Skip to main content
sharethis

อยากค่าไฟถูก ต้องใช้ “แดด-ลม-แบตฯ” ข้อเสนอในเวทีเสวนาเรื่องแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า(PDP2024) ภาคใต้ นักวิชาการชี้อนาคตราคาพลังงาน 3 ตัวนี้จะถูกลงอีก พลังงานนิวเคลียร์ไม่คุ้มทำ ควรเพิ่มการทำโซลาร์รูฟทอปด้วยการหนุนประชาชนให้เข้าถึงอุปกรณ์มากขึ้น

2 ก.ค. 67 ที่โรงแรมเซาท์เทอร์นแอร์พอร์ต หาดใหญ่ จ.สงขลา สภาองค์กรของผู้บริโภคและสมาคมผู้บริโภคสงขลา ร่วมกับ JustPow จัดเวที “แผน PDP 2024 คนใต้ว่าพรือ” เวทีที่ 3 จาก 5 เวทีของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) 2024 ที่จัดโดยภาคประชาชน ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่เป็นธรรม (เวทีภาคใต้) เพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้เสียงของคนใต้ถูกรับฟังในร่างแผน PDP 2024 ที่รัฐกำลังพัฒนาและเตรียมนำไปรวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan: NEP)

งานครั้งนี้มีการบรรยายในสองประเด็นคือ 1) “ทำไมต้องคิดใหม่เรื่องพลังงาน” โดย ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค และ 2) ข้อเสนอภาคประชาชนต่อแผน PDP 2024 โดย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวว่า “ถึงเวลาที่ต้องคิดใหม่เรื่องพลังงาน เนื่องจาก 6 ภาคส่วนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ พลังงาน การขนส่ง สารสนเทศ อาหาร วัสดุ และแรงงาน ได้ถูกทำลายอย่างสร้างสรรค์ (disruption) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหลายร้อยเท่าแล้ว

ผศ.ประสาท มีแต้ม

“ถ้าเราอยากให้ค่าไฟถูกลง ต้องใช้พลังงานสามตัวคือ S : โซลาร์ W : ลม และ B : แบตเตอรี่ เนื่องจากในต่างประเทศ 3 ตัวนี้ราคาถูกมาก เวลาไม่มีลมก็ใช้แดด ไม่มีแดดก็เอาแบตเตอรี่มาใช้ เขาศึกษามาแล้วทั้ง 3 ตัว ซึ่งราคาลดลงกว่า 70-80% แล้วในราคา 10 ปีที่ผ่านมาและจะลดลงอีก 30-40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการใช้ SWB เป็นหลักในการผลิตและกักเก็บไฟฟ้าอยู่ที่ 3.1 เซนต์ต่อหน่วย หรือเท่ากับ 1.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่แผน PDP 2024 ของเราจะมีราคาค่าไฟฟ้ามากกว่า 4 บาทต่อหน่วย โดยที่ยังคงมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึงเกือบร้อยละ 40

“โดยสรุป ระบบพลังงานใหม่ควรยึด 5 เสาหลักประชาธิปไตยพลังงานได้แก่ หลักความยืดหยุ่น หลักความมีประสิทธิภาพ หลักคาร์บอนต่ำ หลักควบคุมโดยท้องถิ่น และหลักความเป็นธรรม สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ ‘การเสียสละที่เจ็บปวด’ แต่มันคือโอกาสเดียวของประวัติศาสตร์ที่จะบรรลุ 3 สิ่งพร้อมกันคือ 1) ความเป็นอิสระและพึ่งตนเองด้านพลังงาน 2) ควบคุมอุณหภูมิโลกได้ตามข้อตกลงปารีส และ 3) ได้ใช้พลังงานอย่างเหลือเฟือ (Super Power) ในราคาถูก และอยู่ในหลักการที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกใกล้กับศูนย์ (Near Zero Marginal Cost)”

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวว่า “มี 7 สิ่งที่ไม่ต้องการเห็นในแผน PDP 2024 (แต่ยังคงมีอยู่ ณ ตอนนี้) คือ 1) การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง 2) โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีแผนก่อสร้างเพิ่ม 3) ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักของประเทศและลงทุนเพิ่ม 4) การสร้างวาทกรรมดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) เพื่อเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ อ้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 5) การที่ยังคงเผาฟอสซิลที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยการอ้างปลูกป่าชดเชย

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

“6) การใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับโรงไฟฟ้าฟอสซิล (มีราคาต้นทุนสูงกว่าการผลิตแบบปกติ) เพื่อฟอกเขียว และ 7) การใส่แผนพลังงานน้ำจากเขื่อนเอื้อกลุ่มทุน มุ่งกำไร ไม่ใส่ใจผลกระทบ (การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในต่างประเทศทั้งที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูง โดยนำมาอยู่ในหมวดหมู่พลังงานสะอาด)

“และมี 2 สิ่งที่ต้องการเห็นในแผน PDP 2024 คือ 1) การกำหนดเป้าหมายการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจากระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟทอป) ภาคประชาชน (มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ร้อยละ 16 แต่ไม่ได้ระบุว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ทั้งนี้คาดได้ว่าจะไม่มีโซลาร์ภาคประชาชนอยู่ในแผน) 2) การเอาจริงเอาจังกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและการพัฒนาสายส่งไฟฟ้า/ระบบกักเก็บพลังงาน (การจัดการประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (Energy Efficiency: EE)”

ในส่วนของการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่มาร่วมกิจกรรม มีข้อเสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ต้องใช้งบในการลงทุนสูง (ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต) และไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัยของภาครัฐ โดยเฉพาะการบริการจัดการกากของเสียและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้พลังงานอื่น เช่นพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนได้ ดังนั้นจึงควรนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผน PDP 2024

นอกจากนั้นในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติซึ่งตามร่างแผน PDP2024 จะมีโครงการเกิดขึ้นในภาคใต้สองแห่งคือ 1 โรงที่อ.จะนะ จ.สงขลา กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ในปี 2577 และอีกโรงยังไม่ระบุสถานที่ กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ในปี 2579 รวมไปถึงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติตามข้อผูกพันเดิมที่จะมีที่ จ.สุราษฎร์ธานีอีก 2 ชุด ชุดละ 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,400 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบในปี 2570 และปี 2572 ซึ่งอยู่ในระหว่างขออนุมัติจาก ครม. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่าภาคใต้ไม่ควรจะมีโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่มขึ้นอีกแล้ว ควรจะมุ่งไปสู่การสนับสนุนและพัฒนาพลังงานโซลาร์เซลล์มากกว่า

ในประเด็นเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ผู้เข้าร่วมงานเห็นว่าภาครัฐควรจะสนับสนุนโซลาร์เซลล์จากหลังคาเต็มศักยภาพ 100% ทั้งในระดับหลังคาบ้านเรือน 1 หลังคา 1 โซลาร์เซลล์ ด้วยการสนับสนุนทั้งในเรื่องการเข้าถึงโซลาร์เซลล์ที่มีราคาถูกเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ การลดหย่อนภาษี และลดขั้นตอนกระบวนการทางด้านกฎหมายให้ง่ายไม่ยุ่งยาก

นอกจากนั้นภาครัฐยังควรสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการติดโซลาร์เซลล์เองด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการต่างๆ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟ และควรให้ขายไฟคืนได้ด้วย หากมีการผลิตเหลือ และในชุมชน หมู่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถพึ่งตัวเองได้ด้วยโซลาร์เซลล์ส่วนกลางในชุมชน 1 ชุมชน 1 โซลาร์เซลล์ และควรเพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ในสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตช่างออกมาสู่ชุมชนอีกด้วย

อีกหนึ่งปัญหาที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้อย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมใจกันส่งเสียงไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ เพราะไม่เชื่อใจในกระบวนการและคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายผังเมืองที่ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ มาตั้งในชุมชนได้โดยไม่ต้องทำ EIA ซึ่งสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน จึงเสนอให้ปรับกฎหมายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลมีขนาดเล็กลงเพียง 2 เมกะวัตต์ และต้องทำ EIA เพื่อควบคุมมลพิษ กำหนดโซนนิ่งที่ไม่ใกล้ชุมชน ห้ามนำเอาถ่านหินมาเผาร่วม และให้มีเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพเศษวัสดุการเกษตรที่เพียงพอจริงๆ ในการนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล และควรยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ให้โรงไฟฟ้าขยะขึ้นที่ไหนก็ได้

นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดทำแผน PDP นั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็เห็นว่าแผน PDP2024 ควรมีการทบทวนใหม่ ต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชน ให้มีส่วนร่วมมากที่สุด และควรมีการทำแผน PDP จากระดับล่างขึ้นบน เช่น ในระดับจังหวัด โดยในการจัดทำนั้นควรทำการศึกษาจากศักยภาพในเชิงพื้นที่ เช่น ภาคใต้ มีศักยภาพในเรื่องปาล์ม โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพอาจจะเหมาะสมกว่าในระดับพื้นที่ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าก๊าซหรือนิวเคลียร์ ควรให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นอันดับแรก ทิศทางโรงไฟฟ้าต้องกรีนเท่านั้น โดยเชื่อว่าภาคใต้มีศักยภาพ

 

หมายเหตุ : JustPow ขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟทุกภาคทั่วประเทศร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ โดยสามารถเข้าไปโหวตได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6 ซึ่งประเด็นในการโหวตความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 นี้มาจากประเด็นที่อยู่ในเอกสาร “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ซึ่งจัดทำโดย JustPow https://justpow.co/project-ebook-pdp     

.

#แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า #แผนPDP #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง #justpow #กระทรวงพลังงาน #สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net