Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ตอนนี้สถานการณ์น้ำเป็นอย่างไรบ้าง ระดับน้ำสูงขึ้น ลดลง หรือทรงตัว ในหมู่บ้านมีคนอยู่กี่คน อพยพมาแล้วกี่คน ตอนนี้อยู่กันยังไง อาหาร น้ำดื่ม มาจากไหน ถ้าความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ในชุมชนมีวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง ความต้องการเร่งด่วนคืออะไร ก่อนหน้านี้ได้เตรียมการป้องกันและอพยพคนไว้หรือไม่…” ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ข้างต้นคือคำถามหลักๆ ของอาสาสมัคร ศปภ. ตำบล ที่มีต่อผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมที่อาสาสมัครพอจะติดต่อพวกเขาได้ ศปภ. ตำบล เป็นหน่วยหนึ่งภายใต้ ศปภ. ภาคประชาชน โดยการดำเนินการของมูลนิธิกระจกเงาและองค์กรเครือข่ายมาตั้งแต่แรกเริ่มมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ที่ดอนเมือง งานของ ศปภ. ตำบลไม่ใช่การรับเรื่องความเดือดร้อนหรือกรณีฉุกเฉินที่ผู้ประสบภัยโทรศัพท์แจ้งเข้ามารายวัน แต่คือการติดต่อไปยังพื้นที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของผู้ประสบภัยในแต่ละท้องที่ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมมาร่วมเดือนแล้ว การมีชีวิตอยู่กับน้ำของผู้ประสบภัยเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา “ผมอยู่บิ๊กซีครับ มาหาซื้อน้ำให้ชาวบ้าน” ขณะรับโทรศัพท์ ผู้ใหญ่วิชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ตำบลคุ้งลาน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังเร่หาซื้อน้ำซึ่งกลายเป็นสินค้าหายากขาดแคลนที่สุดยามนี้ เขาบอกว่าใช้งบของหมู่บ้านมาซื้อน้ำไปแจกจ่ายลูกบ้านเพราะน้ำดื่มเดินทางมาไม่ถึงหมู่บ้านที่อยู่ลึกจากถนนมากซึ่งตอนนี้ระดับน้ำสูงร่วม ๒ เมตร เป็นเวลากว่า ๒ สัปดาห์ที่ชาวคุ้งลานเกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ยังคงอยู่บ้านชั้นเดียวที่จมน้ำ ต้องยกพื้นสูงเปิดหลังคาเพื่ออยู่อาศัย และความช่วยเหลือยังเดินทางไปไม่ทั่วถึง กำนันประทุม ดอกกะฐินสด เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละหมู่บ้านมีการช่วยเหลือกันอย่างดี หม้อแปลงไฟฟ้าถูกยกขึ้นสูงทำให้ยังมีไฟฟ้าใช้ แม้ว่าหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปจากถนนนั้นจะลำบากขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มมาก แต่ผู้ใหญ่บ้านต่างก็ดิ้นรนในการบรรเทาทุกข์ลูกบ้านของตน เช่นเอาเรือออกมาหาซื้อน้ำ กู้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญขึ้นมาซ่อม หรือเป็นศูนย์กลางทำอาหารแจกจ่ายลูกบ้านทุกวัน ผู้ใหญ่สมหมาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ตำบลบ่อตาโล่ อำเภอวังน้อย อยุธยา บอกว่าตนลงทุนซื้อเรือเองเพื่อใช้บรรทุกของมาแจกจ่ายลูกบ้าน โดยไปติดต่อขอรับน้ำดื่มจากโรงงานน้ำสิงห์ หรือถุงยังชีพที่ญาติๆ ประสานมาให้ไปรับมา หมู่บ้านมีเรือเพียงลำเดียว บ้านแต่ละหลังมีสภาพเหมือนติดเกาะ ไฟฟ้าถูกตัด ชาวบ้านจะลอยคอมารับอาหารและน้ำจากผู้ใหญ่บ้าน เมื่อถามว่าความต้องการเร่งด่วนที่สุดคืออะไร หากไม่นับน้ำดื่มหลายคนบอกว่าพวกเขาต้องการ “เรือ” สำหรับสัญจร สุนี สุขอร่าม ผู้นำชุมชนบอกว่า “ชาวบ้านอยากออกไปไหนมาไหนได้เองเพราะน้ำท่วมมิดหัวมาครึ่งเดือนแล้ว เวลาเรือแจกของผ่านมาก็มักจะบอกว่าไปช่วยที่โรจนะก่อน เขาลำบากกว่าเรามาก เราก็ไม่รู้จะว่ายังไง ฉันสั่งซื้อเรือที่แม่กลองไว้แต่เส้นทางขนส่งถูกตัดขาดหมด ตอนนี้สิ่งจำเป็นที่สุดคือเรือ” “ถ้าเอามาม่าหมูสับไปแจก รับรองได้ว่าเขาทิ้งหมด” อาสาสมัครที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งสรุปบทเรียนให้เพื่อนอาสาได้รับรู้ ว่าความจำเป็นของข้อมูลระดับตำบลโดยละเอียดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้นสำคัญเพียงใด การเก็บสถิติว่าในตำบลหนึ่งๆ มีมุสลิมกี่คน คิดเป็นร้อยละเท่าไร ก็เพื่อที่ความช่วยเหลือจะตอบสนองความต้องการของผู้รับได้จริงอย่างไม่สูญเปล่า ในตำบลบ่อตาโล่มีศูนย์รวมชุมชน ๓ แห่งคือ วัด โรงเรียน และมัสยิด ผู้ใหญ่กอเด๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ บอกว่าในหมู่บ้านของเขาเป็นมุสลิม ๘๐ % ตอนนี้รวมตัวกันอยู่ที่มัสยิด โรงเรียน ตามสะพานลอย และอยู่ที่บ้านอีก ๒๐๐ หลังคาเรือน เมื่ออยู่รวมกัน การจัดการอาหารหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ก็จะคล่องตัวขึ้นกว่าการอยู่อย่างกระจัดกระจายตัวใครตัวมัน ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง เป็นตำบลสุดท้ายของอยุธยาที่น้ำท่วม ชาวบ้านหมู่ ๑ ทั้งหมดเป็นมุสลิมและตกลงร่วมกันไม่อพยพออก ดังนั้นความต้องการถุงยังชีพอิสลามจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านจะออกไปรับของจาก ศปภ. แต่การเดินทางก็เป็นอุปสรรคสำคัญ และจำนวนถุงยังชีพไม่เพียงพอต่อครัวเรือนที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ ด้วยเหตุนี้ การสอบถามข้อมูลจำนวนประชากรที่แท้จริงจากผู้นำระดับหมู่บ้านอันเป็นหน่วยย่อยที่สุดของท้องที่นั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของอาสาสมัคร ศปภ. ตำบล เพื่อการสำรวจจำนวนประชากรแท้จริง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรแฝงในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะเมืองที่ขยายตัวนั้นมีจำนวนมากกว่าที่มีการแจ้งไว้ในทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลพื้นฐานที่มีบันทึกไว้ในทางราชการจึงอาจไม่มีประสิทธิผลนักในยามนี้ งานของ ศปภ. ตำบลจึงเป็นการสำรวจจำนวนที่แท้จริงของผู้ประสบภัย การกระจายความช่วยเหลือ และความต้องการที่แท้จริง เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ ว่าชุมชนใดต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ชุมชนใดยังประคองตัวเองได้ และมีไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้ปรับตัวอยู่กับน้ำได้ด้วยตนเอง “ทุกเช้าฉันจะขี่มอไซค์ออกสำรวจแนวคันกั้นน้ำรอบๆ แล้วกลับมารายงานสถานการณ์ให้ชาวบ้านฟัง” ถวิล ปั้นอบเนียม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟัง ตำบลดอนหญ้านางเป็นหนึ่งในพื้นที่อำเภอภาชีที่น้ำไม่ท่วม ตั้งแต่เดือนกันยายนที่มีข่าวว่าน้ำเหนือจะมา ทุกเช้าผู้ใหญ่ถวิลจะขับรถตระเวนไปรอบทิศเพื่อกลับมารายงานนายก อบต. และลูกบ้าน ชาวบ้านจะไปรวมกันที่ที่ทำการ อบต. ประชุมกันว่าถ้าน้ำมาจะป้องกันอย่างไร แล้วไปช่วยกันวางกระสอบทรายตามจุดที่คาดว่าน้ำจะทะลักเข้ามา โดยเฉพาะด้านที่ติดกับอำเภอหนองแซง สระบุรี มีการเชิญผู้รู้ในหมู่บ้านไปชี้จุดร่องคูนาตรงไหนควรจะขุดเพื่อดักทางน้ำตระเตรียมไว้ แม้ทุกวันนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้วพวกเขาก็ยังไม่วางใจ ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมสถานที่รองรับผู้อพยพอย่างพร้อมสรรพ หากแม้ชาวดอนหญ้านางจะยังไม่เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ทุกวันนี้พวกเขายังแปรตัวเองเป็นตำบลอาสาคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเปิดบ้านรองรับญาติพี่น้อง เปิดสถานีอนามัยรองรับผู้ป่วยระยะพักฟื้นที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลภาชี รวมถึงการทำอาหารกล่องแจกจ่ายผู้ประสบภัยแทบทุกวันโดยมีวัดตะโกเป็นศูนย์กลาง สำราญ พุ่มจำปา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ เล่าว่าตนหว่านแหจับปลาไปร่วมทำอาหาร บ้านไหนมีวัตถุดิบอะไรก็เอามาสมทบ ชาวบ้านร่วมใจกันมาทำถุงยังชีพ และแบ่งสายกันไปแจกจ่ายพี่น้องอยุธยาที่ต้องอพยพมาตั้งเต็นท์อยู่ริมถนน การเตรียมการป้องกันและความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งตำบลทำให้พวกเขารอดจากภัยพิบัติ และเมื่อบ้านตนน้ำไม่ท่วมก็ยังเป็นหลังพิงให้แก่ผู้ประสบภัยในละแวกใกล้เคียงได้ด้วย พอได้ฟังสิ่งที่คนตำบลเล็กๆ ทำ ก็น่าคิดว่าย่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร หมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่บางบัวทอง ที่ต้องประสบภาวะทำนบแตกโดยที่ไม่มีใครตั้งตัวทัน พวกเขามีการเตรียมการรับมือกับอุทกภัยที่คาดไม่ถึงอย่างไรกันบ้าง เราอยู่จุดไหนของความช่วยเหลือ ? ในสภาวะวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ คำถามก็คือ ศปภ.ตำบลอยู่ตรงไหนขององคาพยพนี้ เมื่อฐานข้อมูลตำบลสมบูรณ์และผ่านการสังเคราะห์จากทีมงานแล้ว เราน่าจะได้เห็นโครงข่ายของความเชื่อมโยงภายในหมู่บ้านในเขตตำบลนั้นๆ และระหว่างตำบลสู่ตำบล เพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคตอย่างเป็นระบบต่อไป ภาพเพียงส่วนเสี้ยวนี้บอกเราว่า ในแต่ละชุมชนมีจุดแข็ง เมื่อเขาตระหนักถึงจุดแข็งของตน เขาก็จะหาหนทางพึ่งพาตัวเองได้มากกว่าจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และข้อมูลที่ถูกต้องจะยิ่งทำให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิผลมากขึ้น เท่าที่ได้สนทนากับผู้นำท้องถิ่นเราพบว่า ในยามวิกฤต อบต. อบจ. ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านมากที่สุด เพราะเป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากส่วนกลางและมีบทบาทสำคัญในการกระจายความช่วยเหลือไปยังหมู่บ้านเพราะรู้จักพื้นที่ของตนดีที่สุด คนเหล่านี้เองมักมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ สส.ในพื้นที่ ข้าราชการส่วนกลาง หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ และความช่วยเหลือที่เดินทางมาถึงหมู่บ้านก็มักมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำชุมชนนั่นเอง ใครมีสายป่านยาวความช่วยเหลือก็มักเดินทางมาถึงก่อน นี่กระมังที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ เราได้เห็นว่าความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเป็นหางเสือที่จะกำหนดทิศทางของชุมชนพวกเขาเองว่าจะเดินไปทางใด หากในยามวิกฤต หมู่บ้านแตกแยก ผู้คนต่างเอาตัวรอด ก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าหลังน้ำลดสภาพชุมชนแห่งนั้นจะเป็นเช่นไร เท่าที่ได้ฟังอาสาสมัครหลายคนล้วนบอกตรงกันว่า แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้าง หากแต่ภายในชุมชนเองกลับมีการจัดการตัวเองอย่างดีและช่วยเหลือกัน ซึ่งนั่นจะเป็นทางรอดจากภัยพิบัติ ข้อมูลพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมากยามภัยพิบัติ มันบอกเราว่า จริงอยู่ เราไม่อาจควบคุมสถานการณ์ภัยพิบัติได้ทันทีทันใด แต่ครั้นเกิดภัยพิบัติขึ้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนอยู่รอดและช่วยเหลือตัวเองได้ก็คือความสัมพันธ์ในระดับชุมชนซึ่งยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น และหลังน้ำลด ฐานข้อมูลตำบลที่เก็บระหว่างนี้เองจะเป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นฟูชุมชนในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net