Skip to main content
sharethis

ธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการปี 2551 มายังตลาดหลักทรัพย์ครบทั้ง 11 แห่ง ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น กำไรสุทธิรวม 80,579 ล้านบาทเทียบกับปี 2550 มีกำไรสุทธิ 5,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,458% หรือ 14.5 เท่า จากปีก่อน เหตุยอดกันสำรองลดลง ไทยพาณิชย์กำไรสูงสุด 2.1 หมื่นล้าน รองลงมากรุงเทพ 2 หมื่นล้าน กสิกรไทย 1.5 หมื่นล้าน กรุงไทย 1.2 หมื่นล้าน

ธนาคารพาณิชย์ได้แจ้งผลประกอบการงวดปี 2551 มายังตลาดหลักทรัพย์ครบทั้ง 11 แห่งปรากฏว่าภาพรวมส่วนใหญ่ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิรวม 80,579 ล้านบาทเทียบกับงวดปี 2550 ที่มีกำไรสุทธิ 5,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75,409 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1,458% หรือ 14.5 เท่า จากปีก่อน ไทยพาณิชย์กำไร 2.1 หมื่นล้าน กรุงเทพ 2 หมื่นล้าน กสิกร 1.5 หมื่นล้าน กรุงไทย 1.2 หมื่นล้าน

 

ธนาคารที่มีกำไรสุทธิมากสุด คือ 4 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ 2.1 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 2 หมื่นล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 1.5 หมื่นล้านบาท และกรุงไทย 1.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนธนาคารที่มีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นคือนครหลวงไทยที่เพิ่งมีกำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาทจากขาดทุน 2 พันล้านบาท รองมาคือกรุงศรีอยุธยาและทหารไทย

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 15,333 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.41 บาท เทียบกับผลประกอบการในช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีกำไรสุทธิ 15,005 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 6.28 บาท เท่ากับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2.19% และมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 2.07%

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,303,554 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 904,008 ล้านบาท และมีเงินฝากรวม 967,949 ล้านบาท มีเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 15.05% แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 9.84% และเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 5.21% มีสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Gross) เท่ากับ 3.09% และมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Net) ที่ 1.47%

 

ขณะที่นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีที่บริษัทจีอี แคปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น  สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคาร 33%  มีปัญหาเรื่องฐานะการเงินและมีกระแสข่าวว่าจะตัดขายธุรกิจบางอย่างออกไปนั้น จากการหารือกับจีอีในเบื้องต้น ณ วันนี้ นโยบายของจีอียังคงเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาเหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วในฐานะผู้ถือหุ้น คงไม่เข้ามากำหนดกลยุทธ์ให้กับฝ่ายบริหาร การกำหนดกลยุทธ์นั้นดำเนินการโดยคณะผู้บริหาร ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นตัวแทนจากผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นคณะกรรมการธนาคารจึงทำหน้าที่เหมือนกับผู้ถือหุ้น ณ วันนี้ ราคาหุ้นกับผลประกอบการไม่สัมพันธ์กัน เกิดขึ้นในช่วงที่ภาวะผันผวนสูง ซึ่งราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพฐานะของธนาคาร แต่เชื่อว่าในที่สุดแล้วคงอยู่ตัวและกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในอนาคต

 

เขากล่าวว่า นโยบายของธนาคารในปีนี้ได้ตั้งเป้าสินเชื่อ 35,000 ล้านบาท หรือเติบโต 6% บนพื้นฐานเศรษฐกิจขยายตัว 0.5-2% และใช้กลยุทธ์ ดูแลลูกค้ารายเก่า เพิ่มประสิทธิภาพการขาย รวมทั้งให้มีสภาพคล่อง และมีการขยายตัวทีดี

 

ทั้งนี้เพื่อให้ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่ง โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 9,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 11,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย 15,000 ล้านบาท  เหตุที่เน้นสินเชื่อรายย่อยเพิ่มเพราะลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับธนาคารสูงกว่าลูกค้ารายใหญ่ และเอสเอ็มอี เพราะลูกค้ารายใหญ่มีอำนาจในการต่อรองสูง และที่สำคัญลูกค้ารายย่อยมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า และเป็นการกระจายฐานลูกค้าไม่ให้กระจุกตัว

 

นอกจากนี้ธนาคารก็ได้เตรียมเข้าไปซื้อกิจการภายนอกที่เกี่ยวกับธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์  โดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก เพื่อเป็นการสร้างปริมาณให้กับธนาคาร ส่วนใครจะมาเสนอขายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้กับธนาคารเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ณ ขณะนี้ความสนใจเรื่องนี้ลดลงเพราะที่ผ่านมาได้ซื้อกิจการเช่าซื้อรถยนต์มาแล้ว การเข้าซื้อกิจการต่างๆ เข้ามาก็เพื่อให้ธนาคารมีการเติบโต และย้ำว่าให้ความสำคัญกับธุรกิจรายย่อยเป็นหลัก

 

"หากธนาคารสามารถซื้อกิจการได้ตามที่ธนาคารตั้งใจไว้ ธนาคารก็จะทำการออกหุ้นกู้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อมารองรับกับกรณีดังกล่าวเพราะการออกหุ้นกู้จะต้องเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวให้กับผู้ซื้อ และหากอายุของหุ้นกู้ 2-3 ปีให้ดอกเบี้ยที่ดีกับผู้ซื้อก็น่าจะเป็นที่สนใจของผู้ซื้อได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการออกหุ้นกู้ สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 2551 ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 4,890 ล้านบาท  มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลเหลือ 8.9% จากเดิมอยู่ที่ 15.5%"

 

นายชัยวัฒน์  อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวถึงสาเหตุกำไรสุทธิในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากในปี 2550 ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพื่อให้ครบถ้วนตามมาตรฐานบัญชี ระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (ไอเอเอส 39) ทำให้สำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงในปี 2551 จำนวน 4,920 ล้านบาท หรือ 70.93% และสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายลดลงจำนวน 1,328 ล้านบาท หรือ 79.33%

 

ส่วนแผนงานปีนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 6-7% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 18,000 ล้านบาทโดยปัจจุบันมีเอ็นพีแอลก่อนหักสำรอง 7.56% ซึ่งธนาคารมีเป้าจะลดลงเหลือ 5.5% ในสิ้นปี โดยจะเน้นการบริหารจัดการลูกค้า ซึ่งหากพบว่าหากลูกค้ารายใดมีปัญหาก็จะรีบเข้าไปดูแล

 

ทั้งนี้ภายในต้นเดือนมี.ค.จะมีความชัดเจนว่าแผนการเพิ่มเงินกองทุนของธนาคารจะเป็นอย่างไร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ 11.73% ตัวเลขบีไอเอสที่ต้องการเห็นอยู่ที่ 13-14% เท่ากับระบบ แต่การจะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ต้องรอที่ปรึกษาทางการเงิน

 

นอกจากนี้ ในปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาธนาคารได้ขออนุมัติคณะกรรมการในการออกหุ้นกู้วงเงิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งธนาคารจะออกเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สามารถนำมาเพิ่มเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ได้แต่การออกหุ้นกู้นี้จะแบ่งเป็นการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวนเท่าใดและเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องจำนวนเท่าใดต้องปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินอีกเช่นกัน

 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net