สมาพันธ์กาชาดสากลฯ ระบุครึ่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม เตือนสื่อระวังการรายงานข่าว

แพทริก ฟูลเลอร์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สมาพันธ์กาชาดสากลและสมาคมเสี้ยววงเดือนแดง (INTERNATIONAL FEDERATION OF RED CROSS AND RED CRESCENT SOCIETIES - IFRC) ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงบทบาทของสื่อมวลชนต่อการสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ภัยพิบัติและการหนุนเสริมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในการรายงานข่าวภัยพิบัติ สื่อมวลชนมีแนวโน้มที่จะรายงานโดยตอบสนองต่อประเด็นในเชิงการเมือง เขาเปิดเผยข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะผลกระทบต่อคนจำนวนหลายล้านคน โดยภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด และ 50 เปอร์เซ็นต์ของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก คือผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำท่วม ซึ่งจะเกิดขึ้นร่วมกับการเกิดไซโคลน ไต้ฝุ่น ภาวะน้ำท่วมในฤดูมรสุม โดยประชาชนหลายล้านคนในเอเชียจะได้รับผลกระทบดังกล่าว “ฉะนั้น คำถามก็คือว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างความตระหนักในปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาประชาชนอพยพเข้าสู่เมือง ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาคือ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสลัม คือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ” เขากล่าวและตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการรายงานเกี่ยวกับภัยพิบัติว่า สื่อมีบทบาทสำคัญมาก เพราะสื่อจะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะถึงสถานการณ์และความช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้ประสบภัยต้องการ รวมไปถึงการระดมทุน ซึ่งเขาพบว่าจำนวนเวลาที่สื่อรายงานสถานการณ์นั้น ส่งผลโดยตรงต่อยอดการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม เขามีข้อสังเกตว่า ประเด็นที่สามารถจะกำหนดทิศทางข่าวนั้นมีการแข่งขันสูง เช่น กรณีของเหตุการณ์ในลิเบีย ซีเรีย หรือสถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ระดับโลก ซึ่งบางครั้งทำให้ประเด็นภัยพิบัติถูกปัดทิ้งไป “สิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่งก็คือ การที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับประเด็นภัยพิบัติและทำให้สาธารณะและรัฐบาลให้ความสนใจต่อประเด็นนี้” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก IFRC ยังวิพากษ์การทำงานของสื่อมวลชนด้วยว่า หลายๆ กรณี สื่อเลือกรายงานภัยพิบัติในเชิงการเมือง “ผมคิดว่า เมื่อสื่อทำข่าวในประเด็นเชิงมนุษยธรรม สื่อก็มักจะจับประเด็นที่เป็นความโกรธแค้นทางการเมืองในการนำเสนอเรื่องราวอยู่บ่อยครั้ง เราจะเจอคำถามลักษณะหนึ่งบ่อยๆ เช่น “รัฐบาลทำดีพอแล้วหรือยัง” สื่อมักไม่ค่อยจะทำประเด็นภัยภิบัติที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติโดยตัวของมันเอง แต่ใช้วิธีมองหาประเด็นที่แวดล้อม” โดยเขายกตัวอย่างทีเพิ่งเกิดขึ้น ก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมที่ปากีสถาน ซึ่งสื่อส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปที่กลุ่มการกุศลของฝ่ายโปรตาลีบันที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นตัวอย่างของการไขว้เขวไปจากประเด็นเชิงมนุษยธรรมและผลกระทบต่อชุมชนจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องตั้งคำถามต่อรัฐบาลถึงประสิทธิภาพในการเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะการเข้าถึงเหยื่อจากภัยพิบัตินั้นถือเป็นความสำคัญอันดับแรกสำหรับองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเช่น กาชาดสากล “ผมคิดว่าสื่อมวลชนนั้นมีหน้าที่ต้องรายงาน และต้องรายงานสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สาธารณชนต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และสื่อพึงต้องรายงานสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับภัยพิบัติ เช่น ความต้องการของประชาชนในขณะเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำสะอาด หรือการเข้าถึงสถานสงเคราะห์ สื่อจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์อย่างแม่นยำ มิฉะนั้น ก็จะเกิดการกระจายข่าวลือ สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท