‘มารค ตามไท’ สรุป 5 ปีตากใบ แค่ยุติธรรมไม่พอ! ชี้รัฐบาลผิดทาง ไม่ควรเน้นโยนเงิน “พัฒนา”

‘มารค ตามไท’ อาจารย์จาก ม.พายัพ กล่าวในเวทีรำลึก 5 ปีตากใบ ระบุแก้ปัญหาใต้แค่ยุติธรรมไม่พอ ต้องเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่างได้แสดงออกเต็มที่ พร้อมชี้รัฐบาลเน้น “พัฒนา” ท่ามกลางความขัดแย้งยิ่งรุนแรงหนัก ‘ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ระบุ ความยุติธรรมเยียวยาบาดแผลได้ คนนอกสำคัญต้องออกมายืนเคียงข้างคนในพื้นที่

 
 
 
 
 
25 ต.ค.52 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีการจัดงานรำลึก 5 ปี โศกนาฏกรรมตากใบขึ้น โดยมีนักศึกษามุสลิมจากหลายสถาบันเข้าร่วม งานนี้จัดโดย เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้(PNYS) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ(Deep Peace)
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนาช่วงบ่าย ดร.มารค ตามไท ผอ.สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า งานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลายประการ แต่ประการหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติของสังคมที่ถูกต้องต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันเราอาจจำแนกทัศนคติของสังคมต่อเรื่องนี้ได้ 4 แบบ คือ 1. ไม่สนใจเพราะไกลตัว 2. สนใจ แต่คิดว่าทัศนคติของตนเองไม่มีผลอะไรต่อปัญหา 3. คิดว่าความรุนแรงทั้งหมดเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ก็เห็นว่าความรุนแรงทั้งหมดเกิดจากกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง 4.คิดว่าความรุนแรงใน 3 จังหวัดเป็นเรื่องจำเป็น ในภาวะสงครามการละเมิดสิทธิบางอย่างเกิดขึ้นได้
 
มารค กล่าวว่า แนวคิดแรกที่รู้สึกไม่สนใจเพราะไกลตัว ในช่วงหลังๆ มีความพยายามแก้ไขด้วยการบอกว่า คนที่เดือดร้อนเป็นเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้แนวคิดชาตินิยมมาอุดช่องว่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ควรเริ่มที่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือความเป็นมนุษย์ร่วมกัน
 
“ถ้าเราคิดบนฐานเป็นคนไทยด้วยกัน แปลว่าถ้าไม่ใช่คนไทย ก็ไม่เป็นไรหรือ”  
 
ส่วนแนวคิดต่อมาที่สนใจแต่คิดว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมนั้น มารคกล่าวว่า คนที่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือสังคมทั้งหมดที่ยอมรับเรื่องเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เพียงกลไกส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะแม้ผู้สั่งการก็ยังต้องอ้างความชอบธรรมจากทัศนะของสังคม
 
“ทุกปีที่รำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ หรืออะไรก็ตามแต่ผมยังคิดถึงอยู่ตลอดถึงผลโพลล์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตากใบ เพราะคนไทยเห็นด้วยกับเหตุการณ์ถึง 80%”
 
เขากล่าวต่อถึงแนวคิดที่สามที่เห็นว่าต้นตอของปัญหามาจากเจ้าหน้าที่ หรืออีกทางก็คือผู้ก่อการร้าย โดยชี้ว่าแนวคิดเช่นนี้ง่ายเกินไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีความสลับซับซ้อนและผู้กระทำก็ไม่ใช่เพียงสองฝ่ายเท่านั้น ในส่วนสุดท้ายคือการคิดว่าเป็นความจำเป็นของภาวะสงคราม เขากล่าวว่า ความคิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่เจ้าหน้าที่และเป็นแนวคิดที่แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด ผู้ปฏิบัติยังคงไม่เข้าใจผลในระยะยาว และเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมอย่างยิ่ง
 
ท้ายที่สุด อาจารย์จาก ม.พายัพกล่าวว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และใช้กฎหมายแปลกๆ คนมักสรุปว่าปัญหาอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม แต่สมมติว่าศาลไม่ได้ตัดสินอย่างนั้น หรือศาลตัดสินให้เอาคนผิดมาลงโทษ เชื่อว่าปัญหาในภาคใต้ก็ยังแก้ไม่ได้
 
“สิ่งที่มองข้ามกันก็คือ เสน่ห์ของอุดมการณ์ ไม่ใช่ดับด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ดับด้วยการให้พื้นที่อุดมการณ์นั้นแสดงออกให้เต็มที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง”
 
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมตั้งคำถามถึง “อุตสาหกรรมความมั่นคง” ในภาคใต้ที่ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอ็นจีโอต่างก็ลงไปหาผลประโยชน์พร้อมๆ กับยื่นผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน มารคมองเรื่องนี้ว่า มีงานศึกษาทั่วโลกที่พบว่าเมื่อไรที่เงินลงไปเยอะในพื้นที่ความขัดแย้ง ผลมักจะเป็นการเพิ่มความรุนแรง
 
“รัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าจะแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการพัฒนา แต่การพัฒนาจะมีผล ก็ต่อเมื่อความรุนแรงสงบลงแล้ว แต่ถ้าพัฒนาท่ามกลางความขัดแย้งหนักก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรง ปัญหาเฉพาะหน้าคือการลดความรุนแรงโดยไม่ใช่การพัฒนา ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ส่วนหนึ่งคือการเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่าง” อาจารย์จาก ม.พายัพกล่าว
 
รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่รัฐก่อขึ้นทั่วโลกมักเกิดขึ้นกับคนกลุ่มน้อยหรือบรรดาคนชายขอบ ซึ่งสิ่งที่ตามมากับการใช้อำนาจคือ อคติ ซึ่งประกอบกับความกลัวที่จะปกครอง ควบคุมไม่ได้ ไม่ไว้วางใจ อคตินี้เมื่อประกอบกับมิติประวัติศาตร์และกาลเวลาก็ทำให้เกิดเป็นการเหยียดเชื้อชาติโดยอัตโนมัติ และนำไปสู่การเมืองของความทรงจำ ซึ่งในอดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็มักถ่ายทอดกันเป็นเรื่องเล่า หนังสือ บันทึก แต่ปัจจุบันวิดิโอคลิปและเทคโนโลยต่างๆ ถูกนำมาใช้ทำให้สามารถบันทึกเหตุการณ์ได้และสามารถฉายซ้ำไปมาได้ตลอดเวลา ส่วนความหมายของเหตุการณ์ก็อยู่ที่การตีความของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกฝ่ายต่างก็ใช้วัตถุดิบนี้ในการปลุกระดมแนวคิดชาตินิยม และโยนความผิดไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตามไปให้ฝ่ายตรงข้ามทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องสุดขั้วและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาแท้จริง
 
“บาดแผลที่เกิดขึ้นมันจริง แต่ทำอย่างไรให้บาดแผลต่างๆ เปลี่ยนไปสู่การเยียวยา เราจะอยู่กับบาดแผลไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาไม่ได้ และวิธีที่จะสมานแผลคือให้คนทเป็นเหยื่อได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่จะให้ทุกคนลืมแล้วจับมือกัน”
 
รศ.ดร.ธเนศ ยังย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่คนข้างนอกพื้นที่ออกมาแสดงความเห็น และกล้าหาญที่จะอยู่เคียงข้างคนในพื้นที่
 
ในช่วงเย็นบริเวณแยกราชประสงค์ และด้านหน้าศูนยน์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กลุ่มนักศึกษาได้ถือป้ายรณรงค์ และจัดกิจกรรมการแสดงเพื่อสันติภาพ อ่านคำสดุดีวีรชนตากใบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท