สหรัฐฯ หนุนงบฯ เดินหน้าพลังงานสะอาดในลุ่มน้ำโขง หลังมีข่าวเสนอช่วยไทยพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก

สหรัฐฯ หนุนงบฯ 716 ล้านบาท เดินหน้าโครงการหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership) หลังก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสหรัฐฯ จะเสนอช่วยไทยพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors : SMR)


แฟ้มภาพประชาไท

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2565 ว่าคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ร่วมเสวนาโต๊ะกลมกับผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง

ประกาศโครงการพลังงานสะอาด รับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในโครงการหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership) สนับสนุนงบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 716 ล้านบาท เดินหน้าโครงการพลังงานสะอาด รับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำถึงปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ในลุ่มน้ำโขง ร่วมทั้งการจัดการทรัพยากรต้นน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

"เพื่อให้เข้าใจผลกระทบวิกฤตสิ่งแวดล้อม (ลุ่มน้ำโขง) และหาทางออก เราต้องให้แน่ใจว่าเสียงทุกเสียง มีส่วนบนโต๊ะเจรจา" คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว

สำหรับผู้เข้าร่วมวงเสวนา มีทั้งตัวแทนภาคเอกชน ที่ทำเรื่องพลังงานสะอาด และกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้น ทั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มละครมะขามป้อม

นอกจากนี้ คามาลา แฮร์ริส ย้ำความสำคัญเรื่องการจัดการพื้นที่ต้นน้ำ ภายใต้โครงการหุ้นส่วนซิสเตอร์ริเวอร์ ระหว่างแม่โขง-มิสซิสซิปปี นำประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำของสหรัฐฯ มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้การจัดการลุ่มน้ำโขงด้วย

นอกจากกำหนดการทางการ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังมีกำหนดการส่วนตัว เดินทางไปเยี่ยมชมตลาด อตก. พร้อมซื้อของฝาก ทั้งพริกแกงเขียวหวาน พริกแกงเผ็ด เครื่องต้มยำแห้ง และตะไคร้ 1 กำ

หลังจากสิ้นสุดการเยือนไทย รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางไปฟิลิปปินส์ เพื่อพบกับบองบอง มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อพูดคุยประเด็นความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาถึงท่าทีระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ทั้งนี้สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย ได้เผยแพร่ 'ถ้อยแถลงจากเสวนาโต๊ะกลมระหว่างรองประธานาธิบดีแฮร์ริส กับผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดในประเทศไทย' และ 'เอกสารข้อเท็จจริง: รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ประกาศความช่วยเหลือใหม่ของสหรัฐฯ สำหรับพลังงานสะอาดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง'

ถ้อยแถลงจากเสวนาโต๊ะกลมระหว่างรองประธานาธิบดีแฮร์ริส กับผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดในประเทศไทย

วันนี้ (20 พ.ย.) รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ร่วมพูดคุยกับผู้นำภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือของไทย ตลอดจนผู้นำธุรกิจที่ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของไทย รองประธานาธิบดีเน้นย้ำความทุ่มเทของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริสในการสนับสนุนอนาคตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนสำหรับไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รองประธานาธิบดียังกล่าวถึงวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศในฐานะประเด็นที่ทั้งสหรัฐฯ และไทยให้ความสำคัญ รวมถึงการสาธารณสุข การดำรงชีพที่ยั่งยืน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในระหว่างเสวนาโต๊ะกลม ผู้ร่วมการสนทนากล่าวถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมพลังเยาวชนและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ การประกอบการ และนวัตกรรมในอนาคตพลังงานสะอาด รองประธานาธิบดีย้ำความสำคัญของพลังแห่งการสร้างพันธมิตรและความสำคัญของการรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในโอกาสนี้ รองประธานาธิบดีได้ประกาศการมอบเงินทุนครั้งใหม่เพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นอกจากรองประธานาธิบดีแล้ว ผู้ร่วมการสนทนาประกอบไปด้วย:

  • โรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย
  • ลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่
  • นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ
  • พอล เส่ง ทวา ผู้อำนวยการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหวทางสังคม
  • ปิยฉัตร สินพิมลบูลย์ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ กลุ่มละครมะขามป้อม
  • ฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
  • อัจฉรา ปู่มี ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
  • บาลาจิ เอ็ม.เค. ผู้อำนวยการโครงการ Advanced Energy Systems ภายใต้โครงการ USAID Southeast Asia’s Smart Power Program

เอกสารข้อเท็จจริง: รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ประกาศความช่วยเหลือใหม่ของสหรัฐฯ สำหรับพลังงานสะอาดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การเยือนไทยของรองประธานาธิบดีจะยืนยันความทุ่มเทของสหรัฐฯ ต่อเสถียรภาพ สันติภาพ ความมั่งคั่ง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ที่กรุงเทพมหานคร รองประธานาธิบดีจะพบผู้นำภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือของไทย ตลอดจนผู้นำธุรกิจที่เกี่ยวกับข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนงานของเราในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รองประธานาธิบดีจะประกาศให้เงินทุนก้อนใหม่ เพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด การเชื่อมโยง และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประกาศครั้งนี้ต่อยอดจากการประกาศของรองประธานาธิบดีเพื่อสนับสนุนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงโครงการ Mekong-Mississippi Sister Rivers Partnership และโครงการ Mekong NextGen Scientists

หุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (JUMPP)

รองประธานาธิบดีจะประกาศว่า รัฐบาลตั้งเป้าที่จะของบประมาณสูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐจากรัฐสภา โดยเพิ่มเติมจากเงินทุนในหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership) หรือ JUMPP ซึ่งสนับสนุนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อม ๆ กับส่งเสริมให้ภูมิภาคมีการไหลของกำลังไฟเพิ่มสูงขึ้น มีการบูรณาการพลังงานสะอาด การลดแก๊สคาร์บอน และความเข้มแข็งในภาคพลังงาน นับตั้งแต่การประกาศตัวกรอบความร่วมมือ JUMPP เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 พร้อมเงินลงทุนเริ่มต้นของสหรัฐฯ จำนวน 29.5 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ขยายความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อสร้างตลาดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีผู้ให้บริการหลากหลายและมีความเชื่อมโยงกัน กรอบความร่วมมือ JUMPP สนับสนุนรัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อบรรลุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดและเป้าหมายการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังเร่งบูรณาการโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงต้องได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อปรับปรุงระเบียบปฏิบัติและกลไกตลาดให้ทันสมัย รวมทั้งดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและความเชื่อถือได้ การเพิ่มศักยภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขงช่วยให้ภูมิภาคมีพลังงานไฟฟ้าที่หลากหลาย และลดการพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำเพียงอย่างเดียว กรอบความร่วมมือ JUMPP สนับสนุนประเทศต่าง ๆ ผ่านความช่วยเหลือด้านเทคนิคซึ่งส่งเสริมตลาดพลังงานที่เข้มแข็งและบูรณาการพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานที่เชื่อถือได้ มั่นคง และราคาไม่แพง เป็นการสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่งต่อไป

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเสนอช่วยไทยพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานอ้าง AFP ระบุว่ารองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสของสหรัฐฯ เผยว่าสหรัฐฯ จะช่วยเหลือไทยพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

AFP รายงานอ้างทำเนียบขาวสหรัฐฯ ว่าความช่วยเหลือนี้เป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มโลกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero World Initiative) ที่สหรัฐจับมือกับภาคเอกชนและกลุ่มผู้ใจบุญเปิดตัวในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อนครั้งที่ 26 หรือคอป 26 (COP26) ที่กลาสโกว์ของสกอตแลนด์เมื่อปี 2564 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ชนิดโมดูลขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอาร์ (Small Modular Reactors : SMR) ที่ผลิตในโรงงานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยทั่วไปแล้วเตาปฏิกรณ์แบบนี้ถือว่าปลอดภัยเพราะไม่จำเป็นต้องให้คนเข้าไปปิดเครื่องในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะของนางแฮร์ริสที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ เผยโดยขอสวนนามว่าสหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากเอสเอ็มอาร์และแหล่งพลังงานสะอาดที่ไว้ใจได้ ทำเนียบขาวไม่ได้ให้กรอบเวลาในเรื่องนี้ แต่เผยว่าจะสนับสนุนไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608 ซึ่งเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับคืน นอกจากนี้ยังได้ประกาศความริเริ่มร่วมกับไทยในการเสริมสร้างความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตยุค 5 จี และโครงการสร้างศูนย์รักษามะเร็งระดับโลกที่จังหวัดชลบุรีของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท