รับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่-พายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องราวการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่และการเผชิญหน้ากับพายุดีเปรสชั่นของ 4 โรงพยาบาลในสงขลาโดยแพทย์ในพื้นที่ "ประชาไท" นำเสนอโดยแบ่งเป็นสามตอน

ชื่อชุดบทความเดิม
ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ 2010
และพายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข

เรียบเรียงโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา
 

 

ภาค 3: น้ำท่วมหาดใหญ่ กับบริการปฐมภูมิกู้ภัยพิบัติแห่งทศวรรษ

อำเภอหาดใหญ่เป็นอำเภอเศรษฐกิจของภาคใต้ น้ำท่วมครั้งรุนแรงครั้งสุดท้ายคือปี 2543 หรือ 10 ปีก่อนหน้านี้ ในครั้งนี้ฝนที่ตกหนักตลอดลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่าเมืองเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ล้นตลิ่งท่วมเมืองอย่างรวดเร็วในค่ำคืนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553

อุทกภัยในหาดใหญ่ครั้งนี้น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็วมาก โรงพยาบาลหาดใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างลุ่ม ระดับน้ำสูงจนเข้าอาคารผู้ป่วยนอก อาคารสนับสนุนต่างๆ หลายอาคารของโรงพยาบาลหาดใหญ่ บริเวณถนนน้ำเชี่ยวมาก ไฟฟ้าดับตอนกลางคืน สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากตัวอาคารได้ โรงพยาบาลปิดโดยปริยาย โรงปั่นไฟถูกน้ำท่วม จนต้องมีการขนย้ายผู้ป่วยหนักไปนอนรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ถึงกระนั้นในโรงพยาบาลหาดใหญ่ที่ถูกน้ำท่วม ก็ยังมีผู้ป่วยและญาตินอนรักษาตัวอยู่หลายร้อยชีวิต

บันทึกจากหอผู้ป่วยใน น้ำท่วมเมืองกับคนไข้ในที่ยังต้องดูแล
ณ มุมหนึ่งของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่อยู่ท่ามกลางความมืดปราศจากแสงสว่างจากไฟฟ้า ซึ่งให้ความสะดวกในการทำงานมาตลอดหลายปี แต่ปัจจุบันนี้แสงสว่างดังกล่าวไม่มีแล้ว มีเพียงแสงเทียนและ และแสงจากไฟฉายกระบอกน้อยที่ให้ความสว่างอยู่ในหอผู้ป่วย ท่ามกลางความมืดรอบด้าน ความกังวลและความกลัว ย่อมเกิดขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติงานในฐานะผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีแม้เครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้ใช้ในเวลานี้ แม้มีเพียงแสงเทียนและไฟฉายที่ให้แสงสว่างบุคลากรทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย แทนที่จะทำให้ท้อแท้หมดกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับเป็นแรงเสริมให้ทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้น

พยาบาลยังคงให้การดูแลผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วย ซึ่งยังมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ส่วนที่มีการขนย้ายผู้ป่วยไปนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มผู้ป่วยหนักที่ต้องดูแลอย่างซับซ้อน ต้องใช้เครื่องมือที่พึ่งพากระแสไฟฟ้า แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลายร้อยชีวิตของโรงพยาบาลยังไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน ยังรับการดูแลรักษาท่ามกลางสายฝนและความมืดที่โรงพยาบาลหาดใหญ่

แน่นอนว่า พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะมีความกังวลใจและยากลำบากในการให้การปฏิบัติการเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย ไฟฉายจึงเป็นอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างคู่กายที่พยาบาลจะต้องนำติดตัวไปด้วยทุกที่ ซึ่งพยาบาลหนึ่งคนจะมีไฟฉายคนละหนึ่งกระบอก เพื่อให้แสงสว่างในขณะให้การพยาบาล ในการฉีดยาผู้ป่วย มือหนึ่งถือไฟฉายอีกมือหนึ่งถืออุปกรณ์สำหรับฉีดยาหรือให้สารน้ำ ซึ่งเมื่อพยาบาลเดินไปถึงเตียงของผู้ป่วย ญาติจะเป็นผู้ช่วยในการส่องไฟฉายให้พยาบาลได้ฉีดยาหรือเปิดเส้นเพื่อให้สารน้ำ

ในส่วนลึกของจิตใจพยาบาลมีความกังวลอยู่มาก กลัวจะเปิดเส้นให้น้ำเกลือไม่ได้ ทำให้ย้อนนึกไปถึงตะเกียงที่ชาวสวนยางนำไปกรีดยาง ซึ่งจะต้องสวมศีรษะไว้และสามารถใช้มือทั้ง 2 ข้าง กรีดยางได้ โดยที่ไม่ต้องถือตะเกียงไว้ แต่ในเวลานี้มีเพียงกระบอกไฟฉายและแสงเทียนไขเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอแล้วหากมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด

สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องมีการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ก็ยังคงมีตกค้างอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจนั้น เครื่องช่วยหายใจยังสามารถใช้ได้ เพราะมีกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟบางเครื่องที่ยังไม่จมน้ำยังทำงานได้ แต่การดูดเสมหะมีความยุ่งยากมากเพราะระบบการดูแลเสมหะแบบ pipeline นั้น ไม่ทำงานเนื่องจากระบบดูดสุญญากาศเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งหอผู้ป่วยมีเพียงเครื่องดูดเสมหะแบบโบราณที่เสียบปลั๊กไฟฟ้าได้เพียงเครื่องเดียว ในขณะเดียวกันมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 10 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้แต่ละครั้งจะต้องรอดูดเสมหะเป็นรายๆ ต้องหมุนเวียนกันใช้

นวัตกรรมใหม่ๆ แบบโบราณจึงเกิดขึ้น เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดูดเสมหะพร้อมๆ กัน ทำให้พยาบาลต้องคิดวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ทันที โดยการขอยืมลูกสูบยางแดงมาต่อเข้ากับสายดูดเสมหะของผู้ป่วยแล้วดูดเสมหะออก วิธีนี้ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องเสียเวลาในการล้างลูกสูบยางแดง ซึ่งต้องใช้เวลานานพอประมาณในการล้างให้สะอาด แต่ก็นับเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่แต่สามารถใช้ได้จริงๆ น่าจะนำไปจดสิทธิบัตรไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จำเป็นที่จะต้องรายงานแพทย์ทราบนั้น ในสถานการณ์ปกติ แค่ยกหูโทรศัพท์ขึ้นก็สามารถรายงานอาการแก่แพทย์ได้ทันที แต่ ณ ปัจจุบันนี้สถานการณ์น้ำท่วมทำให้การรายงานอาการมีความยุ่งยากมากและต้องใช้เวลาในการเดินไปตามแพทย์ที่ห้องพักแพทย์ท่ามกลางความมืด มีเพียงแสงสว่างจากไฟฉายเท่านั้น จินตนาการต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัวสมอง ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา แต่เมื่อเดินมาถึงห้องพักแพทย์ เคาะประตูเรียกแพทย์เพื่อไปดูอาการผู้ป่วย ความกลัวนั้นก็จางหายไป เมื่อนึกถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติและจะต้องให้การดูแลผู้ป่วย

ท่ามกลางความมืดกิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปอย่างเงียบๆ แต่มีแนบแผนที่จะต้องปฏิบัติ ยังคงมีการประเมินสัญญาณชีพผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยที่วิกฤตและไม่วิกฤต การบันทึกทางการพยาบาล การอาบน้ำ การทำแผล การให้อาหารทางสายยาง และกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และให้กำลังใจญาติที่เฝ้าผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและให้ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้

ภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ในความมืดหนึ่งวันหนึ่งคืนนั้น แม้บรรยากาศภายนอกจะมืดมิด แต่ก็มีความสว่างในใจเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ประสบเหตุ แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ หากทุกคนมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เหตุเกิดที่เวชกรรม ในวันที่น้ำเข้าโรงพยาบาลหาดใหญ่
ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 คุณหมอพณพัฒน์ โตเจริญวานิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานได้รวบรวมสมาชิกแพทย์ พยาบาลกลุ่มงานเวชกรรมสังคม ที่ติดน้ำท่วมอยู่บนตึกเวชปฎิบัติครอบครัว ประกอบด้วย หมออีก 3 คนและพยาบาล 2 คน นำชุดยาสามัญประจำบ้านจำนวน 240 ชุด ฝากไปกับเรือเร็วที่แล่นเข้ามาส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่

“เรือมีอยู่ไม่กี่ลำแล่นมาที่โรงพยาบาลแล้วจะกลับมาอีกทีก็ตอนที่มีคนเจ็บน่ะหมอ น้ำมันเชี่ยวมาก วันนี้มีคนเรือโดนไฟช๊อตไปแล้วด้วย ไม่ค่อยปลอดภัยครับหมอ” เสียงคนเรือตอบ นั่นหมายความว่าถ้านั่งไปกับเรือจะได้กลับมาโรงพยาบาลเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ทุกคนจึงตัดสินใจกันว่าเราควรจะรอตั้งหลักกันก่อนดีกว่า ออกไปคงเป็นภาระมากกว่าจะได้ประโยชน์กับชาวบ้าน จึงตัดสินใจฝากยาไปกับเรือ ที่บังเอิญผ่านไปมาชาวบ้านก็จะตะโกนเรียกขอรับยาเป็นจุดๆ ไป

พุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลหาดใหญ่ ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก น้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ สัญญานโทรศัพท์ยังถูกตัดขาด คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัวยังปิดให้บริการ แต่ได้จัดเตรียมชุดยาสามัญประจำบ้านต่อไป เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในอำเภอหาดใหญ่ หมอสองคนขยับไปช่วยตรวจผู้ป่วยนอกด้านหน้าตึกใหญ่ของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการได้ อีกส่วนเตรียมเสบียงยาสามัญประจำบ้าน ทีมแพทย์นำโดยคุณหมอหทัยทิพย์ ธรรมวิริยะกุล จากเวชกรรมสังคมพร้อมแพทย์อาสาจากกลุ่มงานสูติฯหนึ่งท่าน คือ นพ.จิตติ ลาวัลย์ตระกูล ลงเรือเคลื่อนที่เร็วร่วมกับมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลซึ่งอาสาเดินทางมาร่วมกู้ภัยน้ำท่วมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านจุฑาทิพย์ ชุมชนคลองแหฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้า Big C ซึ่งขณะนั้นได้รับแจ้งจากทีมกู้ภัยว่าวิกฤตมากเพราะน้ำท่วมเกินระดับศีรษะ ชาวบ้านเริ่มขาดน้ำ อาหารและร้องขอยา

ขณะเดินทางโดยทางเรือไม่เพียงแต่ต้องระมัดระวังกระแสน้ำเชี่ยวกราด แต่ยังต้องระวังสิ่งของ หรือรถที่จอดจมอยู่ใต้น้ำด้วย บางครั้งลูกเรือก็ต้องลงจากเรือไปถือหางเรือหรือลากไปว่ายน้ำไปเรือที่ใช้จึงต้องเป็นเรือท้องแบนและต้องมีเครื่องยนต์จึงจะสามารถเดินทางได้ สิ่งที่ควรเตรียมตัวเสมอเมื่อต้องนั่งเรือไปช่วยน้ำท่วมคือ ชูชีพ โทรโข่ง รองเท้าบู้ทสำหรับลุยน้ำและถุงยาที่กันน้ำเข้าได้ ที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมพกน้ำดื่มและอาหารของตัวเองไปด้วยเพราะนาทีนั้นคงไปหวังพึ่งให้ใครหาอาหารและน้ำให้เราไม่ได้

เวลาหนึ่งวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เวลาเลิกงานสำหรับการออกหน่วยไม่ใช่สี่โมงเย็นแต่เป็นเวลาพลบค่ำที่คาดเดาไม่ได้จริงๆ สำหรับชาวบ้านจะต้องเตรียมหมาน้ำ (อุปกรณ์ตักน้ำผูกเชือก) เอาไว้ห้อยลงมาจากหลังคาเพื่อรับของเสบียงหรือยาน้ำท่วมไว้ด้วย ไปแจกยาอาจจะต้องฝึกปรือฝีมือในการโยนรับเหมือนเล่นแชร์บอลไปก่อนด้วยเพราะชาวบ้านลงมาหาเราไม่ได้เราก็ไม่สามารถปีนจากเรือไปบนหลังคาบ้านคนไข้ได้ รวมภารกิจในวันนั้นได้แจกยาชุดผู้ใหญ่ไป 300 ชุด ยาชุดเด็ก 200ชุด

ช่วงเย็นได้สำรวจพื้นที่ประสบภัยบริเวณเขต 8 และจันทร์วิโรจน์ เนื่องจากในขณะที่ไปแจกยานั้นชาวบ้านหลายคนมักถามเป็นประโยคแรกว่ามีน้ำมาด้วยมั้ย ทีมหน่วยเคลื่อนที่ในวันนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าถ้าจะไปแจกยาชาวบ้านขอให้เตรียมน้ำไปด้วย ดื่มน้ำจะได้กินยาไปด้วยนั่นเอง ตกเย็น ตะวันโพล้เพล้ ทีมกู้ภัยลงทุนควักกระเป๋า หนึ่งพันบาทไปซื้อน้ำกลับเข้าไปแจกที่หมู่บ้านเพราะชาวบ้านคงรอคอยข้ามคืนไม่ไหว

กลับไปในหมู่บ้านรอบที่สองจึงได้เห็นว่าชาวบ้านบางคนพยายามเป็นตัวแทนลุยน้ำออกมาเพื่อมารับถุงยังชีพที่ตั้งจุดแจกจ่ายอยู่บนพื้นดินปากทางเข้าหมู่บ้าน คุณลุงคนหนึ่งรับถุงแจกแล้วก็หอบหิ้วทั้งลากทั้งอุ้มถุงจนขาดของหล่นไปตามทางน้ำ ทีมกู้ภัยทนไม่ได้ต้องจอดเรือเอาถุงในเรือลงไปเปลี่ยนให้ คนแก่ และหนุ่มสาววัยกลางคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ค่อยๆ เดินลุยน้ำ บ้างก็นั่งบนที่นอนที่ลอยน้ำออกมาพร้อมเตียง เด็กๆ เกาะกะละมังลอยตามน้ำไม่ให้จม เพื่อความหวังข้างหน้าว่าอาจจะมีน้ำแจก มีอาหารหรือเสบียงกลับไปให้คนในครอบครัว แม้จะทั้งเหนื่อยทั้งเพลียแต่หมอสองคนก็ยังวางแผนต่อว่าพรุ่งนี้คงต้องออกมาลุยอีกวัน

คุณหมอจิตติอาจารย์อาวุโสกลุ่มงานสูตินรีเวชซึ่งบ้านพักในโรงพยาบาลก็น้ำท่วมไม่น้อยไปกว่านอกโรงพยาบาลนัดหมายเป็นเสียงแข็งว่า “พรุ่งนี้ผมจะออกมาช่วยอีก บ้านผมยังไงก็ยังไม่มีน้ำล้างบ้าน เก็บไว้ก่อน เอาไว้ทีหลังละกัน ชาวบ้านลำบากกว่ามาก” ใครได้ฟังก็จะรู้สึกทึ่งไม่รู้ลืม

ภารกิจหลังน้ำลด แจกยาด้วยใจ
พฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553 โรงพยาบาลหาดใหญ่น้ำลดลงไม่ท่วมขัง แต่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้เนื่องจากบุคลากรขาดแคลน ส่วนหนึ่งประสบอุทกภัยหนักไม่แพ้กัน จึงยังไม่สามารถจัดระบบบริการในคลินิกได้ ขณะนั่งเตรียมจัดชุดยาสามัญประจำบ้านซึ่งมีคุณพยาบาลจิราภรณ์ จิตรากุล หรือ ภรณ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิตยาชุดสามัญประจำบ้านสำหรับน้ำท่วมมือหนึ่งของเวชกรรมสังคมหาดใหญ่อยู่นั้น คุณหมอหทัยทิพย์กระหืดกระหอบกลับจากประชุม war room ของโรงพยาบาลหาดใหญ่มาขออาสาเจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคมที่พอมีอยู่ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทันทีที่ถามทุกคนยกมือขึ้นอย่างไม่ลังเล วันนี้จึงมีหลายคนเข้าร่วมให้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่เร็ว แพทย์ 3 คนรวมทั้งคุณหมอจิตติซึ่งได้ตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่นว่าจะไม่นั่งรอผู้ป่วยที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อีกแล้วแต่จะออกไปช่วยชาวบ้านถึงในพื้นที่ดีกว่า และแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอีก 2 ท่านเข้าร่วมด้วยพร้อมทีมพยาบาล โดยมีพยาบาล 2 คนอยู่ประจำสำนักงานเป็นผู้ประสานงานและเฝ้ากองบัญชาการ

นับเป็นความโชคดีของคนโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ถึงแม้รถของโรงพยาบาลหาดใหญ่จะโดนน้ำท่วมไปจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของรถที่มีอยู่ รวมทั้งคลังยาน้ำท่วมที่กลับโดนน้ำท่วมไปด้วย แต่เราก็ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือในระดับปฐมภูมิจากโรงพยาบาลต่างๆ อย่างไม่ขาดสายและทันท่วงที เช่นโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาและแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ รอบๆ หาดใหญ่ ในวันนี้การออกหน่วยเคลื่อนที่จึงใช้รถจากโรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับทีมสุขภาพและเวชภัณท์ที่นำติดมากับรถจากโรงพยาบาลราชวิถี นำทีมโดยนายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้าทีมกู้ชีพโรงพยาบาลราชวิถีพร้อมทีมแพทย์พยาบาล ออกบริการตรวจรักษาผู้ป่วย ทำแผลและฉีดยา 2แห่ง คือ มัสยิสยิดบ้านเหนือ จำนวน 147 ราย และ รัตนอุทิศ 3 จำนวน 174 ราย พบส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดกล้ามเนื้อ มีบาดแผลและน้ำกัดเท้า ในช่วงเย็นได้จัดทีมพร้อมรถฉุกเฉินลงแจกยาสามัญประจำบ้านใน ชุมชนบางแฟบนำโดยคุณหมอธาดา ทัศนกุล รวมทั้งวันแจกยาชุดไปจำนวน 760 ชุด

ปฐมภูมิเชิงรุก บุกถึงประตูบ้าน
ศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2553 แบ่งทีมสนับสนุนจัดเตรียมเวชภัณท์1ทีม อีกทีมให้บริการในคลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลที่สามารถเดินทางมารับบริการได้เพราะน้ำลดแล้ว นอกจากนี้ยังจัดบุคลากรเปิดให้บริการใน CMU ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้แก่ CMU 3 ตำบล และ CMU ควนลัง และอีกทีมของเวชกรรมโรงพยาบาลหาดใหญ่ร่วมกับทีมโรงพยาบาลราชวิถีออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยรถของโรงพยาบาลราชวิถี ตรวจรักษาโรคที่ตลาดพ่อพรหม

ทีมใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการเปลี่ยนสภาพสกปรกของตลาดหลังอุทกภัย ให้กลายมาเป็นแคมป์บริการผู้ป่วยที่สมบูรณ์แบบ ทีมกู้ชีพดัดแปลงพื้นที่นำหินและเศษไม้ในตลาดมาเป็นบันไดและราวเกาะให้ผู้ป่วยที่บาดเจ็บที่ขา มีรถเข็นให้ผู้ป่วยที่เดินไม่ไหวเพราะมีบาดแผลที่หัวเข่าทำให้ข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีบาดแผลที่เท้าจากของมีคมบาดหรือกระแทกของแข็ง รักษาจนยา Dicloxacilllin หมด ต้องจ่าย Pen V แทน และมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายราย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด มาขอรับยาเพราะยาหายไปกับน้ำที่ท่วมบ้านสูงถึง1-2 เมตร วันนี้มีผู้ป่วยรับบริการทั้งสิ้น 230 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก(TT) 50 ราย ส่งไปเย็บแผลที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ 1 ราย

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นั้นมีทั้งการตรวจรักษาในที่ตั้งหน่วย และการออกแจกยาไปตามตรอกซอกซอยในเขตชุมชนท่าเคียนด้วย คุณหมอธาดาใช้โทรโข่งเชิญชวนพี่น้องให้มารับยา ทีมงานอีก 4-5 คนรับหน้าที่แจกยาอยู่ด้านหลังรถอย่างแข็งขัน ชุดยาฯผู้ใหญ่จำนวน 450 ชุด เด็กจำนวน 100 ชุด หมดภายในหนึ่งชั่วโมง ชาวบ้านทั้งไหว้ทั้งน้ำตาคลอที่มีหมอมาแจกยาถึงบ้าน เดินมารับยาที่รถพร้อมอวยพรหมอกับทีมจนเราตื้นตันใจและหายเหนื่อยไปตามๆ กัน

นอกจากให้บริการยาชุดสามัญประจำบ้านแล้ว ก่อนพลบค่ำ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้เคลื่อนที่ฝ่ากองขยะเข้าไปฉีด TT ให้ผู้ป่วยที่นัดไว้เมื่อวานบริเวณเดิมในชุมชนรัตนอุทิศ (ซอย3) หน่วยฉีดวัคซีนบาดทะยักเปิดประตูรถตู้ ตั้งเป็นจุดฉีดยาสำหรับผู้มีบาดแผลและยังไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นบาดทะยัก แพทย์คนที่หนึ่งมีหน้าที่คัดกรองและตรวจดูแผล อีกคนมือถือโทรโข่งประกาศให้ผู้ที่กำลังล้างซากปรักหักพังมารับบริการ แพทย์อีกท่านให้บริการยาสามัญประจำบ้าน พยาบาลเตรียมอุปกรณ์พร้อมฉีด งานนี้ใช้แพทย์เปลืองหน่อย แต่ในเวลานั้นทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ได้ทุกอย่าง เพราะเรามีกันอยู่เพียงแค่นั้นจริงๆ เพียงครึ่งชั่วโมง TT 40 doses เท่าที่มีถูกใช้หมด ผู้ป่วยดีใจมากที่ไม่ต้องเดินทางไปฉีดที่โรงพยาบาลเพราะภาระหน้าที่ที่ต้องไปหาน้ำดื่มหรือหาน้ำอาบ หาข้าวกล่องที่ขาดแคลนให้คนที่บ้านก็วุ่นวายมากจนไม่มีเวลาไปโรงพยาบาล

ส่งไม้ผลัด จากทีมไกลสู่กองกำลังนักศึกษาแพทย์
การออกหน่วยในวันหลังๆ เวชภัณฑ์ทุกอย่างเริ่มขาดแคลนเพราะห้องยาของโรงพยาบาลหาดใหญ่ยังล้มเพราะอุทกภัย ยาจึงมีไม่เพียงพอ แต่เหมือนมีโชคดีเป็นครั้งที่สองที่ทีมกู้ชีพจากราชวิถี ได้ประสานงานกับท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กและ War Room ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กรุงเทพทำให้ได้รับการสนับสนุนยาน้ำเด็ก ซึ่งเป็นยาที่ขาดมากตั้งแต่วันแรกที่น้ำท่วมคลังยา จนได้รับยามาทางเครื่องบินอย่างรวดเร็วในวันต่อมา หลังเสร็จภารกิจ โรงพยาบาลราชวิถีแจ้งว่าจะถอนกำลังกลับกทม.เพราะสถาณการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ทีมหาดใหญ่เริ่มใจหายแต่ก็ต้องทำใจให้เข้มแข็งเพราะเขาก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายวัน

กลับจากออกหน่วยคืนนั้นทีมเวชกรรมสังคมจึงต้องประชุมวางแผนรับมือการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 6-7 พฤศจิกายนกันใหม่ว่าจะหายานพาหนะและบุคลากรที่ไหนมาช่วยออกหน่วย ทีมที่ออกหน่วยกันมาแต่แรกก็เริ่มเหนื่อยล้า โชคดีครั้งที่สามเกิดขึ้นขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ขึ้นเรียนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนพอดี จึงเป็นโอกาสดีของนักศึกษาที่จะได้มาเรียนรู้ การดูแลชุมชนในสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติ จริงๆ แล้วน้องๆ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ทุกคนได้มาร่วมกันเตรียมเสบียงยาจนค่ำมืดอยู่ทุกวัน แต่วันพรุ่งนี้พวกเขากำลังจะได้ออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่จริงหลายคนถึงกับแทบอดใจรอไม่ไหว

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2553 สถานการณ์ทั่วไปที่เวชกรรมสังคม ยังมีขยะบริเวณหน้าอาคาร วันนี้มีนักศึกษาแพทย์ชั้นปี4จำนวน10 กว่าคนมาร่วมทีมกับแพทย์ชุดเดิม เวลา 9.00น.เริ่มให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนจันทร์วิโรจน์ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นท่านหนึ่งว่า มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากร.พ.สงขลานครินทร์มาให้บริการแล้วในวันก่อนหน้านี้ วันนี้อาจมีชุมชนที่ลำบากกว่า ทีมจึงย้ายหน่วยแพทย์มาที่ชุมชนสำราญสุข ในพื้นที่เทศบาลคลองแห เนื่องจากการจราจรติดขัดมากกว่าจะมาถึงพื้นที่ออกหน่วยต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงทั้งที่เวลาปกติเมื่อยังไม่เกิดอุทกภัยใช้เวลาเพียงประมาณ 15 นาที จนเริ่มมีฝนตกหนักหน่วยแพทย์ฯต้องตั้งอยู่ในเพิงหมาแหงนริมทาง เพราะพื้นที่มีแต่ซากบ้านเรือนที่ประสบภัยแม้ว่าการให้บริการทำได้ลำบาก แต่สามารถให้บริการด้านการตรวจรักษาและทำแผล ชาวบ้านได้ถึง100 ราย ช่วงบ่าย หมอธาดานำนักเรียนแพทย์ขึ้นรถออกแจกชุดยาสามัญประจำบ้าน ตามซอยใกล้ๆ จนถึงเวลา 16.00 น.จึงเดินทางกลับสำนักงาน

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 เริ่มเรียนรู้ว่าชีวิตจริงไม่ได้ง่ายนักเหมือนในภาพยนต์แต่แท้จริงแล้วทั้งเหนื่อยและลำบากปนกับความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน น้องๆ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าไม่ได้ไปเห็นกับตาคงไปรู้ว่าชาวบ้านลำบากกันขนาดนั้น

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2553 วันนี้นอกจากนศพ.ปี 4 แล้ว ยังมีนักศึกษาแพทย์ปี 5 ขอร่วมออกหน่วยฯด้วย ทีมเวชกรรมสังคมลงพื้นที่ให้บริการ 2ชุมชน คือช่วงเช้าที่ชุมชนทุ่งเสา ให้บริการจนพักเที่ยงเสร็จ ก็ย้ายไปบริการที่ชุมชนคลองเตย แต่ดูเหมือนชาวบ้านยังเครียดกับการทำความสะอาดบ้านจึงมารับบริการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หมอธาดาจึงขับรถคันเล็กประจำศูนย์บริการสาธารณสุขคลองเตยพานักเรียนแพทย์ 6 คน ไปแจกยาชุดสามัญประจำบ้านตามตรอกซอกซอยในชุมชน สร้างความครื้นเครงให้กับนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างมากจนเวชภัณฑ์จากสสจ.ทั้ง 200 ชุดหมด ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน

ทีมออกหน่วยจึงได้ประจักษ์ว่าถ้าไม่ประกาศให้ได้รับข่าวสารเป็นรูปธรรม ชาวบ้านก็จะไม่ทราบว่ามีการตั้งจุดบริการหรือมีบริการด้านสุขภาพด้วย เพราะภาระงานด้านปัจจัย สามอย่างคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน ยังไม่เรียบร้อย ยารักษาโรคจึงตามมาทีหลัง ประโยชน์ที่เหนือความคาดหมายที่สุดในวันนี้คือนักศึกษาแพทย์ต่างได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติในพื้นที่ภัยพิบัติจริงจนเกิดความเข้าใจมากขึ้นมีมุมมองที่ดีต่อการเสียสละ การเข้าถึงชุมชนในอีกระดับหนึ่งและได้ตระหนักจากการได้เห็นภาพจริงจากอาจารย์ว่า Primary care doctor มีความสำคัญอย่างไรต่อชุมชน

น้ำได้ลดระดับลงไปแล้ว ยังคงไว้แต่ร่องรอยคราบดินโคลนและขยะเน่าเหม็นที่ทำให้เมืองหาดใหญ่ทั้งเมืองซึ่งเคยสวยงามน่าเที่ยวชมกลายเป็นเมืองล้างซอมบี้มีแต่ซากปรักหักพัง สัตว์เลี้ยงจมน้ำอืดไปทั่วเมือง อีกไม่กี่วันนับจากน้ำลดหนอนแมลงวันก็จะเติบโตขึ้น หนอนแมลงหวี่จะกลายเป็นตัวเต็มวัย ยุงลายที่ชอบน้ำขังจะเริ่มแพร่พันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อและโรคระบาดตามมาได้ เวชกรรมสังคมหาดใหญ่จึงได้ประสานกับกรมอนามัยสิ่งแวดล้อม งานสุขาภิบาลและป้องกันโรค กรมสุขภาพจิต ออกควบคุมโรคและเยียวยาเมืองหาดใหญ่ ตระเวนพ่นยาฆ่าหนอนแมลงวัน กำจัดสัตว์นำโรค และพ่นหมอกควัน รวมทั้งเติมคลอรีนในบ่อน้ำใช้

น้ำท่วมหาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้คนหาดใหญ่ได้รับมากไม่แพ้กันกับน้ำที่ท่วมคือน้ำใจ ที่ได้รับจากการช่วยเหลือของทีมต่างๆ ทั้งจากในและนอกระบบสาธารณสุขอย่างไม่ขาดสายรวมทั้งความอดทน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อต่อกันของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในขณะที่เกิดอุทกภัยหนักมีมาก บทเรียนที่ได้จากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้สมควรนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเตรียมพร้อมต่อการรับสถาณการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติที่อาจเกินขึ้นได้อีกในวันข้างหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท