Skip to main content
sharethis

ความร้อนแรงทางการเมืองขณะนี้ดูเบาลง สิ่งที่ทุกฝ่ายควรหันมาสนใจก็คือปัญหาของชาวบ้าน ที่ผ่านมา ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ส่งผลยาวนานและกินลึกไปถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรืออาจลึกไปถึงสภาพจิตใจ ก็มาจากโครงการพัฒนาของรัฐ อย่าเช่นโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด


เวทีสัมมนา ฤๅสงขลาจะเป็นมาบตาพุด ที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ร่วมกับสมาคมดับบ้านดับเมือง สมาคมรักษ์ทะเลไทยและโรงเรียนริมเล อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาจัดขึ้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องบรรยาย 3305 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็ว่ากันด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาของรัฐ เกิดขึ้นก็เพื่อให้รัฐตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะการลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาล อาจดูคุ้มค่าถ้าวัดเป็นตัวเงิน


แต่ถ้าวัดด้วยต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนด้านสุขภาพแล้ว มันอาจขาดทุนก็ได้ หากลองพิจารณางบประมาณในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สุขภาพรวมทั้งการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำจืด มันอาจไม่คุ้มค่าจริงก็ได้


เวทีดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด 15 กลุ่ม ประมาณ 200 คน ซึ่งนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในฐานะเลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้ บอกว่า จัดขึ้นเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนสงขลาได้แลกเปลี่ยนบทเรียนจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกรณีมาบตาพุด จังหวัดระยอง 


ดร.อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการบรรยายเรื่อง "อนาคตปักษ์ใต้ภายใต้เงามืดแผนพัฒนาที่เป็นไป" ว่า รัฐบาลมีแนวคิดแผนพัฒนาภาคใต้ เพื่อให้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกและตะวันตก เป็นทางเลือกของการเดินเรือที่เป็นศูนย์กลางที่จะกระจายสินค้า โดยการเปิดประตูช่องทางการเดินเรือ เพื่อต้องการขยายฐานการผลิตปิโตรเลียมเคมีมาจากตะวันออกและจะนำไปสู่การทำผังเมืองที่เรียกว่าสะพานเศรษฐกิจ 


ดร.อาภา กล่าวต่อว่า แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ท่าเรือน้ำลึก เช่นเดียวกับ จ.นครศรีธรรมราช ที่จะเดินตามและพ่วงด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจ ฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัท เชฟรอน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 


ดร.อาภา กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 คระรัฐมนตรีมีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ  
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ 1 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง โดยมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบ ขณะเดียวกันก็มีความคืบหน้าในส่วนของกลุ่มดูไบ เวิลด์ ของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็กำลังจะมีผลการศึกษาเรื่องสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูลออกมา


ดร.อาภา กล่าวว่า สำหรับสงขลาและสตูล จะมีสะพานเศรษฐกิจ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกจังหวัดล้วนจะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนั้น หากแผนพัฒนานี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จะต้องมีการใช้น้ำและไฟอย่างมหาศาล น่าสนใจว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้านหรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่ทั้งจำนวนพื้นที่ การลงทุน และผลกระทบมากกว่าที่เกิดกับมาบตะพุดมากหลายเท่าตัว 


ดร.อาภา กล่าวว่า โดยภาคใต้มีจุดหนัก 2 แห่งคือ สุราษฎร์ธานี - นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่จะรองรับอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งคือท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองที่อำเภอจะนะแล้ว เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่ง โดยใช้เส้นทางถนนและทางรถไฟแล้ว 


ดร.อาภา กล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงาน ก็ยังได้มีผลการศึกษาเบื้องต้น โครงการท่อส่งน้ำมันดิบ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง จะใช้แนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสงขลา - สตูล โดยเส้นทางวางท่อส่งน้ำมัน เริ่มจากทุ่นขนถ่านน้ำมันกลางทะเลฝั่งอันดามัน ห่างจากชายฝั่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล ประมาณ 37 กิโลเมตร จะมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันบนฝั่งอำเภอละงู ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ บริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง 


ดร.อาภา กล่าวว่า ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลและก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ บริเวณบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหานคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ราบกว้าง เป็นพื้นที่เพาะปลูก นากุ้งและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง 


นายสุทธิ อัชฌาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวในการบรรยายเรื่อง "มนดำ: บทเรียนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลายเป็นสิ่งที่เสื่อมเสียไปเรื่อยๆ ในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมมีล่างบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะมีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก การสร้างโรงแยกก๊าซ และการสร้าโรงกลั่นน้ำมัน 


นายสุทธิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลานั้น ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในภาคตะวันออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบตามาทั้งเรื่องของปัญหามลพิษ นำเสีย การกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง มีขยะอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ภาวะฝนกรด ฝุ่นถ่านหิน และที่สำคัญคือปัญหาทางด้านสังคม 


ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ปมปริศนาและทางออกของการพัฒนา" วันนี้น่าเสียดายที่ผู้กำหนดแผนพัฒนาของไทย เรียนรู้บทเรียนจากแผนพัฒนาที่ก่อปัญหาให้กับภาคตะวันออก หรือจังหวัดระยองน้อยมาก ส่งผลให้แผนพัฒนาภาคใต้ มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมนำเข้าวัตถุดิบ หรือต้องซื้อจากบริษัทที่ได้รับสัมปทาน มิได้เป็นอุตสาหกรรมที่มาจากฐานปัญหา ศักยภาพ ความมุ่งหวัง หรือความต้องการของคนภาคใต้ 


ดร.เดชรัต กล่าวว่า ขณะที่ภาคเกษตรกรรมของภาคใต้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2550 สูงถึง 315,141 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรทั้งประเทศ แซงหน้าภาคกลางขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แผนพัฒนาภาคใต้กลับมองข้ามความสำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคใต้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในปี 2550 รายรับจากการท่องเที่ยวภาคใต้สูงถึง 150,000 ล้านบาท ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีก แต่แผนพัฒนาภาคใต้ นอกจากจะไม่ได้มุ่งพัฒนา กลับทำให้เกิดความเสี่ยง หรือภัยคุกคามทรัพยากรการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม เช่น ท่าเรือปากบารา 


ดร.เดชรัต กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนทรัพยากรมนุษย์ เช่น การลงทุนทางการศึกษา กลับมิได้ถูกรวมเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาภาคใต้ ทั้งที่ภาคใต้มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ด้านการลงทุนทางการศึกษาอย่างชัดเจน เนื่องจากคนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการการศึกษาของลูกหลาน แถมความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ยังเป็นสิ่งดึงดูดใจ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาระดับสูงได้ด้วย 


ดร.เดชรัต กล่าวว่า แผนพัฒนาภาคใต้จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในภาคใต้ มีเพียงร้อยละ 10 - 20 ของผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุนการเกษตร โดยใช้เทคนิคการเกษตรชีวภาพ หรือระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 


"หากแผนพัฒนาภาคใต้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรให้ได้ร้อยละ 25 จะสามารถบำรุงรักษาทรัพยากรและบรรยากาศการท่องเที่ยวของภาคใต้ บวกกับการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถ้าตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ร้อยละ 25 ก็จะเพิ่มรายได้ขึ้น 35,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับและทุกมิติอีกร้อยละ 25 จะเพิ่มรายได้ให้ภาคใต้ไม่น้อยกว่า 13,500 ล้านบาท แถมยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจการพัฒนาในระยะยาว" ดร.เดชรัต กล่าว 


ดร.เดชรัต กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์การลงทุนทั้งสามด้าน สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคใต้ถึง 145,500 ล้านบาท เป็นรายได้ที่คนเกือบ 9 ล้านคนในภาคใต้เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนในการพัฒนา และรับประโยชน์ ต่างจากการพัฒนาที่เน้นทุนและวัตถุดิบนำเข้า เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมี ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ไม่เกินหนึ่งแสนคน จากยุทธศาสตร์การลงทุนทั้งสามด้าน จะเพิ่มรายได้ให้คนภาคใต้ไม่น้อยกว่า 16,000 บาท/คน/ปี พอที่จะทำให้ทุกคนพ้นจากความยากจน และพัฒนาไปสู่ศักยภาพของตนได้อย่างแท้จริง 


แล้วอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะสร้างและกระจายรายได้ได้มาน้อยแค่ไหน หากนำมาหักลบกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วที่มาบตาพุด เว้นแต่ไม่อยากเอามาคิดคำนวณเป็นต้นทุนด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net