จับตาอียิปต์! หลายขั้วอำนาจชิงจังหวะได้เปรียบสูงสุด หลังมูบารัคออก

 
ชื่อเดิม: จับตามกราทมิฬในอียิปต์ หลายขั้วอำนาจกำลังรอโอกาสชิงจังหวะได้เปรียบสูงสุด หลังมูบารัคออก
ที่มา: Siam Intelligence Unit
 
 
การเดินขบวนประท้วงของประชาชนในหลายประเทศ จนกระทั่งเกิดความวุ่นวายลุกลามใหญ่โต คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีอย่าง Social Media มีบทบาทอย่างยิ่ง จนถึงขนาดที่นิตยสารชื่อดัง “Foreign Affairs” ของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations หรือ CFR) ซึ่งเป็นองค์กรคลังความคิดสำคัญที่ว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังบทบาทของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาพาดหัวปกหนังสือฉบับเดือน มกราคม/กุมภาพันธ์ 2544 เป็นบทความของ Clay Shirky ว่า “The Political Power of Social Media”

 

 

ที่มา Foreign Affairs
การเดินขบวนประท้วงของประชาชนในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ เริ่มจาก การปฏิวัติดอกมะลิ” (Jusmine revolution) ที่ตูนิเซียจนทำให้ผู้นำรัฐบาลต้องลงจากตำแหน่ง ก่อนระบาดไปยังอัลจีเรีย ลิเบีย จอร์แดน โอมาน เลบานอน และ อียิปต์ ในที่สุด
 

 

ที่มา Boston Big Picture
 
สถานการณ์ของอียิปต์ในตอนนี้ต้องเรียกว่าชะตาของประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะถึงจะประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สงบ ประชาชนต่างเรียกร้องคำตอบสุดท้าย
 
มูบารัคต้องออกไป !!!
 
ตอนนี้หน่วยต่อต้านจราจลกึ่งติดอาวุธของ กองกำลังความมั่นคงกลาง (Central Security Forces หรือ CSF) ถอนตัวออกจากการรักษาความปลอดภัยตามท้องถนนกลางกรุงไคโร นี่คือสภาพการณ์ที่อำนาจรัฐ หายไปจากเมืองหลวง ในขณะที่กองกำลังทหารเข้ามารักษาการณ์แทนที่ นั่นทำให้ประชาชนต่างแสดงความยินดีและตอบรับการเข้ามารักษาสถานการณ์ของกองทัพ เพราะยังมองว่ากองทัพเป็นผู้รักษาความสงบและสามารถกดดันให้ประธานาธิบดีมูบารัคถอยลงจากม่านการเมืองได้
 
แต่ท่ามกลางม่านหมอกของข่าวสารบนเครือข่ายสื่อทางสังคมอย่าง Facebook หรือ Twitter กระบวนการต่อรองและชิงจังหวะทางการเมืองเบื้องหลังกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น
 
หากมูบารัคถอนตัวออกไปจริง นี่จะกลายเป็นโอกาสให้หลายฝ่ายทะยานขึ้นสู่อำนาจ ในจำนวนนี้กลุ่มภราดามุสลิมอียิปต์ (Mulim Brotherhood หรือ MB) ซึ่งเป็นกลุ่มเคร่งศาสนา และว่ากันว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มฟาตาห์ในปาเลสไตน์ อ่านสถานการณ์ขาดว่าหากเร่งรีบทำอะไรไปตอนนี้ รังแต่จะทำให้เงื้อมมือของสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ซึ่งหวังว่าอียิปต์จะเป็นตัวแทนของมุสลิมสายกลาง เพื่อคอยคานอำนาจขั้วมุสลิมเคร่งศาสนาหลายแห่งในตะวันออกกลาง แถมยังเป็นประเทศแกนสำคัญในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอีกด้วย จะเข้ามากระชับสถานการณ์จนกระทั่งทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นคุณกับพวกตน
 
กลุ่มภารดามุสลิมจึงยังนิ่งเงียบแต่ขยับเครือข่ายทางสังคมซึ่งวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี ในการให้ความช่วยเหลืออาหารและการปฐมพยาบาลแก่ผู้ชุมนุมประท้วง
 
โมเมนตัมทางการเมืองตอนนี้จึงย้ายไปอยู่กับกองทัพ ในฐานะองค์กรที่มีการจัดตั้งแข็งแกร่งที่สุด ติดอาวุธ และมีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบ ผู้นำกองทัพอย่างจอมพล โมฮัมหมัด ฮุสเซน ทันทาวี รมว.กลาโหม ผู้ซึ่งดูแลกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐโดยตรง และพลตรี ซามี อันนัน หัวหน้าคณะเสนาธิการกองทัพอียิปต์ (ซึ่งเพิ่งบินกลับมาที่อียิปต์วานนี้ หลังจากหารืออย่างเคร่งเครียดกับตัวแทนของสหรัฐอเมริกา) นี่ขึ้นกับท่าทีของทั้งสองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป และกองทัพจะอดทนรอคอยการยอมวางมือของมูบารัคได้นานแค่ไหน ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
แต่ใช่ว่ากองทัพจะไม่มีความเสี่ยง จริงอยู่แม้ตอนนี้ภาพลักษณ์ของกองทัพจะเป็นบวกกับประชาชนผู้ประท้วงบนท้องถนน แต่หากเกิดการลั่นกระสุนและมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเพียงรายเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม เมื่อนั้นกองทัพก็อาจจะอยู่ไม่ได้ และนั่นอาจจะเป็นโอกาสของเหล่าภราดามุสลิมที่จะออกโรงต่อไป
 
ในโครงสร้างของกองทัพเองก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้ ดูภายนอกเสมือนหนึ่งว่ามีความเป็นระบบระเบียบและมีการปฏิบัติตามคำบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด แต่ประวัติศาสตร์ก็เคยมีร่องรอยความขัดแย้งภายในมาก่อนแล้ว ในสมัยการโค่นกษัตริย์อียิปต์ที่หนุนโดยอังกฤษ เพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐอียิปต์สมัยใหม่ในปี 1952 เป็นปฏิบัติการที่นำโดย กามัล อับเดล นัซเซอร์ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งแค่นายพัน ในขณะที่ อันวาร์ ซาดัต ที่ถือเป็นผู้อยู่ข้างกลุ่มเคร่งศาสนามุสลิม ผู้ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากนัสเซอร์ถูกลอบสังหารในปี 1981 นั่นทำให้มูบารักมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจ
 
ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลคงจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้อยู่หลังฉาก เพื่อนำความสงบกลับมาสู่กรุงไคโรโดยเร็วที่สุด แต่ในตอนนี้กลุ่มอำนาจที่จะกลายเป็นตัวตัดสินชะตากรรมของอียิปต์อยู่ที่กองทัพเท่านั้น
 
 
 
* แปลและเรียบเรียงจาก Stratfor

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท