Skip to main content
sharethis

สถานการณ์จราจลในอิหร่านยังไม่จบลงง่ายๆ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งล่าสุด แม้ประธานาธิบดี มาห์มูด อะมาดิเนจัด จะอ้างผลการเลือกตั้งถล่มทลายถึง 65% เหนือคู่แข่งสำคัญ มีร์ ฮุสเซน มูซาวี อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งนิยมสายปฏิรูป

อะมาดิเนจัดออกโทรทัศน์ชื่นชมผลการเลือกตั้งและมองว่าประชาชนอิหร่านเลือก “การมองไปข้างหน้า” แทนที่จะเป็นการหวนกลับไปยังอดีต


ภาพการจราจลในอิหร่าน, ที่มา - Time

“นี่เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในช่วงที่เวลาและเงื่อนไขทั้ง สภาพแวดล้อม, การเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อนอกอิหร่าน และบางครั้งในอิหร่านเอง ถูกปลุกปั่นเพื่อต่อต้านประชาชนของเรา” อะมาดิเนจัดยังกล่าวหา “สื่อต่างชาติ” มีส่วนสำคัญในการยุแหย่ให้มีประชาชนมีการต่อสู้กันเอง เขายังยืนยันอีกว่าการเลือกตั้งซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมถึง 40 ล้านคนนี้ “เป็นการเลือกตั้งที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง”


 

นักวิเคราะห์มองว่าประชาชนชาวอิหร่านที่เบื่อหน่ายแนวอนุรักษ์นิยมทางศาสนา, การใช้แนวทางประชานิยม และนโยบายต่างประเทศแบบเป็นปฏิปักษ์ นับล้านๆคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น รู้สึกช็อคและไม่พอใจที่ผลการเลือกตั้งออกมาดังกล่าว

ความไม่พอใจดังกล่าวปรากฎออกมาเป็นการจราจลในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน มีเสียงตะโกน “โค่นเผด็จการ” และเสียงร้อง “อัลเลาะห์ฺ โอ อักบาห์ฺ” ออกมาจากหน้าต่างบ้านในเมืองหลวงของอิหร่าน กลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากเผาถังขยะ พ่นสีประท้วงบนกำแพงรั้ว ทำลายหน้าต่าง และตู้เอทีเอ็มของธนาคารรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการเผารถเมล์อย่างน้อยห้าคัน

ด้านนายมูซาวีเรียกร้องความสงบผ่านแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของเขา และยังตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “มีเงื่อนงำ”

“ผมประท้วงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และขอเตือนว่าผมจะไม่ยอมแพ้ต่อเงื่อนงำที่เป็นอันตรายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอันตรายต่อเสาหลักของการปฏิวัติอิสลาม และยังเป็นการสร้างเผด็จการให้เกิดขึ้นอีกด้วย”

ด้านผู้นำทางจิตวิญญาณของอิหร่าน อะยาโตลาห์ฺ อาลี คาห์เมนี่ เตือนให้ชาวอิหร่าน “รวมทั้งคู่แข่งการเลือกตั้ง” ให้การสนับสนุนต่อประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง


โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในอิหร่าน, ที่มา - NYTimes
 

อิหร่านอยู่ภายใต้การปกครองที่ยึดถือศาสนาเป็นหลัก และมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่จำกัด มีโครงสร้างสถาบันอำนาจต่างๆ ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไว้คอยตรวจสอบสถาบันทางการเมืองที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ คาห์เมนี่จะแสดงตัวว่าเป็นกลางทางการเมือง แต่ลึกๆ แล้วเขาก็ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีอะมาดิเนจัด

การจราจลในอิหร่านครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับจากการปฏิวัติอิสลามนับจากปี 2522 เป็นต้นมา สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความพลิกผันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในแวดวงนักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ มีการคาดการณ์กันว่าเป็นสถานการณ์ทางการเมือง ที่อาจพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากกว่านี้ได้ทุกเมื่อ

เรียบเรียงจาก - BBC, The Economist, วิกิพีเดีย, Time, Global voice online

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net