Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.53 ทีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) ร่วมกับโครงการติดตามหนุนเสริมฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนและการประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของโครงการทั้ง 9 ที่ ศสอ.รับผิดชอบอยู่ว่าตลอด 6 เดือนแรกของการทำงานว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และแต่ละโครงการสามารถทำงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งในปี2553 ศสอ.ตั้งเป้าว่าจะมีการขับเคลื่อนประเด็นร่วมเรื่องสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่นที่กำลังมีปัญหาการตั้งท้องก่อนวัยอันควรจนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย เพื่อลดปัญหานี้แต่ละโครงการจะต้องนำประเด็นปัญหานี้เข้าไปบูรณาการกับโครงการเดิมด้วย 

สำหรับวิทยากรกระบวนการที่มาดำเนินการอบรมครั้งนี้ได้มือโปรอย่าง ผศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยให้เครื่องมือและโจทย์เพื่อสังเคราะห์ข้อมูล โดย อ.ธีรเดช ใช้วิธี EE (Empowerment Evaluation) หรือการประเมินแบบเสริมพลังเป็นกลยุทธ์ในการประเมิน ส่วนโครงการที่เข้าร่วมมีทั้งหมด 8 โครงการจากทั้งหมด 9 เพราะติดภารกิจสำคัญ 1 โครงการแต่ก็ยังมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมดถึง 50 คน
 
การอบรมใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน คือในวันที่ 17-18 มกราคม 2554 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยหากเปรียบเทียบกับกิจกรรมที่จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านพ้นระยะเวลา 2 วันไปแล้วหลายโครงการสามารถถอดบทเรียนของตัวเองได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งนั่นจะมีผลในการนำไปใช้วางแผนการดำเนินงานในระยะที่ 2 ต่อไป 
 
ผศ.ชื่น ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้คร่ำหวอดในวงการด้านงานพัฒนาชุมชน และนั่งแท่นเป็นที่ปรึกษาโครงการ และมานั่งฟังพร้อมกับวิเคราะห์การถอดบทเรียนร่วมกับโครงการย่อยตลอด 2 วัน ให้ความเห็นว่า งานของโครงการทั้งหมดนี้เป็นงานสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยผู้มีจิตอาสาอย่างสูงมาทำงานนี้จึงจะสำเร็จ และเป็นงานที่ยาก เพราะต้องขับเคลื่อนท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมจึงเป็นเรื่องลำบากที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย และหากจะทำให้ได้อย่างยั่งยืน เราจะต้องไม่เดินคนเดียว แต่จะต้องอาศัยบุคคลจากหลายส่วนมาร่วมกันทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน
 
สำหรับบรรยากาศการอบรมท่ามกลางบรรยากาศอันหนาวเหน็บของจุดบรรจบแม่น้ำสองสาย ทุกโครงการต่างช่วยกันขุด ช่วยกันค้น และเค้นข้อมูลจากการทำงานจริงในพื้นที่มาใส่ในเครื่องมือที่วิทยากรจากกรุงเทพฯ ให้ไว้ เพื่อทำการวิเคราะห์หาผลต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ถึงแม้จะทำได้ไม่ละเอียดมากนักด้วยข้อจำกัดของเวลา แต่ก็พอจะรู้วิธีการแล้วซึ่งแต่ละโครงการก็จะต้องกลับไปทำให้สมบูรณ์ในภายหลัง ซึ่งข้อมูลใหม่ที่เกิดจากการสังเคราะห์นี้เป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในเฟดที่สองของปี 2554 นี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net