Skip to main content
sharethis

เป็นที่รับรู้กันว่า รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามผลักดันชูนโยบายให้มีการออกโฉนดชุมชน จนทำให้กระแสการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทยเกิดความตื่นตัวกันอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งล่าสุด ได้มีมติผ่านร่าง ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.....’เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รายงานแจ้งว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบนโยบายและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งโครงการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาการจัดการกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับหน่วยงานของรัฐในการบุกรุกที่ดิน
 
นายสาทิตย์ กล่าวว่า โดยหลักแนวคิดโฉนดชุมชนคือที่ดินยังเป็นของรัฐ แล้วให้กรรมสิทธิ์กับชุมชนเพื่อให้อยู่อาศัยหรือทำกิน โดยคุ้มครองให้ทำเกษตรกรรม ซึ่งระเบียบนี้จะมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ในสำนักนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่ในการพิจารณาที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต้องอนุญาตให้ตามกฎหมายก่อน แล้วให้สิทธิ์ชุมชนไปทำกินและคณะกรรมการต้องประเมินความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆ และให้สิทธิ์ไม่เกิน 30 ปี และจะมีการประเมินทุก 30 ปี โดยจะมีเงื่อนไขเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการปลูกต้นไม้ ถ้ามีการละเมิดสิทธิ์ก็จะเอาโฉนดชุมชนนั้นกลับมาเป็นของรัฐได้ ราษฎรที่ได้รับสิทธิ์ทำกินตามโฉนดชุมชนนี้ จะเอาเอกสารสิทธิ์ไปจำนองจำนำใดๆ มิได้ เพราะที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่
 
"จะมีพื้นที่นำร่องทั้งหมด 30 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภาค ซึ่งคณะกรรมการจะไปประเมินเพื่อออกโฉนดชุมชนตามขั้นตอนต่างๆ โดยทั้งหมดที่จะทำจะเป็นที่ที่เขาไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว เช่น อาจเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปอาศัยในพื้นที่ของป่าสงวน แล้วมีการอ้างสิทธิ์ว่าอยู่มาก่อน ก็มีข้อถกเถียงที่หาทางออกไม่ได้ ก็จะใช้รูปแบบโฉนดชุมชนเข้าไปแก้ปัญหา" นายสาทิตย์กล่าว

แต่เมื่อหันมาฟังเสียงนักวิชาการหลายท่านที่ผ่านมา กลับไม่ได้ตื่นเต้นดีใจไปกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้เลย หากรู้สึกหวาดหวั่นกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการมากกว่า

เหมือนกับที่ อาจารย์ประภาส ปิ่นตกแต่ง นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาวิพากษ์ดักคอไว้ก่อนหน้านั้นว่า โฉนดชุมชนที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ เป็นเพียงหยิบเล็กผสมน้อยจากกฎหมาย และมาตรการที่มีอยู่อย่างล้วนพิกลพิการ ซึ่งคงจะทำให้เกษตรกร คนจน มีที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ใช่การกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งกระจุกตัวอันเป็นโจทย์ที่สำคัญ

และใน ร่างระเบียบโฉนดชุมชน ยังระบุบอกว่า ไม่ใช่การกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่ดิน เพราะเขียนเอาไว้ชัดว่า ‘ที่ดินซึ่งเป็นโฉนดชุมชนยังคงเป็นที่ดินของรัฐเท่านั้น’

นอกจากนั้น ในร่างระเบียบโฉนดชุมชนได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การให้ใช้ประโยชน์จะทำได้ไม่เกิน 30 ปี และมีการพิจารณาทุกๆ 3 ปี ซึ่งนี่ก็คือการให้เช่าตามกฎหมายที่ราชพัสดุ คำถามเดิม ก็คือ นี่จะเป็นการกระจายกรรมสิทธิ์ที่ดินได้อย่างไร                               

นักวิชาการคนดังกล่าว บอกย้ำอีกว่า “ปัญหาที่ตามมา ก็คือ ความมั่นคงในที่ดินของชาวบ้านก็ยังไม่มีเหมือนเดิม เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดรัฐจะเอาคืน และยิ่งถ้าเป็นเพียงแนวปฏิบัติ หากรัฐบาลใหม่มาแล้วไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลนี้ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกได้ง่าย...”

แน่นอน เมื่อหันไปถามชาวบ้าน ว่ามีความเชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการ อยู่นี้หรือไม่!? โดยเฉพาะชาวบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่นำร่องในเรื่อง โฉนดชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ลงมือทำกันมาก่อนหน้านี้มาแล้ว ทุกคนต่างมีสีหน้าแววตา บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้ใจรัฐ อย่างเห็นได้ชัด

“คือตอนนี้ เราหวั่นที่สุดว่าถ้าเข้าร่องทางเดินเดิม มันจะยื้อ”
   
“เราอยากใช้โฉนดชุมชนฉบับของเรา แต่ถ้าให้รัฐบาลรับรองสิทธิ์ หรือว่าให้กฎหมายรับรองเรื่องโฉนดชุมชนที่เราทำอยู่...แต่ก็ไม่รู้ว่าหน้าตามันจะออกมาเป็นยังไง”

ครั้นเมื่อตั้งคำถามกับชาวบ้านไร่ดง ว่าการรับรองสิทธิของรัฐกับสิ่งที่ชุมชนทำอยู่มันจะสอดคล้องกันหรือ”

“เรายังมองไม่เห็น” ตัวแทนชาวบ้านเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล

ทำให้ผมพลิกดู ‘โฉนดที่ดินชุมชน’ ฉบับของบ้านไร่ดง อย่างช้าๆ อีกครั้ง

เนื้อกระดาษแข็งแผ่นนั้น ไม่มีตราครุฑ หากมีรอยประทับตราสีแดงด้วยรูปมีดและเคียวไขว้ พร้อมมือกำหมัดไว้บนมุมซ้าย มีข้อความ“กระจายที่ดินให้เป็นธรรม ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน’ไว้ตรงกลาง มุมขวาของเอกสารระบุหมายเลขที่ดินของแต่ละแปลง                   

นี่คือโฉนดชุมชน ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำอย่างง่ายๆ แต่มีคุณค่าความหมายยิ่งสำหรับชาวบ้านไร่ดง
   
เนื้อหาทั้งหมด ระบุข้อมูล ชื่อ-นามสกุลผู้ถือครอง จำนวน 1 ไร่ 1 งาน พร้อมด้วยแผนที่แบ่งกั้นอาณาเขตอย่างชัดเจน
   
ที่น่าสนใจก็คือ ในโฉนดที่ดินชุมชนแต่ละฉบับนั้น จะมีลายมือชื่อของผู้ถือครอง กรรมการและพยานกำกับ พร้อมข้อระเบียบให้รับรู้อย่างชัดแจ้ง...

สิทธิในที่ดินมีดังนี้...
1.เป็นมรดกตกทอด ห้ามซื้อขายที่ดิน
2.ปฏิบัติตามกฎระเบียบของคณะกรรมการและชุมชน
3.ขอให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตลอดไป

ผมอ่านทวนข้อปฏิบัตินั้นอยู่เงียบๆ ในใจ... 3 ข้อสั้นๆ ชัดเจน เข้าใจง่าย แต่ครอบคลุมถึงชีวิตและวิถีการดำรงอยู่ของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต

“โฉนดตัวนี้มันแตกต่างกับเอกสารสิทธิที่รัฐออกให้อย่างไรบ้าง...”เสียงคนจากข้างนอกชุมชน เอ่ยถามชาวบ้านไร่ดง

"คือก่อนนั้น เรามีกฎระเบียบแล้ว แต่ยังไม่พอ มาคิดกันต่อว่า ทำอย่างไรถึงจะให้มันดูเป็นทางการ ที่จะให้ชุมชนยอมรับ ก็เลยเกิดโฉนดชุมชนนี้ขึ้นมาควบคุมอีกทีหนึ่ง มีทั้งกฎระเบียบ.คณะกรรมการและต้องให้มีเอกสารเป็นทางการของเรา เป็นของราษฎร” พ่อสวัสดิ์ หอยแก้ว วัย 63 ปี อธิบายให้เราฟัง

“แล้วพ่อลุงไม่คิดหรือว่าโฉนดชุมชน ชาวบ้านออกกันเอง ไม่ใช่ทางราชการออกให้ คนอื่นหรือทางรัฐอาจจะมองว่า มันไม่มีความน่าเชื่อถือ จะไปรับรองสิทธิกันได้อย่างไร” ผมแหย่ถาม

“ชุมชนรับรองกันเอง เราไม่ได้หวังให้รัฐรับรอง”พ่อลุงตอบทันควัน ทันใด
เป็นน้ำเสียงของความเชื่อมั่น ว่า ชุมชนแห่งนี้ดูแลจัดการกันเองได้
 
“ใช่ เราไม่หวังว่าราชการจะยอมรับ แต่เราขอให้พี่น้องเรายอมในตัวนี้ ยอมรับในตัวโฉนดชุมชนเพื่อควบคุม เพื่อจัดระเบียบในกลุ่มของเราให้ได้เท่านั้นพอ...” วันรบ อินทะวงศ์ ตัวแทนชาวบ้านไร่ดง อธิบายเสริมด้วยสีหน้าจริงจัง

ชาวบ้านไร่ดง ต่างบอกย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้สนใจรูปลักษณ์ของโฉนดชุมชน แต่สนใจว่า เอกสารโฉนดชุมชนที่ชาวบ้านจัดทำกันนั้น จะเป็นไปในแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องชาวบ้านจริงๆ

“ขออย่างเดียว ขออย่าให้มีการซื้อขาย โดยที่ไม่ผ่านกรรมการ ไม่ผ่านอะไรนะ แต่ถ้าผ่านระบบคณะกรรมการ ผ่านชุมชน ก็ยังมีการประชุม พี่น้องชาวบ้านอยู่นี่จะดูแลกันได้ผลมากกว่า”

จริงสิ เมื่อพลิกอ่าน โฉนดชุมชนของชาวบ้านไร่ดง เรารับรู้ได้ทันทีว่า ข้อความภาษาของชาวบ้านนั้น ง่ายและชัดเจน ซึ่งย่อมแตกต่างกับข้อความของภาษาของรัฐที่แฝงไว้ด้วยระเบียบ การควบคุม จำกัด และไว้ซึ่งอำนาจอย่างสิ้นเชิง

เราลองมาศึกษาร่วมกันดู...

 
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ....
 
เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ....
 (การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน)
 
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ การใช้อำนาจของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชนตามร่างข้อ 10 จะต้องไม่ขัดกับอำนาจการจัดการที่ดินของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน โดยไม่เพิ่มอัตรากำลังขึ้นใหม่ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
 
ข้อเท็จจริง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอว่า
 
1. ด้วยนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชนเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายรัฐบาลตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2
 
2. ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลใช้ประโยชน์ที่ดินรวมกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ จึงก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำเนินงาน และขาดองค์กรกลางที่เป็นเจ้าภาพรวมทั้งขาดการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการที่ชัดเจนในการดำเนินงาน
 
3. คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและประชาชนที่ยากจน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและเสนอแนะในกระบวนการดำเนินการตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งผลการสัมมนาสรุปได้ว่า การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนของรัฐบาลจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในกรณีที่มีการแย่งชิงสิทธิครอบครอง การอ้างการครอบครองอยู่ก่อน การบุกรุกพื้นที่ของรัฐที่ดำรงสภาพความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องโฉนดชุมชนในระยะยาวจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ แต่การตรากฎหมายย่อมต้องใช้เวลาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สมควรแก้ปัญหาในเบื้องต้นโดยการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติไปพลางก่อน
 
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
 
1. กำหนดนิยามคำว่า “โฉนดชุมชน” หมายความว่า สิทธิร่วมกันของชุมชนในการบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน และเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล (ร่างข้อ 3)
 
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน” เรียกโดยย่อว่า “ปจช.” และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ปจช. เช่น เสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานโฉนด ชุมชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 8)
 
3. กำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างข้อ 6 และร่างข้อ 7)
 
4. กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ประสานนโยบายการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินงานโฉนดชุมชนให้สำเร็จเป็นไปตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และติดตามประเมินผล และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างข้อ 9)
 
5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ (ร่างข้อ 10)
 
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนเพื่อกระทำการแทนในนามของชุมชน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน (ร่างข้อ 12 และร่างข้อ 13)
 
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ให้ไว้ของชุมชนที่ได้รับสิทธิให้หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ ปจช. มีอำนาจยกเลิกโฉนดชุมชนได้ (ร่างข้อ 14)
 
8. กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ภายในหกสิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และกำหนดให้มีพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโฉนดชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (ร่างข้อ 15)
 
 
 

ข้อมูลประกอบ
-เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กรณีบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน,กรกฎาคม 2552
-ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ประชาพิจารณ์โฉนดชุมชน,กรุงเทพธุรกิจ 2 กันยายน 2552
-ข้อมูล : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วันที่ 20 ตุลาคม2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net