จี้ ก.ต่างประเทศ ขอโทษสังคมหลังผลักดันลงนาม JTEPA จนไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะของญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

FTA WATCH เรียกร้อง ก.ต่างประเทศ ขอโทษสังคมหลังไทยผลักดันลงนาม JTEPA จนไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะของญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

18 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'FTA Watch' เรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ กรณีที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยกลายสภาพเป็นถังขยะโลก จากกรณีกระทรวงมีหน้าที่หลักในการเจรจาทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทย หรือ JTEPA จนนำมาสู่การลงนามในสมัยรัฐบาลทหารคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี 51 ส่งผลให้ประเทศเป็นที่ทิ้งขยะของญี่ปุ่น

FTA WATCH ยังเรียกร้องให้กระทรวง ปรับเปลี่ยนทั้งทัศนคติและพฤติกรรมการทำงานให้ตระหนักถึงผลเสียของการเจรจาที่จะเกิดตามมาต่อประชาชนคนไทยให้มาก และพึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทยให้มากกว่าที่ผ่านๆ มา 

โดย FTA WATCH ระบุว่า

วันนี้ (18 มิ.ย.64) กระทรวงการต่างประเทศกำลังจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และสื่อมวลชน

FTA Watch จึงถือเป็นโอกาสย้อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในการทำหน้าที่เจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับหน้าที่หลักในการเจรจาทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทย หรือ JTEPA ซึ่งในที่สุดมาลงนามในสมัยรัฐบาล คมช. ปี 2551

ช่วงปี 2550 ความตกลง JTEPA ถูกทักท้วงอย่างมากจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ด้วยกังวลว่า จะเป็นการ เปิดประเทศให้เป็นที่ทิ้งขยะของญี่ปุ่น

ของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA อาทิ ขี้แร่, ขี้ตะกอน, เศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว, ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว, เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล, ของเสียทางเภสัชกรรม, ของเสียจากสถานพยาบาล, ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน, ขยะเทศบาล, ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่นๆ, ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ, น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง, ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน

ทั้งนี้ เพราะประเทศอุตสาหกรรม เช่น ประเทศญี่ปุ่น แสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากปัญหาวิกฤตการณ์ขยะภายในประเทศด้วยการหาช่องทางระบายขยะไปกำจัดทิ้งยังต่างประเทศ และในช่วงต้น ค.ศ. 1990 ช่องทางที่สมเหตุสมผลและไม่ขัดต่อข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดนจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา ก็คือ การทำให้ “ขยะ” ทุกชนิด และ “สิ่งของใช้แล้ว” ทุกประเภทไม่ว่าจะเสื่อมสภาพแล้วหรือไม่ก็ตาม เป็น “สินค้า” ที่ผนวกรวมเข้าไปในรายการสินค้าของข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (Economic Partnership Agreement: EPA) ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมก็ได้สร้างยุทธศาสตร์รองรับอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้การส่งออกขยะประเภทต่างๆ ด้วยการส่งเสริมแนวความคิดเรื่อง 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ขยะ” หรือ “ของเสีย” มาเรียกว่า “วัสดุหรือสิ่งของใช้แล้ว” หรือ “เศษวัสดุจากกระบวนการผลิต” เป็นต้น เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับการนำเข้า “วัสดุหรือสิ่งของใช้แล้ว” และ “เศษวัสดุจากกระบวนการผลิต” จากประเทศพัฒนาเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์นี้ยังรวมถึงการขายหรือส่งออกเทคโนโลยีเตาเผาของเสียและการรีไซเคิลให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย

สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ขยะที่ส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนารวมถึงขยะอันตราย ขยะปนเปื้อนสารอันตรายและขยะติดเชื้อ ซึ่งการจัดการและกระบวนการรีไซเคิลของเสียเหล่านี้จัดเป็นกิจการอันตรายที่จำเป็นจะต้องมีการลงทุนสูงในการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่รวมถึงการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวดมาก ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแหล่งรองรับการถ่ายโอนขยะหรือของเสียนั้น ส่วนใหญ่คือประเทศที่มีนโยบายและกฎหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ และมีปัญหาสำคัญคือขาดความโปร่งใสและมีการอาศัยระบบพรรคพวกหรือระบบอุปถัมภ์ในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประเทศไทย

ประเทศไทย นอกจากจะมีปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่ยังอ่อนแอและไม่โปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงงานแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการอนุมัติให้มีการนำเข้าขยะหรือของเสียจากต่างประเทศได้ทยอยออกกฎหมายภายในประเทศที่นำไปสู่การเปิดเสรีให้มีการนำเข้าขยะหรือวัสดุใช้แล้วทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริโภคเข้ามารีไซเคิล รวมทั้งส่งเสริมการตั้งโรงงานที่ให้บริการกิจการเหล่านี้ภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2545 เป็นต้นมา

ประเทศไทยได้ลงนามทำความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ โดยเฉพาะการลงนามทำความตกลง JTEPA เมื่อปี 2551 ถือเป็นความตกลงฯฉบับแรกที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนสำหรับของเสียอันตรายทุกประเภท ทั้งนิยามของที่นำมาทิ้งไม่ใช่แค่รีไซเคิลและพิกัดศุลกากร

ในช่วงก่อนการลงนาม กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่หน่วยงานหลักในการเจรจา JTEPA เคยปฏิเสธแข็งขันว่า JTEPA ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย แต่เมื่อ FTA Watch ตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จึงมีการยอมรับถึงข้อผิดพลาดในการเจรจาความตกลง JTEPA เนื่องจากความตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศในอาเซียนอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้น ไม่มีเนื้อหาที่ยอมรับขยะเป็นสินค้าเช่นไทย

นอกจากนี้ FTA Watch ยังพบว่า ในขณะนั้น การแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ให้น้ำหนักกับผู้นำจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมา จึงไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ต้องถือว่า ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เท่าทัน แต่หยิ่งยโสโอหังไม่ฟังใครของกระทรวงการต่างประเทศ มีส่วนทำให้การนำเข้าขยะจากต่างประเทศเริ่มต้นขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไทยอย่างรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น สังคมไทยสมควรได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศที่ทำหน้าที่เจรจา JTEPA ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสังคมนี้

แม้ว่าต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาลไทยมีท่าทีเข้มแข็งในการกำหนดนโยบายที่จะห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2563 เนื่องจากมีการตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้าขยะต่างประเทศจำนวนมากก็ตาม แต่ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาคัดแยกและรีไซเคิลในประเทศตามโควต้าที่ถูกต้องก็ยังสร้างปัญหา เนื่องจากกระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการลักลอบทิ้งหรือฝังกลบกากที่เหลือตามสถานที่ต่างๆหลายแห่ง ทำให้แหล่งน้ำและผืนดินเสียหายปนเปื้อนมลพิษเป็นบริเวณกว้างขวางและไม่สามารถเยียวยาหรือฟื้นฟูได้

ปัญหาการนำเข้าขยะของไทยยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าขณะนี้ได้ล่วงเลยเวลาที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะต่างประเทศและจะห้ามการนำเข้าหลังจากปี 2563 เป็นต้นมาแล้ว แต่จากการติดตามของสมาชิกเครือข่าย FTA Watch ยังคงพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีกถึงปี 2567 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดศุลกากรทั้งหมด 428 รายการ ยังเปิดช่องให้มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียอันตรายบางรายการเข้ามายังประเทศของเราได้ตามปกติ

แน่นอนว่า FTA Watch ไม่ได้เพ่งโทษกระทรวงการต่างประเทศเพียงหน่วยงานเดียว แต่ลักษณะการทำงานและความพยายามผลักดันให้ไทยเข้ายื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของกระทรวงการต่างประเทศในขณะนี้ กำลังย้อนรอยซ้ำเส้นทางเดินเดียวกับเมื่อครั้งเร่งให้ไทยลงนาม JTEPA ด้วยการใช้ทีมวิชาการที่ตนและภาคธุรกิจจัดจ้างสนับสนุน กดดันหน่วยราชการที่มีข้อห่วงกังวลให้ลดระดับความกังวล โดยให้สนใจแต่ผลได้ในทางทฤษฎีมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง

FTA Watch จึงเรียกร้องอีกครั้งให้กระทรวงการต่างประเทศขอโทษสังคมไทยอย่างเป็นทางการที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายสภาพเป็นถังขยะโลก และให้ปรับเปลี่ยนทั้งทัศนคติและพฤติกรรมการทำงานให้ตระหนักถึงผลเสียของการเจรจาที่จะเกิดตามมาต่อประชาชนคนไทยให้มาก และพึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทยให้มากกว่าที่ผ่านๆ มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท