Skip to main content
sharethis
 
วันนี้ (15 พ.ย.53) มีการเผยแพร่งานเขียนโดยทีมสื่อสารข้อมูลสาธารณะ TDRI ชื่อ “ความตกลง JTEPA กับปัญหาขยะมีพิษจากญี่ปุ่น: ความวิตกกังวลและความเป็นจริง” โดย  ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หลังการบังคับใช้ความตกลง JTEPA ครบ 2 ปี ผู้เขียนได้วิเคราะห์การนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า นับตั้งแต่ความตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2552 ไม่มีการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายภายใต้ JTEPA เลย
 
ทั้งนี้ งานเขียนดังกล่าวระบุเนื้อหา ดังนี้
 
ในช่วงการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) มีประเด็นหนึ่งที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมมีความเป็นห่วงกันมากคือ การที่ความตกลง JTEPA นี้อาจทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าขยะ/ของเสียอันตราย รวมทั้งขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาขยะเทศบาล (municipal waste) จำนวนมาก มาทิ้งในประเทศไทย เนื่องจากไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าใช้แล้วหรือของเสียบางรายการ
 
ในช่วงนั้น รัฐบาลไทยชี้แจงว่า ในทางกฎหมาย รัฐบาลไทยยังสามารถบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยความตกลง JTEPA ก็ยืนยันสิทธิของไทยในเรื่องการควบคุมการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายตามกฎหมายไทย ดังนั้นขยะ/ของเสียอันตรายที่ไทยห้ามนำเข้า ก็ไม่สามารถนำเข้าได้เมื่อมีการทำความตกลง JTEPA นอกจากนี้ นักวิชาการก็ชี้ว่า การลดภาษีศุลกากรตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลง JTEPA ก็น่าจะไม่ทำให้เกิดการไหลบ่าของขยะ/ของเสียเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นการลดภาษีศุลกากรเพียงแค่ร้อยละ 1-5 เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะคุ้มกับค่าส่งและค่าจัดการเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษด้านภาษี 
 
หลังการบังคับใช้ความตกลง JTEPA ครบ 2 ปี ผู้เขียนได้วิเคราะห์การนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า นับตั้งแต่ความตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2552 ไม่มีการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายภายใต้ JTEPA เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาขยะเทศบาลที่เคยเป็นห่วงกันมาก ทั้งนี้ ในหมวดที่เกี่ยวข้อง มีเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่ใช้แล้วบางรายการ ได้แก่ ตู้แช่แข็งแบบเปิดด้านบน 2 เครื่อง (ปี 2550) โทรทัศน์สี 1 เครื่อง (ปี 2551) กล้องถ่ายภาพดิจิทัล/กล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ 2 เครื่อง (ปี 2551) แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว 40 กิโลกรัม (ปี 2551) และยางที่ใช้แล้ว 6.87 ตัน (ปี 2552) เท่านั้น (ดูตารางประกอบในส่วนของปริมาณการนำเข้าภายใต้ JTEPA) 
 
ตารางดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า มีการนำเข้าขยะ/ของเสีย/ของที่ใช้แล้วบางประเภทเช่น ขยะ/ของเสียเคมีภัณฑ์ ขยะพลาสติก และยางที่ใช้แล้วโดยชำระภาษีศุลกากรในอัตราปรกติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความตกลง JTEPA แต่อย่างใด 
 
ข้อมูลดังกล่าวน่าจะชี้ว่า ความวิตกกังวลที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเจรจาทำความตกลง JTEPA นั้น น่าจะเกินเลยจากความเป็นจริงมาก และในกรณีนี้ การทำความตกลงการค้าเสรีไม่ได้มีผลต่อการทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด ในทางทฤษฎี แม้การค้าระหว่างประเทศอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงก็ตาม แต่หลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ก็ยังไม่มีความชัดเจน การให้ความคิดเห็นต่อสาธารณะของฝ่ายต่างๆ จึงควรมีข้อมูลและหลักฐานต่างๆ สนับสนุน ความคิดเห็นดังกล่าวจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุด
 
 
สรุปการนำเข้าสินค้าใช้แล้ว/ขยะจากญี่ปุ่นในช่วงปี 2548 ถึงปี 2552
 
 
ประเภท
 
หน่วย

ปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ปริมาณการนำเข้าภายใต้ JTEPA
2548
2549
2550
2551
2552
2550
2551
2552
ขี้เถ้า
ตัน
0
0
0
0
0
0
0
0
เศษน้ำมัน
ตัน
554.36
409.39
367.99
244.55
156.14
0
0
0
ขยะ/ของเสียเคมีภัณฑ์
ตัน
0
0.05
5.13
12.08
5.38
0
0
0
ขยะพลาสติก
ตัน
368.21
383.64
690.23
1,491.30
950.23
0
0
0
ยางที่ใช้แล้ว
ตัน
62.24
114.77
51.59
121.68
412.29
0
0
6.87
แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว
ตัน
4,098.59
160.85
54.85
58.86
82.25
0
0.04
0
เครื่อง
235.08 ล้าน
304.57 ล้าน
266.85 ล้าน
111.64 ล้าน
35.93 ล้าน
2
 
3
0
 
ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย (ระยะที่ 1)” เสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net