Skip to main content
sharethis

ตัวแทนภาคประชาชน 16 องค์กร ร่วมกันไว้อาลัยผู้ประภัยที่ประเทศญี่ปุ่น และรวมตัวต้านไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ระบุชัดเจนเกรงความไม่ปลอดภัยเหมือนประเทศญี่ปุ่น พร้อมร่วมบริจาคเงินส่งไปช่วยชาวญี่ปุ่นที่กำลังประสบความหายนะจาก นิวเคลียร์

 

 

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่หน้าศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มประชาชน เยาวชน นักศึกษา นักวิชาการจากมหาวิทยาราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนกว่า 200 คน ในนามเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รวมตัวไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้านิเคลียร์ ระเบิดที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นได้อ่านจดหมายเปิดผนึก ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ทบทวนและคัดค้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี  พร้อมอ่านแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ เวียดนาม เพราะสามารถส่งผลกระทบในทางอากาศมาถึงประเทศไทยด้วย

ต่อมาได้เดินขบวนถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด อุบลราชธานี และนำไปติดไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัด และในเวลา 17.00 น. ผู้แทนกลุ่มจำนวน 30 คนได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล และ ส.ว.สุรจิตร ชีระเวทย์  ด้วย

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้เข้ากราบไหว้ศาลหลักเมืองขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครองชาวเมือง และร่วมกันบริจาคเงินส่งไปช่วยเหลือช่วยญี่ปุ่นที่กำลังประสบภัย

นางยุพา สินธุเชาวน์ อายุ 76 ปี ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานีให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้มีนักศึกษา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยได้เดินขบวนต่อต้านไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด วันนี้ได้ทราบข่าวว่าจะมีการรวมตัวก็เลยมาเข้าร่วมคัดค้านด้วย เพราะไม่อยากให้ลูกหลานคนอุบลต้องประสบชะตากรรมแบบคนญี่ปุ่น ภัยธรรมชาติที่ว่าน่ากลัวแล้วแต่นิวเคลียร์เป็นมหันตภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำ มือมนุษย์นั้นน่ากลัวกว่าหลายร้อยเท่า

นายประหวี จันพิรักษ์ ชาวบ้านคำนกหอ ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า กว่า 1 ปีแล้วที่ทางหน่วยงานเข้าไปปักหมดและทำการสำรวจพื้นที่ที่เขื่อนสิรินธรใน เขตพื้นที่บ้านหัวสะพาน ต.คำเขื่อนแก้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งตัวผมด้วยไม่เคยทราบ ได้ยินเพียงข่าวลือเท่านั้นว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเขตตำบล ของผม และเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมาทางอำเภอได้เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ อสม. เข้าประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านทราบข่าวนี้กันมากขึ้นและวิตกกังวลใจกันอย่างหนัก แล้วตอนนี้เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นระเบิดยิ่งทำให้ชาวบ้าน วิตกกังวลหนักมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันนี้ไม่มีหน่วยงานใดมาให้ข้อมูลกับชาวบ้านเลย

ผศ.ดร.ชมภูนุช โมราชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้เหมือนเล่น ซ่อนหา แอบลงพื้นที่และทำกระทำการโดยที่ไม่มีการให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่ ดังนั้นแนวทางหลักๆ ในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 2 แนวทางคือ ด้านวิชาการต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้รอบด้านกับประชาชน และอีกทางคือการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเหมือนเช่นที่ทำในวันนี้ และตอนนี้มีการรวมตัวของนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษาในนามกลุ่มอาสา สมัครนักวิชาการ ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด อุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดอุบล

น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงาน เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกขนาด 1,000 เมกะวัตตน์ ถูกกำหนดพื้นที่ไว้ในเขตพื้นที่ อ.สิรินธร และน้ำในเขื่อนสิรินธรจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับระบายความร้อนของโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่าประชาชนในจังหวัดอุบลไม่มีปัญหาด้านการคัดค้าน วันนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนอุบลได้ออกมาบอกว่าคนอุบลไม่ต้องการโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อื่นในประเทศ ไทยด้วย   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนพีดีพี 2010 และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือรัฐบาลไม่ฟังใคร กรณีประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐได้ทบทวนพีดีพี๒๐๑๐ และโครงการพลังงานนิวเคลียร์และหันมาสนับสนุนและพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มี มากมายในประเทศไทย และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานทางเลือก สร้างแรงจูงในให้ชาวบ้านไม่ใช่ให้นายทุน ที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนนายทุน  รวมทั้งหันมาเน้นนโนบายประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
 

 

จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ ๓

เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่อง ขอให้ทบทวนแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน สื่อมวลชน 

ก่อนอื่นเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานีขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อความสูญเสียของประชาชนชาว ญี่ปุ่น ที่ได้รับภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติและการระเบิดของเตาปฏิกรณ์จากโรงไฟฟ้าพลัง นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

อุทาหรณ์จากประเทศญี่ปุ่น อันเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผนวกกับภัยพิบัติอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์เกี่ยวแก่นโยบายด้านพลังงาน กล่าวคือ การเกิดคลื่นสึนามิ ที่ส่งผลถึงการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ถือได้ว่า เป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถจำแนกภัยพิบัติได้ ดังนี้ คือ

๑)  ภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นภัยอันไม่อาจแก้ไขได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงการป้องกัน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

๒)  ภัยจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เป็นภัยอันสามารถแก้ไข และป้องกันได้

สำหรับประเทศไทย การที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนพีดีพี ๒๐๑๐ โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน  ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์  ในช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๗๓ มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  ๕ โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน ๑๐ โรง  และโรงไฟฟ้าก๊าซ  ๒๐ โรง  โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก ๕ พื้นที่ ได้แก่  อุบลราชธานี    นครสวรรค์   ตราด    สุราษฎร์ธานี    ชุมพร  ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม  และการประเมนต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการด้านข้อมูลได้แล้วเสร็จ และได้จัดส่งให้ สพน. แล้ว ต่อจากนี้ กฟผ. จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา  (ทีโออาร์) ว่าจ้างที่ปรึกษากำหนดคุณสมบัติ (สเปค) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง ก็จะใช้เวลาในการประกวดราคาก่อสร้างประมาณ ๓ ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก ๖ ปี และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี ๒๕๖๓

แผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัด อุบลราชธานีดังกล่าว กำลังนำพาประเทศและประชาชน ทั้งประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงไปสู่ความหายนะ และฝ่ายนโยบายกำลังดูเบาเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังยอมรับว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เท่ากับความสูญเสียของญี่ปุ่นที่เกิดจากสงครามโลก ครั้งที่ ๒ นั่นหมายถึงว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ความสูญเสียอันสำคัญ เกิดจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเทียบได้กับการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณ ๒ เกาะของญี่ปุ่น เนื่องจากความสูญเสียจากนิวเคลียร์มิได้สิ้นสุดเพียงเหตุการณ์ยุติ หากแต่จะยังลุกลาม และยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบภัยไปอีกนาน มิพักต้องพูดถึงความสูญเสียทางขวัญและกำลังใจ

หายนภัย อันจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากแผนพีดีพี ๒๐๑๐ เป็นสาเหตุ ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่ ฯพณฯ สามารถยุติได้ เนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้าง

จากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า ระบบความปลอดภัยภายในประเทศของญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดรัดกุมอย่างยิ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นนิตย์ แต่กระนั้น ก็ยังเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงอย่างที่ประจักษ์ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งระบบการเตือนภัย และมาตรฐานด้านความปลอดภัยยังมีปัญหา ตลอดจนประชาชนชาวไทยยังไม่คุ้นชินกับมหันตภัยอันเกิดจากพลังนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ๆ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ล้วนอยู่ในเขตชนบทห่างไกล ประชาชนยิ่งห่างไกลการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นที่เชื่อได้โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากเกิดภัยพิบัติ จะต้องเกิดความสูญเสียอันไม่อาจคาดการณ์ได้

อนึ่ง การสำรองพลังงานของประเทศเป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่า เป็นการคาดการณ์ที่เกินจริง ดังได้กราบเรียนมาแล้ว และถึงแม้ประเทศจะมีความต้องการพลังงานจริง มาตรการอันไม่ก่อให้เกิดภัยพิบัติยังมีอีกหลายวิธี เช่น มาตรการการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นวิธีที่นอกจากจะทำให้แก้ไขปัญหาด้านพลังงานแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยแก่คนในชาติ อันจะส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาในมิติอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

เครือข่ายคนไทยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี  และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ ว่า เครือข่ายฯ ยังยืนยันจุดยืนเดิม คือ คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในประเทศไทย  และได้โปรดพิจารณายกเลิกแผนพีดีพี ๒๐๑๐เสียแต่ยังไม่ได้ดำเนินการมากกว่านี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยด่วน จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี             
นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา           
คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ(คป.สม.)        
เครือข่ายคนฮักน้ำของ
กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนปากมูล
กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนสิรินธร
กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล  บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง  อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ณ ศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ ๑๖ มีนาคม  ๒๕๕๔

มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี
๕๘/๖ ถนนเขื่อนธานี อ.เมือง
จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐

 

 

 

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบ แผนพีดีพี ๒๐๑๐ และแผนการก่อสร้างดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย   ๑. ลำดับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
๒.การประเมิน และคัดเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในไทย
๓. ข่าว ก.พลั​งงานได้ข้อ​สรุปชงก่อส​ร้างโรงไฟฟ้า​นิวเคลียร์​เขื่อนสิริ​นธร

สืบ เนื่องจากการที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนพีดีพี ๒๐๑๐ โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน  ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์  ในช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๗๓ มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  ๕ โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน ๑๐ โรง  และโรงไฟฟ้าก๊าซ  ๒๐ โรง  โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก ๕ พื้นที่ ได้แก่  อุบลราชธานี    นครสวรรค์   ตราด    สุราษฎร์ธานี    ชุมพร  ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม  และการประเมินต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการด้านข้อมูลได้แล้วเสร็จ และได้จัดส่งให้ สพน. แล้ว ต่อจากนี้ กฟผ. จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา  (ทีโออาร์) ว่าจ้างที่ปรึกษากำหนดคุณสมบัติ (สเปค) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง ก็จะใช้เวลาในการประกวดราคาก่อสร้างประมาณ ๓ ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก ๖ ปี และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี ๒๕๖๓

แผนการ ก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี หรือในประเทศไทยดังกล่าว กำลังนำพาประเทศและประชาชน ทั้งประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงไปสู่ความหายนะ และฝ่ายนโยบายกำลังดูเบาเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังยอมรับว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เท่ากับความสูญเสียของญี่ปุ่นที่เกิดจากสงครามโลก ครั้งที่ ๒ นั่นหมายถึงว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ความสูญเสียอันสำคัญ เกิดจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเทียบได้กับการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณ ๒ เกาะของญี่ปุ่น เนื่องจากความสูญเสียจากนิวเคลียร์มิได้สิ้นสุดเพียงเหตุการณ์ยุติ หากแต่จะยังลุกลาม และยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบภัยไปอีกนาน มิพักต้องพูดถึงความสูญเสียทางขวัญและกำลังใจ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net