Skip to main content
sharethis

ในวาระวัน 'นักบะห์' ของปาเลสไตน์ ประชาชนใน กทม. เดินขบวน 3 สถานทูต อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนด้านเงินทุน อาวุธ และกำลังพลให้อิสราเอลโจมตี 'กาซา' ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ แสดงพลังไม่ใช่ทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่พวกเขาทำ

 

23 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อ 19 พ.ค. 2567 เนื่องในวาระวัน ‘นักบา’ (Nakba) มีการเดินขบวนของประชาชนในปกรุงเทพฯ ไปยัง 3 สถานทูต ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐฯ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือประเทศเหล่านี้ต้องยุติการสนับสนุนประเทศอิสราเอล ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา

สำหรับเดือน พ.ค. ของทุกปี ชาวปาเลสไตน์ยึดถือเป็นเดือนแห่ง ‘นักบา’ หรือ ‘นักบะห์’ ในภาษาอาระบิก หมายถึง ‘เดือนแห่งหายนะ’ เพราะว่าย้อนไปเมื่อปี 2491 หรือ ค.ศ. 1948 ซึ่งเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทดินแดนระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ และทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนราว 720,000-750,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเกิด และเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทและสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนปัจจุบัน

ย้ำเตือนความผิดในอดีต

‘ภาคย์’ กล่าวว่า วันนี้มีการเดินไปยัง 3 สถานทูต โดยการเดินไปที่สถานทูตอังกฤษ และเยอรมนี ไม้ได้มีข้อเรียกร้องถึงพวกเขาโดยตรง แต่เป็นการสร้างความตระหนักรู้ และย้ำเตือนถึงความผิดในอดีตของทั้ง 2 ประเทศ

“วันนี้เป็นวาระของวัน ‘นักบะห์’ ที่เกิดการขับไล่คนปาเลสไตน์ ออกจากบ้านเกิดของเขาเมื่อปี 1948 (พ.ศ. 2491) และนำไปสู่การฆ่าคนปาเลสไตน์จำนวนมาก เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มันเกิดจากจักรวรรดินิยมอังกฤษใช้อำนาจในการตัดแบ่งดินแดนของรัฐใต้อาณานิคม” ภาคย์ ชี้ด้วยว่า สิ่งที่อังกฤษได้ทำลงไป ยังขัดกับกฎบัตรของสหประชาชาติ (UN) เพราะว่าคนท้องถิ่นต้องมีสิทธิที่จะได้เลือกการปกครองของตัวเอง ไม่ใช่แค่ให้เจ้าอาณานิคมมาตัดแบ่งดินแดนแบบนี้

ผู้จัดงาน ระบุด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของอังกฤษมีการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องสันติภาพในปาเลสไตน์ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ริซี สุนัก ยังไม่ได้มีท่าทีในการยุติการส่งอาวุธให้อิสราเอล และมีการระงับการช่วยเหลือสำนักงานของสหประชาชาติสำหรับบรรเทาทุกข์และจัดหางานของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา และสำคัญต่อการอยู่รอดของปาเลสไตน์

ทั้งนี้ บีบีซีไทย ซึ่งเป็นสื่อสังกัดของรัฐบาลอังกฤษเคยรายงานเมื่อ 30 ม.ค. 2567 ระบุว่า หลายชาติเคยระงับการช่วยเหลือ UNRWA เนื่องจากเอกสารข่าวกรองอิสราเอลมีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่บางส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอล เมื่อ 7 ต.ค. 2566 นอกจากนี้ ยังไม่พบรายงานว่ารัฐบาลอังกฤษจะกลับมาสนับสนุน UNRWA อีกครั้งเมื่อไร

เยอรมนี ต้องหยุดปราบกลุ่มหนุนสันติภาพปาเลสไตน์

ภาคย์ ระบุว่า การเดินไปสถานทูตเยอรมนีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกคือเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีต้องยุติการปราบปรามกลุ่มประชาชนทั้งชาวอาหรับ ชาวยิว รวมถึงชาวเยอรมนี ในการออกมาเรียกร้องสันติภาพในปาเลสไตน์

“พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปราม และมีการคุกคามนักเคลื่อนไหว และโดนปรับค่อนข้างแรง เพราะว่ามันมีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยๆ ในเยอรมนี เราเคยเรียกร้องเขาไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อช่วงสงกรานต์ (19 เม.ย. 2567) และวันนี้เราไปอีกรอบหนึ่งเพื่อที่จะบอกว่านักเคลื่อนไหวจะต้องมีสิทธิและต้องได้รับการปกป้อง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถูกคุกคามจากรัฐ” นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาเลสไตน์ กล่าว

ผู้จัดมองผู้เข้าร่วมเยอะขึ้น สะท้อนความตื่นตัวเรื่องปาเลสไตน์

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรม ภาคย์ เล่าให้ฟังว่าเป็นการเดินขบวน ปราศรัย และอ่านแถลงการณ์ เธอเล่าให้ฟังด้วยว่าที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย มีชาวเยอรมันได้มาเข้าร่วมเดินขบวน และปราศรัยเป็นเวลา 3-5 นาที และหน้าสถานทูตสหรัฐฯ มีการปราศรัย และอาสาสมัครอ่านบทกวีด้วย แต่ที่ทำให้เธอรู้สึกดีใจ เพราะว่ามีคนเข้าร่วมจำนวนมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ

"วันนี้พูดตามตรงไม่คิดว่าจะมีคนมาร่วมเยอะขนาดนี้ …ช่วงเมษายนที่ผ่านมาจะมีประมาณ 30-50 คน แต่วันนี้น่าจะประมาณ 60-70 คน เราคิดว่าทั้งคนไทยและคนต่างประเทศในไทย เขาเริ่มมีความตระหนักเรื่องปัญหาเรื่องปาเลสไตน์มากขึ้น และเขาพยายามมีส่วนร่วมต่อการเรียกร้อง เพื่อยุติการยิงหรือปฏิบัติการที่กำลังเกิดขึ้นในกาซา และเรียกร้องเรื่องสันติภาพในพื้นที่ตรงนั้นด้วย คิดว่าวันนี้รู้สึกดีใจที่เห็นคนออกมาร่วมกิจกรรมกับพวกเราเยอะขึ้น และดีใจที่มีคนพูดถึงประเด็นในปาเลสไตน์กันเยอะขึ้น" นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาเลสไตน์ กล่าว

บรรยากาศการปราศรัย เมื่อ 19 พ.ค. 2567 (ถ่ายโดยสหภาพคนทำงาน)

'เหตุการณ์วันนักบะห์ ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย'

ภาคย์ ระบุว่า แม้ว่าจะผ่านมาถึง 76 ปี แต่เหตุการณ์นักบะห์ ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอยังคงมองเห็นชาวปาเลสไตน์ถูกสั่งอพยพออกจากฉนวนกาซา มีเด็กชาวปาเลสไตน์ที่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นหลักแหล่ง การทำสงครามในฉนวนกาซา หรือในพื้นที่ทุกแห่ง เมื่อระเบิด 1 ลูกถูกหย่อนลงไป กระสุน 1 นัดที่ถูกลั่นออกไป จะทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือถ้าไม่มีผู้เสียชีวิต พวกเขาก็จะสูญเสียบางสิ่งอย่างไป ตอนนี้ในฉนวนกาซามีแต่ซากปรักหักพังจนแม้แต่เต็นท์ยังไม่สามารถตั้งได้ เรื่องพวกนี้เป็นสิทธิของมนุษย์ สิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องของการแพ้ชนะหรือใครสมควรโดนหรือไม่โดน แต่เป็นเรื่องที่คนผิดต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย หรือการทิ้งระเบิดอย่างที่เห็นลักษณะนี้ มันเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรงจริงๆ สงครามไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ภาคย์ ระบุต่อว่า เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของแรงงานที่จะกลับไปทำงานในอิสราเอล และตอนนี้มีรายงานว่าแรงงานอย่างน้อย 2 รายเสียชีวิต และเราหวังว่าแรงงานอีก 6 รายจะปลอดภัย แต่ตอนนี้อิสราเอลใช้วิธีการทิ้งระเบิดปูพรม และมีการประกาศอพยพกลับไป-มา ทำให้ไม่ทราบเลยว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่โจมตีหลัก มันเป็นความเสี่ยงอยากมากต่อตัวประกันชาวไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ และการกู้ศพคนงานทั้งไทยและต่างชาติที่ติดอยู่ภายในพื้นที่ออกมา

บรรยากาศการเรียกร้องสันติภาพปาเลสไตน์ เมื่อ 19 พ.ค. 2567 (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับคุณ

ท้ายสุด ภาคย์ คาดหวังว่าการทำกิจกรรมจะทำให้จักรวรรดินิยมตะวันตกได้รู้สึกตัวว่าไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำ พวกเรากำลังจับตามองพวกเขา ออกมาประณามพวกเขาทุกๆ วัน และพยายามส่งเสียงต่อต้าน และอยากให้พวกเขาหยุด

"สหรัฐฯ ต้องยุติการสนับสนุนการฆ่าคนอื่นๆ และยุติทำสิ่งที่ขัดกับสิ่งที่สหรัฐฯ พยายามอ้างตลอดว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เสรี เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำมันไม่ต่างจากเผด็จการ และฟาสซิสต์เลย หรือแม้แต่เยอรมนีเองพยายามพูดว่า เขามีพันธกิจที่สำคัญในการปกป้องชีวิตชาวยิว แต่ว่ารัฐเยอรมนีตอนนี้กำลังละเมิดสิทธิและนักเคลื่อนไหวชาวยิว ที่พูดเพื่อปาเลสไตน์ ทำไมละ

"เราอยากให้รัฐบาลเหล่านี้เข้าใจว่าผลประโยชน์มันไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ว่าประชาชนที่อยู่ทั้งโลกตอนนี้คือคนที่กำลังมองเขา เป็นคนที่จ่ายภาษีให้กับเขา และมีส่วนร่วมต่อการอยู่รอดของรัฐบาลพวกนี้ด้วยซ้ำ เราเลยอยากให้เขาเห็นและยุติ ทำตามข้อเรียกร้องของเรา ร่วมกันดำเนินการสู่สันติภาพอย่างที่ทุกคนควรจะได้รับ" ภาคย์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานจากสำนักข่าวตะวันออกกลาง ‘อัลจาซีรา’ เผยเมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า นับตั้งแต่อิสราเอลทำการบุกโจมตีฉนวนกาซา เมื่อ 7 ต.ค. 2566 จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35,456 ราย และ 79,476 รายได้รับบาดเจ็บ กลับกัน มีผู้เสียชีวิตในอิสราเอล จากการบุกของกองกำลังฮามาส จำนวน 1,139 ราย และอีกหลายสิบรายยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน 

นอกจากการเดินขบวนใน กทม. แล้ว ในวันเดียวกัน มีสื่อโซเชียลมีเดีย บัญชี X นามว่า 'Thoton Akimoto' โพสต์คลิปวิดีโอการเดินขบวนในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น 

 

บรรยากาศการทำกิจกรรม เมื่อ 19 พ.ค. 2567 (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net