Skip to main content
sharethis

ศาลนราธิวาสเลื่อนไต่สวนมูลฟ้อง กรณีการสืบพยานต่ออีก 2 ปาก ในคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบ รองอธิบดีและอธิบดีศาลฯ ท้วงจำเลยไม่รู้วันนัดใหม่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทนายโจทก์แถลงค้านจำเลยไม่ใช้สิทธิแต่งทนายเอง

 

26 มิ.ย. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานวานนี้ (25 มิ.ย. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ ศาลจังหวัดนราธิวาส ในนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่สอง ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อสืบพยานอีก 2 ปาก ออกไปเป็นวันที่ 19 และ 26 ก.ค. 2567 เวลา 9.00 น. เนื่องจากอธิบดีและรองอธิบดีศาล ภาค 9 ท้วงติงว่า จำเลยที่ไม่ได้แต่งทนายมาไม่ทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ คือนัดในวันนี้ 25 มิ.ย. 2567 ที่ศาลได้นัดสืบพยานที่เหลือต่ออีก 2 ปาก จากทั้งหมด 3 ปากตามที่ทนายความโจทก์ได้เสนอ และเป็นการนัดสืบพยานต่อเนื่องจากนัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยพยานทั้งสองเป็นผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2547

อนึ่ง ในวันนี้ทนายความโจทก์และโจทก์ที่มาศาลทุกคนได้คัดค้านการขอเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องออกไป ศาลรับฟังคำแถลงว่าคัดค้านและให้จดว่าโจทก์แถลงคัดค้านไว้ในสำนวน ทนายความโจทก์ได้คัดค้านด้วยเหตุผลคือ จำเลยทั้ง 9 คน ได้รับหมายโดยชอบและศาลได้ให้ระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่จำเลยกลับไม่มารักษาสิทธิของตนเองในการสู้คดีรวมถึงการแต่งทนายความ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิของตนเองในการสู้คดีเองจึงไม่มีผู้รับมอบหรือรับทราบวันนัดใหม่สืบต่อเนื่องในระหว่างการพิจารณา จำเลยไม่ใส่ใจคดีความของตน เป็นความบกพร่องของจำเลยเอง นอกจากนี้พยานซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบซึ่งเป็นชาวบ้าน ต้องเดินทางมาศาลด้วยความเดือดร้อนและยากลำบาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบรอคอยความยุติธรรมมานานเกินควร

นอกจากนี้ โจทก์จำนวน 7 คน แถลงคัดค้าน ใจความดังนี้

ผู้แถลงคนที่ 1 สูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์ตากใบ แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ขอคัดค้านการเลื่อนการพิจารณาคดี ชาวบ้านเดินทางมาศาลทุกครั้งด้วยความยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายหลายบาท ตนคิดวนเวียนอยู่ตลอดถึงเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คนทำให้นอนทับกัน 4-5 ชั้น ที่ติดใจที่สุดคือการตายเป็นเพราะการขาดอากาศหายใจ เมื่อเจ้าหน้าที่เยียวยาและช่วยเหลือส่วนหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่เท่ากับชีวิตพี่ชายที่เสียไป ตากใบเป็นบทเรียนของรัฐที่โหดร้ายที่สุดอยาก เป็นประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุด อยากให้คนกระทำความผิดถูกนำตัวมารับโทษ”

ผู้แถลงคนที่ 2 ผู้รอดชีวิต แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ตอนเกิดเหตุอายุ 19 ปี กำลังเรียนอยู่ (ขณะแถลงผู้แถลงถอดฟันปลอมออก) อยากพูดหลายอย่างแต่พูดไม่ออก หน้าบวมหมด ถูกท้ายปืนทุบตี อยากได้รับความเป็นธรรม เกือบ 20 ปีผ่านมา ความยุติธรรมที่ต้องการคือการได้รับคำขอโทษ อยากรู้ถึงสาเหตุที่ให้คนมานอนทับกันแบบนั้น ตนจำไม่เคยลืมเหมือนเหตุการณ์พึ่งเกิดขึ้น อยากให้ศาลดำเนินคดีเสร็จด้วยความรวดเร็ว นำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบและรับโทษตามความผิดที่เขาทำ ที่ผ่านมาแม้ได้รับเงินเยียวยามาบ้าง แต่ตัวเงินก็พอช่วยเหลือได้บ้าง แต่หากต้องเลือกจะขอให้ไม่ต้องเกิดเหตุเช่นนี้และไม่มีผู้ใดต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการตลอดชีวิตอีก”

ผู้แถลงคนที่ 3 ผู้รอดชีวิต แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “เหมือนเหตุการณ์พึ่งเกิดขึ้นไม่นาน ถ้ามีเหตุความรุนแรงที่ไหนก็ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่นำตัวไปจับกุมไว้ก่อนโดยไม่มีหลักฐาน ไม่อยากให้สันนิษฐานเช่นเหตุการณ์ตากใบ ตนอยู่ในเหตุการณ์ตากใบ ถูกยิงจากข้างหลังทะลุมาด้านหน้า ร่างกายมีรอยแผลขนาดใหญ่ (ผู้แถลงเปิดเสื้อให้ดูในห้องพิจารณา) เป็นแผลจากการเจาะเพื่อระบายเลือด”

ผู้แถลงคนที่ 4 ภรรยาของผู้เสียชีวิต แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ตอนเกิดเหตุ ไม่รู้ว่าสามีเสียชีวิตเพราะเหตุอะไร ไม่รู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกต้องกำพร้า รัฐบอกว่าจะดูแล แต่เงินชดเชยไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่อยากได้คือรัฐแสดงความรับผิดชอบ ขอโทษต่อประชาชน ทำไมตอนนั้นโหดร้ายกับช้าวบ้านเช่นนั้น”

ผู้แถลงคนที่ 5 ภรรยาของผู้เสียชีวิต แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ตอนนั้นมีลูกเล็ก สามีทำงานเป็นเสาหลัก ที่ผ่านมาชีวิตลำบากมาก อยากให้รัฐออกมาขอโทษ”

ผู้แถลงคนที่ 6 แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ถ้าคดีหมดอายุความก็จะติดค้างอยู่ตลอดไปและอยากให้ตุลาการศาลเป็นกลไกในการช่วยเหลือให้ได้ความจริง”

ผู้แถลงคนที่ 7 แถลงคัดค้านต่อศาลมีใจความส่วนหนึ่งว่า “หากปล่อยให้คดีหมดอายุความเท่ากับซ้ำเติมเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่กระทำโดยเจตนาจากการให้นอนทับกันในขณะอดอาหารในเดือนรอมฎอน ถ้าอยากให้ชาวบ้านไว้ใจ ต้องให้ความยุติธรรม นำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ”

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุ.ค. 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ตัวแทนผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นคดีอาญา  โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ

โจทก์ทั้ง 48 คน ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา กว่า 85 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว เกือบ 1,300 คนและครอบครัวของพวกเขาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและยังคงต้องได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐใดรับผิดและได้รับโทษต่อการกระทำความผิดของตนในโศกนาฏกรรมนี้ที่สร้างความสูญเสียครั้งนี้ การฟ้องร้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบเกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต กลุ่มทนายความและชาวบ้านในท้องที่ ที่ต้องการให้เกิดการค้นหาความจริงและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์ตาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าศาลจะมีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้เป็นคดีอาญาหรือไม่ต่อไป

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net