Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง HB7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนารายการ “มองการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก ครั้งที่ 3” โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเชิญ ศ.ดร. เคร็ก เจ.เรย์โนลด์ส (CRAIG J.REYNOLDS) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) อภิปรายหัวข้อ “การปกครองระบอบอัตตาธิปไตยในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (Autocratic Rule in Thailand and Its Neighbours)” สำหรับคำบรรยายของเคร็ก ซึ่งแปลโดยคุณภัควดี ไม่มีนามสกุล มีรายละเอียดดังนี้ สำหรับวิดีโอการอภิปราย ประชาไทจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไป 000 เคร็ก เจ.เรย์โนลด์ส (CRAIG J.REYNOLDS) อภิปรายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา \...คาบสมุทรอุษาคเนย์คือภูมิภาคของระบอบการเมืองแบบอัตตาธิปไตย ซึ่งการปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองพรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็นพรรคทหาร พรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเชื้อชาตินิยม สิงคโปร์และมาเลเซียก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น\" \"...เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ทางสังคม-การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมกว้าง ผมไม่คิดว่าลัทธิฟาสซิสต์ช่วยให้เราเข้าใจผู้นำแบบทหารในประเทศไทย อันที่จริงบุคลิกภาพของผู้นำที่ผู้สันทัดกรณีบางคนอยากติดป้ายฉลากว่าเป็นฟาสซิสต์นั้น หากใช้คำนิยามอื่นกลับช่วยให้เข้าใจได้ดีกว่า ในประเทศไทย ผู้นำที่เข้มแข็ง และหากจำเป็นก็ติดอาวุธรถถังกับปืนมาด้วยนั้น ได้รับความนิยมพอๆ กับเป็นที่ชิงชัง นอกจากนี้ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งแบบไทยๆ ยังมีองค์ประกอบความเชื่อแบบพุทธศาสนาที่เห็นได้ชัดด้วย ผู้นำที่เข้มแข็งไม่ว่าจะมีหรือไม่มีภูมิหลังมาจากกองทัพหรือตำรวจ มักมีความประพฤติแบบนักพรต และได้รับชื่นชมจากความมีวินัยและอำนาจในการควบคุมตัวเอง\" \"...ไม่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบไหนในยุคสมัยใหม่ การปกครองระบอบอัตตาธิปไตยในประเทศไทยทุกวันนี้มีรากเหง้ามาจากรูปแบบ เศรษฐกิจการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำ รูปแบบดั้งเดิมนิยมยกย่องคนที่สามารถใจกว้างและใจดำได้พร้อมกัน เขาสามารถให้รางวัลผู้สนับสนุนและลงโทษคู่อริกับคู่แข่งได้อย่าง เด็ดขาด ความนิยมที่มีต่อผู้นำแบบนี้ยังมีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายในภูมิภาคนี้ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ควรประเมินต่ำเกินไป มันยังมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน\" 000 (หมายเหตุ: ภาพประกอบในบทอภิปรายและตัวเน้น เป็นการเน้นโดยประชาไท) การปกครองระบอบอัตตาธิปไตยในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (Autocratic Rule in Thailand and Its Neighbours) Craig J. Reynolds Australian National University แปลโดย ภัควดี ไม่มีนามสกุล www.midnightuniv.org ก. อารัมภบท ขอบคุณสำหรับคำเชิญให้มาปาฐกถาในหัวข้อ “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” ผมได้รับเชิญให้มาอภิปรายเกี่ยวกับการเมืองไทยในฐานะคนนอก ในฐานะที่ผมเป็นชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ผมไม่ใช่เอตทัคคะด้านการเมือง ผมไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ และผมเน้นการมองอดีต ไม่ใช่อนาคต ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผมในการมองอนาคต ในเกือบทุกประเทศ ประชาชนต้องการสิทธิในการเลือกตั้ง ประชาชนต้องการสิทธิในการเลือกผู้นำของตนเอง และประชาชนรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองเพื่อผลักดันผู้แทนของตนให้ลงสมัครชิงตำแหน่งต่างๆ ที่มีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่ใช่เครื่องมือที่ไว้ใจได้ที่จะช่วยชี้ให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการปกครองเป็นไปอย่างไรจริงๆ และในการพยายามเข้าใจการเมืองไทย ผมคิดว่าการให้ความสนใจการเมืองของการเลือกตั้งมากเกินไปจะทำให้เราเกิดความไขว้เขว กิจกรรมของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งกลับกลายเป็นม่านอำพรางกลไกที่แท้จริงของการเมืองไทย ผมขอสารภาพว่าผมไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการเมืองในระบบเลือกตั้งมากนัก เพราะเมื่อครั้งที่ผมเดินทางมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกในฐานะอาสาสมัครหน่วยสันติภาพ (Peace Corps Volunteer) พรรคการเมืองและการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่มีความสำคัญเท่าไร ผมยังเชื่อจนถึงเดี๋ยวนี้ว่ามันยังไม่ค่อยสำคัญมากเท่าไร ในสมัยที่มาเป็นอาสาสมัครนั้น ผมมาเมืองไทยในฐานะตัวแทนของจักรวรรดินิยมอเมริกัน ซึ่งเป็นจักรวรรดินิยมแบบ “อ่อน” ที่มาควบคู่กับจักรวรรดินิยมแบบแข็งที่รัฐบาลอเมริกันดำเนินการในระหว่างสงครามเย็น เมื่อผมมาถึงประเทศไทยครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ในทางเทคนิคนั้น ผมเป็นลูกจ้างของรัฐบาลสฤษดิ์ และหลังจากเขาเสียชีวิตในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2506 ถนอมกับประภาสก็ขึ้นมามีอำนาจแทน ผมก็ยังเป็นลูกจ้างของรัฐบาลเผด็จการทหาร การเลือกตั้งและพรรคการเมืองไม่มีความหมายในตอนนั้น และผมคิดว่ามันก็ไม่มีความหมายมากนักในตอนนี้ ผมมีสองประเด็นในการอภิปรายครั้งนี้ ประการแรก ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจรัฐไทยให้ถ่องแท้มากขึ้น ในความคิดเห็นของผม นักวิเคราะห์และนักวิชาการไม่ได้อธิบายรัฐไทยอย่างถูกต้อง [เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับตอนที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พอล คีตติ้ง มาเยือนประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2537 ตอนนั้นชวน หลีกภัยแห่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี] รัฐไม่ใช่สิ่งที่เป็นหน่วยเนื้อเดียวกัน (monolithic) มันมีองค์ประกอบหลายส่วน มีหน่วยที่เป็นเอกเทศมากมาย ซึ่งบางครั้งก็แสดงบทบาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการ เราจึงจำเป็นต้องมีโมเดล/มโนทัศน์/พาราไดม์ที่ดีกว่านี้ในการเข้าใจรัฐไทย รัฐไทยคืออะไร ใครมีบทบาทเป็นตัวแทนรัฐไทย ใครหรืออะไรที่มีบทบาทโดยมีรัฐหนุนหลัง และหน่วยต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร นักรัฐศาสตร์ไทยมักชอบพูดถึง “รัฐ” ว่ามีพลังอำนาจมากแค่ไหน ผมคิดว่านี่เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง รัฐไม่ได้มีพลังอำนาจขนาดนั้น ผมจะกลับมาพูดถึงประเด็นนี้ในภายหลัง ประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยในคาบสมุทรอุษาคเนย์ ผมอยากก้าวออกไปจากประเทศไทยสักชั่วขณะหนึ่ง และหันกลับมามองประเทศนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่มีความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์ มีระบบการเมืองที่มีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง สยาม/ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมโดยตรง แต่ไทยหยิบยืมคุณลักษณะหลายๆ ประการของรัฐอาณานิคมมา และใช้ต้นแบบอาณานิคมในการปฏิรูปการปกครองที่เริ่มต้นในคริสตทศวรรษ 1890 (ช่วงพุทธทศวรรษ 2433-2443) ระหว่างการประท้วงและความรุนแรงที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว บางครั้งมีการเปรียบเทียบประเทศไทยกับรัฐบาลทหารในประเทศพม่า แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว มีการอภิปรายน้อยมากเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทยในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านบนภาคพื้นคาบสมุทร การโต้เถียงวิวาทะและการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตล้วนแล้วแต่เป็นการมองเข้ามาภายในประเทศทั้งสิ้น (inward-looking) เมื่อคำนึงถึงการประท้วงครั้งใหญ่และการยึดราชประสงค์ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมความสนใจของสาธารณชนจึงโฟกัสอยู่ที่การเมืองไทย แต่มันยังมีมุมมองแบบภูมิภาคศึกษาที่จะช่วยอธิบายระบอบประชาธิปไตยที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาหลายทศวรรษของประเทศไทยด้วย ข. นับตั้งแต่ระบบอาณานิคมล่มสลายไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นปัญหาในคาบสมุทรอุษาคเนย์ คำว่า “คาบสมุทรอุษาคเนย์” (mainland Southeast Asia) นี้ ผมหมายถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ยกเว้นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งในภูมิภาคนี้มักเป็นรัฐบาลพรรคเดียว รัฐบาลอำนาจนิยมชอบการเลือกตั้ง เพราะผู้นำสามารถบอกกับโลกได้เต็มปากว่าตนขึ้นมามีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งกับระบอบประชาธิปไตยมักไม่ถูกชี้ชัดลงไป แท้ที่จริงแล้ว มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างการเลือกตั้งกับระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เรามีระบอบประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ ถ้าการเลือกตั้งไม่เสรีและไม่มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็เกิดขึ้นไม่ได้ การซื้อเสียงกล่าวคือการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เงินสดและแรงจูงใจอื่นๆ แก่ผู้ลงคะแนนเสียง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก นำไปสู่ความเชื่อที่แพร่หลายว่า การเลือกตั้งถูกล็อกผลมาแล้ว ยังมีปัญหาอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจำเป็นต้องมีขันติธรรมต่อความไม่เห็นพ้อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ ผู้มีอำนาจในภูมิภาคนี้พยายามจำกัดความไม่เห็นพ้องและบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยจนพวกเขาดำรงตำแหน่งได้ยาวนาน บางครั้งพวกเขาพยายามผูกขาดอำนาจการปกครองอย่างถาวรด้วยซ้ำ แน่นอน เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารพรรคการเมืองเหมือนกลุ่มธุรกิจผูกขาด (cartel) เขาต้องการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค. เพื่อเข้าใจประเด็นนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราลองดูประเทศต่างๆ ในพื้นคาบสมุทร ในพม่า กองทัพปกครองมาแล้วเกือบห้าสิบปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 หลังจากประกาศเอกราช พม่ามีผู้นำที่เข้มแข็งมากสองคน นั่นคือนายพลเนวินและนายพลตานฉ่วย นายพลตานฉ่วยเป็นที่รู้จักในฉายาของ “ผู้พิทักษ์และผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นผู้ยิ่งใหญ่” ทุกวันนี้ดูเหมือนเขาก้าวลงจากการบริหารประเทศรายวันแล้ว ปีที่แล้วมีการเลือกตั้งในพม่าและมีหลักฐานว่าระบอบเผด็จการทหารกำลังผ่อนปรนมากขึ้น อองซานซูจี ได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณในบ้าน แต่ขบวนการของเธอถูกบั่นทอนจนอ่อนแรง ตัวเธอเองก็แสดงออกถึงแนวโน้มแบบอัตตาธิปไตยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การที่เธอไม่ยอมให้พรรคเอ็นแอลดีเข้าร่วมในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และยืนกรานว่าจะต้องคว่ำบาตรการเลือกตั้งต่อไป ถึงแม้นักวิเคราะห์และนักกิจกรรมหลายคนเชื่อว่าการคว่ำบาตรจะส่งผลเสียยิ่งกว่าช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กองทัพจะผ่อนคลายการควบคุมลงบ้างเล็กน้อย แต่หากมองในระยะยาวที่สุด การปกครองระบอบทหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งน่าจะยังครองความเป็นใหญ่ในประเทศพม่าต่อไป ในกัมพูชา ผู้นำกำปั้นเหล็กยังอยู่ในอำนาจ หลังจากครองอำนาจมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างที่เวียดนามยึดครองกัมพูชาด้วยกำลังทหาร ฮุนเซนเป็นอดีตสมาชิกเขมรแดง นับตั้งแต่กัมพูชาฟื้นอำนาจอธิปไตยได้ใน พ.ศ. 2536 ฮุนเซนเป็นผู้มีบทบาทนำในกลุ่มแนวร่วมของพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคนิยมกษัตริย์ (พรรคฟุนซินเปก) ซึ่งครองอำนาจทางการเมือง ในกัมพูชามีการเลือกตั้งก็จริง แต่ฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยมีช่วงขัดตาทัพแค่สองสามครั้ง นี่คือรัฐบาลอัตตาธิปไตย ประเทศมีเสถียรภาพก็จริงแต่ไม่มีสัญญาณของการถ่ายโอนอำนาจ ลาวเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมพรรคเดียวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 อันที่จริงพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงพรรคเดียวคือ พรรคปฏิวัติประชาชนลาวซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ผู้บริหารการปกครองประเทศคือคณะกรรมการโปลิตบูโรกลุ่มเล็กๆ และคณะกรรมการกลางที่มีสมาชิก 49 คน มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2535 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติขึ้นมาใหม่จำนวน 85 คน และมีการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2549 โดยที่จำนวนสมาชิกขยายเป็น 115 คน สมัชชาแห่งชาติจะเลือกผู้นำใหม่ทุกห้าปี และในเดือนมิถุนายนจะมีการลงคะแนนเสียงเพื่อยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการใหญ่ของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว ดังนั้น จึงมีแผนการถ่ายโอนอำนาจในหมู่ผู้นำในรัฐบาล ถึงแม้อาจมีการลงคะแนนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก็ตาม เช่นเดียวกับในกัมพูชา ลาวมีเสถียรภาพ แต่สิ่งที่แตกต่างจากกัมพูชาก็คือ ลาวมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสม่ำเสมอสำหรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ครองอำนาจ เช่นเดียวกับลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นรัฐที่มีพรรคการเมืองเดียวเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ พ.ศ. 2535 ซึ่งนำมาใช้แทนฉบับ พ.ศ. 2518 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม (CPV) สถาปนาอำนาจในรัฐบาลและการเมืองอย่างแน่นหนามั่นคง องค์กรการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับพรรค CPV เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับชาติ สมัชชาแห่งชาติมีสมาชิก 498 คน การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2550 และมีสมาชิกสมัชชาไม่กี่คนที่ไม่สังกัดพรรคใดๆ ในประเทศนี้อีกเช่นกันที่เราได้เห็นการปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ในมาเลเซีย มีกิจกรรมทางการเมืองแบบหลายพรรคมากกว่าในประเทศอื่นก็จริง แต่พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคที่มีบทบาทนำในกลุ่มแนวร่วมทางการเมืองที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ได้เอกราช พรรคอัมโนได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้เปรียบและปรับเปลี่ยนเขตเลือกตั้งเนืองๆ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการเลือกตั้งเอาไว้ การประท้วงและความปั่นป่วนในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมคือความไม่พอใจที่มีต่อพรรคอัมโนและกลุ่มพันธมิตรทางการเมือง Barisan Nasional ในประเด็นการที่กลุ่มการเมืองนี้ผูกขาดการเมืองมาเลเซียเอาไว้ กลุ่มพันธมิตรในปัจจุบันและกลุ่มเดียวกันก่อนหน้านี้ปกครองมาเลเซียมาตั้งแต่ประกาศเอกราช การกีดกันระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดูเหมือนเป็นนโยบายหลักของพรรคอัมโนมาตลอด เดือนตุลาคมปีที่แล้ว มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนานถึง 22 ปี แสดงปาฐกถาที่ย้ำว่าระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวในหลายประเทศและการปกครองแบบรวบอำนาจต่างหากที่เป็นคำตอบ เขาปฏิบัติตามที่เขาเทศนา มาเลเซียมีการปกครองแบบอัตตาธิปไตยพรรคเดียวมาเกือบครึ่งศตวรรษ เมื่อผมสอนวิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคาบสมุทรอุษาคเนย์ ปรกติผมจะไม่รวมสิงคโปร์ แต่ในที่นี้จะพูดรวมไปถึงสิงคโปร์ด้วย เพราะมันเป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นการปกครองแบบพรรคเดียว เราอาจนิยามระบบการเมืองของสิงคโปร์ว่าเป็นระบบสังคมนิยมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ในสิงคโปร์ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ชนะทุกการเลือกตั้งมาตั้งแต่ได้เอกราชใน พ.ศ. 2502 และแน่นอนว่าปกครองสิงคโปร์มาตั้งแต่สมัยนั้น หากมีพรรคการเมืองใดส่งสัญญาณว่าจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง พรรค PAP ก็จะหาทางสกัดขัดขวางและรักษาการปกครองแบบพรรคเดียวเอาไว้ สมาชิกรัฐสภาที่เป็นฝ่ายค้านบางคนที่ส่อแววให้เห็นความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและได้รับความนิยมก็ถูกทำลายทางการเงินด้วยการฟ้องร้อง บทเรียนที่น่าสนใจจากกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ก็คือ ตระกูลลีมีบทบาทสำคัญในการสืบต่อการปกครองพรรคเดียวของ PAP อนึ่ง ในการเลือกตั้งของประเทศสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2549 ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่มีอายุมากและรายได้ต่ำจำนวน 300

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net