตามความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


จะเห็นได้ชัดว่า ตามเนื้อหานโยบายข้อที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ รัฐบาลไม่เคารพในสิทธิทางศาสนาของพี่น้องประชาชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด เพราะมุสลิมทุกคนเป็นที่ต้องห้ามในการกินดอกเบี้ย ไม่ว่าจะสูงหรือจะต่ำอย่างไรก็ตาม


 


ทั้งนี้ ตามที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) เป็นองค์กรนักศึกษาในพื้นที่ที่สัมผัสกับปัญหาด้วยตัวเอง และได้รับรู้ถึงความทุกข์ของชาวบ้านจากการร้องเรียนมาโดยตลอด จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้


 


1.    ปัญหาทางการเมือง


1.1) รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด โดยการส่งเสริมให้เกิดองค์กรภาคประชาชน ตามสิทธิเสรีภาพและความต้องการของตนเอง


1.2) รัฐบาลต้องให้ "การทหารตามการเมือง" ให้ได้อย่างแท้จริง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่มีความหมายตามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความหมายเป็นบรรทัดฐาน นั่นคือ สิทธิมนุษยชนหมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม


                   สนธิสัญญาเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาประกอบเป็นพันธกรณีที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอยู่รวม ๖ ฉบับด้วยกัน คือ


·       อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ [Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD)]


·       อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี [Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)]


·       อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและพิธีสารเลือกรับ [Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW), Optional Protocol]


·       อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก [Convention on the Rights of the Child (CRC)]


·       กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)]


·       กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม [UN International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)]


1.3) ยกเลิกกฎอัยการศึก พระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพื่อเปิดช่องทางให้ได้ใช้แนวทางสันติวิธีกันอย่างแท้จริง


1.4) สร้างความมั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรมโดยดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดีอิหม่ามยะผา คดีนักศึกษาราชภัฎยะลา และคดีอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน


 


2.    ปัญหาทางเศรษฐกิจ


2.1) ยกเลิกนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการสร้างเขื่อนสายบุรี


2.2) ส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเอง ป้องกันการเป็นแรงงานข้ามชาติอย่างไม่จำเป็น


เช่น  การประมงชายฝั่ง ป่าชายเลน


       การทำสวนผลไม้


       การทำสวนยางพารา


       การทำนา


2.3) ควบคุมราคายางพาราและผลิตผลทางการเกษตรให้เหมาะสมกับมาตรฐานราคาตลาดโลก


 


3.    ปัญหาทางสังคม


3.1) ปราบปรามยาเสพติดอย่างถอนรากถอนโคนอย่างจริงจัง


3.2) มีมาตรการรองรับอย่างชัดเจนต่อผลพวงจากความสูญเสียผู้นำครอบครัวจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยไม่แยกว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ข้างรัฐหรือข้างขบวนการ


3.3) เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีระบบการศึกษาที่หล่อหลอมลูกหลานให้เป็นคนดีทันสถานการณ์โลกและมีภูมิคุ้มกันกับภัยคุกคามจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนได้มีโรงเรียนตาดีกา


 


4.    ปัญหาทางวัฒนธรรม


4.1) ส่งเสริมการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เกี่ยวกับภาษาและการแต่งกาย


4.2) เผยแพร่วัฒนธรรมของคนในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสาธารณชน บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่


 


5.    ปัญหาทางศาสนา


ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาในสถาบันปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ทางศาสนาในการควบคุมสังคมให้ห่างไกลจากความลุ่มหลงในอบายมุข โดยคนในพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการและกำหนดหลักสูตร ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ


 


ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยความเป็นนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่พี่น้องประชาชนสะท้อนปัญหาให้ได้รับรู้มากที่สุดอย่างไว้ใจในความเหมือน ทำให้รู้ถึงความต้องการของประชาชนมาในระดับหนึ่ง คิดว่า ถ้ารัฐบาลเปิดใจรับพิจารณาในข้อเสนอข้างต้นนี้ คงไม่มากก็น้อยที่ส่งผลให้ลดความสูญเสียได้ และอาจจะทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เร็วขึ้นก็เป็นได้


 


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


 


ด้วยจิตรักสันติภาพ


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


 


 


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net