Submitted on Wed, 2010-09-01 19:28
กป.อพช.ร่วมองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.เห็นชอบประกาศ 11 ประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงของ สวล.ฉะไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมเสนอนำ18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาพิจารณาแทน
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ส.ค.53 มีมติเห็นชอบให้มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 รายการ ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เสนอ ซึ่งแตกต่างกับข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีถึง 18 รายการ ทำให้เกิดคำถามต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งในแง่ความเป็นวิชาการ การเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ
วันนี้ (1 ก.ย.53) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดแถลงข่าว คัดค้านและขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าองค์กรที่ร่วมกันแถลงข่าววันนี้มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม.และมติ สวล.ดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม และละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลหลัก 3 ข้อ คือ 1.เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น มีตามเจตนารมณ์ต้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าหากปล่อยให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายขึ้นจะเป็นการยากในการเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม ถือเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยมีมาตรการหลัก 3 มาตรการคือ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสุดท้ายให้องค์กรอิสระให้ความเห็น
2.กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 รายการ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียคือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการมายาวนาน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ กลับส่งเรื่องนี้ไปให้ สวล.เป็นผู้พิจารณา และ สวล.ก็ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการ ตามมติของ สวล.แล้วจะเห็นว่า มีโครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีเพียง 5 รายการ ส่วนอีก 6 รายการ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมขนาด หรือเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้หลายโครงการหลุดพ้นจากการตรวจสอบ เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีการกำหนดประเภทที่เฉพาะขึ้น และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีโครงการใดที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจสอบเลย
“ที่สำคัญก็คือว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ถ้าไม่ประสงค์ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดำเนินการ ก็ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทำตั้งแต่ต้นเสีย ก็จะจบ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการออกมา แต่การที่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย มาเป็นผู้ดำเนินการก็เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ปัญหาการเผชิญหน้าที่ดำรงอยู่ อย่างน้อยก็ทำให้โครงการ 18 รายการนี้เป็นที่ยอมรับกันได้” ประธาน กป.อพช.กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า 1.ครม.ต้องพิจารณายกเลิกมติที่ได้ให้ความเห็นชอบตามมติ สวล.ให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย 2.คณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของ สวล.และรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าว
3.คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ควรแสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง 4.รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง
ด้านนางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้ว่าจากการติดตาม 18 โครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนี้จะไม่ได้ครอบคลุม ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีอยู่มากมาย แต่เพื่อให้เคลื่อนตัวไปได้ เราก็เชื่อว่ามาตรการอันนี้น่าจะไปสร้างหลักประกันให้ขบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐที่เกี่ยวของกับทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตของผู้คน ตั้งอยู่บนกระบวนการที่โปร่งใส มีวิชาการอ้างอิง ช่วยลดความขัดแย้ง เคลื่อนไปข้างหน้าสู่สังคมแห่งการมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจนำกลับคืนไปให้ สวล.ซึ่งเป็นกลไกปกติทำ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อขบวนการบริหารจัดการประเทศเพื่อสร้างความสมานฉันท์หรือลดความขัดแย้งจะขับเคลื่อนต่อไปได้
“ในรูปธรรมของพื้นที่ ของเดิมที่มาบตาพุด ปัญหาที่มันมีอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และของใหม่ที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพัฒนาภาคใต้ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่มากมาย ก็จะไม่ได้รับการจัดการที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่ามีการจัดการที่นำเอาทุกๆ เรื่องมาพิจารณา ดังนั้น ความขัดแย้งมันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” นางเรวดีกล่าว
นางเรวดี กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ 11 ข้อ หรือ 18 โครงการเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ถ้าจะมีหลักการว่าทุกกิจกรรมที่ดำเนินการเกิดขึ้นสัมพันธ์กับชีวิตประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องเข้าสู่ขบวนการตรวจสอบและช่วยกันดูแลเพื่อที่การก้าวไปข้างหน้าจะได้ยังยืน
แถลงการณ์
เรื่อง ขอคัดค้านและขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ
ต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 ประเภท
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ให้ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จำนวน 11 ประเภทโครงการ อันเป็นมติที่มิได้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อกำหนดประเภทโครงการ ที่มีข้อเสนอสรุปว่าสมควรให้ประกาศกำหนดทั้งหมดจำนวน 18 ประเภทโครงการนั้น
องค์กรดังมีรายนามข้างท้ายนี้ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองรับรองไว้ จึงขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้
ประการแรก เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า หากปล่อยให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว เป็นการยากที่จะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม มาตรการป้องกันล่วงหน้าจึงมีความสำคัญและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนยิ่งกว่าการแก้ไขฟื้นฟูในภายหลัง
ประการที่สอง กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 ประเภทตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มาซึ่งประเภทโครงการและกิจการที่ประชาชนและคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเห็นว่า มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงอย่างแท้จริง และสมควรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนก่อน เริ่มดำเนินการ ดังนั้นมติของคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการต่างๆโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่มีน้ำหนัก เพียงพอที่จะหักล้างข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ จึงถือว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่โปร่งใส และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ตลอดจนเป็นการละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
ประการที่สาม ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ให้ประกาศกำหนด 11 ประเภทโครงการลดลงจากข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการโดยละเอียดแล้วสามารถจำแนกได้ดังนี้
- โครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จำนวน 5 ประเภท
- โครงการที่กำหนดไว้ แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมขนาดหรือเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญ จำนวน 6 ประเภท เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยัน และไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเฉพาะที่ใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วมชนิด Combined Cycle หรือ Cogeneration และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นไปเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป
- โครงการที่ไม่เห็นชอบกำหนดให้เป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จำนวน 7 ประเภท เช่น โครงการชลประทาน โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักหรือการผันน้ำระหว่างประเทศ โครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ และโครงการสูบน้ำเกลือใต้ดิน เป็นต้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีเพียง 5 ประเภทโครงการเท่านั้นที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในขณะที่อีก 13 ประเภทโครงการถูกตัดออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไป จนกลายเป็นการเอื้อให้โครงการจำนวนมากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณาแล้วว่าเป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องและไม่บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมิได้ให้ความสำคัญและเคารพต่อการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โดยตรง และได้ดำเนินการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง รัฐบาลจึงควรต้องยึดเอาข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูล งานวิชาการ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งยังมีความชอบธรรมในแง่ของผู้ดำเนินการ คือ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีมาโดยเฉพาะ อันจะทำให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวองค์กรดังมีรายชื่อข้างท้ายมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติที่ได้เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย
2.ขอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าวด้วย แต่การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลพิจารณาดำเนินการเช่นนี้กลับจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
3. ขอให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) แสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถ ทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
4.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการให้เป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง
แถลง วันที่ 1 กันยายน 2553
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
สาระสำคัญตามร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553
ลำดับ
|
ประเภทโครงการ
หรือกิจการ
|
ขนาด
|
หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ
|
1
|
การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด
|
ตั้งแต่ 300 ไร่ ขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือขออนุญาตโครงการ
|
2
|
การทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ดังต่อไปนี้
2.1 เหมืองแร่ใต้ดิน เฉพาะที่ออกแบบให้โครงสร้างมีการยุบตัวภายหลังการทำเหมืองโดยไม่มีค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทน เพื่อป้องกันการยุบตัว
2.2 เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือ ทุกขนาด เหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ (associated mineral)
2.3 เหมืองแร่ถ่านหิน เฉพาะที่มีการลำเลียงแร่ถ่านหินออกนอกพื้นที่โครงการด้วยรถยนต์
2.4 เหมืองแร่ในทะเล
|
ทุกขนาด
ทุกขนาด
ขนาดตั้งแต่ 200,000 ตัน/เดือน หรือตั้งแต่ 2,400,000ตัน/ปี ขึ้นไป
ทุกขนาด
|
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
|
3
|
นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้
3.1 นิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตาม 4 หรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก ตาม 5.1หรือ 5.2 แล้วแต่กรณี มากกว่า 1 โรงงานขึ้นไป
3.2 นิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการขยายพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีตาม 4 หรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก ตาม 5.1 หรือ 5.2
|
ทุกขนาด
ทุกขนาด
|
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ
|
4
|
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังต่อไปนี้
4.1 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น (upstream petrochemical industry) กำลังการผลิตตั้งแต่ร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตเดิมขึ้นไป
4.2 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง(intermediate petrochemical industry) ดังต่อไปนี้
4.2.1 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง (intermediate petrochemical industry) ที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 A
4.2.2 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง
(intermediate petrochemical industry) ที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมี ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2 A
|
ทุกขนาด หรือที่มีการขยาย
ขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 100 ตัน/วัน ขึ้นไป
ขนาดกำลังการผลิต 700 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 700 ตัน/วัน ขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยายแล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขอก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขอก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
|
5
|
อุตสาหกรรมถลุงแร่ หรือหลอมโลหะ ดังต่อไปนี้
5.1 อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก
5.2 อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านcoke หรือ ที่มีกระบวนการ sintering
5.3 อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี
5.4 อุตสาหกรรมถลุงแร่ตะกั่ว
5.5 อุตสาหกรรมหลอมโลหะ (ยกเว้นเหล็ก และอลูมิเนียม)
5.6 อุตสาหกรรมหลอมตะกั่ว
|
ที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 5,000 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวน การผลิตรวมกันตั้งแต่5,000 ตัน/วัน ขึ้นไป
ทุกขนาด
ที่มีปริมาณแร่ป้อน (input)
เข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวนการผลิตรวมกัน ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป
ทุกขนาด
ขนาดกำลังการผลิต (output) ตั้งแต่ 50 ตัน/วัน
ขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิต
รวมกันตั้งแต่ 50 ตัน/วัน
ขึ้นไป
ขนาดกำลังการผลิต (output) ตั้งแต่ 10 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิต รวมกัน ตั้งแต่10 ตัน/วัน ขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
|
6
|
การผลิต กำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี
|
ทุกขนาด
|
ให้เสนอในขั้นขออนุญาต อนุญาตประกอบกิจการ
|
7
|
โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมหรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซิเมนต์ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นเชื้อเพลิงทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม
|
ทุกขนาด
|
ให้เสนอในขั้นขออนุญาต
ก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
|
8
|
โครงการระบบขนส่งทางอากาศ
|
ที่มีการก่อสร้าง ขยาย หรือเพิ่มทางวิ่งของอากาศยาน
ตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือขออนุญาตโครงการ
|
9
|
ท่าเทียบเรือ
|
1) ที่มีความยาวหน้าท่า (berth length) ตั้งแต่ 300เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือ ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ยกเว้น ท่าเทียบเรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา
2) ที่มีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตารางเมตรขึ้นไป ยกเว้น ท่าเทียบ เรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา
3) ที่มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 25,000 ตัน/เดือนขึ้นไป หรือมีปริมาณรวมกันทั้งปีตั้งแต่ 250,000 ตัน/ปี ขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ
หรือขออนุญาตโครงการ
|
10
|
เขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ
|
1) ที่มีปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้าน ลูกบาศก์
เมตรขึ้นไป หรือ
2) ที่มีพื้นที่เก็บกักน้ำ ตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป
|
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ
หรือขออนุญาตโครงการ
|
11
|
โรงไฟฟ้าพลังความร้อน ดังต่อไปนี้
11.1 โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
11.2 โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล
11.3 โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นระบบพลังความร้อนร่วมชนิด combined cycle หรือ cogeneration
11.4 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
|
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 100 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 150 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 3,000 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
ทุกขนาด
|
ให้เสนอในขั้นขออนุญาต
ก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
|