Skip to main content
sharethis

ศาลนราธิวาสรับฟ้อง 7 จำเลยคดีตากใบ ข้อหาฆ่าผู้อื่นจากการสลายการชุมนุม และขนย้ายคนให้นอนทับกันจนมีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 85 คน เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว 1 ในจำเลยตอนนี้ยังได้เป็น สส.พรรคเพื่อไทย ทนายยินดีที่ผู้เสียหายกล้าฟ้อง ชี้เป็นคดีประวัตศาสตร์ที่ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำ ชาวบ้านย้ำต้องการความยุติธรรม จะสู้คดีจนถึงที่สุด 

23 ส.ค.2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีอาญาตากใบ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567 ซึ่งผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 รวม 48 คน เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมจำนวน 9 คน จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และเสียชีวิตรวม 85 คนตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2567

เวลาประมาณ 09.30 น. ผู้พิพากษาองค์คณะเจ้าของคดีขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งศาล สรุปได้ว่า คดีนี้มีมูลฟ้องจำเลย 7 คน ในข้อหาฆ่าผู้อื่น, พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ตามมาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จนมีผู้เสียชีวิต 7 คน และจากการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมด้วยรถบรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนทับกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 รายจากการขาดอากาศหายใจ ส่วนอีก 2 คน คือจำเลยที่ 2 และที่ 7 ศาลเห็นว่าไม่มีองค์ประกอบเพียงพอที่จะฟ้อง จึงไม่มีมูลตามที่โจทย์ยื่นฟ้อง

ศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. แต่ยังไม่มีการออกหมายจับ โดยจะมีหมายเรียกให้มาศาลตามนัดหมาย หากยังไม่มีปรากฏตัวที่ศาลก็จะพิจารณาออกหมายจับต่อไป ซึ่งคดีนี้จะเหลือเวลาอีก 63 วัน ก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากจำเลยมาศาลการมีอายุความของคดีก็จะสิ้นสุดลง

รายชื่อจำเลยทั้ง 7 คนที่ศาลรับฟ้อง เผยจำเลยที่ 1 ปัจจุบันเป็น สส.พรรคเพื่อไทย

จำเลยที่ 1 พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

จำเลยที่ 3 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5

จำเลยที่ 4 พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว.

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว.

จำเลยที่ 6 พ.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภอ.ตากใบในขณะนั้น

จำเลยที่ 8 ศิวะ แสงมณี ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

จำเลยที่ 9 วิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ส่วนจำเลย 2 คน ที่ศาลไม่รับฟ้องคือจำเลยที่ 2 พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์  อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และจำเลยที่ 7 พ.ต.ท.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสภอ.ตากใบ ปัจจุบันเป็น รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี

ทนายยินดีที่ผู้เสียหายกล้าฟ้อง  ชี้เป็นคดีประวัตศาสตร์ที่ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำ

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความจากสภาทนายความ พร้อมตัวแทนทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันแถลงข่าว หลังศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องดังกล่าว

รัษฎา กล่าวขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนและมีคำสั่งรับประทับฟ้องจำเลย 7 คนตามมูลตามฐานความผิด มาตรา 288 ร่วมกันฆ่าผู้อื่น และมาตรา 310 เป็นการกระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีนี้ไม่ขาดอายุความเพราะมีอัตราโทษสูง ได้แก่ จำเลยที่ 1 , 3-6, 8 และ 9 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุที่ควบคุม มองว่ายังไม่ถึงขั้นเป็นข้อหาฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288

ทนายความกล่าวอีกว่า สำหรับจำเลยทั้ง 7 คน ศาลพิจารณาที่พยานแวดล้อม และประจักษ์พยาน โดยโจทก์ที่มาเป็นพยาน เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหายจนต้องตัดขาไปข้างหนึ่งจากการถูกกดทับระหว่างการเคลื่อนย้ายในรถทหาร

รัษฎา กล่าวด้วยว่า ศาลรับฟ้องคดีนี้ว่าเจตนาเล็งเห็นผลเวลาที่ใช้อาวุธปืนกระสุนจริง ปรากฏจากรายงานการตรวจสอบคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง บุคคลที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า ภาพนี้เป็นภาพของจริง ภาพกระสุนปืนออกจากอาวุธสงคราม กระเด็นมาในอากาศ และยิงเป็นแนวระนาบ เป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าศาลรับฟัง

"การให้คนนอนทับกันคาดหวังได้ว่าคนอยู่ข้างล่างหายใจไม่ออก ซึ่งรายงานการชันสูตรของแพทย์พบผู้เสียชีวิตขาดอากาศหายใจจากการถูกกดทับบริเวณหน้าอก เป็นเจตนาที่ชี้ให้เห็นระหว่างการเคลื่อนย้ายจนทำให้เสียชีวิตด้วย" ทนายระบุ

รัษฎา กล่าวว่า พอใจในคำวินิจฉัยและคำสั่งศาลในวันนี้เพราะเป็นคดีสำคัญ โดยศาลได้จัดห้องพิจารณาคดีสำหรับโจทก์ ญาติและผู้สนใจได้ร่วมฟังการอ่านคำสั่งศาล โดยมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศมาร่วมฟังด้วย เป็นการอำนวยความสะดวกอย่างดี

รัษฎา กล่าวด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์สำคัญของบ้านเมืองเรา จะทำให้เห็นว่าต้องมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างไรที่ไม่บกพร่อง จะใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ถูกต้อง ไม่ใช้กระสุนจริงหรือนำอาวุธปืนสงครามมาใช้กับประชาชน การควบคุมคนโดยมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ให้นอนซ้อนบนรถ เพื่อให้รวดเร็ว แต่ไม่คิดถึงชีวิตคน ต้องไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะทำลายความรู้สึกของประชาชน ครอบครัวที่สูญเสีย

"การฟ้องคดีเป็นการเยียวยาวความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน คือการเยียวยาทางจิตใจ หวังว่าศาลจะเข้าใจเจตนารมณ์ของชาวบ้าน" ทนายความกล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนาธรรม กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้จำเลยทั้ง 7 คนให้ความร่วมมือกระบวนการยุติธรรม อย่าให้ถึงขั้นต้องออกหมายจับ โดยเฉพาะจำเลยที่เป็นข้าราชการการเมือง ต้องอาศัยความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

เราต้องการความยุติธรรม ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำกับคนอื่นอีก

หะยีดิง ไมเซ็ง หนึ่งในโจทย์ที่ยื่นฟ้องคดีอาญาครั้งนี้ และเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บถูกยิงในที่ชุมนุมตากใบ กล่าวว่า วันนี้ไม่มีอะไรคาใจแล้วเพราะศาลรับฟ้องแล้วแม้ว่าไม่ครบทั้ง 9 คน และรู้สึกโชคดีแล้ว เพราะมาขึ้นศาลหลายครั้งจนกระทั่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องในวันนี้

“เราเฝ้ารอวันนี้มาหลายเดือนแล้วนับตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้อง (25 เมษายน 2567) ซึ่งพวกเราได้รวมตัวกันมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วเพื่อหารือกันว่าจะฟ้องคดีนี้”

หะยีดิง กล่าวว่า นับตั้งแต่วันเกิดเหตุตากใบเมื่อปี 2547 ชาวบ้านอยู่อย่างหวาดกลัวและหวาดระแวง กลัวเจ้าหน้าที่รัฐมานานหลายปี แต่หลังจากที่ได้มารวมตัวกันเพื่อจะฟ้องร้องในครั้งนี้ทำให้ไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป เราพร้อมสู้ตายทั้งผู้ชายผู้หญิง เพราะทุกคนต่างก็ต้องการที่จะฟ้องด้วยกันทั้งนั้น ที่ไม่อยากฟ้องก็มีแต่ส่วนน้อย

“ที่มาฟ้องคดีนี้นี้ จริงๆ เพราะต้องการความยุติธรรม ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำกับคนอื่นอีกไมอย่างนั้นอาจจะเกิดกับลูกหลานของเราต่อไปอีกก็ได้ และอาจจะรุนแรงขึ้นตามมาเหมือนที่ปาเลสไตน์ และอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดจริง และอย่าทำเกินกว่าเหตุกับชาวบ้านอย่าทำกับชาวบ้านเหมือนกับเป็นวัวควาย อะไรที่ผิดก็ว่าไปตามผิด จับคนผิดตัวจริงมาลงโทษก็จะไม่มีปัญหา”

หะยีดิง กล่าวว่า เหตุที่เพิ่งจะมาฟ้องคดีอาญา หลังเกิดเหตุทำไม่ไม่ฟ้องทันที ทำไมปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี ก็เพราะไม่มีคนนำมาคนอื่นก็เหมือนกันใครจะกล้ามาเอง แต่ครั้งนี้เมื่อพวกเรามารวมกลุ่มกันเราก็ฟ้องได้

“การต่อสู้คดีครั้งนี้มั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่ถ้ายังไม่ได้รับความยุติธรรมอีกเรายังจะเดินหน้าต่อไป อาจจะอาศัยกลไกต่างประเทศมาช่วยก็เป็นไปได้ เราไม่เอาแล้วในแบบที่ผ่านมาที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อประชาชนให้เหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้เหมือนกับญาติพี่น้องของตัวเอง อย่าทำเหมือนไม่ใช่คนเพราะเราทุกคนเท่ากัน เพราะเราต้องการให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป” หะยีดิง กล่าวทิ้งท้าย 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net